เว้นสถานที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญสมาธิ

วันที่ 17 กค. พ.ศ.2558

 

เว้นสถานที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญสมาธิ

            เมื่อแสวงหากัลยาณมิตรได้แล้ว พึงหาสถานที่ที่เหมาะสมต่อการเจริญสมาธิ เว้นสถานที่ ที่ไม่เหมาะต่อการเจริญสมาธิ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้แสดงลักษณะของสถานที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการ เจริญสมาธิไว้ 18 ประการ ได้แก่

1.มหาวาสํ ที่อยู่อาศัยกว้างขวางใหญ่โตมาก ลำบากในการดูแลรักษา และถ้าผู้อยู่ด้วยกัน มีจำนวนมาก อยู่ด้วยกันด้วยความไม่สงบ ก็จะส่งเสียงอื้ออึง รบกวนการปฏิบัติธรรม แต่ถ้าหากที่นั้นเป็นที่ใหญ่ มีผู้อยู่ด้วยกันด้วยความสงบสุข มีความสามัคคีกัน รักการปฏิบัติธรรม ก็ถือว่าเป็นสถานที่เหมาะสม ในการอยู่เพื่อปฏิบัติธรรม

2.นวาวาสํ ที่อยู่อาศัยที่กำลังสร้างใหม่ ทำให้ต้องช่วยกันทำการก่อสร้าง อีกทั้งยังอาจจะมีเสียงเครื่องจักรกล หรือผู้คนที่ทำการก่อสร้าง ทำให้ไม่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม

 

3.ชราวาสํ สถานที่ที่ชำรุดทรุดโทรมมาก ทำให้ต้องช่วยกันซ่อมแซมไม่มีที่สิ้นสุด อีกทั้งอาจจะไม่สะอาด และต้องคอยระมัดระวังความไม่ปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุของสิ่งก่อสร้างที่ตกหล่น หรือพังลงมาทำอันตรายได้ ย่อมทำให้ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม

4.ปนฺถนิสฺสิตตฺตํ สถานที่ที่ติดกับถนนหนทาง ทำให้มีคนสัญจรไปมาพลุกพล่าน และอาจจะเป็นที่พักของผู้แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน ซึ่งจะทำให้เสียเวลากับการต้อนรับดูแลมากจนไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม

 

5.โสณฺฑี สถานที่ที่ใกล้สระน้ำโดยเฉพาะสระน้ำสาธารณะ ซึ่งอาจจะมีผู้คนมาเล่นน้ำ หรือนำ น้ำนั้นไปใช้ในกิจต่างๆ ทำให้มีเสียงดังรบกวนการปฏิบัติธรรม

6.ปณฺณํ สถานที่ที่ใกล้สวนผักต่างๆ ย่อมมีการทำไร่ ทำสวน มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น มีการเพาะปลูก มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตเกิดขึ้น เป็นต้น ทำให้มีเสียงเครื่องจักรกล คนงาน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการประพฤติธรรม

 

7.ปุปผํ สถานที่ที่ใกล้สวนดอกไม้ โดยเฉพาะในสถานที่สวนสาธารณะ ที่มักจะมีผู้คนพลุกพล่านมาชื่นชมกับความงามของดอกไม้หรือมาเก็บดอกไม้ ทำให้จอแจไปด้วยผู้คน และอาจจะมีเสียงตามมาได้ แต่ในกรณีที่สวนดอกไม้ปลูกไว้ในเขตปฏิบัติธรรม เพื่อสร้างบรรยากาศการปฏิบัติธรรมให้แก่ผู้พบเห็น ก็จะเป็นคุณประโยชน์เอื้อต่อการปฏิบัติธรรมได้

8.ผลํ สถานที่ที่ใกล้สวนผลไม้ ในคราวที่ต้นไม้มีผล อาจจะได้รับการรบกวนจากผู้มาเก็บผลไม้ หรือบางครั้งอาจจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน แมลงหวี่ มดหรือแมลงต่างๆ ซึ่งจะรบกวนในการ ปฏิบัติธรรมได้

 

9.ปฏฺฐนียตา สถานที่ที่คนชอบไปมากราบไหว้ อาจจะเป็นสถานที่ที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ สถานที่เหล่านี้อาจจะก่อให้เกิดความกังวลใจได้ เนื่องจากผู้คนที่ไปมากราบไหว้บูชาอย่างไม่ขาดสาย หรือมาเยี่ยมเยียน การจะทำสมาธิได้นานๆ จึงไม่ค่อยได้รับผลดีนัก

10. นครสนฺนิสฺสิตฺตา สถานที่ที่ติดกับตัวเมือง มีผู้คนเวียนไปมาทำให้วุ่นวาย และอาจจะมี สิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มักยั่วกิเลส และอุปสรรคอื่นๆ นานัปการ

 

11. ทารุสนฺนิสฺสิตฺตา สถานที่ที่ติดกับป่าไม้ฟืน อาจได้รับการรบกวนจากผู้มาเก็บฟืนหรือ ตัดต้นไม้เพื่อจุดประสงค์ต่างๆ

12. เขตฺตสนฺนิสฺสิตฺตา สถานที่ที่ใกล้กับที่นา เสียงอื้ออึงของชาวนาก่อให้เกิดความรำคาญ วัวควายเข้ามาเพ่นพ่าน

13. วิสภาคานํ ปุคฺคลานํ อตฺถิตา สถานที่ที่มีบุคคลไม่ถูกกันอยู่ ก่อให้เกิดความกระทบกระทั่ง ทำให้ใจไม่สงบเป็นสมาธิ

14. ปฏฺฏนสนฺนิสฺสิตฺตา สถานที่ที่อยู่ใกล้ท่ารถ ท่าเรือ ผู้คนไปมาขวักไขว่ ทำให้รบกวนการ ปฏิบัติได้

 

15. ปจฺจนฺตสนฺนิสฺสิตฺตา สถานที่ที่ติดกับชายแดน ซึ่งห่างไกลจากความเจริญ อาจจะมีผู้คน ที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หรือไม่เข้าใจในการปฏิบัติ อาจจะขัดขวางการปฏิบัติธรรมได้ หรืออาจจะมีปัจจัย และสิ่งจำเป็นอื่นๆ หาได้ลำบาก

16. รชฺชสีมนฺตรสนฺนิสฺสิตฺตา สถานที่ที่เป็นชายแดนประเทศ อาจจะมีการสู้รบ หรือมีอันตรายทางด้านการเมืองมารบกวน

17. อสปฺปายตา สถานที่ที่ไม่สัปปายะ ไม่ปลอดภัย เช่น มีโจรภัย อุทกภัย เป็นต้น

18. กลฺยาณมิตฺตานํ อลาโภ สถานที่ที่หากัลยาณมิตรไม่ได้ ไม่มีอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือผู้ที่มีความสามารถในการคอยให้คำแนะนำและสั่งสอนในเรื่องของการปฏิบัติธรรมได้

 

ลักษณะอาวาสเหมาะสม ประกอบด้วยองค์ 5 คือ

 1. มีหนทางไปมาสะดวกสบาย คือ ไม่ไกลหรือไม่ใกล้จากหมู่บ้าน ที่ปฏิบัติธรรมที่ไม่อยู่ไกลเกินไปนั้นจะมีประโยชน์6) ดังต่อไปนี้

1) ไม่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียเพราะการเดินทางไกล เมื่อร่างกายไม่อ่อนแอ ทำให้กายสบาย เมื่อกายสบาย จิตจะสงบได้ง่ายมากขึ้น นั่งทำกัมมัฏฐานก็จะไม่หลับง่าย

2) เมื่อยามป่วยไข้ฉุกเฉิน อาจทำให้การรักษาทำได้ทันท่วงที เพราะถ้าอาการป่วยอย่างถึงชีวิต การมาถึงมือหมอทันการณ์ก็อาจทำให้รักษาชีวิตไว้ได้ หรือไม่ก็อาจทำให้อาการป่วยไม่เรื้อรังเสียเวลา การปฏิบัติธรรมซึ่งบางครั้งอาการป่วยอาจยืดเยื้อเรื้อรังไปนานเป็นอาทิตย์หรือเป็นปีๆ แต่เมื่อได้รับ การรักษาที่ทันท่วงทีก็จะทำให้โรคนั้นหายได้ภายใน 2-3 วัน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม

 

2.ไม่มีเสียงอึกทึก คือ กลางวันก็ไม่จอแจด้วยผู้คน กลางคืนก็เงียบสงัด

3.ไม่มีสัตว์ร้าย สัตว์เลื้อยคลานหรือแมลงมารบกวน

4.มีปัจจัย 4 พอเพียง ไม่ลำบากขัดสน

5.มีพระภิกษุพหูสูต หรือนักปฏิบัติธรรมผู้เป็นกัลยาณมิตร สามารถให้คำแนะนำเรื่อง การปฏิบัติธรรมได้

 

            การได้ที่อยู่ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติ 5 ประการนี้ เรียกว่า อาวาสสัปปายะ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จในการเจริญสมาธิ พระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา ผู้ซึ่งสละสมบัติในทางโลกทุกอย่าง อยู่อย่างอนาคาริก คือผู้ไม่มีเรือนแล้ว ควรแสวงหาสถานที่เงียบสงบประกอบด้วยคุณสมบัติข้างต้นเพื่อปฏิบัติธรรม แต่สำหรับผู้ที่ยังต้องครองเรือน แต่ปรารถนาที่จะเจริญสมาธิก็ควรพยายามที่แสวงหาที่ที่จะทำให้สมาธิเกิดขึ้น เช่น สถานที่เงียบสงบ ปราศจากผู้คน เมื่อไม่สามารถหาที่เช่นนั้นได้ ก็ควรใช้ห้องพักสักห้องหนึ่งในบ้านของตนใช้เป็นห้องสำหรับเจริญสมาธิ

            เป็นที่แน่นอนว่าหากได้สถานที่ที่มีลักษณะพิเศษซึ่งเหมาะแก่การเจริญสมาธิดังที่ได้กล่าวแล้ว ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับจากการปฏิบัติอย่างสูงสุด แต่สำหรับผู้มีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติธรรม เป็นผู้เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา มีฉันทะ มีความเพียรพยายามในการปฏิบัติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เขาก็ย่อมจะสามารถทำที่นั้นให้เป็นที่เหมาะแก่การเจริญสมาธิได้

 

------------------------------------------------------------------------

6) พระเทพวิสุทธิกวี, 2538 บทอบรมกรรมฐาน, กรุงเทพฯ, หน้า 97.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0019120812416077 Mins