ธัมมปวัตติ ความเป็นไปแห่งธรรม คือสังเกตธรรมที่ประพฤติ

วันที่ 18 กค. พ.ศ.2558

 

 

ธัมมปวัตติ ความเป็นไปแห่งธรรม คือสังเกตธรรมที่ประพฤติ

            ธรรม ในที่นี้ไม่ได้หมายเอาเฉพาะธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมทั้งธรรมที่เป็นฝ่ายกิเลสด้วย รวมความว่า ความเป็นไปแห่งธรรม หมายถึง กิเลสและคุณธรรมที่ประจำอยู่ในขันธสันดานของบุคคลนั้นๆ

 

ราคจริต ตามธรรมดาย่อมมีจิตใจประกอบไปด้วยอกุศลธรรม คือ ธรรมอันทรามดังต่อไปนี้

  • มายา เป็นคนเจ้าเล่ห์
  • สาเฐยฺย เป็นคนโอ้อวด
  • มาน เป็นคนถือตัว
  • ปาปิจฺฉา เป็นคนมีความปรารถนาลามก
  • มหิจฺฉา เป็นคนที่มีความปรารถนาใหญ่ ต้องการให้คนทั้งหลายสรรเสริญในคุณงามความดีของตนจนเกินประมาณ
  • อสนฺตุฏฺฐิตา เป็นคนไม่มีความสันโดษ ไม่มีความพอใจในเครื่องอุปโภคบริโภค
  • สิงฺค เป็นคนมีแง่งอน
  • จาปลฺย เป็นคนโลเล ชอบประดิษฐ์ประดอยเครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับ กับทั้งมีความพิถีพิถันเป็นพิเศษในเรื่องความสวยความงาม

 

โทสจริต บุคคลผู้มีโทสจริตตามธรรมดาย่อมเป็นผู้มีจิตใจต่ำ ประกอบไปด้วยธรรมอันเลว ดังต่อไปนี้

  • โกธ เป็นคนโกรธง่าย มักโกรธ
  • อุปนาห เป็นคนผูกโกรธผูกอาฆาต
  • มกฺข เป็นคนมักลบหลู่คุณท่าน คือเป็นคนเนรคุณ
  • ปลาส เป็นคนอวดดี มักตีตนเสมอท่านอยู่เสมอ ไม่เห็นความสำคัญของใคร
  • อิสฺสา เป็นคนมีใจน่าชัง มักริษยาในคุณสมบัติของผู้อื่นที่ดีกว่าตนหรือเสมอตน
  • มจฺฉริย เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว มักเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นอย่างน่าเกลียด

 

โมหจริต บุคคคลผู้มีโมหจริตตามธรรมดาย่อมเป็นผู้มีจิตใจ ประกอบไปด้วยธรรมอันเลวดังต่อไปนี้

  • ถีนมิทฺธ เป็นคนมีจิตใจง่วงเหงาหาวนอน หดหู่ ท้อถอย ปราศจากความเข้มแข็งซึ่งเป็นเหตุให้กิจการต่างๆ ที่ตั้งใจทำสำเร็จได้โดยยาก และสำเร็จได้ช้ากว่าเวลาอันควรหรือไม่สำเร็จ
  • กุกฺกุจฺจ เป็นคนที่มักมีความรำคาญเกิดขึ้นในใจบ่อยๆ เช่น เมื่อมีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือในกิจการ ซึ่งจำต้องใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล คนโมหจริตผู้มีจิตใจที่ไม่ค่อยจะสนใจในสิ่งทั้งปวงมักเกิดความรำคาญ รู้สึกว่าเป็นการทรมานในการที่จะแสดงหรือฟังความคิดเห็นนั้นๆ ทั้งนี้ ก็เพราะว่า มีโมหะเข้ามาบดบังปัญญา
  • วิจิกิจฺฉา เป็นคนมีความลังเลสงสัย ตัดสินใจอะไรไม่ได้ในทุกๆ กรณี มีความรู้สึกสนเท่ห์ใจไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ปรารถนาที่จะเป็นผู้นำ แต่ปรารถนาที่จะเป็นผู้ตามในกิจการทั้งปวง
  • อาทานคาหิตา เป็นคนยึดมั่นถือมั่นโดยปราศจากเหตุผล หมายความว่า เป็นคนโง่เขลา เบาปัญญา หากเกิดความเชื่อมั่นในสิ่งใดแล้ว ก็เชื่ออย่างเต็มหัวใจ ไม่ยอมคลายทิฏฐิ เช่น ถูกยุยงให้เกลียดใคร แม้มารู้ภายหลังว่าผู้ที่ตนเกลียดนั้นเป็นคนดี เป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ยังคงมีความเกลียดชังอยู่อย่างเดิม
  • ทุปฺปฏินิสฺสคฺคิตา เป็นคนเปลื้องความเห็นอันชั่วร้ายได้โดยยาก หมายความว่าเป็นคนดื้อรั้นมาก ถ้าเกิดมิจฉาทิฏฐิขึ้นมาในใจให้เห็นผิดคิดไปว่า บุญทานไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี นิพพานไม่มี เป็นต้น ต่อให้มีนักปราชญ์ผู้มีปัญญา ผ่องแผ้ว สักหมื่นคนแสนคน มาเฝ้าตักเตือนสั่งสอนให้คลายทิฏฐินั้นเสีย ก็เป็นการยากอย่างยิ่งที่จะอบรมสั่งสอนให้คนโมหจริตปลดเปลื้องความเห็นอันชั่วร้ายออกไปจากใจ

 

วิตกจริต บุคคลผู้เป็นวิตกจริตตามธรรมดาย่อมเป็นผู้มีจิตใจส่วนลึก ประกอบไปด้วยธรรมทั้งหลายดังต่อไปนี้

  • ภสฺสพหุลตา เป็นคนมักพูดพร่ำ ชอบรำพันถึงเรื่องไม่เป็นเรื่อง
  • คณารามตา เป็นคนชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ เห็นคนทั้งหลายเขารวมกลุ่มกันอยู่ที่ไหน ก็มักจะพลอยเข้าไปรวมกลุ่มกับเขาด้วย แม้จะถูกเขาพูดจาล้อเลียนสบประมาทอย่างไร ก็มิใส่ใจไม่ถือสาหาความ
  • กุสลานุโยเค อรติ เป็นคนมีความคิดเฉื่อยชาในการประกอบกุศลกรรม ความคิดริเริ่มอย่างแรงกล้าในการที่จะทำบุญบริจาคทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ย่อมไม่เกิดมีในบุคคลประเภทวิตกจริต
  • อนวฏฺ ฐิตกิจฺจตา เป็นคนจับจด ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ชอบพลุกพล่านไปทางโน้น ทางนี้ เปลี่ยนงานเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด
  • รตฺติธุมายนา เป็นคนเข้าลักษณะที่เรียกว่า กลางคืนเป็นควัน คือ ชอบคิดว่าตนจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ คิดหาวิธีการคิดวางโครงการแบบสร้างวิมานในอากาศอย่างใหญ่โตมโหฬาร คล้ายกับว่าตนจะเป็นเจ้าโลกในความคิดฝัน
  • ทิวาปชฺชลนา เป็นคนเข้าลักษณะที่เรียกว่า กลางวันเป็นโพลง คือ กลางคืนคิดพล่านว่าจะทำโน่นทำนี่ พอตกมาถึงกลางวันก็เริ่มทำกิจที่ตนคิดไว้นั้นอย่างอุตลุด ซึ่งสิ่งที่ทำนั้นอาจจะประหลาดพิสดาร ไม่เหมือนกับที่มนุษย์ธรรมดาเขาทำกัน เรียกว่า “    กลางวันเป็นโพลง” มุ่งหน้ากระทำไปโดยมิได้คำนึงถึงผลได้ผลเสีย หรือความผิดความถูกแต่อย่างใด
  • หุราหุรํ ธาวนา เป็นคนเจ้าความคิด มักคิดพลุ่งพล่านไปในเรื่องอะไรต่อมิอะไรต่างๆ มากมาย จิตใจไม่ค่อยมีโอกาสที่จะสงบนิ่งลงได้เลย

 

สัทธาจริต บุคคลผู้เป็นสัทธาจริตย่อมเป็นผู้ประกอบไปด้วยกุศลธรรม ธรรมอันดีซึ่งซ่อนอยู่ในดวงใจของเขา ดังต่อไปนี้

  • มุตตฺจาคตา เป็นคนยอมเสียสละ ไม่มีความกังวลห่วงใยในสิ่งทั้งปวง
  • อริยานํ ทสฺสนกามตา เป็นคนมีศรัทธาอันแรงกล้า ปรารถนาที่จะได้พบเห็นพระอริยเจ้าทั้งหลายอย่างยิ่งยวด
  • สทฺธมฺมโสตุกามตา เป็นคนมีความปรารถนาที่จะได้สดับตรับฟังพระธรรมเทศนาอันมีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกับพระนิพพาน ซึ่งเป็นเรื่องที่โน้มน้าวใจตนให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ในห้วงวัฏสงสาร
  • ปาโมชฺชพหุลตา เป็นคนที่มากไปด้วยความปรีดาปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง ในเมื่อได้มีโอกาสพบเห็นพระอริยเจ้าและได้สดับตรับฟังพระสัทธรรม- เทศนาแล้ว
  • อสฐตา เป็นคนไม่โอ้อวด ไม่มีนิสัยพูดพล่อย พร่ำแต่อวดคุณงามความดีของตัว
  • อมายาวิตา เป็นคนไม่มีเล่ห์ ไม่มีมายา
  • ปสาโท เป็นคนมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย หรือในท่านผู้มีพระคุณ เช่น มารดา บิดา ครูบาอาจารย์อย่างแท้จริง
  • พุทธิจริต บุคคลผู้เกิดมาแล้วและปรากฏว่าเขาเป็นผู้มีพุทธิจริต ย่อมมีความเป็นไปแห่งธรรม คือ ความดีความเลว ซึ่งซ่อนอยู่ในส่วนลึกแห่งดวงใจของเขาดังนี้
  • สวจสฺสตา เป็นคนว่านอนสอนง่าย ยอมรับฟังคำแนะนำสั่งสอนที่มีประโยชน์ ด้วยดี ถึงแม้ท่านผู้สั่งสอนนั้น จะไม่ใช่เป็นบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหายก็ตาม หากคำตักเตือนแนะนำนั้นประกอบด้วยประโยชน์เกื้อกูลและความดีงามแก่ตนแล้ว ก็ยอมรับเอาทั้งสิ้น
  • กลฺยาณมิตฺตตา เป็นคนมีปัญญา เลือกคบเอาแต่คนดีเป็นเพื่อน ไม่ปรารถนาที่จะคบคนพาลคนเลว หากว่าเป็นคนดีแล้วก็ยอมรับเอาเป็นมิตรของตนได้ในทันที โดยไม่มีการเลือกชั้นวรรณะว่าเป็นไพร่หรือผู้ดี
  • โภชเนมตฺตญฺญุตา เป็นคนมีปัญญา รู้จักประมาณในการรับอาหารที่เขาให้ และรู้จัก ประมาณในการบริโภค ไม่มีความประมาท ไม่มีความปรารถนาใหญ่จนเกิดทุกข์ภัยแก่ตัว สติสมฺปชญฺญํ เป็นคนระวังตัว จะทำอะไรก็คิดหน้าคิดหลังประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะในที่ทุกสถานและในกาลทุกเมื่อ ชาคริยานุโยโค เป็นคนไม่มีความเกียจคร้าน หมั่นประกอบความเพียร มีจิตใจตื่นอยู่เป็นนิตย์ในกิจที่ดีงาม สํเวโค มักเกิดความสังเวชใจ เกิดความเบื่อหน่ายในกิริยาที่ตนจะต้องท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร เห็นทุกข์โทษภัยในการที่ตนจะต้องประสบกับความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปโดยไม่มีวันสิ้นสุด โยนิโสปธานํ ปรารถนาที่จะพ้นจากกองทุกข์ จึงหมั่นประกอบความเพียรโดยเหมาะโดยควร คือ หมั่นสร้างสมอบรมคุณงามความดี ให้เกิดมีขึ้นกับตนโดยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เพื่อให้ได้ประสบคติที่ดีงามในภพชาติเบื้องหน้าต่อไป จนกว่าจะเข้าถึง พระนิพพานอันเป็นแดนบรมสุข ปราศจากทุกข์ โดยประการทั้งปวง

 

------------------------------------------------------------------------

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00097825129826864 Mins