สัปปุริสธรรม 7 ประการ1

วันที่ 03 พค. พ.ศ.2557

 

 

       สัปปุริสธรรม 7 ประการ1

        คุณธรรมของผู้ที่จะเป็นกัลยาณมิตรของโลก

        1. ธัมมัญู รู้จักธรรม ต้องมีธรรมะประจำใจที่สามารถเป็นแนวทางในการสอนตนเองและคนอื่นได้ไม่ใช่เป็นคนหลักลอย มีความเข้าใจและแตกฉานในคำสอนของพระพุทธเจ้าในระดับหนึ่ง ต้องหาโอกาสศึกษาธรรมะในพระไตรปิฎก ศึกษาจากการฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ หรือจากการอ่านหนังสือธรรมะ เป็นต้น

 

      2. อัตถัญญู รู้จักอรรถ คือ ทำความเข้าใจในเนื้อความต่างๆ ได้อย่างแตกฉาน จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง รู้ความมุ่งหมายของหลักธรรมนั้นๆ ว่ามีวัตถุประสงค์หรือเหตุผลอย่างไร อีกทั้งสามารถตีความหมายของผู้ที่ตนเองไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้นั้น ว่ามีจุดประสงค์อะไร เมื่อมีปัญหาสามารถแก้ไขให้ได้

 

      3. อัตตัญู รู้จักตน คือรู้จักที่ต่ำที่สูง ควรไม่ควร รู้จักกำลังของตนเอง ว่ามีความรู้ความสามารถ
เพียงไร กัลยาณมิตรจะต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องของความศรัทธาคือความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย มีสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นครบบริบูรณ์ ต้องมีศีลบริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อย มีสุตะคือศึกษาและเรียนรู้มามาก มีความเข้าใจโลกตามความเป็นจริง ต้องมีจาคะ ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว มีปัญญาสามารถสั่งสอนแนะนำบุคคลที่เราจะไปทำหน้าที่ได้จริงและต้องมีปฏิภาณเป็นยอด เพราะระหว่างการทำหน้าที่กัลยาณมิตร มีทั้งปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน

 

     4. มัตตัญญู รู้จักประมาณ บริหารตนเองได้ ตั้งแต่เรื่องความเป็นอยู่ ดำรงตนสมฐานะ ไม่ใช้จ่ายเกินรายได้ รู้จักประมาณในการรับประทานและการบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆ แต่งตัวแม้ไม่เลิศหรู แต่ให้ดูดี เป็นที่ตั้งแห่งความน่าเชื่อถือของผู้ได้พบเห็น มีความมักน้อยสันโดษ ไม่ฟุ่มเฟอยสุรุ่ยสุร่าย

 

     5. กาลัญญู รู้จักกาล รู้จักบริหารเวลาให้กับตนเอง เวลาไหนควรทำอะไร กำหนดตารางกิจกรรมที่จะต้องทำในแต่ละวันหรือแต่ละเดือน จนกระทั่งตลอดปีให้ชัดเจน เช่น เวลาเรียน เวลาทำงาน เวลาพักผ่อนเวลานั่งสมาธิเจริญภาวนา เวลาศึกษาธรรมะเป็นต้น

 

      6. ปริสัญญู รู้จักบริษัทหรือสังคม การจะเข้าไปสู่ที่ประชุมหรือสังคมใด ต้องรู้จักการวางตัว ต้อง
ศึกษามารยาทหรือขนบธรรมเนียมวันธรรมของแต่ละสถานที่นั้นๆ ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง จะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ควรรู้สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรปฏิบัติให้มากเข้าไว้ รู้จักการเดิน การยืน การนั่งและการพูดจา อันจะเป็นทางมาแห่งการทำหน้าที่กัลยาณมิตรต่อสังคมนั้นๆ ได้สำเร็จ

 

      7. ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักบุคคล การวิเคราะห์คนได้ถูกต้องตามหลักจริต อัธยาศัย นิสัยหรือธาตุของผู้ร่วมสนทนา คือความสำเร็จก้าวแรกและเป็นก้าวสำคัญในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร จะได้รู้จักว่า บุคคลไหนควรคบไม่ควรคบ ควรแนะนำธรรมะหมวดใดจึงจะตรงจริตอัธยาศัย เหมือนหมอที่จ่ายยาถูกโรคย่อมทำให้คนไข้หายป่วยได้อย่างรวดเร็ว

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชา DF 101 การทำหน้าที่กัลยาณมิตรเบื้องต้น

กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011837681134542 Mins