ลักษณะของใจที่เป็นสมาธิ

วันที่ 01 มีค. พ.ศ.2557

 

 

 

ลักษณะของใจที่เป็นสมาธิ

 

 

         ลักษณะของใจที่เป็นสมาธิ

 

             ลักษณะของใจที่เป็นสมาธิเบื้องต้น

            ลักษณะของสมาธิที่เกิดขึ้นต่อใจที่ทำให้ใจมีความตั้งมั่น และแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว จะมี
ลักษณะที่ปรากฏขึ้นให้สังเกตอีกหลายประการ หรือกล่าวได้ว่า เมื่อทำสมาธิได้ประสบผลสำเร็จจนใจเป็น สมาธิ ใจจะต้องมีลักษณะ หรือคุณสมบัติ 3 ประการ คือ

1. ลักษณะบริสุทธิ์
2. ลักษณะตั้งมั่น
3. ลักษณะควรแก่การงาน
            ใจที่ได้รับการอบรมฝึกฝนดีแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของการเจริญสมาธิ จะมีความสงบ เยือกเย็น
มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ที่มากระทบ ยิ่งเป็นสมาธิในระดับสูง จะมีความเยือกเย็น ประณีตสูงขึ้นไปตามลำดับ

 

            ลักษณะของใจที่เป็นสมาธิระดับอัปปนา

           ในพระไตรปิฎก กล่าวถึงลักษณะใจที่มีสมาธิ โดยเฉพาะสมาธิในระดับอัปปนาว่า
1. ตั้งมั่น คือ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่กำหนด
2. บริสุทธิ์ คือ หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง
3. ผ่องใสคือ ไม่มีกิเลสเครื่องทำใจให้ขุ่นมัว
4. เรียบเสมอ คือ ไม่ฟูแฟบหรือขึ้นๆ ลงๆ เหมือนใจที่ไม่มีสมาธิ
5. ปราศจากสิ่งที่จะทำให้มัวหมอง คือ ไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองมารบกวน
6. นุ่มนวล คือ มีความอ่อนโยนไม่หยาบกระด้าง
7. ควรแก่การงาน คือ เหมาะที่จะใช้งาน โดยเฉพาะงานด้านพัฒนาปัญญา
8. มั่นคง คือ ดำรงมั่นเหมือนเสาเขื่อนไม่โยกคลอนหรือหวั่นไหว

           ดังนั้น เราสามารถอธิบายได้ว่า ใจที่เป็นสมาธิ จะมีลักษณะที่ตั้งมั่น ราบเรียบสงบนิ่ง เหมือนน้ำนิ่งในสระ ที่ไม่มีลมพัดต้อง ไม่มีสิ่งรบกวนให้เกิดคลื่นกระเพื่อมไหว ใจที่เป็นสมาธินั้นจะใสกระจ่าง สว่างจนมองเห็นอะไรๆ ได้ชัด เหมือนน้ำที่แม้จะขุ่น แต่เมื่อกวนด้วยสาร ส้มจนตกตะกอนแล้ว ฝุ่นละอองที่มีก็ตกตะกอนนอนก้นหมด ปรากฏแต่ความใสกระจ่าง ใจที่เป็นสมาธิดีแล้ว จะมีความนุ่มนวล ควรแก่การงาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน เพราะใจจะเป็นระเบียบ ไม่สับสน ไม่กระด้าง ไม่วุ่น ไม่ขุ่นมัว ไม่เครียด ไม่เร่าร้อน และไม่มีความกระวนกระวาย


             จากข้างต้น เราจะเห็นว่าลักษณะของสมาธิ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของใจ ดังนั้นการทำสมาธิจึงไม่ใช่จะทำได้เฉพาะในท่านั่ง หลับตา และทำสมาธิอย่างที่หลายคนเข้าใจเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงเราสามารถทำสมาธิได้ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็น การยืน เดิน นั่ง นอน แต่มีหลักสำคัญ คือ ให้ใจนั้นตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

 

จากหนังสือ DOU

วิชา MD 101 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสมาธิ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0049285173416138 Mins