ลักษณะและคุณสมบัติของธาตุ
จากที่ได้อธิบายมาแล้วว่า ธาตุ 4 และธาตุ 6 ประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง ต่อจากนี้จะได้อธิบายถึงลักษณะและคุณสมบัติของธาตุเหล่านี้ แต่เนื่องจาก ลำดับที 1 ถึง 4 ธาตุแรกในธาตุ 6 ก็คือธาตุทั้งลำดับที 1 - 4 ชนิดในธาตุ 4 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นในที่นี้จะได้อธิบาย ธาตุทั้ง 6 ไปในคราวเดียวกันดังต่อไปนี้
1. ปฐวีธาตุ
ปฐวีธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุดินในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ดินทั่ว ๆ ไปอย่างที่เราคุ้นเคยและเรียกกันติดปากอย่าง ดินร่วน ดินเหนียว ดินทราย ตามท้องไร่ท้องนา หรือดินในบริเวณที่อยู่อาศัย อะไรอย่างนั้น แต่ธาตุดินในที่นี้หมายถึง ธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง หรือทำให้สิ่งต่างๆ มีลักษณะแข็ง โดยเมื่อนำไปเทียบกับธาตุที่เหลืออีก 3 ธาตุแล้ว ธาตุดินจะมีลักษณะแข็ง และมีคุณสมบัติทำให้แข็ง เมื่อวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดมี
ปฐวีธาตุเป็นองค์ประกอบหลัก คือมีความเข้มข้นหรืออัตราส่วนที่มากกว่าธาตุอื่นอีก 3 ธาตุ จะทำให้วัตถุสิ่งของนั้น มีลักษณะแข็งปรากฏขึ้น เช่น การที่เหล็ก หิน ไม้ มีลักษณะแข็ง เป็นเพราะว่า มีธาตุดินในอัตราส่วนที่มากกว่าธาตุอื่น ในขณะเดียวกัน ถ้าวัตถุสิ่งใดๆ ก็ตาม มีองค์ประกอบเป็นธาตุดินในปริมาณน้อย หรือมีอัตราส่วนที่น้อยกว่าธาตุอื่น ลักษณะแข็งที่ปรากฏในวัตถุสิ่งของนั้นก็ปรากฏไม่มาก แต่จะมีลักษณะอ่อนความแข็ง ความอ่อนของวัตถุสิ่งของทั้งปวง จึงขึ้นอยู่กับปริมาณของปฐวีธาตุที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งนั้นๆ และปฐวีธาตุนี้เท่านั้นที่ทำให้สิ่งต่างๆ แข็งหรืออ่อน โดยที่ธาตุอื่นไม่มีคุณสมบัติเช่นนี้
ธาตุดินหรือปฐวีธาตุนี้ มีทั้งที่อยู่ภายในร่างกาย และที่อยู่ภายนอกร่างกาย โดย
ปฐวีธาตุภายในร่างกาย คือ อวัยวะและสิ่งต่างๆ ในร่างกายเราที่มีลักษณะแข็ง หรือรวมตัวกันเป็นก้อนจนสามารถกำหนดได้ ซึ่งได้แก่ อวัยวะน้อยใหญ่ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งอื่นๆ ที่มีลักษณะข้นแข็ง แม้ในส่วนที่เป็นของเหลว เช่น เลือด ก็มีธาตุดินผสมอยู่ แต่มีในสัดส่วนที่น้อยกว่าอวัยวะที่เป็นของแข็ง และถ้าเลือดของใครมีธาตุดินมากก็จะมีลักษณะเลือดข้น
ปฐวีธาตุภายนอก คือสิ่งต่างๆ ที่เป็นของแข็งหรือมีลักษณะแข็ง กระด้าง ได้แก่ วัตถุสิ่งของทั้งปวง เป็นต้นว่า บ้าน รถยนต์ เรือสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ภูเขา หิน ดิน ต้นไม้ ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลาย
ปฐวีธาตุนี้ เป็นที่ตั้งที่อาศัยของธาตุอื่นและสรรพสิ่งทั้งหลาย ถ้าปราศจากปฐวีธาตุแล้วสิ่งอื่นไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เปรียบเหมือนสิ่งต่าง ๆ ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยแผ่นดินรองรับ ถ้าปราศจากแผ่นดินสิ่งต่างๆ ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ หรือเปรียบปฐวีธาตุเป็นเช่นกับแก้ว ส่วนธาตุอื่นเปรียบเสมือนน้ำ ตามธรรมชาติของน้ำไม่สามารถคงรูปได้ แต่เมื่อเรานำน้ำมาใส่ในแก้วที่มีรูปทรงต่าง ๆ ทำให้น้ำสามารถคงรูปเป็นลักษณะต่าง ๆ ได้เพราะอาศัยแก้ว ทำนองเดียวกันที่เราเห็นเป็นสิ่งต่างๆ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อาศัยปฐวีธาตุ หรือธาตุดินจึงมีรูปร่างต่างๆ นานา
2. อาโปธาตุ
อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ เช่นเดียวกัน ธาตุน้ำในที่นี้ ก็ไม่ได้จำเพราะเจาะจงว่าเป็นน้ำตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่เรารู้จัก ไม่ว่าจะเป็นน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำบาดาล หรือน้ำในทะเล แต่ธาตุน้ำในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่มีลักษณะไหลหรือเกาะกุมรวมตัวได้ และมีคุณสมบัติทำให้วัตถุหรือสิ่งต่างๆ เกาะกุมรวมตัวเข้าเป็นกลุ่มก้อน หรือไหลได้ โดยที่ธาตุน้ำนี้ ถ้ามีอยู่เป็นจำนวนมากในวัตถุสิ่งใดๆ ก็ตาม จะทำให้สิ่งของเหล่านั้น เหลวและไหลไปได้ แต่ถ้ามีจำนวนน้อยจะทำให้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ เกาะกุมกันเป็นกลุ่มก้อน อุปมาเหมือนยางเหนียว ที่สามารถเชื่อมประสานวัตถุสิ่งของให้ติดกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้
หากว่าในวัตถุใดมีจำนวนธาตุน้ำมากกว่าธาตุดิน อำนาจของธาตุน้ำจะทำให้ธาตุดินมีอำนาจน้อยลง จึงเป็นเหตุให้วัตถุนั้นอ่อนเหลวและสามารถไหลไปมาได้ ดังเช่นน้ำ ที่น้ำไหลไปมาได้เพราะว่ามีธาตุน้ำมาก ธาตุดินน้อย เมื่อธาตุดินน้อยจึงถูกอำนาจของธาตุน้ำทำให้ธาตุดินซึ่งปกติมีลักษณะแข็งไหลไปมาได้
แต่หากว่าธาตุน้ำมีจำนวนน้อยกว่าธาตุดิน อำนาจของธาตุน้ำจะทำให้ปรมาณูธาตุดินเกาะกุมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เหมือนกับการประพรมน้ำลงไปบนผงแป้งหรือผงฝุ่น ทำให้ผงแป้งหรือผงฝุ่นจับตัวกันเป็นก้อนได้
อาโปธาตุหรือธาตุน้ำนี้ มีทั้งที่อยู่ภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตและที่อยู่ภายนอก
ธาตุน้ำที่อยู่ภายในร่างกาย คือส่วนต่างๆ ภายในร่างกายที่มีลักษณะเอิบอาบ ซึมซาบ ไหลได้ ได้แก่ ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร และสิ่งอื่นๆ ที่มีลักษณะเอิบอาบ ซึมซาบไป
ธาตุน้ำที่อยู่ภายนอก คือสิ่งต่างๆ ภายนอกร่างกายที่มีลักษณะเอิบอาบ เหนียว เกาะกุม ได้แก่ รส ที่มีอยู่ในส่วนต่างๆ ของพืชผักและผลไม้สิ่งต่างๆ นมสด นมส้ม เนยใสเนยข้น น้ำที่อยู่ในพื้นดิน น้ำที่อยู่ในอากาศ ฯลฯ
3. เตโชธาตุ
เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ มีลักษณะร้อนและเย็น ลักษณะร้อนชื่อว่า อุณหเตโช ลักษณะเย็นชื่อว่า สีตเตโช เตโชธาตุทั้ง 2 ชนิด มี ภาวะลักษณะเป็นไอ โดยอุณหเตโช มีไอร้อนเป็นลักษณะ และ สีตเตโช มีไอเย็นเป็นลักษณะ ซึ่งเตโชธาตุทั้ง 2 ชนิด มีหน้าที่ทำให้วัตถุต่าง ๆสุก และละเอียดนุ่มนวล ดังจะเห็นได้จาก เมื่อวัตถุต่างๆ ส่วนมาก เช่น อาหาร ทำให้สุกด้วยความร้อน แต่อาหารบางอย่างก็ทำให้สุกด้วยความเย็นได้เหมือนกัน
เตโชธาตุหรือธาตุไฟ มีทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกร่างกาย โดย
ธาตุไฟภายในร่างกาย คือ ธาตุที่เป็นเครื่องยังกายให้อบอุ่น ยังกายให้ทรุดโทรม ยังกายให้กระวนกระวาย และธาตุที่เป็นเหตุให้ของที่บริโภคเข้าไปย่อยได้ด้วยดี รวมทั้งสิ่งอื่นๆ ที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อนธาตุไฟภายนอก คือ ความร้อน ความอุ่น ความอบอุ่นภายนอก ได้แก่ ไฟจากการเผาไหม้วัสดุต่างๆ ไฟจากฟ้าผ่า ความร้อนแห่งไฟ ความร้อนแห่งดวงอาทิตย์ ความร้อนในกองวัสดุต่างๆ เช่น กองฟืน กองหญ้า กองข้าวเปลือก กองขี้เถ้า ฯลฯ
ธาตุไฟ มี 5 ชนิด คือ
ในเตโชธาตุทั้ง 5 ชนิดนี้ ที่มีอยู่ในร่างกายสิ่งมีชีวิต คือ อุสมาเตโช กับ ปาจกเตโช สำหรับ สนตปปนเตโช ทหนเตโช และ ชิรณเตโช จะไม่อยู่ประจำในร่างกาย แต่ปรากฏขึ้นเนื่องจาก อุสมาเตโช มีอาการวิปริตไป เช่น การที่เป็นไข้ตัวร้อน เกิดจาก อุสมาเตโช เปลี่ยนสภาพไปเป็น สนตปปนเตโช หรือถ้ามีไข้สูงตัวร้อนจัดจนเพ้อคลั่ง เป็นเพราะ อุสมาเตโช มีภาพวิปริตมากขึ้นจาก สนตปปนเตโช กลายเป็น ทหนเตโช และสำหรับผู้ที่มีโรคภัยเบียดเบียนอยู่เสมอ หรือผู้ที่ล่วงเข้าปัจฉิมวัย อุสมาเตโช จะเปลี่ยน ภาพเป็น ชิรณเตโช ทำให้ปรากฏอาการทรุดโทรมของร่างกายเกิดขึ้น เช่น ผมหงอก ฟันหัก ตามัว เนื้อหนังเหี่ยว เป็นต้น
4. วาโยธาตุ
วาโยธาตุ คือ ธาตุลม มีลักษณะเคร่งตึงและเคลื่อนไหว โดยธาตุลมที่มีลักษณะเคร่งตึงเรียกว่า วิตถัมภนวาโย เป็นวาโยธาตุที่ทำให้สิ่งต่างๆ ที่เกิดพร้อมกับตัววาโยธาตุเองตั้งมั่น ไม่ให้คลอนแคลนเคลื่อนไหวไปได้ ในร่างกายของคนเรา ถ้าวิตถัมภนวาโย ปรากฏขึ้นในผู้ใดเข้า จะทำให้ผู้นั้นรู้สึกตึง เมื่อยปวดตามร่างกาย หรือขณะที่มีการเกร็งตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือเพ่งตาเป็นเวลานานๆ โดยไม่กะพริบตา จะทำให้วิตถัมภนวาโย ปรากฏขึ้นโดยการกระทำของผู้นั้นเอง แต่สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในภายนอกนั้น วัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง หรือทำให้ตึงขึ้นก็เป็นเพราะวาโยธาตุลักษณะนี้เช่นกัน เช่น ลูกบอลที่ถูกอัดลมเข้าไปภายใน การที่ลูกบอลตึงขึ้นก็เพราะวาโยที่เป็นวิตถัมภนวาโย
ส่วนธาตุลมที่มีลักษณะเคลื่อนไหวเรียกว่า สมีรณวาโย นี้ทำให้รูปที่เกิดพร้อมกันกับตน เคลื่อนไหวไปมาได้ เช่นสัตว์ทั้งหลายที่เคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ ได้ การกระพริบตา กลอกตา กระดิกมือ กระดิกเท้าการถ่ายเทสิ่งโสโครกออกจากร่างกาย การคลอดบุตรต่างๆ เหล่านี้ เป็นด้วยอำนาจ สมีรณวาโย ทั้งสิ้นส่วน สมีรณวาโยที่อยู่ภายนอกสัตว์นั้น ทำให้วัตถุสิ่งต่างๆ เคลื่อนจากที่เดิมไปได้
วาโยธาตุหรือธาตุลม มีทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกร่างกาย
ธาตุลมที่อยู่ภายในร่างกาย คือสิ่งที่มีลักษณะพัดผันไปในร่างกาย ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบนลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า และสิ่งอื่นๆ ที่พัดผันในร่างกาย
ธาตุลมภายนอก คือ ความพัดไปมา ความเคร่งตึงของวัตถุสิ่งของต่างๆ ได้แก่ ลมในลักษณะต่างๆ เช่น ลมตะวันตก ลมตะวันออก ลมเหนือ ลมใต้ ลมมีฝุ่นละออง ลมไม่มีฝุ่นละออง ลมหนาว ลมร้อนลมจากการกระพือปีก ฯลฯ
5. อากาสธาตุ
อากาสธาตุ หรือ ธาตุอากาศ คือ ช่องว่าง ที่ว่าง ความว่างเปล่า สถานที่ที่ไม่มีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ หรือช่องว่างที่อยู่ระหว่างธาตุต่างๆ ซึ่งอากาสธาตุ นี้มีทั้งอากาสธาตุที่อยู่ภายในและภายนอกร่างกาย
อากาสธาตุภายใน คือ ช่องว่างต่างๆ ที่อยู่ในร่างกาย เป็นที่ที่เนื้อและเลือดไม่สัมผัสถูกต้อง ได้แก่ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องทางเดินอาหาร ช่องว่างในกระเพาะอาหาร และช่องทางขับถ่ายอาหารออกจากร่างกาย หรือความว่างเปล่า ช่องว่างอื่นๆ ที่อยู่ภายในร่างกาย
อากาสธาตุภายนอก คือ ความว่างเปล่า ช่องว่างต่างๆ ที่มหาภูตรูป 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่สัมผัส ถูกต้องที่อยู่ภายนอกร่างกาย เช่น ช่องว่างระหว่างอนุภาคในอะตอม อากาศ เป็นต้น
6. วิญญาณธาตุ
วิญญาณธาตุ คือ ธาตุรู้ วิญญาณธาตุนี้เมื่อเข้าไปอยู่ในธาตุทั้ง 5 จะทำให้สิ่งนั้นมีชีวิต แต่โดยปกติแล้ว จะมีเฉพาะในคนและสัตว์เท่านั้น และมีอยู่ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น (ดังนั้นเมื่อมนุษย์และสัตว์ตายแล้ว คงเหลือเพียงธาตุ 5 ส่วนวิญญาณธาตุจะหายไป ร่างกายของมนุษย์ที่ตายแล้ว จึงไม่ต่างจากสรรพสิ่งทั้งปวง)
วิญญาณธาตุนี้ ทำหน้าที่รับรู้ จึงทำให้บุคคลรู้สิ่งต่างๆ ได้ คือรู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าสุขบ้าง ทุกข์บ้างไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง การที่เรารู้เรื่องราวต่างๆ หรือมีความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ก็เพราะเรามีวิญญาณธาตุโดยความรู้นี้รู้ด้วยวิญญาณธาตุทั้ง 6 ซึ่งประกอบด้วย จักขุวิญญาณธาตุ-ธาตุรู้ทางตา โสตวิญญาณธาตุ-ธาตุรู้ทางหู ฆานวิญญาณธาตุ-ธาตุรู้ทางจมูก ชิวหาวิญญาณธาตุ-ธาตุรู้ทางลิ้น กายวิญญาณธาตุ-ธาตุรู้ทางกาย มโนวิญญาณธาตุ-ธาตุรับรู้ทางใจ
โดยเมื่อเราได้รับสิ่งต่างๆ ภายนอกผ่านช่องทางการรับรู้ต่างๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะเกิดกระบวนการรับรู้ขึ้นด้วยการทำงานของวิญญาณธาตุ ซึ่งเราจะเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้ก็ต่อเมื่อได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติสมาธิ
จากหนังสือ DOU
วิชา GL 101 จักรวาลวิทยา
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต