นักศึกษาได้เรียนรู้หัวข้อต่างๆ ของนิพพานมาพอสมควรแล้ว ลำดับต่อไป นักศึกษาจะได้ศึกษาว่า การภาวนาตามทางสายกลางเป็นหนทางที่จะนำไปสู่นิพพาน ซึ่งในที่นี้จะขอนำข้อความที่พระสารีบุตรได้ตอบข้อสงสัยเรื่องข้อปฏิบัติเพื่อการทำพระนิพพานให้แจ้งกับชัมพุขาทกปริพาชกใน นิพพานปัญหาสูตร ว่า
“ ดูก่อนผู้มีอายุ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ตั้งสติชอบ ตั้งใจชอบ นี้แลเป็นมรรคา เป็นปฏิปทาเพื่อกระทำนิพพานนั้นให้แจ้ง”
จากข้อความนี้ ทำให้เราทราบว่า ข้อปฏิบัติที่จะนำเราไปสู่พระนิพพาน คือ การภาวนาให้ตรงทางอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นทางปฏิบัติสายกลางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ครั้งแรกในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ณ ป่าอิสิปตมฤคทายวัน ในการแสดงธรรมครั้งนั้นมีพระโกณฑัญญะบรรลุธรรมเป็น บุคคลแรก และรวมถึงเหล่าเทวดาจำนวนมากที่บรรลุธรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเนื้อความในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เรื่องมรรคมีองค์ 8 นี้ เป็นแม่บทของการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระนิพพานอย่างแท้จริง แต่การจะปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ได้ถูกต้องตรงทางนั้น จะต้องฝึกฝนตเองอย่างยิ่งยวด และมีความเพียรในการเจริญภาวนาอย่างเต็มที่อีกด้วย
ในเรื่องการภาวนาตามมัชฌิมาปฏิปทานี้ เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจมากขึ้น จะขอยกตัวอย่างบทเทศน์ของพระมงคลเทพมุนี (สด จนทฺสโร) ที่กล่าวไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งทำให้เห็นภาพของการปฏิบัติได้ชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้
“ อริยมรรคมีองค์ 8 หรือ มัชฌิมาปฏิปทาหรือข้อปฏิบัติอันเป็นกลางนั้น คือ การเจริญมรรคมีองค์ 8 ครั้นปฏิบัตได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ พอถูกส่วนเข้าองค์มรรคทั้ง 8 ประการย่อมรวมตัวกันเป็นดวงกลมใสบริสุทธิ์ อย่างเล็กอาจจะมีขนาดเท่าดวงดาว อย่างกลางก็ขนาดดวงจันทร์ อย่างใหญ่ก็ขนาดดวงอาทิตย์ ปรากฏขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7เรียกว่า ดวงปฐมมรรค หรือ ดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นเครื่องหมายบ่งบอกให้ทราบว่า ผู้ปฏิบัติได้บรรลุถึงต้นทางของอายตนนิพพานแล้ว”
ดวงปฐมมรรคนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สว่างโพลงอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ของผู้เข้าถึงอยู่ตลอดเวลา ยามหลับ ก็จะหลับอย่างเป็นสุข ยามตื่น ก็จะรู้สึกสดชื่น แจ่มใสเบิกบานอยู่เสมอ ยามปฏิบัติหน้าที่การงานสิ่งใด ก็จะพากเพียรทำไปจนบรรลุประสิทธิผล โดยมิได้รู้สึกท้อแท้ หรือหวังลาภสักการะเป็นการตอบแทน นอกจากนั้นยังช่วยให้ความทรงจำ ตลอดจนปฏิภาณไหวพริบ และความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นอย่างคล่องแคล่วรวดเร็วทำให้บุคคลสามารถใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ทว่าความสุขและความสำเร็จอันเกิดจากดวงปฐมมรรคนี้ก็ยังหาเพียงพอไม่ สำหรับโยคาวจรบุคคลผู้หวังมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสารแห่งชีวิต
ดังนั้น จึงยังจำเป็นจะต้องดำเนินจิตต่อไป ให้บรรลุความสุขและความสำเร็จเบื้องสูงต่อไปอีก ด้วยการปล่อยวางดวงปฐมมรรคโดยการดำเนินจิตเข้าสู่กลางดวงปฐมมรรคนั้นเอง ครั้นแล้วจะได้พบว่า ดวงปฐมมรรคนั้นแผ่ขยายกว้างออกไป ทำนองเดียวกับการขยายเป็นวงกว้างของผิวน้ำ เมื่อเราโยนก้อนหินลงไปฉะนั้น จากนั้นจิตก็จะดำเนินดิ่งเข้ากลางของกลาง ซึ่งอยู่ในกลางดวงปฐมมรรคนั้นไปเรื่อยๆ ผ่านดวงต่างๆ และกายต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วไปจนกระทั่งบรรลุกายธรรมพระอรหัตเป็นที่สุด กายธรรมนี้เอง คือ พระนิพพานที่จะนำเราไปสู่อายตนนิพพาน
สรุป
เมื่อนักศึกษาได้ทำความเข้าใจทุกหัวข้อแล้ว ทำให้นักศึกษาทราบว่า พระนิพพานนั้นเป็นบทสรุปของทุกชีวิตในสังสารวัฏ ซึ่งมีอยู่จริงตามพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอด ในสรรพสิ่งทั้งปวง หากเราปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทา จนสามารถละกิเลสให้หมดสิ้นได้ตามลำดับ ได้เป็นพระอริยบุคคลแล้ว แม้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้ เมื่อละโลกไปแล้วก็จะกลับไปสู่พระนิพพาน ไม่มีวันที่จะต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป จะหลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิดในภพ 3 พ้นจากกฎของ ไตรลักษณ์ ดังนั้นนิพพานจึงเป็นดินแดนอันเกษมที่สงบ ปราศจากความทุกข์ทั้งปวง มีสุขเพียงอย่างเดียว สมดังพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า “ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”
จากการศึกษาในบทเรียนที่ผ่านมา นักศึกษาคงจะทราบว่า ในภูมิต่างๆ นั้นทั้งฝ่ายสุคติ มีมนุสสภูมิ เทวภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และทุคติ มีอบายภูมิ ล้วนยังตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ มีทุกข์ ไม่เที่ยง และไม่ใช่ตัวตน ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิเหล่านี้ยาวนานนับชาติไม่ถ้วน จนกว่าจะหมดกิเลส เข้าสู่ฝั่งนิพพาน อันเป็นภูมิสูงสุดในโลกุตรภูมิ
จากภพภูมิที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ภูมิมนุษย์เท่านั้น ที่มีความพิเศษกว่าภูมิอื่น เพราะเป็นสถานที่สร้างบุญและบาปได้อย่างเต็มที่ ถ้าหากสร้างความดีอย่างเต็มที่ จนสามารถละกิเลสได้แล้ว ย่อมเข้าสู่โลกุตรภูมิตามลำดับกิเลสที่ละได้ และหากละได้เด็ดขาดก็ย่อมไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ดังนั้นนิพพานจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์
เมื่อนักศึกษาทราบอย่างนี้แล้ว ก็ควรจะหมั่นฝึกฝนอบรมตนเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไป พยายามลดละเลิกนิสัยสิ่งไม่ดีทั้งปวง สิ่งใดที่เป็นความดีงามต้องสั่งสมให้ยิ่งขึ้น ทั้งทาน ศีล และภาวนา เพื่อทำเป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ คือ การไปสู่พระนิพพาน
------------------------------------------------------------------------
จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา
นิพพาน