รายละเอียดของกรรม

วันที่ 12 สค. พ.ศ.2558

 

 รายละเอียดของกรรม

รายละเอียดของกรรม 12 มีอธิบายดังต่อไปนี้11)

            เมื่อกรรมนำไปปฏิสนธิในภพใหม่ คือ คนที่ทำกรรมดีไว้ย่อมไปเกิดในภพที่ดี คนทำ กรรมชั่วไว้มากไปเกิดในภพที่ชั่ว กรรมที่ส่งให้เกิดนั้น เรียกว่า ชนกกรรม สมมติว่าชนกกรรมฝ่ายดีส่งให้เกิดในตระกูลที่ดี มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินสมบัติและบริวาร มีตระกูลสูง เขาเกิดเช่นนั้นแล้ว ไม่ประมาท หมั่นหาทรัพย์เพิ่มเติม รักษาทรัพย์เก่าให้มั่นคง มีความเคารพนบนอบต่อผู้ควรเคารพ ถนอมน้ำใจบริวารด้วยการสงเคราะห์ เอื้อเฟื้อ พูดจาไพเราะ ทำประโยชน์ให้ และวางตนเหมาะสม การกระทำเช่นนั้นเป็นอุปัตถัมภกกรรม ช่วยส่งเสริมผลของกรรมดีเก่า รวมกับกรรมใหม่ ทำให้มีความมั่งคั่งมากขึ้นมีบริวารดีมากขึ้น

            ตรงกันข้าม ถ้าได้ฐานะเช่นนั้นเพราะกุศลกรรมในอดีตส่งผลให้แล้ว แต่ประมาท ผลาญทรัพย์สินด้วยอบายมุขนานาประการ เช่น เกียจคร้านทำการงานและคบมิตรเลว เป็นต้น กรรมของเขานั้นมีสภาพเป็นอุปปีฬกกรรม บีบคั้นให้ต่ำต้อยลงจนสิ้นเนื้อประดาตัว บริวารก็หมดสิ้น ถ้าเขาทำชั่วมากขึ้น กรรมนั้นจะกลายเป็นอุปฆาตกกรรม ตัดรอนผลแห่งกรรมดีเก่าให้ สิ้นไป กลายเป็นคนล่มจม สิ้นความรุ่งเรืองในชีวิต

 

            อีกด้านหนึ่ง สมมติว่า บุคคลผู้หนึ่งเกิดมาลำบากยากเข็ญขัดสนทั้งทรัพย์และบริวาร รูปร่างผิวพรรณก็ไม่งาม เพราะอกุศลกรรมในชาติก่อนหลอมตัวเป็นชนกกรรมฝ่ายชั่ว เมื่อเกิดมาแล้วประกอบกรรมชั่วซ้ำเข้าอีกกรรมนี้มีสภาพเป็นอุปัตถัมภกกรรมช่วยสนับสนุนกรรมเก่าให้ทวีแรงขึ้น ทำให้ฐานะของเขาทรุดหนักลงไปกว่าเดิม แต่ถ้าเกิดมาต่ำต้อยเช่นนั้นแล้วไม่ประมาท อาศัยความเพียรพยายามในทางที่ชอบ ถือเอาความอุตสาหะเป็นแรงหนุนชีวิต รู้จักคบมิตรดี กรรมของเขานั้นมีสภาพเป็นอุปปีฬกกรรม บีบคั้นผลของอกุศลกรรมเก่าให้เพลากำลังลง เขามีความเพียรในทางที่ชอบมากขึ้น ขวนขวายในทางบุญกุศลมากขึ้น กรรมของเขาแปรสภาพเป็นอุปฆาตกกรรมหรืออุปัจเฉทกกรรม ตัดรอนผลแห่งอกุศลกรรมเก่าให้ขาดสูญ จนในที่สุดเขาเป็นคนตั้งตนได้ดี มีหลักฐานมั่นคง

ที่กล่าวมานี้คือ กรรมจัดตามหน้าที่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าหน้าที่ของกรรม ซึ่งมีลักษณะหน้าที่ให้เกิด อุปถัมภ์ บีบคั้น และตัดรอน

            ส่วนกาลที่ให้ผล และแรงหนักเบาของกรรมนั้นมีความสัมพันธ์กันมากคือ กรรมหนัก (ครุกรรม) ทั้งฝ่ายดี และฝ่ายชั่ว จะให้ผลในปัจจุบันทันตาเห็น(ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม) ส่วนกรรมที่เป็นอาจิณ หรือพหุลกรรมนั้น ถ้ายังไม่มีโอกาสให้ผลในชาติปัจจุบันก็จะยกยอดไป ให้ผลในชาติถัดไป(อุปัชชเวทนียกรรม) และชาติต่อไป(อปราปรเวทนียกรรม) สุดแล้วแต่โอกาส ที่ท่านเปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ทันเข้าเมื่อใดก็กัดเมื่อนั้น

 

           กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต (อาสันนกรรม) นั้น มักให้ผลก่อนกรรมอื่น เพราะจิตไปหน่วงอารมณ์นั้นไว้แน่นไม่ว่าเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว กรรมนั้นใกล้จุติจิตและใกล้ปฏิสนธิจิต แม้บางคราวจะมีกำลังน้อยก็ให้ผลก่อนกรรมอื่น เปรียบเหมือนรถติดไฟแดง เมื่อไฟเขียวอันเป็น สัญญาณให้รถไปได้เปิดขึ้น รถคันหน้าแม้มีกำลังวิ่งน้อยก็ออกได้ก่อน พอผ่านสี่แยกไปแล้ว รถที่มีกำลังดีกว่าย่อมแซงขึ้นหน้าไปได้

 

             ในตำรา ท่านเปรียบผลของอาสันนกรรมว่าเหมือนวัวที่ขังรวมกันอยู่ในคอก รุ่งเช้ามาออ กันอยู่ที่ประตูคอก พอนายโคบาล (คนเลี้ยงโค) เปิดประตูคอก วัวตัวใดอยู่ใกล้ประตูที่สุด ไม่ว่า จะเป็นแม่โค ลูกโค หรือโคแก่ก็ตาม ย่อมออกมาได้ก่อน แต่เนื่องจากกำลังเพลา พอออกมาในที่โล่งแล้ว วัวตัวใดมีกำลังมาก วัวนั้นย่อมเดินขึ้นหน้าไป ผลของอาสันนกรรมให้ผลก่อนก็จริง แต่ให้ผลในระยะสั้น เมื่อสิ้นแรงของอาสันนกรรมแล้วก็เป็นโอกาสของอาจิณณกรรม หรือ พหุลกรรม คือ กรรมที่ตนทำจนเคยชิน ทำจนเป็นนิสัย

 

            ส่วนกรรมที่ทำโดยไม่เจตนา ที่เรียกว่า กตัตตากรรม หรือกตัตตาวาปนกรรม สักแต่ว่าทำ นั้นให้ผลน้อยที่สุด กำลังเพลาที่สุด เมื่อกรรมอื่นไม่มีจะให้ผลแล้ว กรรมนี้จึงจะให้ผล เป็นเหมือน หนี้รายย่อยที่สุด กรรมใดคอยโอกาสให้ผลอยู่ แต่ไม่มีโอกาสเลยจึงเลิกแล้วต่อกันไม่ให้ผลอีก กรรมนั้นเรียกว่า อโหสิกรรม เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่เก็บไว้นานเกินไปหรือถูกคั่วให้สุกด้วยไปเสียแล้ว ไม่มีโอกาสงอกขึ้นได้อีก

------------------------------------------------------------------------

11) วศิน อินทสระ, หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมดา, 2543, หน้า 17-22.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010731339454651 Mins