ธาตุทั้งหลายเป็นไตรลักษณ์

วันที่ 02 พค. พ.ศ.2557

ธาตุทั้งหลายเป็นไตรลักษณ์

 ธาตุทั้งหลายเป็นไตรลักษณ์

 
       จากบทเรียนที่ผ่านมาในบทนี้ ทำให้เราเห็นว่าสิ่งต่างๆ มีธาตุเป็นที่สุด คือ ถ้าเป็นคือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ และวิญญาณธาตุ สิ่งอื่นก็เช่นกันเมื่อแยกออกแล้วล้วนประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งหลาย เว้นแต่เพียงวิญญาณธาตุเท่านั้น และหากว่ามนุษย์หรือสัตว์ตายแล้ว ก็มีสภาพไม่ต่างจากสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย
 

       ดังนั้น เราจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดในโลก เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่จะมั่นคงถาวรได้ตลอดไป ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อถึงเวลาหนึ่งย่อมสลายไป ตามเหตุปัจจัย ธาตุต่างๆ จะคืนสู่สภาพเดิมของมัน เป็นต้นว่า ร่างกายของมนุษย์เมื่อตายแล้วส่วนต่างๆ ก็เสื่อมสลายไปตามอำนาจเดิมของธาตุ กลับกลายเป็นธาตุดินธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ กระจัดกระจายแตกแยกออกจากกัน มิได้รวมอยู่ดังเดิมร่างกายของคนที่ตายแล้วจึงไม่สามารถคงสภาพเดิมอยู่ได้

       ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงถึงธาตุต่างๆ แล้ว จึงตรัสสอนว่าให้เห็นธาตุทั้งหลายด้วย ปัญญาตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ที่เป็นสังขารธรรม เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งยังตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ ที่แม้จะเป็นของเรา หรืออยู่ในครอบครองของเรา หรือแม้ตัวเราเอง แต่ก็ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา เมื่อเห็นความเป็นจริงอย่างนี้ ก็จะทำให้เบื่อหน่ายในธาตุทั้งหลาย (ที่ประชุมกันขึ้นเป็นสิ่งต่างๆ) และทำให้คลายกำหนัดคือไม่ยึดมั่นถือมั่นได้

       เพราะถ้าหากว่าไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงของธาตุทั้งหลายแล้ว สัตว์ทั้งหลายก็ยังคงมีความผูกพันยินดีในธาตุทั้งหลาย (เพราะธาตุนำมาทั้งความสุขและความทุกข์) จึงไม่สามารถพ้นออกจากโลก คือวัฏสงสารได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ใน โนเจทสูตร ว่า

       "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตราบเท่าที่สัตว์เหล่านี้ยังไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความแช่มชื่น โดยเป็นความแช่มชื่น ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งธาตุทั้ง 4 เหล่านี้เพียงใด สัตว์เหล่านั้นยังสลัดตนออกไม่ได้ พรากออกไม่ได้ ยังไม่หลุดพ้นไปจากโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และจากหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ มีใจข้ามพ้นจากแดนกิเลสและวัฏฏะไม่ได้เพียงนั้น ก็เมื่อสัตว์เหล่านี้ได้ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความแช่มชื่นโดยเป็นความแช่มชื่น ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งธาตุ 4 เหล่านี้เมื่อนั้น ย่อมสลัดตนออกได้ พรากออกได้ หลุดพ้นจากโลก พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก และจากหมู่สัตว์ พร้อมทั้ง มณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ จึงได้มีใจข้ามพ้นจากแดนกิเลสและวัฏฏะอยู่ ดังนี้" (1)

       ทรงแสดงให้ทราบว่า ธาตุทั้งหลายเป็นที่มาแห่งโรค และเป็นที่ปรากฏของความแก่ชรา โดยทรงแสดงไว้ใน อุปปาทสูตร ว่า

      "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิด ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งปฐวีธาตุ... นั่นเป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชรามรณะ ความเกิด ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่ง อาโปธาตุ... แห่งเตโชธาตุ... แห่งวาโยธาตุ นั่นเป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็นที่ตั้ง แห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชรามรณะ

      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ความดับ ความสงบ ความสูญสิ้นแห่งปฐวีธาตุ ...
นั่นเป็นความดับแห่งทุกข์ เป็นความสงบแห่งโรค เป็นความสูญสิ้นแห่งชรามรณะ ความดับ ความสงบ ความสูญสิ้นแห่งอาโปธาตุ... แห่งเตโชธาตุ... แห่งวาโยธาตุ...นั่นเป็นความดับแห่งทุกข์ เป็นความสงบแห่งโรค เป็นความสูญสิ้นแห่งชรามรณะ"1

      นอกจากนี้ ยังทรงแสดงให้เห็นว่า จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้ต้องไม่ชื่นชมยินดีในธาตุทั้งหลาย ( ที่ประชุมกันขึ้นเป็นสิ่งต่างๆ แล้วนำมาซึ่งความชอบใจ ) โดยทรงแสดงไว้ใน อภินันทนสูตร ว่า

      "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดย่อมชื่นชมปฐวีธาตุ...ผู้นั้นชื่อว่าย่อมชื่นชมทุกข์
ผู้ใดย่อมชื่นชมทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่หลุดพ้นจากทุกข์ ผู้ใดย่อมชื่นชมอาโปธาตุ...
ผู้ใดย่อมชื่นชมเตโชธาตุ... ผู้ใดย่อมชื่นชมวาโยธาตุ... ผู้นั้นชื่อว่าชื่นชมทุกข์
ผู้ใดชื่นชมทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่หลุดพ้นจากทุกข์ ดังนี้

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดย่อมไม่ชื่นชมปฐวีธาตุ... ผู้นั้นชื่อว่าไม่ชื่นชมทุกข์
ผู้ใดไม่ชื่นชมทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นหลุดพ้นจากทุกข์ ผู้ใดไม่ชื่นชมอาโปธาตุ...
ผู้ใดไม่ชื่นชมเตโชธาตุ... ผู้ใดไม่ชื่นชมวาโยธาตุ ผู้นั้นชื่อว่าไม่ชื่นชมทุกข์ ผู้ใด
ไม่ชื่นชมทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นหลุดพ้นจากทุกข์ ดังนี้

      สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกล้วนเกิดจากการประชุมกันขึ้นจากธาตุ มีธาตุเป็นที่สุด ด้วยเหตุที่มนุษย์และสัตว์ มีธาตุเป็นองค์ประกอบ 6 ธาตุส่วนสิ่งอื่น ๆ มีธาตุเป็นองค์ประกอบ 5 ธาตุ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้นสิ่งทั้งหลายจึงไม่มีความมั่นคงถาวร มีความเสื่อม ภาพไปตามเวลาที่ผ่านไป และเมื่อถึงเวลาอันควร เหตุปัจจัยที่ทำให้ธาตุเหล่านั้นมาประชุมรวมกันหมดไป ธาตุเหล่านี้ก็จะแยกสลายกันไป เราจึงไม่ควรยึดมั่น ถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เพราะการยึดมั่นถือมั่นย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ ความผิดหวัง ความเศร้าโศกและในบางครั้งนำมาซึ่งความเดือดร้อน เราจึงควรมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ซึ่งการมองเช่นนั้นจะทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข และเป็นการเดินบนเส้นทางสู่มรรคผลนิพพาน หลุดพ้นจากวัฏฏะในที่สุด

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชา GL 101 จักรวาลวิทยา

กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.045930782953898 Mins