ที่ตั้งและลักษณะของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ อย่างที่ทราบข้างต้นแล้วว่า เป็นที่อยู่ของผู้ปกครองภพ 33 องค์ โดยมี ท้าวสักกเทวราช หรือท้าวโกสีย์อัมรินทร์ ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่า พระอินทร์นี้ หรือบางทีก็เรียก ท้าวสหัสสนัย คือ ท้าวพันตา เพราะจักขุดีมากเห็นได้ชัดเจน และเห็นได้ไกลมาก เท่ากับดวงตาตั้งพันดวง เป็นประธาน มีหน้าที่ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์รวมถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้วย สวรรค์ชั้นนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาสิเนรุ สวรรค์ชั้นนี้ เดิมเป็นที่อยู่ของจอมอสูร แต่เมื่อพระอินทร์ผู้เคยเป็นมฆมาณพ เป็นผู้ประกอบกุศลกรรม พร้อมทั้งชักชวนสหายอีก 32 คนให้ประกอบกุศลกรรมต่างๆ เช่น สร้างศาลา และทำถนนหนทาง เป็นต้น อีกทั้งมฆมาณพได้บำเพ็ญวัตตบท 7 ประการ คือ เลี้ยงดูบิดามารดา เคารพยังยำเกรงต่อผู้เฒ่าผู้แก่ในตระกูล กล่าวถ้อยคำอันไพเราะอ่อนหวาน ไม่กล่าววาจาส่อเสียด ไม่ตระหนี่ ตั้งอยู่ในความสัตย์สุจริต และไม่เป็นคนมักโกรธ ครั้นละโลกแล้ว มฆมาณพพร้อมสหาย ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้ทำสงครามสู้รบกับจอมอสูร จนอสูรพ่ายแพ้ จึงต้องอพยพไปอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ
ในชั้นดาวดึงส์จะแบ่งออกเป็น 4 ทิศใหญ่ ตรงกลางจะเป็นเมืองที่ประทับของพระอินทร์ และพระสหาย ชื่อ สุทัสสนเทพนคร ซึ่งอยู่เป็นเมืองศูนย์กลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีเวชยันต์ประสาทเป็นจุด ศูนย์กลาง มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 3 เขตใหญ่ เขตแรกอยู่วงในใกล้เวชยันตปราสาท มีอยู่ 8 เขต เขตที่ 2 อยู่วงกลาง แบ่งออกเป็น 10 เขต เขตที่ 3 อยู่วงนอกสุดแบ่งออกเป็น 14 เขต รวมเป็น 32 เขต เท่ากับจำนวนของพระสหาย
มาศึกษารายละเอียดของมหาสุทัสสนเทพนคร ซึ่งเป็นเมืองกลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพนครขนาดใหญ่กว้างขวางมาก ปราสาทต่างๆ ล้วนเป็นแก้วอันเป็นทิพย์ มีกำแพงแก้วแวดล้อมมหานครอีก ชั้นหนึ่ง เนื่องจากสุทัสสนเทพนครมีความกว้างใหญ่ถึง 10,000 โยชน์ ทำให้มีประตูที่กำแพงแก้วถึง 1,000 ประตู และมียอดปราสาทอันสวยงามอยู่เหนือประตูทุกประตู เมื่อประตูเปิดแต่ละครั้งจะบังเกิดเสียงดนตรีทิพย์อันไพเราะกังวาน
ในท่ามกลางเทพนครนั้น มีเวชยันตปราสาทสูงถึง 1,000 โยชน์ มีความสวยงามสุดพรรณนา ล้วน แล้วประดับด้วยรัตนชาติ 7 ประการ เพราะเป็นที่ประทับของท้าวสักกะจอมเทพ พระนครนั้นประกอบด้วยประตู 1,000 บาน ประกอบด้วยอุทยานสวรรค์และสระโบกขรณี ที่เรือนยอดของเวชยันต์ปราสาทซึ่งมีความสูง 700 โยชน์ ล้วนประกอบด้วยแก้ว 7 ประการทั้งสิ้น มีธงหลากสีประดับประดาอย่างสวยงาม ธงต่างๆ เหล่านั้นสูงถึง 300 โยชน์ ผุดขึ้นในท่ามกลางพระนคร ตรงไหนมีคันธงเป็นทองตัวธงจะเป็นแก้วมณี ผืนธงจะเป็นทองระยิบระยับ ถ้าคันธงเป็นแก้วประพาฬ ผืนธงจะเป็นแก้วมุกดา หากคันธงเป็นแก้ว 7 ประการ ผืนธงจะเป็นแก้ว 7 ประการ เหมือนกัน ออกจากเวชยันตปราสาทอันเป็นที่ประทับของพระอินทร์แล้ว ซึ่งมีความยิ่งใหญ่อลังการแล้ว ยังมีอุทยานสวรรค์เกิดขึ้นมากมาย
ทิศตะวันออก มีอุทยานสวรรค์ชื่อ จิตรลดา ที่ใหญ่โตโอฬารมาก สวยงามกว่าสวนที่มีทั้งหมด มีเนื้อที่ประมาณ 500 โยชน์ มีสระโบกขรณี 2 สระ คือ จิตรโบกขรณี และจุลจิตรโบกขรณี เหตุที่สวนนี้ ชื่อจิตรลดา เพราะว่ามีเถาวัลย์ที่พิเศษซึ่งเป็นเถาชั้นยอดอยู่ชนิดหนึ่ง ชื่อว่า อาสาวดี เถาวัลย์ชนิดนี้ หนึ่งพันปีจะออกดอกครั้งหนึ่ง เมื่อออกผลก็จะออกเพียงผลเดียวเท่านั้น ครั้งออกผลแล้วจะส่งกลิ่นหอม ไม่แพ้ดอกปาริชาติ ดังนั้นเถาวัลย์นี้ จึงเป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจของเหล่าทวยเทพ ต่างรอคอยดูผลของเถาวัลย์อาสาวดีนี้
ทิศตะวันตก มีอุทยานสวรรค์ชื่อ นันทวัน ในสวนนี้ จะมีสระโบกขรณี 2 สระ คือ มหานันทาโบกขรณี และจุลลนันทาโบกขรณี และมีแท่นบรรทมสำหรับให้เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ได้ทำการจุติด้วย ซึ่งเทพผู้เกิดจุตินิมิต จะมายังสวนนี้เพื่อทำการจุติ เหล่าทวยเทพสหายก็จะมาอำนวยอวยพรให้บังเกิดในสุคติภพต่อไป
นอกจากนี้ ที่สวนนันทวัน ยังมีดอกมณฑารพเกิดขึ้นมากมาย เป็นต้นไม้ประจำสวนนันทวัน ดอกไม้นี้เคยตกจากสวรรค์ เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะที่พระองค์กำลังดับขันธปรินิพพาน ดอกมณฑารพมีสีเหลืองทอง มีรัศมีสวยงามมาก มีกลีบเท่าฉัตร ใบไม้ ละอองเกสรใหญ่เท่าทะนาน และในระหว่างสระก็มีสวน ในระหว่างสวนก็มีสระ สลับกันไปอย่างเป็นระเบียบ งดงาม สระแต่ละสระจะมีขนาดกว้างใหญ่ไม่เท่ากัน แต่ส่วนมากจะกว้างประมาณ 500 โยชน์
ทิศเหนือ มีอุทยานสวรรค์ชื่อ มิสกวัน ภายในมีสระโบกขรณี 2 สระ คือ สุธรรมาโบกขรณี และธรรมาโบกขรณี
ทิศใต้ มีอุทยานสวรรค์ชื่อ ปารุสกวัน เป็นสวนสวยที่ใหญ่ที่สุดในทิศนี้ มีสระโบกขรณี 2 สระ คือ ภัททาโบกขรณี และสุภัททาโบกขรณี
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในระหว่างสวนมิสกวันกับสวนนันทวัน มีสระบัวชื่อ ปทุมวัน ซึ่งมีความงามมาก ชาวสวรรค์มักจะพาไปเก็บดอกปทุมนี้ เพื่อไปบูชาพระจุฬามณีในวันพระ 8 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เป็นประจำ
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในระหว่างสวนนันทวันกับสวนปารุสกวัน มีสระบัวชื่อ อุบลวัน เป็นสระ บัวสาย ที่มีชื่อเสียงมาก
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในระหว่างสวนปารุสกวันกับสวนจิตรลดา มีสระบัวชื่อ นิลุบลวัน เป็นสระบัวเขียว ณ บริเวณนี้ จะเป็นที่ประดิษฐานของพระมหาจุฬามณี บุญสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าเทวดา ทั้งหลาย ซึ่งจะพากันมากราบไหว้บูชาด้วยทิพยบุปผาอยู่เป็นประจำ เพื่อเติมบุญบารมีให้กับตนเอง เพราะเมื่ออยู่บนสวรรค์แล้ว หมดสิทธิ์ทำความดี มีเพียงสถานที่เดียวที่จะก่อบุญกุศลได้ ชาวสวรรค์ ส่วนใหญ่จะเป็นพุทธศาสนิกชน ครั้งเมื่อเป็นมนุษย์อาจจะมีความเชื่อหลากหลาย เพราะความไม่รู้ ต่อเมื่อได้อยู่บนสวรรค์แล้ว จะรู้ด้วยตนเองว่า ทำบุญในพระพุทธศาสนาจึงจะถูกหลักแห่งการทำบุญ คือ ทำแล้วได้บุญมาก
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในระหว่างสวนมิสกวันกับสวนจิตรลดา จะมีสระบัวชื่อ ปุณฑริกวัน เป็นสระดอกบัวขาว ที่สวนนี้จะมีต้นปาริฉัตร ใต้ต้นปาริฉัตรจะมีบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ประทับนั่งของพระอินทร์ และยังมีสุธรรมเทวสภา อันเป็นที่ประชุมของเหล่าเทวดาอีกด้วย เยื้องจากสุธรรมเทวสภา จะมีสระแก้วใส และมีป่ามหาวัน ที่ตรงนี้จะมีปราสาทพันหลังเกิดขึ้น สำหรับเป็นที่ประทับของพระอินทร์ และเหล่าทวยเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่ ที่เข้ามาเที่ยวชมอุทยานสวรรค์แห่งนี้
------------------------------------------------------------------
จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา
เทวภูมิ