สมถะและวิปัสสนาเป็นหลักปฏิบัติเพื่อการรู้แจ้ง

วันที่ 15 กค. พ.ศ.2558

 

สมถะและวิปัสสนาเป็นหลักปฏิบัติเพื่อการรู้แจ้ง

            สมถะและวิปัสสนาเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญ ที่บุคคลควรเจริญหรือทำให้เกิดขึ้นในตน ธรรมทั้ง 2 ประการนี้จะมาคู่กัน ในพระไตรปิฎกได้อธิบายถึงผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาไว้ดังนี้ว่า

 

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม 2 อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม 2 อย่างเป็นไฉน คือ สมถะ 1 วิปัสสนา 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้”13)

 

            ในพุทธพจน์นี้ ชี้ให้เห็นถึงหลักการของสมถะ คือ การอบรมจิต หรือตัวของสมาธิ ส่วนวิปัสสนา คือ การอบรมปัญญา เป็นปัญญาในขั้นสูงที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงผลที่่เกิดขึ้น จากการเจริญสมถะว่าให้ผลคือละราคะ ซึ่งราคะในที่นี้หมายถึง ความติดใจยินดีในอารมณ์ต่างๆ ไม่ใช่ หมายถึงเฉพาะเรื่องของกามเท่านั้น เมื่อละราคะได้ จิตย่อมสงบตั้งมั่น เป็นหนึ่งเดียว ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ต่างๆ ส่วนผลที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาทำให้ละอวิชชาได้ ดังได้กล่าวไว้แล้วถึงผลที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาข้างต้น หลักปฏิบัติทั้ง 2 ประการนี้เป็นธรรมคู่กัน ท่านเรียกว่า วิชชาภาคิยธรรม คือ เป็นธรรมที่เป็นส่วนแห่งวิชชา ทำให้เกิดความรู้แจ้งในอริยสัจ เป็นต้น

 

------------------------------------------------------------------------

13) อังคุตตรนิกาย ทุกนิกาย, มก. เล่มที่ 33 ข้อ 275 หน้า 353.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015835348765055 Mins