ชีวิตก่อนการตรัสรู้

วันที่ 11 กย. พ.ศ.2558

 

ชีวิตก่อนการตรัสรู้

หลังจากที่ได้สละทุกสิ่งออกบวช ช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาแห่งความปลอดโปร่งพระทัยยิ่งนัก เป็นช่วงชีวิตที่สำคัญของสมณะสิทธัตถะที่เข้าใกล้วิถีแห่งความหลุดพ้นเข้าไปทุกขณะ ทรงบำเพ็ญเพียรนั่งสมาธิอยู่ ณ ป่ามะม่วง ตำบลอนุปิยอัมพวัน ไม่ยอมฉันภัตตาหารตลอด 7 วัน วันที่ 8 จึงเสด็จออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ในแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นใหญ่ในแคว้น ทอดพระเนตรจากบนปราสาท เห็นลักษณะอันงดงามและสำรวมของสมณะนั้น จึงได้ส่งราชบุรุษไปสืบข่าว ต่อมาเมื่อทราบถึงจริยวัตรของสมณะนี้ จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา คิดจะแบ่งสมบัติให้เพราะเข้าใจผิดคิดไปว่า สมณะนี้เป็นเจ้าชาย ออกบวชด้วยเหตุแห่งความขัดแย้งกันในราชสมบัติ แต่สมณะสิทธัตถะทรงปฏิเสธราชสมบัติของพระเจ้าพิมพิสาร เพราะพระองค์ทรงสละราชย์สมบัติออกบวช จึงไม่มีความปรารถนาในราชย์สมบัติอีกต่อไป และได้รับปฏิญญาว่าจะกลับมาโปรดพระเจ้าพิมพิสารหากตรัสรู้แล้ว

 

ค้นหาครูอาจารย์

ในแคว้นมคธมีสำนักเจ้าลัทธิมากมาย แต่มี 2 สำนักที่มีชื่อเสียง สมณะสิทธัตถะจึงได้แสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะชี้แนะแนวทางแห่งความหลุดพ้นได้ จนในที่สุดได้ร่ำเรียนอยู่ในสำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร ใช้เวลาไม่นานก็สำเร็จสมาบัติ 7 คือ รูปฌาน 4 อรูปฌาน 3 อันเป็นความรู้สูงสุดของอาจารย์ แต่ก็ยังไม่พบสิ่งที่พระองค์ต้องการ จึงไปสู่สำนักของอุทกดาบส รามบุตร ใช้เวลาศึกษาไม่นาน ก็สำเร็จสมาบัติ 8 เป็นอันเป็นผลสูงสุดของอาจารย์อีกเช่นกัน แต่ก็ยังไม่ทรงพบสิ่งที่พระองค์ทรงค้นหา

 

ตัดสินพระทัยค้นหาธรรมด้วยพระองค์เอง

เมื่อได้ศึกษาหาความรู้ในสำนักอาจารย์ทั้ง 2 แล้ว ไม่พบหนทางพ้นทุกข์ พระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะค้นหาวิธีการด้วยพระองค์เอง เพราะทรงเชื่อมั่นในบุญบารมีของพระองค์ และทรงมั่นใจในการพยากรณ์และการเสี่ยงทายอธิษฐานด้วยอีกประการหนึ่ง จึงลาอาจารย์อุทกดาบสจากไป เพื่อแสวงหาหนทางพ้นทุกข์

หลังจากพระโพธิสัตว์ได้หลีกออกจากสำนักของอุทกดาบสแล้ว ก็ได้แสวงหนทางพ้นทุกข์ที่พระองค์ปรารถนา คือ พระนิพพาน อันเป็นความสงบ ไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธโดยลำดับ จนดำเนินไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พระองค์ได้พบสถานที่ที่เหมาะสม สมควรแก่การบำเพ็ญเพียร เป็นราวป่าที่น่าเพลิดเพลินใจมีแม่น้ำไหลไม่ขาดสาย มีน้ำใสสะอาด มีท่าน้ำสะอาดดี มีบ้านสำหรับเที่ยวภิกษาโดยรอบ จึงได้พักอยู่ในสถานที่นั้น

เมื่อพระโพธิสัตว์อยู่ในสถานที่นั้นอุปมา 3 ข้อ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งไม่เคยได้ยิน ไม่เคยทราบมาก่อน ได้ปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ ซึ่งอุปมาทั้ง 3 ข้อนั้น มีเนื้อความดังนี้2)

 

อุปมาข้อที่ 1 ความว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจในกาม ยังเสน่หาในกาม ยังหลงอยู่ในกาม ยังกระหายในกาม ยังมีความเร่าร้อนในกาม ยังละไม่ได้ และยังให้สงบระงับไม่ได้ในภายใน สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่ี่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่แช่อยู่ในน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า “    เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น” ก็ไม่สามารถที่จะสีให้เกิดไฟขึ้นมาได้ เพราะไม้สดนั้นมียาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า

อุปมาข้อที่ 2 ความว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจในกาม ยังเสน่หาในกาม ยังหลงอยู่ในกาม ยังกระหายในกาม ยังมีความเร่าร้อนในกาม ยังละไม่ได้ และยังให้สงบระงับไม่ได้ในภายใน สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่ี่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่วางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า “    เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น” ก็ไม่สามารถที่จะสีให้เกิดไฟขึ้นมาได้ เพราะไม้ยังสดและมียาง แม้จะวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า

อุปมาข้อที่ 3 ความว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว ไม่มีความพอใจในกาม ไม่เสน่หาในกาม ไม่หลงอยู่ในกาม ไม่กระหายในกาม ไม่มีความเร่าร้อนในกาม ทั้งละได้และให้สงบระงับได้ในภายในแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่ี่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า “    เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น” ก็สามารถสีไฟให้เกิดขึ้นมา เพราะไม้แห้งสนิท ทั้งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ

 

เมื่ออุปมาทั้ง 3 ข้อเกิดขึ้นแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ได้เกิดความคิดที่จะบำเพ็ญทุกรกิริยา เพื่อแสวงหาแนวทางตรัสรู้ โดยมีปัญจวัคคีย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยคิดว่า “    ถ้าสมณะสิทธัตถะบรรลุธรรมแล้ว จะได้สั่งสอนพวกตนให้บรรลุธรรมนั้นบ้าง” การบำเพ็ญทุกรกิริยานี้จะได้แสดงเป็นวาระตั้งแต่ต้นตามที่ปรากฏ ดังต่อไปนี้

วาระแรก ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ (ใช้ฟันบนฟันล่างขบกันให้แน่น) และกดพระตาลุด้วยพระชิวหาให้แน่น(ใช้ลิ้นดันกดเพดานปาก) ทรงกระทำนานเข้า บังเกิดทุกขเวทนาแรงกล้าจนเหงื่อไหลออกจากรักแร้ แม้พระวรกายจะปวดร้าวเพียงใด พระองค์ยังคงรักษาพระหฤทัยไว้ได้มั่นคง ทรงมีพระสติตั่งมั่น ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้ ทรงเปลี่ยนวิธีการ

วาระที่สอง ทรงกลั้นลมอัสสาสะ และปัสสาสะ คือ ทรมานด้วยการผ่อนลมหายใจเข้าออกให้ลมเดินได้ทีละน้อย เมื่อลมหายใจออกทางจมูกและปากไม่สะดวก ถูกอั้นไว้นานเกิดแรงดันดังอู้ ในช่องหู เกิดอาการปวดศีรษะ เสียดท้อง เกิดความเร่าร้อนกายเป็นกำลัง กระนั้นยังมีสติแจ่มใส พิจารณาแล้วทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้แน่ จึงเปลี่ยนวิธีการ

วาระที่สาม ทรงทรมานอย่างยิ่งยวดด้วยอดพระกระยาหาร โดยการเสวยให้น้อยลงทุกวัน จนไม่เสวยเลย มีพระวรกายแห้งเหี่ยว พระฉวีเศร้าหมอง จนมองเห็นพระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย เมื่อทรงเอามือลูบพระวรกาย พระโลมา(ขน) ก็ร่วงหล่นลงมา พระกำลังอ่อนล้ายิ่ง แต่ยังคงมีพระสติมั่น

             หลังจากที่ได้บำเพ็ญเพียรอย่างหนัก ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรมตามที่ปรารถนาได้กลับได้รับแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียว ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์ได้เกิดความคิดว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ในอนาคต และในปัจจุบันนี้ ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ จะไม่ยิ่งไปกว่านี้ แต่ถึงบำเพ็ญด้วยความเพียรอย่างยิ่งดังนี้ ก็ไม่ได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันพิเศษกว่าธรรมของมนุษย์ จึงเห็นว่าน่าจะไม่ใช่ทางตรัสรู้ ทางตรัสรู้น่าจะเป็นอย่างอื่น

ต่อจากนั้นพระโพธิสัตว์ก็ได้หวนลำลึกถึงเมื่อครั้งงานแรกนาขวัญของพระราชบิดา เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ทรงประทับนั่งอยู่ใต้ร่มไม้หว้าอันเยือกเย็น ทรงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปิติและมีสุข เกิดแต่วิเวก พระองค์จึงได้ตกลงว่าทางนั้นจะพึงเป็นทางเพื่อตรัสรู้ได้ และพระองค์ก็ถามตนเองว่า ควรกลัวต่อความสุขที่สงัดจากกาม ปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลายหรือไม่ และตอบด้วยพระองค์เองว่า พระองค์ไม่กลัวต่อความสุขนั้น แต่ว่าความสุขนั้น คนที่มีร่างกายซูบผอมมาก ไม่สามารถจะทำให้บรรลุได้ ทางที่ดีควรบริโภคอาหารหยาบ และสุดท้าย พระองค์ก็ได้ตกลงใจว่าจะบริโภคอาหารหยาบ จากนั้นเป็นต้นมา พระองค์ก็เริ่มบริโภคอาหารหยาบ และเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป

ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ผู้เฝ้าคอยอุปัฏฐากมาตลอด 6 ปีที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยหวังว่า “    พระสมณะสิทธัตถะบรรลุธรรมแล้ว จะได้บอกธรรมนั้นแก่พวกเรา” แต่บัดนี้ สมณะนี้กลับเลิกล้มความเพียร กลับมักมากในกามคุณ จึงเสื่อมศรัทธาหนีกลับไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี

พุทธประวัติในช่วงปฐมกาลก็ดำเนินมาสิ้นสุดตรงนี้ เป็นช่วงรอยต่อสำคัญของการแสวงหาวิธีการหลุดพ้น ซึ่งเนื้อหาจะเข้มข้นยิ่งขึ้นในบทที่ 6

 

บทสรุป

พุทธประวัติช่วงปฐมกาล เป็นช่วงเวลา ณ จุดเริ่มต้นตั้งแต่พระบรมโพธิสัตว์ได้จุติลงจากสวรรค์ชั้นดุสิต ลงสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายาผู้มีความสะอาดบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพื่อรองรับพระโพธิสัตว์ พระนางทรงสุบินนิมิตอันเป็นมงคล เมื่อพระครรภ์แก่ก็ได้ประสูติพระราชโอรสอันอุดมด้วยลักษณะมหาบุรุษ และเกิดเหตุอันอัศจรรย์พระราชโอรสนั้น ประทับยืนและย่างพระบาทไป 7 ก้าว เปล่งอาสภิวาจาอันเป็นอมตะว่า พระองค์เป็นผู้เลิศในโลก จะไม่กลับมาเกิดอีก อันเป็นเครื่องยืนยันมั่นคงตั้งแต่แรกว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมื่อดาบสประจำตระกูลได้เห็นลักษณะอันอุดมของพระราชโอรสถึงกับก้มกราบ และปักใจแน่ว่า จะได้เป็นพระพุทธเจ้า อีกทั้งพราหมณ์ที่มีความชำนาญในการทำนาย ได้พยากรณ์เช่นกันว่า พระราชโอรสนี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้า ทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้นถึง บุญญาธิการของพระองค์ได้ส่งเสริมให้เกิดความแน่ชัดถึงเพียงนี้

แม้พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะฟังคำทำนายนั้น ก็ทรงหวั่นไหวพระราชหฤทัย มิปรารถนาให้พระราชโอรสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงทำทุกวิถีทางที่จะเหนี่ยวรั้งเจ้าชายสิทธัตถะไว้ เพื่อให้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ โดยให้วิธีการผูกมัดพระโอรสไว้กับกามคุณอันพรั่งพร้อม แต่บุญบารมีในตัวของพระองค์ได้กระตุ้นเตือนให้พระองค์ทรงเกิดความเบื่อหน่าย และยิ่งได้เห็นเทวทูตทั้ง 4 ยิ่งทำให้พระองค์ตระหนักยิ่งขึ้นว่า ถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะแสวงหาหนทางออกจากวงจรแห่งทุกข์ ในที่สุดเจ้าชายสิทธัตถะได้ตัดสินพระทัยเด็ดเดี่ยว ที่จะสละความสุขสบายส่วนพระองค์ สละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การหลุดพ้นจากทุกข์ แม้จะมีพญามารมาขวางแต่ก็ไม่อาจลบล้างพระดำริอันมั่นคงในพระทัยของพระองค์ได้

ในที่สุดเจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ผนวช ช่างเป็นช่วงเวลาที่ปลอดโปร่งยิ่งนัก และเป็นช่วงเวลาของการแสวงหาวิธีการเพื่อความหลุดพ้น โดยประการแรกได้แสวงหาครูบาอาจารย์ เพื่อชี้แนะแนวทาง แต่เมื่อเรียนจนจบความรู้ของอาจารย์เหล่านั้นแล้วก็ไม่เห็นหนทางหลุดพ้น จึงได้ลาจากมา แล้วทรงแสวงหาวิธีการด้วยพระองค์เอง ทรงพบว่า วิธีการทรมานตนเอง เป็นวิธีที่นิยมของนักบวชในสมัยนั้น ทรงบำเพ็ญ ทุกกรกิริยาอย่างยิ่งยวดอยู่ 6 ปี จนเกือบสิ้นพระชนม์ในที่สุดก็ล้มเลิกวิธีการดังกล่าว กลับมาแสวงหาทางสายกลาง

ทุกเหตุการณ์ที่ได้ถ่ายทอดออกมาในพุทธประวัติช่วงปฐมกาลนี้ ทำให้เรากระจ่างชัดในเส้นทางของพระโพธิสัตว์ที่ลงมาจุติเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย มีความเป็นเหตุเป็นผล มีความหนักแน่นมั่นคงต่อเป้าหมายอย่างแท้จริง แม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่บุญบารมีที่พระองค์สั่งสมมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ได้เป็นที่พึ่งให้กับพระองค์ และคอยประคับประคองให้พระองค์ไปถึงเป้าหมาย แม้จะออกนอกเส้นทางไปบ้าง แต่ก็กลับมาตรงทางได้ในที่สุด นับเป็นความอัศจรรย์อย่างยิ่ง

-------------------------------------------------------------------

2) โพธิราชกุมารสูตร, มัชฌิมปัณณาสก์. มจร. เล่ม 13 หน้า 399.

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0019757986068726 Mins