ธรรมชาติของบุคคลที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร

วันที่ 10 กย. พ.ศ.2557

ธรรมชาติของบุคคลที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร


ธรรมชาติของบุคคลที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร

      ในการเริ่มต้นทำหน้าที่กัลยาณมิตรเพื่อที่จะขยายเครือข่ายคนดี ก่อนอื่นเราต้องทราบธรรมชาติ ของคนในสังคมก่อน บุคคล 4 ประเภทที่พระองค์ตรัสไว้ โดยสรุปดังนี้

      ก.บุคคลผู้อับปัญญา ยังไม่อาจให้บรรลุคุณวิเศษได้ในชาตินี้ เรียกว่า ปทปรมะ เทียบกับบัวจมใต้น้ำ จักเป็นภักษาแห่งปลาและเต่าต่อไป

    ข.บุคคลผู้พอจะหาทางคอยชี้แจงแนะนำให้เข้าใจได้ต่อๆ ไป เรียกว่า เนยยะ เทียบกับบัวงามใต้พื้นน้ำจักบานในวันต่อๆ ไป

     ค.บุคคลผู้สามารถรู้เข้าใจได้    ต่อเมื่อได้อธิบายความนั้นให้พิสดารออกไป เรียกว่า วิปจิตัญญูเทียบกับบัวปริ่มน้ำ จักบานต่อวันรุ่งขึ้น

     ง.บุคคลผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลันแค่พอยกหัวข้อขึ้นแสดงเท่านั้น เรียกว่า อุคฆฏิตัญญู เทียบกับบัวพ้นน้ำ แต่พอรับสัมผัสแสงตะวันก็จะบาน ณ วันนั้น


        ดังนั้น ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแบ่งประเภทโดยธรรมชาติของคนในสังคมทุกสังคมไว้ เปรียบเสมือนกับบัว 4 เหล่านั้น กล่าวคือ บัวพ้นน้ำ บัวปริ่มน้ำ บัวใต้น้ำ และบัวที่อยู่ในโคลนตม

    คนที่เปรียบเสมือนกับบัวที่จมอยู่ในโคลนตมใต้น้ำ  เป็นคนประเภทที่แม้เราจะใช้ความพยายาม ในการอธิบาย ให้เขาเข้าใจเรื่องบุญเรื่องธรรมะแค่ไหนก็ตาม เขาก็ยังไม่สนใจ

        บุคคลที่เปรียบเสมือนประเภทที่บัวใต้น้ำ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความศรัทธาเพิ่มขึ้นมาบ้าง ในระดับ ที่เวลาที่มีข่าวบุญอะไรก็จะร่วมบุญมา แต่ก็ยังไม่ได้เข้าวัดปฏิบัติธรรม

        บุคคลประเภทที่เปรียบเสมือนกับบัวปริ่มน้ำ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความศรัทธามาก รู้เป้าหมายชีวิต ทุ่มเทในการสร้างบารมี มาวัดปฏิบัติธรรม แต่ก็ยังไม่มีอัธยาศัยในการทำหน้าที่ผู้นำบุญ

     บุคคลประเภทที่เปรียบเสมือนบัวพ้นน้ำ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความศรัทธามาก และมีอัธยาศัยในการ  ทำหน้าที่ผู้นำบุญ ยอดกัลยาณมิตร ทุ่มเทสร้างบารมี และมีหัวใจในการออกไปทำหน้าที่ให้แสงสว่างแก่ชาวโลก

        นอกจากนี้ ยังจะต้องเข้าใจว่า มนุษย์มีอุปนิสัยต่างกัน ทั้งนี้อาจจะมาจากสิ่งแวดล้อม ครอบครัว หรือผ่านการฝึกฝนอบรมมาต่างกัน ดังนั้น จึงทำให้มี “ จริต” ต่างกัน ซึ่งการจะทำหน้าที่กัลยาณมิตรทั้งการให้สิ่งของ การให้การช่วยเหลือ ตลอดจนการให้กำลังใจนั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจในจริตของแต่ละบุคคล จึงจะทำให้การทำหน้าที่กัลยาณมิตร เช่น การจะเลือกหัวข้อธรรมะไปแนะนำหรือถ่ายทอด จะได้ตรงตามลักษณะอุปนิสัยและจริตของแต่ละบุคคล ซึ่งจริตดังกล่าว พระพุทธองค์ทรงจำแนกไว้ 6 ประเภท ได้แก่

   1.ราคะจริต คนประเภทนี้มีราคะเป็นปกติของใจ ชอบความสวยความงาม มีหน้าตายิ้มแย้ม แม้จะดูจากภายนอกจะเป็นคนเรียบร้อย แต่ก็มีข้อบกพร่อง คือ มักจะมีความโลภ มีความถือตัว ทำอะไรเชื่องช้า

      2.โทสะจริต  คนประเภทนี้จะมีนิสัยโกรธง่าย มักหงุดหงิด ทำอะไรรวดเร็ว เป็นคนใจร้อน ริษยา มีการงานไม่เรียบร้อย

     3.โมหะจริต คนประเภทนี้ มีโมหะเป็นปกติของใจ กล่าวคือมักเป็นคนเขลา งมงาย เชื่องช้ารู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ช้า เป็นคนดื้อรั้น ไม่แน่ใจในสิ่งต่างๆ

      4.วิตกจริต คนประเภทนี้ มักจะมีความดำริตริตรอง เป็นปกติของใจ แต่มักเป็นคนคิดฟุ้งซ่านใจไม่อยู่นิ่ง จนกลายเป็นคนคิดมากเกินไป จะเป็นคนชอบพูดมาก ชอบมั่วสุม และเกียจคร้าน

     5.สัทธาจริต  คนประเภทนี้ ปกติของใจจะเป็นคนมีความเชื่อ เป็นคนซื่อ ไม่มีแง่งอน แต่ก็เชื่อง่ายและเป็นคนสอนง่าย แต่มักจะไม่เป็นตัวของตัวเอง

     6.พุทธิจริต คนประเภทนี้ เป็นคนเฉลียวฉลาด ไม่เชื่อสิ่งใดง่ายๆ เป็นคนเจ้าความคิด ขยันขันแข็ง ในการงาน พูดให้เข้าใจด้วยความมีเหตุผล

    ดังนั้น หากเราเข้าใจในความแตกต่างของบุคคลทั้งหลายว่า มีจริตและมีอุปนิสัยแตกต่างกันดังที่ได้จำแนกมาข้างต้นนี้แล้ว ย่อมจะทำให้เราสามารถที่จะเตรียมตัวและเตรียมบทธรรมะต่างๆ เพื่อแนะนำแก่บุคคลต่างๆ ได้ตรงกับจริตและอุปนิสัยเหล่านั้นได้ ซึ่งย่อมหมายถึงการที่เราทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012612414360046 Mins