ความสำคัญของกัลยาณมิตร

วันที่ 17 กค. พ.ศ.2558

 

ความสำคัญของกัลยาณมิตร

ในพระไตรปิฎกพระพุทธองค์ทรงแสดงถึงความสำคัญของกัลยาณมิตรไว้ เป็นต้นว่า

“    ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอันอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้ว ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เหมือนความเป็นผู้มีกัลยาณมิตรดี”3)

 

ในทุติยอัปปมาทสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ครั้งหนึ่ง พระอานนท์ได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า

“    ความเป็นผู้มีมิตรดีมีสหายดีมีจิตน้อมไปในคนที่ดี เป็นคุณกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์” พระพุทธองค์ตรัสว่า

“    ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์”4)

 

             มีตัวอย่างการได้กัลยาณมิตรที่ดีที่จะช่วยให้การปฏิบัติธรรมดี คือ ในครั้งหนึ่งพระเมฆิยซึ่งกำลังทำหน้าที่อุปัฏฐากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้รับพุทธานุญาตให้ไปบิณฑบาตที่มีหมู่บ้านชันตุ ในขณะเดินทางกลับ ได้พบสวนมะม่วงที่น่ารื่นรมย์ใกล้ๆ กับแม่น้ำแห่งหนึ่ง จึงทูลถามพระพุทธองค์ว่า จะไปเจริญสมาธิที่นั่นได้หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้รอจนกว่าจะมีพระภิกษุมาดูแลพระองค์แทน แต่หลังจากพระเมฆิยะทูลขอ 3 ครั้ง พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต พระเมฆิยะไปที่นั้นและนั่งเจริญสมาธิใต้ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง แต่พระ- เมฆิยะรู้สึกประหลาดใจที่พบอกุศลวิตกขึ้นในจิตอย่างไม่ขาดสาย จึงกลับไปเฝ้าพระพุทธองค์และ กราบทูลถึงความล้มเหลวในการทำสมาธิ พระพุทธองค์ทรงอธิบายถึงเหตุให้ผู้บำเพ็ญเพียรที่ยังมีสมาธิิ ไม่แก่กล้า จะสามารถบรรลุธรรมจนหลุดพ้นได้ จะต้องประกอบด้วยธรรม 5 ประการคือ5)

1.ได้กัลยาณมิตร คือ มิตรดี สหายดี

2.ความบริสุทธิ์แห่งศีล

3.เป็นผู้ได้การพูดคุยที่สมควร เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร เป็นต้น

4.เป็นผู้ปรารภความเพียร บากบั่น ไม่ทอดธุระเพื่อละอกุศลธรรม เจริญกุศลธรรม

5.การได้รับความรู้ที่จะนำไปสู่วิปัสสนา

 

            พระพุทธองค์ทรงอธิบายต่อว่า ผู้ที่มีข้อแรก คือ กัลยาณมิตร จะสามารถมี 4 ข้อที่เหลือในไม่ช้าในเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของบุคคลที่จะเจริญสมาธิ จำต้องอาศัยอาจารย์ ที่เป็นกัลยาณมิตรที่จะสามารถพิจารณาสภาพจิตและนิสัยของตน เพื่อจะได้อธิบายเทคนิควิธีการปฏิบัติ ให้เหมาะสมกับตน

 

------------------------------------------------------------------------

3) สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่มที่ 30 ข้อ 165 หน้า 91.
4) สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่มที่ 24 ข้อ 382 หน้า 482.
5) อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต, มก. เล่มที่ 37 ข้อ 207 หน้า 708.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018003519376119 Mins