เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้จตุตถฌาน ประกอบด้วย เวหัปผลาภูมิ อสัญญีสัตตาภูมิ และสุทธาวาสภูมิ 5 ได้แก่ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ อกนิฏฐาภูมิ
10. เวหัปผลาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีผลไพบูลย์ คือเป็นผลของกุศลที่มั่นคงไม่หวั่นไหวเป็นพิเศษ ตามอำนาจของฌาน ผลของกุศลในชั้นปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ และตติยฌานภูมิ ไม่สามารถ บังเกิดในชั้นเวหัปผลาภูมิได้ เพราะเมื่อยามโลกถูกทำลาย ภูมิทั้ง 3 ระดับย่อมถูกทำลายไปด้วย ดังนี้
ในบรรดาพรหมทั้ง 9 ภูมิที่กล่าวมา สุภกิณหามีอายุยืนมากกว่าพรหมอื่นๆ ที่เกิดอยู่ในภูมิต่ำกว่า คือมีอายุขัยถึง 64 มหากัป โดยพรหมองค์ที่มีอายุเต็ม 64 มหากัป จะต้องเป็นองค์ที่อุบัติขึ้นพร้อมกับการสร้างโลกใหม่ ส่วนองค์ที่เกิดตามมาภายหลังย่อมมีอายุลดลงไปตามลำดับ เมื่อครบกำหนด 64 มหากัป ตติยฌานภูมินี้จะถูกทำลายด้วยลมทุกครั้งไป สำหรับเวหัปผลาภูมิ พ้นจากการถูกทำลายทั้งด้วยไฟ น้ำ และลม พรหมทุกองค์ที่บังเกิด ณ ที่นี้จึงมีอายุขัยได้เต็มที่ คือ 500 มหากัปเสมอไป
11. อสัญญีสัตตาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ไม่มีนามขันธ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มีแต่รูปขันธ์ คือ ดับความรู้สึกข้างนอกหมด ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น แต่กิเลสยังไม่ดับ มีรูปร่างผิวพรรณงดงามคล้ายพระพุทธรูปทองคำ มีอิริยาบถ 3 อย่าง คือ นั่ง นอน หรือยืน แล้วแต่อิริยาบถก่อนตายในชาติที่แล้วมา และจะอยู่ในอิริยาบถเดียวนิ่งๆ แข็งทื่ออยู่อย่างนั้นจนครบอายุขัย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า พรหมลูกฟัก อสัญญีสัตตาพรหมนี้จัดว่าเป็นอาภัพพสัตว์ คือ ไม่สามารถตรัสรู้ได้ในชาตินั้น พรหมชั้นนี้มีอายุ 500 มหากัป เช่นเดียวกับเวหัปผลาภูมิ
จตุตถฌานภูมิทั้ง 2 นี้ตั้งอยู่กลางอากาศ สูงกว่าตติยฌานภูมิ พรหมใน 2 ชั้นนี้สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน และมองเห็นพรหมชั้นที่อยู่ต่ำกว่าได้ ส่วนพรหมชั้นต่ำกว่าไม่สามารถมองเห็นพรหมชั้นสูงได้
รูปพรหมทั้ง 11 ชั้นที่กล่าวมานี้ แม้ว่าจะมีอายุยืนยาวมากก็ตาม ท้ายที่สุดจะต้องตายจากความเป็นพรหมด้วยกันทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคล อาจต้องไปเสวยทุกข์ในอบายภูมิก็เป็นได้ ทิพยสมบัติอิทธิฤทธิ์ รัศมีที่รุ่งเรือง การมีอายุยืนต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย สุทธาวาสภูมิ 5 เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าชั้นอนาคามี สุทธาวาสภูมิแบ่งออกเป็น 5 ชั้น ตามความแก่อ่อนของบารมี โดยดูจากอินทรีย์ 5 ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ดังนี้
12. อวิหาสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์อ่อนที่สุด ศรัทธามีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้จะไม่ละทิ้งสถานที่ของตน คือ ต้องอยู่จนครบอายุขัยจึงจุติ ไม่มีการเสื่อมจากสมบัติของตน มีทิพยสมบัติบริบูรณ์เต็มที่อยู่เสมอจนตลอดอายุขัย 1,000 มหากัป สำหรับพรหมชั้นสูงที่เหลืออีก 4 ชั้น อาจไม่ได้อยู่จนครบอายุขัย มีการจุติได้ก่อน
13. อตัปปาสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์แก่ขึ้น วิริยะมีกำลังมากกว่าอินทรีย์ อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้ไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะย่อมเข้าผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณ-ธรรมที่เป็นเหตุให้จิตเดือดร้อนไม่อาจเกิดขึ้น ใจมีแต่ความสงบเยือกเย็น พรหมชั้นนี้มีอายุ 2,000 มหากัป
14. สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์แก่ขึ้นไปอีก สติมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้จะเห็นสิ่งต่างๆ โดยปรากฏชัด เพราะบริบูรณ์ด้วยจักษุทั้งหลาย3)4)5)6) ได้แก่ ปสาทจักษุ ทิพยจักษุ ธัมมจักษุ ปัญญาจักษุ ที่บริสุทธิ์ พรหมในชั้นนี้มีร่างกายสวยงามมาก ผู้ใดได้เห็นแล้วย่อมเกิดความสุขใจ สุทัสสา จึงหมายความว่า ผู้ที่ผู้อื่นเห็นด้วยความเป็นสุข พรหมชั้นนี้มีอายุ 4,000 มหากัป
15. สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์แก่เกือบถึงที่สุด สมาธิมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้จะแลเห็นสิ่งต่างๆ โดยสะดวก มีการเห็นบริบูรณ์ด้วยดียิ่งกว่าสุทัสสาพรหม ว่าโดยจักษุ 4 ประการแล้ว ปสาทจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ ทั้งสามอย่างนี้มีกำลังมากยิ่งกว่าสุทัสสาพรหม มีแต่ธัมมจักษุเท่านั้นที่มีกำลังเสมอกัน พรหมชั้นนี้มีอายุ 8,000 มหากัป
16. อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์แก่ที่สุด ปัญญามีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้จะมีทิพยสมบัติและความสุขที่ยอดเยี่ยม มีคุณสมบัติยิ่งกว่ารูปพรหมทุกชั้น รูปพรหมชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 4 ในสุทธาวาสภูมินี้ ขณะยังไม่เป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติในชั้นของตนแล้วจะเลื่อนไปบังเกิดในชั้นสูงขึ้นไป ไม่เกิดซ้ำภูมิหรือไม่เกิดในภูมิต่ำกว่า แต่สำหรับอกนิฏฐพรหมย่อมไม่ไปบังเกิดในภูมิอื่นอีกเลย จะต้องปรินิพพานในภูมินี้อย่างแน่นอน พรหมชั้นนี้มีอายุ 16,000 มหากัป
ในอกนิฏฐสุทธาวาสภูมินี้ มีปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่ง คือ ทุสสเจดีย์ อันเป็นที่บรรจุเครื่องฉลองพระองค์ของเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสวมใส่ในขณะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ โดยฆฏิการพรหมได้ลงมาจากชั้นอกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ นำเอาเครื่องบริขารทั้ง 8 ถวายแด่พระสิทธัตถะ และรับเอาเครื่องฉลองพระองค์ไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ มีความสูง 12 โยชน์
สุทธาวาสภูมิ 5 จะมีขึ้นในระยะที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเท่านั้น เพราะเป็นที่อยู่ของพระอนาคามีบุคคล ถ้าพระพุทธศาสนายังไม่บังเกิด พระอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ นับเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นเฉพาะกาลโดยธรรมชาติ อายุของสุทธาวาสภูมิจะไม่เกินอายุรวมของทั้ง 5 ชั้นในภูมินี้รวมกัน (ประมาณ 31,000 มหากัป) เพราะไม่ว่าพระอริยบุคคลจะเกิดอยู่ในภูมิใด ในมนุษย์ เทวดา รูปพรหม ก็จะพากันปรินิพพานจนหมด ดังนั้น สุทธาวาสภูมิจะหายไปและจะบังเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ หมุนเวียนอยู่ดังนี้
นักศึกษาได้ทราบแล้วว่า การบังเกิดเป็นพรหมนั้น เมื่อครั้งเป็นมนุษย์จะต้องหมั่นสร้างบุญกุศล ทั้งทาน ศีล ภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำภาวนา จะต้องใฝ่ใจปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งทำฌานให้เกิดขึ้นได้ เมื่อละโลกไปแล้วจึงได้ไปบังเกิดเป็นพรหมอยู่ในรูปภพ ได้เสวยสุขอยู่ในทิพยวิมานอันโอฬาร และมีอายุขัยยาวนานยิ่งกว่าชาวสวรรค์หลายเท่าทีเดียว
อย่างไรก็ดี การมีชีวิตที่ยืนยาวอยู่บนพรหมโลก กลับเป็นการตัดโอกาสตนเองในการลงมาสั่งสมบุญบารมีในเมืองมนุษย์ พรหมในหลายๆ ชั้นหมดโอกาสได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางชั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดนับสิบนับร้อยพระองค์แล้ว ก็ยังคงเป็นพรหมอยู่อย่างนั้น ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอยู่ร่ำไป จนกว่าจะได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม บุญบารมีเต็มเปี่ยม จึงจะหลุดพ้นจากทุกข์ได้
ตารางแสดงอายุของรูปพรหม 16 ชั้น
รูปพรหม | อายุ |
---|---|
1. ปาริสัชชาภูมิ | 1 ใน 3 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป7) |
2. ปุโรหิตาภูมิ | 1 ใน 2 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป |
3. มหาพรหมาภูมิ | 1 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป |
4. ปริตตาภาภูมิ | 2 มหากัป |
5. อัปปมาณาภาภูมิ | 4 มหากัป |
6. อาภัสสราภูมิ | 8 มหากัป |
7. ปริตตสุภาภูมิ | 16 มหากัป |
8. อัปปมาณสุภาภูมิ | 32 มหากัป |
9. สุภกิณหาภูมิ | 64 มหากัป |
10. เวหัปผลาภูมิ | 500 มหากัป |
11. อสัญญีสัตตาภูมิ | 500 มหากัป |
12. อวิหาสุทธาวาส | 1,000 มหากัป |
13. อตัปปาสุทธาวาสภูมิ | 2,000 มหากัป |
14. สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ | 4,000 มหากัป |
15. สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ | 8,000 มหากัป |
16. อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ | 16,000 มหากัป |
------------------------------------------------------------------
3) ปสาทจักษุ คืด ตาธรรมดา ถ้าสำหรับมนุษย์คือตาเนื้อที่เราใช้มองสิ่งต่างๆ 4) ทิพยจักษุ คือ ตาอภิญญา มีอำนาจมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ในระยะไกล หรือสิ่งเล็กน้อยก็เห็นได้
5) ธัมมจักษุ คือ มัคคญาณเบื้องต่ำ 3 มีโสดาปัตติมรรถ สกิทาคามิมรรถ และอนาคามิมรรค
6) ปัญญาจักษุ คือ วิปัสสานาญาณ ปัจจเวขณญาณ และอภิญญาต่างๆ.
7) ดูอธิบายเพิ่มเติมในพระสูตร และอรรถกถาแปล อังคุตตรนิกาย จตุกนิกาย, มก. เล่ม 35 หน้า 371.
จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา
พรหมภูมิ