ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม
ความหมายของทิฏฐธรรมเวทนียกรรม
ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน คือให้ผลในชาตินี้ เป็นกรรมที่ให้ผลรวดเร็วเป็นปัจจุบันทันด่วน เมื่อบุคคลกระทำแล้วย่อมจะได้รับผลแห่งกรรมที่กระทำในชาติปัจจุบันนี้ ไม่ต้องรอรับผลในชาติหน้าหรือชาติไหน เป็นกรรมที่ให้ผลทันตาเห็น
ลักษณะของทิฏฐธรรมเวทนียกรรม
จากความหมายข้างต้นอาจเปรียบทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเหมือนนายพรานเนื้อที่ยิงเนื้อด้วย ลูกศร ถ้าลูกศรถูกเนื้อก็จะทำให้เนื้อตัวนั้นล้มลงในที่นั้น นายพรานเนื้อก็จะถลกหนังของเนื้อตัวนั้นออก เฉือนเป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ ถือเอาเนื้อนั้นไปเลี้ยงครอบครัว แต่ถ้าลูกศรที่ยิงไปไม่ถูก เนื้อตัวนั้นก็จะหนีไปโดยไม่หันกลับมาดูอีก ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมก็เช่นกันที่มีอำนาจให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมในปัจจุบันชาติ เพราะไม่มีอำนาจให้ผลในภพชาติหน้า ถ้าทิฏฐธรรมเวทนียกรรมไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรมไปทันที
ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเกิดจากเจตนาที่ประกอบอยู่ในปฐมชวนจิตดวงที่ 1 เนื่องจากการกระทำต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา และทางใจ ย่อมจะมีชวนจิตเกิดขึ้น 7 ครั้งเสมอ ซึ่งมีมากมายนับไม่ถ้วนในการกระทำอย่างหนึ่ง3) ในหนังสือกรรมทีปนีได้อ้างถึงอรรถกถาอรรถสาลินีว่า
ทิฏฺฐธมฺมเวทนียํ ปฐมํ ชวนํ ภเว
ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมนั้น ได้แก่ เจตนาที่ประกอบอยู่ในชวนจิตดวงที่ 14)
จากคำกล่าวของอรรถกถาจารย์นั้นทำให้ทราบถึงลักษณะของทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่ให้ผลเพียงแค่ในชาติปัจจุบันนี้เท่านั้น เพราะกุศลเจตนาและอกุศลเจตนา ซึ่งประกอบอยู่ในชวนจิตดวงที่ 1 นี้มีกำลังน้อย ไม่มีกำลังมากเหมือนชวนะดวงที่ 2-3-4-5-6-7 เพราะเป็นชวนะที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ฉะนั้นจึงไม่สามารถที่จะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมในชาติหน้าหรือชาติต่อๆ ไปได้ ซึ่งทิฏฐธรรมเวทนียกรรมมี 2 ประเภท ได้แก่
1)ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่บันดาลให้ได้รับผลในปัจจุบันชาตินี้ทันที เพราะกรรมประเภทนี้มีกำลังในการให้ผลมาก จึงสามารถที่จะบันดาลให้บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมได้รับผลภายใน 7 วันอย่างแน่นอน แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
- ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลกรรม
ผลแห่งกรรมจะบันดาลให้บุคคลที่กระทำกรรมได้รับความทุกข์เดือดร้อนภายใน 7 วัน ดังเช่นกรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก เรื่องพระเจ้าสุปปพุทธศากยะ5)
พระเจ้าสุปปพุทธศากยะเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองเมืองเทวทหะ เป็นพระบิดาของพระเทวทัตและพระนางยโสธรา พระองค์ได้ผูกอาฆาตพยาบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเหตุ 2 ประการ คือ พระพุทธองค์ทิ้งพระนางยโสธราออกบวชและยังผูกเวรกับพระเทวทัต วันหนึ่งจึงเสด็จเข้าไปปิดทางเสด็จบิณฑบาตของพระพุทธองค์ ด้วยการนั่งเสวยน้ำจัณฑ์ในระหว่างทาง ถึงแม้จะมีคนกราบทูลห้าม แต่พระองค์ก็ยังคงนั่งอยู่อย่างนั้น พระพุทธองค์จึงเสด็จกลับไป
หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “ พระเจ้าสุปปพุทธะได้ทำกรรมหนัก ในวันที่ 7 จะถูกธรณีสูบที่ใกล้เชิงบันไดในปราสาท”เมื่อพระเจ้าสุปปพุทธะทรงทราบคำตรัสของพระพุทธองค์จากจารบุรุษ จึงเสด็จหนีขึ้นไปอยู่บนปราสาทชั้นที่ 7 และรับสั่งให้พวกมหาดเล็กเฝ้าที่เชิงบันได เพื่อห้ามไม่ให้พระองค์ลงไปข้างล่างตลอด 7 วัน โดยมุ่งหมายเพื่อให้พระดำรัสของพระพุทธองค์เป็นเท็จ
เมื่อถึงวันที่ 7 ม้ามงคลของพระเจ้าสุปปพุทธะเกิดคึกคะนองขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่พอม้ามงคลเห็นพระเจ้าสุปปพุทธะที่หน้าต่างก็เงียบสงบลง พระองค์จึงมีความประสงค์ที่จะลงไปจับม้ามงคล เมื่อพระองค์กำลังจะลง ประตูปราสาทได้เปิดออกเอง พวกคนแข็งแรงที่อยู่ตรงประตูเห็นเช่นนั้นก็ช่วยกันจับพระองค์ไว้ แต่ด้วยอำนาจของกรรม ทำให้พระองค์คะมำหน้าลงพร้อมทั้งแผ่นดินได้แยกออกแล้วสูบพระองค์ลงไปสู่อเวจีมหานรกทันที พระเจ้าสุปปพุทธะได้ทำกรรมหนัก คือ การผูกโกรธอาฆาตพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ต้องไปเกิดในอเวจีมหานรก เพราะกรรมนั้นเป็นปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่มีกำลังมาก จึงทำให้ผู้ที่กระทำกรรมได้รับผลในปัจจุบันชาตินี้ทันที
- ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายกุศลกรรม
ผลแห่งกรรมจะบันดาลให้บุคคลที่กระทำกรรม ให้ได้รับความสุขความเจริญอย่างรวดเร็วภายใน 7 วัน ดังเช่นกรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก เรื่องกาฬวฬิยเศรษฐี6)
ในสมัยพุทธกาล มีชายยากจนคนหนึ่งชื่อ กาฬวฬิยะ ทำงานหาเงินด้วยความยากลำบากวันหนึ่งภรรยาของเขาได้เตรียมข้าวยาคูและผักดองเพื่อเป็นอาหารให้กับเขา ในวันนั้นพระมหากัสสปเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ และปรารถนาจะสงเคราะห์คนยาก พระเถระเห็นภรรยาของนายกาฬวฬิยะ จึงไปยืนที่ประตูบ้าน แต่วันนั้นนายกาฬวฬิยะออกไปทำงานนอกบ้าน ภรรยาของเขาเห็นพระเถระมายืนอยู่หน้าประตูบ้าน เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงถวายอาหารทั้งหมด แล้วไปบอกสามีด้วยความดีใจ
เมื่อนายกาฬวฬิยะทราบความที่ภรรยาของตนได้ถวายอาหารแก่พระมหากัสลัปะแล้ว เขาก็มีจิตอนุโมทนา พระมหากัสสปะรับภัตตาหารแล้วก็นำไปถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก พระพุทธองค์ทรงแบ่งให้ภิกษุทั้งหลายได้ขบฉันด้วย นายกาฬวฬิยะตามไปที่พระวิหารในขณะที่พระภิกษุฉันเสร็จพอดี จึงมีโอกาสได้รับประทานอาหารในส่วนที่เหลือ พระมหากัสสปะกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงอานิสงส์ที่นายกาฬวฬิยะจะได้รับต่อหน้าเขาในเวลานั้น พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า อีก 7 วัน เขาจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐี เมื่อเขาได้ยินดังนั้นก็ปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นจริง เพราะภรรยาของนายกาฬวฬิยะได้อาสาพระราชาเพื่อนำอาหารของพระองค์ไปให้นักโทษที่ถูกเสียบอยู่บนหลาวในป่าช้าที่เต็มไปด้วยอมนุษย์
ในระหว่างทางมียักษ์ตนหนึ่งฝากให้นางช่วยประกาศว่า ภรรยาของเขาซึ่งเป็นบุตรสาวของสุมนเทพได้คลอดบุตรเป็นชายแล้ว ด้วยความที่สุมนเทพมีความปีติยินดีที่ได้หลานชาย จึงยกขุมทรัพย์ที่อยู่ใต้ต้นไทรให้แก่นางที่นำข่าวอันเป็นมงคลมาให้ หลังจากที่นางให้อาหารแก่นักโทษที่นั่งอยู่บนหลาวแล้ว ก็ได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร และเมื่อขุดทรัพย์สมบัติมากมายขึ้นมา ทั้งสองสามีภรรยาจึงได้รับฉัตรเศรษฐีจากพระองค์ให้เป็นเศรษฐีประจำเมือง มีชื่อว่า ธนเศรษฐี นับแต่นั้นมานายกาฬวฬิยะและภรรยาก็ได้รับความสุขสบายตลอดชีวิต ด้วยปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายกุศลกรรมที่กระทำไว้ จึงทำให้ได้รับผลแห่งกุศลกรรมนั้นเป็นเศรษฐีในปัจจุบันชาตินี้
ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เป็นกรรมที่มีกำลังมาก สามารถที่จะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมไว้ภายในกำหนดเวลา 7 วันเท่านั้น
2)อปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่บันดาลให้ได้รับผลหลังจากที่กระทำไว้แล้วเกิน 7 วัน ภายในปัจจุบันชาตินี้ เพราะกรรมประเภทนี้มีกำลังน้อยกว่ากรรมประเภทแรก จึงให้ผลแก่ผู้กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมหลังจากวันที่ 7 ไปแล้ว โดยมีกำหนดการให้ผล ดังนี้
1. อปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมทั้งฝ่ายอกุศลกรรมและฝ่ายกุศลกรรม ที่บุคคลกระทำแล้วในปฐมวัย บางชนิดอาจบันดาลให้บุคคลที่กระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมให้ได้รับผลในปฐมวัย บางชนิดก็ให้ได้รับผลในมัชฌิมวัย บางชนิดก็ให้ได้รับผลในปัจฉิมวัย
2. อปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมทั้งฝ่ายอกุศลกรรมและฝ่ายกุศลกรรม ที่บุคคลกระทำแล้วในมัชฌิมวัย บางชนิดก็อาจบันดาลให้บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมนั้นให้ได้รับผลในตอนมัชฌิมวัย บางชนิดก็ให้ได้รับผลในตอนปัจฉิมวัย
3. อปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมทั้งฝ่ายอกุศลกรรมและฝ่ายกุศลกรรม ที่บุคคลกระทำแล้วในปัจฉิมวัย บางชนิดย่อมสามารถดลบันดาลให้บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมให้ได้รับผลในปัจฉิมวัย
จากระยะเวลาการให้ผลของกรรมดังกล่าว เพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นจะขอยกกรณีศึกษาจากพระไตรปิฎกในเรื่อง กรรมทันตาเห็นของคนชอบกินเนื้อ7)
ในสมัยพุทธกาล ชายคนหนึ่งมีอาชีพฆ่าสัตว์ขาย ตัวเขาเองทำหน้าที่เพชฌฆาต ทุกวันหลังจาก ฆ่าสัตว์ เมื่อแล่เนื้อแยกส่วนต่างๆ ขายเสร็จแล้ว เขาจะเลือกเนื้อสันเก็บไว้ให้ภรรยาประกอบอาหารสำหรับรับประทานในครอบครัว เขาประกอบอาชีพนี้เป็นเวลานานถึง 45 ปี โดยที่ตลอดชีวิตเขาไม่เคยมีความคิดที่จะทำทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่พระพุทธองค์ก็ประทับอยู่ในพระมหาวิหารเวฬุวัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลไปจากบ้านของเขา และตัวเขาเองก็เคยเห็นพระพุทธองค์และเหล่าพระภิกษุอยู่ เนืองๆ แต่เขาก็ไม่เคยแม้แต่จะฟังธรรมหรือยกมือไหว้
ชายผู้นี้บริโภคอาหารโดยเฉพาะเนื้อที่เขาลงมือฆ่าด้วยตัวเองเท่านั้น จะไม่บริโภคอาหารอย่างอื่นเลย วันหนึ่งเขาขายเนื้อหมดแล้ว ได้เลือกเนื้อก้อนหนึ่งมอบให้ภรรยาสำหรับประกอบอาหาร แล้วจึงไปอาบน้ำชำระร่างกาย หมายใจว่าเมื่ออาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็จะได้บริโภคอาหารที่ภรรยาทำไว้เสร็จพอดี แต่ในระหว่างที่เขาอาบน้ำอยู่ เพื่อนสนิทของเขามาที่บ้านและเอ่ยปากขอซื้อเนื้อต่อภรรยาเขา ซึ่งภรรยาเขาได้บอกไปว่า ไม่มีเนื้อที่จะขายคงเหลือแต่เนื้อสำหรับประกอบอาหารให้ผู้เป็นสามี เพื่อนของเขาไม่ฟังอะไรวางเงินไว้แล้วหยิบเนื้อนั้นไป
สามีเมื่ออาบน้ำแต่งตัวเสร็จกลับมา หวังจะบริโภคอาหารเห็นสำรับอาหารแต่ไม่มีเนื้อจึงถามภรรยา เมื่อภรรยาบอกว่าเพื่อนของเขาเอาไปเสียแล้ว โดยไม่ฟังคำอธิบายอะไร เขามีอารมณ์ขุ่นมัวและฉุนเฉียวด้วยความหิว ลุกขึ้นคว้ามีดเดินลงจากเรือน อ้อมไปยังหลังบ้านที่มีโคผูกไว้ เมื่อไปถึงโคตัวนั้นเขาเอามือล้วงเข้าไปในปากโค ดึงลิ้นมันออกมา เฉือนด้วยมีดจนลิ้นนั้นขาด แล้วนำไปส่งให้ภรรยาเพื่อประกอบอาหาร ส่วนโคเมื่อถูกตัดลิ้นมันถึงกับอ้าปากร้องอย่างทรมานด้วยความเจ็บปวด เลือดไหลไม่หยุด และในที่สุดมันไม่สามารถทนพิษความเจ็บปวดได้จึงขาดใจตาย
เมื่อภรรยาของเขาประกอบอาหารเสร็จแล้ว เขาจึงนั่งบริโภคด้วยความหิวโหย แต่เขาบริโภคอาหารเข้าไปได้่เพียงแค่สามคำเท่านั้น ทันใดนั้นเองลิ้นของเขาได้ขาดร่วงออกมาจากปากลงสู่จานข้าว เลือดพุ่งกระฉูด เขาอ้าปากร้องลั่น คลานรอบบ้าน มีเลือดและน้ำตาไหลนองพื้น ได้รับความทุกข์ทรมานเจ็บปวดยิ่งนัก และในที่สุดเขาได้ล้มลงสิ้นใจตายไปต่อหน้าภรรยาและลูกๆ
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมจะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือ กุศลกรรมให้ได้รับผลในชาตินี้ แต่ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมจะสามารถให้ผลได้นั้น จะต้องประกอบด้วยลักษณะ 4 ประการ8) ดังนี้
1. เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่ไม่ได้ถูกเบียดเบียนจากกรรมที่ตรงข้ามกัน หมายความว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่เป็นกุศลกรรม จะไม่ถูกเบียดเบียนจากทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่เป็นอกุศลกรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมที่จะมีโอกาสให้ผลแก่บุคคลที่กระทำกรรมให้ได้รับผลที่ตนกระทำไว้ในปัจจุบันชาตินี้ แต่ถ้าถูกเบียดเบียนแล้วก็จะไม่สามารถให้ผลได้ และกลายเป็นอโหสิกรรมไป
2. เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่มีกำลังเป็นพิเศษ เพราะได้รับความสนับสนุนส่งเสริมจากวิบัติ 4 ประการ9) และสมบัติ 4 ประการ10) ซึ่งถ้าเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายกุศลกรรม ก็ต้องประกอบด้วยสมบัติ 4 ประการ จึงจะสามารถให้ผลแก่บุคคลที่กระทำกุศลกรรมได้ แต่ถ้าเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลกรรมที่ประกอบด้วยสมบัติ 4 ประการอย่างนี้แล้ว ย่อมจะไม่สามารถให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมได้
3. เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่มีกำลังแรงมากด้วยอำนาจแห่งปุญญาภิสังขาร หมายความว่า บุคคลที่มีความตั้งใจเพียรพยายามที่จะทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรม จิตของเขาในขณะนั้นย่อมมีกำลังแรงมากที่สามารถให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมในปัจจุบันชาตินี้ได้ แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยปุญญาภิสังขารแล้ว ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมย่อมไม่มีกำลังมากพอที่จะให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรมไป
4. เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่สำเร็จลงด้วยอำนาจแห่งการกระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมต่อบุคคลที่ประกอบด้วยคุณวิเศษทั้งหลาย หมายความว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลกรรม ก็ต้องสำเร็จลงด้วยการประกอบกรรมชั่วอย่างร้ายแรงต่อบุคคลที่ประกอบด้วยคุณวิเศษ เช่น นันทยักษ์ที่ตีศีรษะพระสารีบุตรผู้กำลังเข้านิโรธสมาบัติ จึงทำให้ถูกธรณีสูบ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายกุศลกรรม ก็ต้องเป็นกรรมที่สำเร็จลงด้วยการประกอบความดีอย่างหนักต่อบุคคลที่ประกอบด้วยคุณวิเศษ เช่น มหาทุคคตะมีความตั้งใจอย่างมากที่จะถวายทาน และได้ถวายทานแด่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้กลายเป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์มาก เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมจะสามารถให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ได้ ก็ต่อเมื่อประกอบด้วยลักษณะทั้ง 4 ประการนี้ แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยลักษณะทั้ง 4 ประการนี้ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมย่อมไม่สามารถที่จะให้ผลเกิดขึ้นได้ในปัจจุบันชาตินี้ ซึ่งถ้าให้ผลไม่ได้ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรมทันที
-------------------------------------------------------------------
3) ชวนะ คือ การเสพอารมณ์ของจิตที่เป็นกุศล อกุศลและอัพยากฤต โดยปกติในการเสพอารมณ์วาระหนึ่งจะมี 7 ชวนะซึ่งอาจเปรียบชวนะเหมือนกับบุรุษที่กำลังกินอาหารอยู่อย่างเอร็ดอร่อย ชวนะก็เช่นกันที่ทำหน้าที่ในการเสพอารมณ์ของจิตที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นการกระทำที่เป็นบุญหรือเป็นบาปก็เกิดขึ้นที่ชวนะจิตทั้ง 7 นี้.
4) พระพรหมโมลี, กรรมทีปนี, (กรุงเทพฯ : สามัคคีสาร (ดอกหญ้า), 2541), เล่ม 1 หน้า 241.
5) เรื่องเจ้าสุปปพุทธศากยะ, อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 42 หน้า 61.
6) เทวทหสูตร, อรรถกถามัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, มก. เล่ม 22 หน้า 28.
7) เรื่องบุตรของนายโคฆาตก์, อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 43 หน้า 5.
8) พระพรหมโมลี, หนังสือกรรมทีปนี, (กรุงเทพฯ : สามัคคีสาร (ดอกหญ้า), 2541), เล่ม 1 หน้า 245.
9) วิบัติ 4 ประการ คือ 1.คติวิบัติ การเกิดในทุคติภูมิ 2.อุปธิวิบัติ ผู้ที่เกิดมามีร่างกายที่พิการไม่สมประกอบ 3.กาลวิบัติ การได้เกิดในยุคสมัยที่พระราชาเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้คุณค่าของพระพุทธศาสนา 4.ปโยควิบัติ การประกอบความเพียรพยายามในทางที่ผิด.
10) สมบัติ 4 ประการ คือ 1.คติสมบัติ การได้เกิดในสุคติภูมิ 2.อุปธิสมบัติ ผู้ที่เกิดมามีร่างกายที่สวยงาม ไม่พิกลพิการ 3.กาลสมบัติ การได้เกิดในยุคสมัยที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข พระราชาเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้คุณค่าพระพุทธศาสนา 4.ปโยคสมบัติ การประกอบความเพียรพยายามในทางที่ถูกต้อง.
GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต