ความสำคัญของกัลยาณมิตร

วันที่ 20 กพ. พ.ศ.2557

 

 

หน้าที่ของกัลยาณมิตร

 

ความสำคัญของกัลยาณมิตร

       การเดินทางในยามราตรี จำเป็นต้องมีผู้คอยชี้ทางสว่าง ให้เดินไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ชีวิตของมนุษยชาติที่กำลังเดินทางไกลในสังสารวัฏเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องอาศัยผู้รู้หรือกัลยาณมิตรคอยชี้เส้นทางสวรรค์ และนิพพาน เหมือนดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรของโลก แนะนำเหล่าเวไนยสัตว์

       ให้ข้ามพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏไปสู่ฝั่งนิพพาน  เพราะมนุษยชาติทั้งหลายล้วนถูกความมืดคืออวิชชาห่อหุ้มดวงจิตเอาไว้ น้อยคนนักจะรู้จักเส้นทางไปสู่สวรรค์และนิพพานได้ด้วยตนเอง เมื่อเกิดมาแล้วต้องเจออุปสรรคและความไม่ปลอดภัยต่างๆ มากมาย ทั้งภัยในชีวิตและภัยในสังสารวัฏ หากประมาทพลาดพลั้งไปสร้างบาปอกุศล ก็จะเป็นผลให้เราตกไปสู่ภพภูมิที่ทุกข์ทรมาน ถ้าได้พบเจอบัณฑิตกัลยาณมิตร  คอยชี้แนะหนทางสว่างให้ จากผู้ที่เคยหลงผิดก็จะหวนมาสู่เส้นทางที่ถูกต้องดีงามได้ ดังนั้นบุคคลจึงต้องหมั่นเข้าหากัลยาณมิตร โดยเป็นทั้งกัลยาณมิตรให้กับตัวเอง และเป็นกัลยาณมิตรให้กับผู้อื่น เป็นผู้ไม่ประมาทในการประคับประคองชีวิตของเรา ให้ดำเนินอยู่บนหนทางที่ถูกต้องอย่างมีความสุข เพราะกัลยาณมิตรคือผู้ให้แสงสว่างแก่ชาวโลก

ความจำเป็นต้องมีกัลยาณมิตร

       การได้คบกัลยาณมิตร เปรียบเหมือนบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของคุณธรรมภายใน จะเป็นหนทางนำไปสู่การได้ประสบความสำเร็จอันสูงสุดในชีวิตทั้งทางโลก และทางธรรม คือทางโลกก็ประสบความสำเร็จในการครองเรือน ทางธรรมก็จะนำไปสู่การได้บรรลุมรรคผลนิพพาน กัลยาณมิตรมิได้หมายถึงเพื่อนที่ดีทั่วไปเท่านั้น แต่ยังหมายถึงบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ ที่จะชี้แนะหนทางสว่าง ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องให้กับผู้อื่น บุคคลใดมีกัลยาณมิตร ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญที่สั่งสมไว้ดีแล้ว ควรคบบุคคลเช่นนั้น เพราะเป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลก พระพุทธองค์จึงทรงสรรเสริญความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร

 

       ครั้งหนึ่ง พระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตรเป็นกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์ทีเดียวนะพระเจ้าข้า"

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

"ดูก่อนอานนท์ ! เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น ก็ความเป็นกัลยาณมิตรนี้ เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ ดูก่อนอานนท์ ! ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร จักเจริญในอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8"

       การมีกัลยาณมิตรนั้น เป็นทั้งหมดของการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ พระผู้มีพระภาคเจ้าในอดีตชาติที่ท่านเกิดเป็นมาณพชื่อ โชติปาละ ท่านก็เคยมีความเห็นผิดในพระรัตนตรัย แต่เพราะได้เพื่อนคือ ฆฏิการะ เป็นกัลยาณมิตร ชักชวนให้มาพบพระกัสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับรส แห่งอมตธรรม กลับมีความเห็นที่ถูกต้องชีวิตของท่านจึงเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นชีวิตที่ทุ่มเทสร้างบารมีอย่างจริงจัง จนกระทั่งในที่สุดภพชาติสุดท้ายก็ได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังเรื่องต่อไปนี้


         พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งสมัยที่ยังอยู่ในระหว่างการสร้างบารมี พระองค์ได้เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อ "โชติปาละ" ท่านมีเพื่อนเป็นช่างปั้นหม้อ ชื่อว่า "ฆฏิการะ" แม้จะเกิดมามีฐานะทางสังคมที่แตกต่างกันแต่ทั้งสองก็เป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตขึ้นฆฏิการะได้ไปฟังธรรมจากพระกัสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดความเลื่อมใสจึงได้อุทิศตนเป็นอุบาสก ยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เมื่อตัวเองได้พบเส้นทางสว่างพบบุคคลผู้ประเสริฐอย่างพระบรมศาสดา ก็อยากจะชวนโชติปาละเพื่อนรัก ให้มาฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ฆฏิการะพยายามเกลี้ยกล่อม ชักชวนให้เพื่อนไปเฝ้าพระกัสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ก็ไม่ยอมไป จึงบอกกับโชติปาละว่า "เพื่อนเอ๋ย การได้พบกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง เราไปฟังธรรมจากพระองค์กันเถอะ" เนื่องจากว่า

        โชติปาละเกิดในตระกูลพราหมณ์ ไม่ได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงตอบว่า "อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ การไปเฝ้าพระสมณะโล้น จะมีประโยชน์อะไร ท่านไปคนเดียวเถอะ"


         ถึงแม้ว่า ฆฏิการะจะชวนหลายครั้ง และชี้ให้เห็นว่าการเห็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งประเสริฐ การฟังธรรมจากพระพุทธองค์เป็นมงคล แต่ดูเหมือนว่าการชักชวนนั้นไม่ได้ผลเลย วันหนึ่งจึงหากุศโลบายชวนเพื่อนไปอาบน้ำที่แม่น้ำใกล้กับที่ประทับของพระบรมศาสดา หลังจากอาบน้ำเสร็จแล้ว ฆฏิการะ
จึงชวนอีกครั้งว่า วิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้าอยู่ใกล้ๆ บริเวณนี้นี่เอง เราไปเดินเล่นในวิหารกันเถอะโชติปาละก็ไม่ยอมไป จะขอกลับบ้านอย่างเดียว แม้จะถูกชักชวนอย่างไร ก็ไม่คล้อยตาม

         จนสุดท้าย ฆฏิการะเมื่อเห็นว่าชวนอย่างไรก็ไม่ไปแล้ว ด้วยความจริงใจต่อเพื่อน จึงฉุดมวยผมของโชติปาละ เพื่อที่จะให้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ให้ได้ โชติปาละเป็นผู้สั่งสมบุญมาดี เมื่อโดนเพื่อนดึงมวยผม  จึงคิดว่า "น่าอัศจรรย์จริงหนอ ฆฏิการะผู้เป็นเพียงช่างปั้นหม้อ ผู้มีชาติต่ำ กล้ามาดึงมวยผมเราผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพระพรหม ตามปกติเพื่อนของเราไม่เคยทำอย่างนี้ มีความปรารถนาดีต่อเรามาตลอด ไม่เคยชักชวนไปในทางที่ผิดเลย การไปพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คงจะเป็นการดีเป็นแน่"

         เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว แทนที่จะโกรธมีทิฏฐิมานะ กลับตกลงใจจะไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เมื่อได้ สนทนาธรรมและฟังธรรมจากพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว โชติปาละเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง จึงชวนฆฏิการะออกบวช แต่เนื่องจากฆฏิการะต้องเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด จึงไม่อาจที่จะบวชได้ โชติปาละจึงตัดสินใจออกบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และได้ตั้งใจประพฤติธรรมจนตลอดอายุขัย

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า "เธออย่าคิดว่าฆฏิการะช่างปั้นหม้อเป็นเราตถาคตโชติปาลพราหมณ์ต่างหากที่เป็นเราตถาคต ในชาตินั้น"

         พระองค์ได้กัลยาณมิตร คือ เพื่อนที่ประเสริฐอย่างฆฏิการะ ทำให้เปลี่ยนจากผู้มีความเห็นผิดมาเป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง ได้มีโอกาสร้างบารมีเพื่อการตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระองค์เอง  จะได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้านับพระองค์ไม่ถ้วน ได้ชื่อว่าเป็นนิยตโพธิสัตว์ คือ เป็นบุคคลผู้เที่ยงแท้ต่อการบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องอาศัยกัลยาณมิตร คอยประคับประคอง เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางอันสูงสุดของชีวิต เพราะกัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์นั่นคือการที่คนเราจะทำความดีให้ได้ตลอดหรือดำรงตนอยู่ในเพพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้นั้น ต้องอาศัยกัลยาณมิตรคอยชี้แนะ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

       "ดูก่อนอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียวนั้นพึงทราบโดยปริยายแม้นี้ ด้วยว่าเหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดาย่อมพ้นไปจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากมรณะ ผู้มี โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เพราะอาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตรดูกรอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียวนั้นพึงทราบโดยปริยายนี้แล"

 

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชา DF 101 การทำหน้าที่กัลยาณมิตรเบื้องต้น 

กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015772032737732 Mins