การรักษาปฐมฌาน

วันที่ 23 กค. พ.ศ.2558

 

การรักษาปฐมฌาน

           เมื่อปฐมฌานเกิดขึ้นจากกสิณแล้ว ผู้ฝึกปฏิบัติพึงกำหนดอาการทั้งปวงในขณะที่ ได้บรรลุไว้ให้แม่นยำ ว่าการที่ได้บรรลุปฐมฌานนี้เพราะเหตุปัจจัยใดบ้าง เหมือนนายขมังธนู ผู้ยิงขนทรายและเหมือนดังพ่อครัว กล่าวคือ นายขมังธนูผู้ชาญฉลาด ทำงานในการยิงขนทรายอยู่ ยิงถูกขนทรายในวาระใด พึงกำหนดจับอาการแห่งเท้าที่เหยียบยัน แห่งคันธนู แห่งสายธนู และแห่งลูกธนู ในวาระนั้นว่า เรายืนด้วยอาการอย่างนี้ จับคันธนูอย่างนี้ จับสายธนูอย่างนี้ จับลูกธนูอย่างนี้ จึงยิงถูกขนทราย ดังนี้ แต่นั้นไปเขาทำอาการเหล่านั้นให้ถูกท่าอย่างนั้นอยู่ จะพึงยิงขนทรายไม่พลาดได้ฉันใด แม้พระโยคีก็ฉันนั้น ต้องกำหนดจับอาการทั้งหลายมีโภชนสัปปายะเป็นอาทิเหล่านี้ว่า

 

“    เราบริโภคโภชนะชื่อนี้แล้วคบบุคคลรูปนี้ อยู่ในเสนาสนะเช่นนี้ ได้บรรลุฌานนี้โดยอิริยาบถท่านี้ในกาลนี้” ดังนี้ ด้วยเมื่อกำหนดจับได้อย่างนั้นครั้นฌานนั้นเสื่อมไปเสียก็ดี เธอก็จักอาจเพื่อจะทำอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมแล้วยังฌานนั้นให้เกิดขึ้นได้อีก เมื่อจะทำฌานนั้นอันยัง ไม่คล่องแคล่วให้คล่องแคล่วก็ดี เธอก็อาจจักทำให้ถึงอัปปนาได้บ่อยๆ

เปรียบเหมือนพ่อครัวผู้ฉลาด ปรนเปรอนายจ้างอยู่ นายจ้างบริโภคอาหารใดๆ ด้วยความ พอใจสังเกตอาหารนั้นๆ ไว้แล้ว แต่นั้นไปก็น้อมนำอาหารอย่างนั้นแลเข้าไปให้นายจ้างนั้น ย่อมได้รางวัลฉันใด แม้พระโยคีนี้ก็ฉันนั้นจับอาการทั้งหลาย มีการบริโภคโภชนะ เป็นต้น ในขณะที่ได้บรรลุฌานแล้วทำอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมก็ย่อมเป็นผู้ได้อัปปนาบ่อยๆ

 

เพราะเหตุนั้น อาการทั้งหลาย นักปฏิบัตินั้น ต้องกำหนดให้ได้ดุจนักยิงขนทรายและดุจพ่อครัวฉะนั้น จริงอยู่ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสความข้อนี้ไว้ว่า

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพ่อครัวผู้เขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม บำรุงพระราชา หรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยสูปะต่างชนิดมีรสเปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง เผ็ดจัดบ้าง หวานจัดบ้าง มีรสเฝื่อนบ้างไม่เฝื่อนบ้าง เค็มบ้าง จืดบ้าง พ่อครัวนั้น… ไม่สังเกตรสอาหารของตนว่า วันนี้ ภัตและสูปะของเราชนิดนี้ท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะนี้ หรือท่านหยิบสูปะนี้มาก หรือท่านชมสูปะนี้ วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสเปรี้ยวจัด ท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะมีรส เปรี้ยวจัด หรือท่านหยิบเอาสูปะมีรสเปรี้ยวจัดมาก หรือท่านชมสูปะมีรสเปรี้ยวจัด วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสขมจัด… มีรสเผ็ดจัด… มีรสหวานจัด… มีรสเฝื่อน… มีรสไม่เฝื่อน… มีรสเค็ม… วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสจืดท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะมีรสจืด หรือท่านหยิบเอาสูปะ มีรสจืดมาก หรือท่านชมสูปะมีรสจืดดังนี้ พ่อครัวนั้น… ย่อมไม่ได้เครื่องนุ่งห่ม ไม่ได้ค่าจ้าง ไม่ได้รางวัล

 

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพ่อครัวนั้นเป็นคนเขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ไม่สังเกตเครื่องหมายอาหารของตน ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด เฉียบแหลม ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมไม่ตั้งมั่น ยังละอุปกิเลสไม่ได้ เธอไม่สำเหนียกนิมิตนั้น ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่… ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่… ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ จิตย่อมไม่ตั้งมั่น ยังละอุปกิเลสไม่ได้ เธอ ไม่สำเหนียกนิมิตนั้น ภิกษุนั้น… ย่อมไม่ได้ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และไม่ได้สติสัมปชัญญะ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ไม่สำเหนียกนิมิตแห่งจิตของตน

 

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพ่อครัวผู้มีปัญญาฉลาดเฉียบแหลม บำรุงพระราชา หรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยสูปะต่างชนิดมีรสเปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง เผ็ดจัดบ้าง หวานจัดบ้าง มีรสเฝื่อนบ้างไม่เฝื่อนบ้าง มีรสเค็มบ้าง จืดบ้าง พ่อครัวนั้นย่อมสังเกตรสอาหารของตนว่าวันนี้ ภัตและสูปะของเราชนิดนี้ ท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะนี้ หรือหยิบเอาสูปะนี้มาก หรือท่านชมสูปะนี้ วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสเปรี้ยวจัด…วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสขมจัด… มีรสเผ็ดจัด… มีรสหวานจัด… มีรสเฝื่อน… มีรสไม่เฝื่อน… มีรสเค็ม… วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสจืดท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะมีรสจืด หรือท่านหยิบเอาสูปะมีรสจืดมากหรือท่านชม สูปะมีรสจืด ดังนี้ พ่อครัวนั้นย่อมได้เครื่องนุ่งห่ม ได้ค่าจ้างได้รางวัล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพ่อครัวนั้นเป็นคนมีปัญญา ฉลาดเฉียบแหลม สังเกตรสอาหารของตน ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา ฉลาด เฉียบแหลม ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น ละอุปกิเลสได้ เธอย่อมสำเหนียกนิมิตนั้น ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่… ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่… ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ จิตย่อมไม่ตั้งมั่น ละอุปกิเลสได้ เธอย่อม สำเหนียกในนิมิตนั้น ภิกษุนั้นย่อมได้ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และได้สติสัมปชัญญะ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้มีปัญญาฉลาด เฉียบแหลม สำเหนียกนิมิตแห่งจิตของตน13)

            เมื่อได้ทำอาการทั้งหลายให้ถึงพร้อมด้วยการจับจ้องนิมิตอยู่อย่างนี้ อัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมมั่นคง แม้ที่หายไปย่อมกลับคืนมาได้

 

------------------------------------------------------------------------

13) สังยุตตรนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่มที่ 30 ข้อ 304-307 หน้า 391-393.

จากหนังสือ DOUMD 306 สมาธิ 6

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010763009389242 Mins