ความซับซ้อนของการให้ผลของกรรม

วันที่ 24 สค. พ.ศ.2558

 

ความซับซ้อนของการให้ผลของกรรม

            มีคำกล่าวเรื่องหลักกรรมของผู้ที่มีความเห็นผิด ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ หรือศึกษาแล้วแต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป หรือทำดีได้ดีจริงหรือ ทำชั่วได้ชั่วจริงไหม คำกล่าวนี้ขัดแย้งกับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กล่าวมาแล้ว และดูเหมือนบุคคลที่กล่าวเช่นนี้ยังมีความเคลือบแคลงในเรื่องกฎแห่งกรรมอยู่มาก จึงทำให้ไม่เชื่อ เกิดความไม่มั่นใจที่จะปฏิบัติ แล้วความจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ในหัวข้อนี้นักศึกษาจะต้องทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งในเรื่องความซับซ้อนในการให้ผลของกรรม เพื่อจะได้ปฏิบัติไม่ผิดพลาด จนก่อให้เกิดทุกข์โทษภัยในการดำเนินชีวิตในสังสารวัฏ

            เรื่องกฎแห่งกรรมเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ซับซ้อน ยากต่อการเข้าใจให้แจ่มแจ้งได้ด้วยวิธีเพียงแค่พินิจพิจารณาไตร่ตรอง หรือด้นเดาเอา แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังตรัสว่า กฎแห่งกรรมเป็นเรื่องอจินไตย เป็นเรื่องเหนือวิสัย เกินกว่าปัญญาของมนุษย์ธรรมดาที่จะเข้าใจได้ หากคิดมากเกินไปจะทำให้มีส่วนแห่งความเป็นบ้าได้

 

            ในหัวข้อนี้ นักศึกษาจะได้ทราบเนื้อความจากพระสูตรที่มีผู้นิยมกล่าวถึงมากเช่นกัน พระสูตรนี้ คือ มหากัมมวิภังคสูตร3) ซึ่งเนื้อหาในพระสูตรนี้ เกี่ยวข้องกับการให้ผลของกรรมที่สลับซับซ้อน แม้คนที่ทำกรรมเหมือนกัน แต่ให้ผลไม่เหมือนกัน และแม้มีตาทิพย์ก็ยังเห็นกฎแห่งกรรมไม่เหมือนกัน เมื่อนักศึกษาทำความเข้าใจพระสูตรนี้แล้ว จะทำให้นักศึกษาเข้าใจความซับซ้อนของการให้ผลของกรรมมากขึ้น

            สาระสำคัญโดยย่อของพระสูตรนี้ เริ่มต้นที่ปริพาชกท่านหนึ่ง ชื่อโปตลิบุตร เข้าไปสนทนากับพระสมิทธิที่บวชได้เพียง 3 พรรษา ปริพาชกนี้เคยได้ยินพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่อง กายกรรมไม่จริง วจีกรรมไม่จริง มโนกรรมเท่านั้นจริง สมาบัติที่บุคคลเข้าแล้วไม่เสวยเวทนาอะไรๆ เลยก็มี พระสมิทธิฟังแล้วก็คิดว่า คำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงบอกกับปริพาชกนั้นว่า ท่านกล่าวตู่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โปตลิบุตรปริพาชกจึงถามต่อไปว่า บุคคลจงใจทำกรรมทางกาย วาจา และใจ จะเสวยผลอะไร พระสมิทธิตอบว่า จะเสวยทุกข์ โปตลิบุตรปริพาชกไม่เชื่อ แต่ก็ไม่คัดค้าน

            เมื่อโปตลิบุตรปริพาชกกลับไปแล้ว พระสมิทธินำเรื่องทั้งหมดไปเล่าให้พระอานนท์ฟัง พระ-อานนท์ เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงพาพระสมิทธิไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลเนื้อความให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระองค์จึงทรงตำหนิพระสมิทธิ ในเรื่องการตอบปัญหาเพียงแง่เดียว แทนที่จะตอบโดยแยกตอบ เพราะคำถามของปริพาชกนั้นมิได้เจาะจงลงไปว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว เพียงถามขึ้นมาลอยๆ เท่านั้น

 

จากนั้นพระพุทธองค์ทรงยกตัวอย่างของบุคคล 4 ประเภท ขึ้นแสดงดังนี้

(1) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักเจรจาเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็มี

(2) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักเจรจาเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็มี

(3) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มากด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็มี

(4) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มากด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็มี

 

จากนั้นพระองค์ทรงอธิบายความเห็นของพราหมณ์ 4 จำพวก ซึ่งต่างก็มีตาทิพย์เหมือนกัน แต่มีวาทะต่างกัน ดังนี้

พราหมณ์จำพวกที่ 1 เห็นบุคคลจำพวกที่ 1 ในบุคคล 4 จำพวกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วกล่าวยืนยันว่า กรรมชั่วมี ผลของกรรมชั่วมี

พราหมณ์จำพวกที่ 2 เห็นบุคคลจำพวกที่ 2 ในบุคคล 4 จำพวกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วกล่าวยืนยันว่า กรรมชั่วไม่มี ผลของกรรมชั่วไม่มี

พราหมณ์จำพวกที่ 3 เห็นบุคคลจำพวกที่ 3 ในบุคคล 4 จำพวกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วกล่าวยืนยันว่า กรรมดีมี ผลของกรรมดีมี

พราหมณ์จำพวกที่ 4 เห็นบุคคลจำพวกที่ 4 ในบุคคล 4 จำพวกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วกล่าวยืนยันว่า กรรมดีไม่มี ผลของกรรมดีไม่มี

            เมื่อตรัสจบแล้ว พระองค์ได้ทรงจำแนกพิจารณาในวาทะของพราหมณ์เหล่านั้น ว่าวาทะของพราหมณ์บางอย่าง พระองค์ทรงเห็นด้วย บางอย่างพระองค์ก็ไม่ทรงเห็นด้วย แล้วพระองค์ทรงจำแนกกรรม ผู้ทำกรรม และผลของกรรมตามแนวของพระองค์ ดังนี้

1. บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลัง หรือมีมิจฉาทิฏฐิในเวลาจะตาย

2. บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะเขาทำกรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลัง หรือมีสัมมาทิฏฐิในเวลาจะตาย

3. บุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ลักทรัพย์ เป็นต้น ตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเขาทำกรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลัง หรือมีสัมมาทิฏฐิในเวลาจะตาย

4. บุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ลักทรัพย์ เป็นต้น เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีมิจฉาทิฏฐิเมื่อเวลาจะตาย

 

            ในตอนท้ายของพระสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปว่า กรรมที่ไม่ควร ส่องให้เห็นว่าไม่ควรก็มี กรรมที่ไม่ควร ส่องให้เห็นว่าควรก็มี กรรมที่ควร ส่องให้เห็นว่าไม่ควรก็มี กรรมที่ควร ส่องให้เห็นว่าควรก็มี หมายความว่า การส่งผลของกรรมนั้นแน่นอน แต่ไม่อาจจะคาดเดาได้ว่า ถ้าทำกรรมดี จะต้องมีสุคติเป็นที่ไปเสมอไป หรือทำกรรมชั่วจะต้องมีอบายเป็นที่ไป ก็ไม่เสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ดังที่พระพุทธองค์ทรงจำแนกไว้ คือ กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ทำไว้ในอดีต หรือกรรมดีหรือกรรมชั่วในปัจจุบัน หรือก่อนตาย ใจเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิ

            ในพระสูตรนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น แต่ประเด็นที่อยากจะชี้ให้เห็นเป็นประการสำคัญ คือ ความซับซ้อนในการส่งผลของกรรม ที่ไม่อาจจะคาดเดา หรือคิดพิจารณาด้วยปัญญาธรรมดาได้ หรือแม้แต่บุคคลผู้มีตาทิพย์ที่เห็นการเวียนว่ายตายเกิดระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมองไม่ครบวงจร ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์ บางอย่างก็เข้าใจถูก บางอย่างก็เข้าใจผิด และอาจจะนำไปสอนกันแบบผิด ดังวาทะของพราหมณ์ทั้ง 4 จำพวกดังกล่าว ซึ่งมีผลทำให้การดำเนินชีวิตผิดพลาด มีสิทธิ์ไปอบายได้

            ประเด็นเรื่องความซับซ้อนในการให้ผลของกรรมนี้ จะเป็นคำตอบของคนที่เข้าใจหลักกรรมไม่ถูกต้องดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้นสรุปว่า ให้เรายึดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักในการดำเนินชีวิต คือ เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เพื่อความปลอดภัยในสังสารวัฏ และเพื่อการกระทำตนให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะต่อไป และเมื่อกระทำความดีได้มากเพียงไร ผลกรรมย่อมส่งผลได้เร็วเพียงนั้น และความเข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรมย่อมเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะความดีส่งผลจนเกิดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

-------------------------------------------------------------------

3) มหากัมมวิภังคสูตร, มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, มก. เล่ม 23 หน้า271.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0022230664889018 Mins