แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

วันที่ 14 กย. พ.ศ.2558

 

แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

เมื่อข่าวการปรินิพพานและถวายพระเพลิงพระสรีระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแพร่ออกไปตามเมืองและแว่นแคว้นต่างๆ ทำให้บุคคลที่มีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธองค์ เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์ลิจฉวี เป็นต้น รวม 7 แห่ง ต่างส่งทูตเชิญราชสาสน์มาขอส่วนแบ่งพระสารีริกธาตุ เพื่อนำไปสร้างสถูปทำการสักการบูชา แต่ละเมืองได้ส่งคณะทหารร่วมมากับราชทูต พากันตั้งล้อมเมืองกุสินาราไว้อย่างแน่นหนา แต่พวกมัลลกษัตริย์เกิดความหวงแหนพระบรมสารีริกธาตุ เพราะเห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาปรินิพพานในแคว้นของตน จึงจะไม่ยอมแบ่งพระสารีริกธาตุให้ใคร ทำให้เหล่ากษัตริย์เกิดความไม่พอใจ คิดที่จะทำสงครามกัน เพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ

ขณะนั้น โทณพราหมณ์ เป็นชาวเมืองกุสินารา และเป็นอาจารย์ผู้มีลูกศิษย์ทั่วชมพูทวีป แม้แต่กษัตริย์ทั้งหลายก็เป็นลูกศิษย์ของโทณพราหมณ์ พิจารณาเห็นอย่างนั้น จึงเข้ามาระงับการทำสงครามในครั้งนี้ และได้กล่าวเตือนสติเหล่ากษัตริย์ทั้งหลาย ทำให้ทุกฝ่ายพร้อมใจกันให้โทณพราหมณ์ดำเนินการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ โดยทำการแบ่งเป็นส่วนๆ เท่าๆ กัน เหล่ากษัตริย์พร้อมด้วยราชทูตที่มาจากแคว้นต่างๆ จึงแยกย้ายกันกลับไป ภายหลังโมริยกษัตริย์ได้อัญเชิญพระอังคารที่ได้รับจากมัลลกษัตริย์ไปทำสถูปบรรจุไว้ให้มหาชนสักการบูชา ณ ปิปผลิวัน

 

หลังจากที่ทำการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุกันแล้ว ล่วงเลยมาได้ 3 เดือน พระมหากัสสปะได้ปรารภเหตุที่พระสุภัททะผู้บวชตอนแก่ กล่าวจาบจ้วง แสดงความไม่เคารพในพระพุทธองค์ จึงได้ทำการสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นเป็นครั้งแรก ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว โดยในการทำสังคายนาในครั้งนี้ ได้ประชุมกันที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระมหากัสสปะเป็นประธานและทำหน้าที่เป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชชนาตอบพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชชนาตอบพระสูตรและพระอภิธรรม พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นศาสนูปถัมภก สนับสนุนในการทำสังคายนา กระทำอยู่ 7 เดือน จึงเสร็จสิ้น

เหตุการณ์ต่างๆ ที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของพระชนมชีพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะทำให้พุทธบริษัททั้ง 4 ได้เห็นความเป็นครูของโลกอย่างเช่นพระพุทธองค์ ที่ทรงทำหน้าที่จนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยไม่ได้เห็นแก่ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น เมื่อเสด็จไปในที่ใดก็ทรงสั่งสอนให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต แล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดประโยชน์กับตนเอง และด้วยพระปัญญาญาณของพระพุทธองค์ ทำให้ความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นในชมพูทวีป เพราะเหตุแห่งพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์

 

ดังนั้น วาระสุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งที่จะบอกให้ทุกชีวิตได้ทราบว่า ไม่ว่าใคร ก็ตามเมื่อยังอยู่บนโลกใบนี้ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงจากกฎเหล็กของธรรมชาติ ที่ยังต้องมีการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตายในที่สุด แม้พระพุทธเจ้าจะทรงเป็นผู้มีพระคุณอันประเสริฐที่สุดในโลก ก็ยังไม่อาจต้านทานพญามัจจุมารได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงปัจฉิมวาจาไม่ให้ภิกษุสงฆ์ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา แต่เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ก็มีเพียงคุณงามความดีและพระเกียรติคุณอันสุดประมาณของพระองค์ ที่ยังประจักษ์อยู่ในโลกและยังคงอยู่ในความทรงจำอันงดงามของสรรพสัตว์ทั้งหลายตลอดไป

บทสรุป

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบุคคลพิเศษที่ไม่มีบุคคลใดเสมอเหมือน เพราะเหตุที่พระพุทธองค์ได้สั่งสมบารมีมาอย่างยิ่งยวด ตั้งแต่ชาติที่เกิดเป็นมาณพหนุ่มแบกมารดาอยู่กลางทะเล ได้สั่งสมบารมีมาโดยตลอดไม่ว่าจะเกิดในกำเนิดใดก็ตาม ไม่เคยที่จะท้อแท้ท้อถอยในการสร้างบารมี จึงทำให้พระพุทธองค์สมบูรณ์พร้อมไปด้วยลักษณะมหาบุรุษและอนุพยัญชนะทั้ง 80 และด้วยการฝึกฝนตนเองมาตลอดต่อเนื่องในทุกชาติที่เกิดมา จึงทำให้พระพุทธองค์งดงามไปด้วยจริยาวัตรอันเหมาะสมกับการเป็นต้นแบบและการทำหน้าที่เป็นครูของโลก ดังนี้15)

1. เมื่อเสด็จดำเนิน ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน ไม่ทรงยกพระบาทไกลนัก ไม่ทรงวางพระบาทใกล้นัก ไม่เสด็จดำเนินเร็วนัก ไม่เสด็จดำเนินช้านัก

2. เมื่อเสด็จดำเนินพระชานุไม่กระทบพระชานุ ข้อพระบาทไม่กระทบข้อพระบาท ไม่ทรงยกพระอุระสูง ไม่ทรงทอดพระอุระไปข้างหลัง ไม่ทรงกระแทกพระอุระ ไม่ทรงส่ายพระอุระ

3. เมื่อเสด็จดำเนินพระกายส่วนบนไม่หวั่นไหว ไม่เสด็จดำเนินด้วยกำลังพระกาย

4. เมื่อทอดพระเนตร ก็ทอดพระเนตรด้วยกายทั้งหมด ไม่ทอดพระเนตรขึ้นเบื้องบน ไม่ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ เสด็จดำเนินไม่ทรงเหลียวแล ทอดพระเนตรประมาณชั่วแอก ยิ่งกว่านั้นพระองค์ทรงมีพระญาณทัสนะอันไม่มีอะไรกั้น

5. เมื่อเสด็จเข้าสู่ละแวกบ้าน ไม่ทรงยืดพระกาย ไม่ทรงย่อพระกาย ไม่ทรงห่อพระกาย ไม่ทรงส่ายพระกาย

6. เมื่อเสด็จเข้าประทับนั่งอาสนะ ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก ไม่ประทับนั่งท้าวพระหัตถ์ ไม่ทรงพิง พระกายที่อาสนะ

7. เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงคะนองพระหัตถ์ ไม่ทรงคะนองพระบาท ไม่ประทับนั่งชันพระชานุ ไม่ประทับนั่งซ้อนพระบาท ไม่ประทับนั่งยันพระหนุ

8. เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงครั่นคร้าม ไม่ทรงหวั่นไหว ไม่ทรงขลาด ไม่ทรงสะดุ้ง ทรงปราศจากโลมชาติชูชัน

9. ทรงเวียนมาในวิเวก เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน

10. เมื่อทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนัก ไม่มากนัก

11. ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุกๆ ไม่ทรงหมุนบาตรล้าง ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบนพระหัตถ์

12. เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ก็เป็นอันทรงล้างบาตรแล้ว เมื่อทรงล้างบาตรแล้วก็เป็นอันทรงล้างพระหัตถ์แล้ว

13. ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก และทรงเทไม่ให้น้ำกระเซ็น

14. เมื่อทรงรับข้าวสุก ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ

15. ทรงรับข้าวสุกไม่น้อยนัก ไม่มากนัก ทรงรับกับข้าว พอประมาณกับข้าวที่จะเสวย

16. ไม่ทรงน้อมคำข้าวให้เกินกว่ากับข้าว ทรงเคี้ยวคำข้าวในพระโอษฐ์สองสามครั้งแล้วทรงกลืน เยื่อข้าวสุกยังไม่ระคนกันดีเล็กน้อย ย่อมเข้าสู่พระกาย ไม่มีเยื่อข้าวสุกสักนิดหน่อยเหลืออยู่ในพระโอษฐ์ ทรงน้อมคำข้าวเข้าไปแต่กึ่งหนึ่ง

17. ทรงทราบในรสได้อย่างดีในเวลาเสวยอาหาร แต่ไม่ทรงทราบด้วยอำนาจความกำหนัดในรส เสวยอาหารอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ คือ ไม่เสวยเพื่อเล่น ไม่เสวยเพื่อมัวเมา ไม่เสวยเพื่อประดับ ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง เสวยเพียงดำรงพระกายนี้ไว้ เสวยเพื่อยังพระชนมชีพให้เป็นไป เสวยเพื่อป้องกันความลำบาก เสวยเพื่อทรงอนุเคราะห์ ด้วยทรงพระดำริว่า เพียงเท่านี้ ก็จักกำจัดเวทนาเก่าได้ จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ร่างกายของเราจักเป็นไปสะดวกจักไม่มีโทษ และจักมีความอยู่สำราญ

18. เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงวางบาตรในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จะไม่ทรงต้องการบาตรก็หามิได้ แต่ก็ไม่ตามรักษาบาตรจนเกินไป

19. เสวยเสร็จแล้ว ประทับนิ่งเฉยอยู่ครู่หนึ่ง แต่ไม่ทรงยังเวลาแห่งการอนุโมทนาให้ล่วงไป เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา ไม่ทรงติเตียนภัตนั้น ไม่ทรงหวังภัตอื่น ทรงชี้แจงให้บริษัทนัเห็นแจ้งให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

20. ทรงลุกจากอาสนะเสด็จไป ไม่เสด็จเร็วนัก ไม่ผลุนผลันเสด็จไป

21. ไม่ทรงจีวรสูงเกินไป ไม่ทรงจีวรต่ำเกินไป ไม่ทรงจีวรแน่นติดพระกาย ไม่ทรงจีวรกระจุยกระจายจากพระกาย ทรงจีวรไม่ให้ลมพัดแหวกได้ ฝุ่นละอองไม่ติดพระกาย

22. เสด็จถึงอารามแล้วประทับนั่ง ครั้นประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวายแล้ว จึงทรงล้างพระบาท ไม่ทรงประกอบการประดับพระบาท ทรงล้างพระบาทแล้ว ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เบื้องพระพักตร์ ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนพระองค์เอง ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ทรงดำริแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายและสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวง

23. เมื่อประทับอยู่ในพระอาราม ทรงแสดงธรรมในบริษัท ไม่ทรงยอบริษัท ไม่ทรงรุกรานบริษัท ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

24. ทรงมีพระสุระเสียงอันก้องเปล่งออกจากพระโอษฐ์ ประกอบด้วยองค์ 8 ประการคือ สละสลวย รู้ได้ชัดเจน ไพเราะ ฟังง่าย กลมกล่อม ไม่พร่า พระสุรเสียงลึก มีกังวาน บริษัทจะอย่างไร ก็ทรงให้เข้าใจด้วยพระสุรเสียงได้ พระสุรเสียงมิได้ก้องออกนอกบริษัท


พระจริยาวัตรทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสมมาเมื่อครั้งที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมี ทำให้พระพุทธองค์เพียบพร้อม บุคคลใดได้พบเห็นก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และด้วยพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่พระนิพพาน พระองค์จึงได้พากเพียรพยายามสั่งสมบารมี แม้ในชาติสุดท้ายที่เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ทำทุกวิธีทางที่คิดว่าจะเป็นทางหลุดพ้น ถึงจะใช้เวลานานเพียงไร และต้องเอาชีวิตเข้าแลก พระองค์ก็สามารถยอมได้ เพื่อให้ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้ทรงบำเพ็ญกิจที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปฏิบัติเป็นกิจวัตรหลังจากที่ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธจริยา อันเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก ทรงโปรดเวไนยสัตว์ ด้วยอัธยาศัยอันเปี่ยมด้วยพระมหากรุณา ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งหลายให้เป็นสุข พ้นจากทุกข์ และไม่ว่าพระพุทธองค์จะประทับอยู่ในสถานที่ใด พระองค์ก็ไม่ได้ทรงละพระพุทธกิจทั้ง 5 ประการ คือ เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต เวลาเย็นทรงแสดงธรรมโปรดชาวโลก เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ เวลาเที่ยงคืน ทรงพยากรณ์ปัญหาแก่เทวดา เวลาย่ำรุ่ง ทรงตรวจดูสัตวโลกทั้งที่สามารถและยังไม่สามารถบรรลุธรรม อันควรเสด็จไปโปรด

 

พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธกิจทั้ง 5 ประการนี้ ด้วยพระพุทธจริยาครบทั้ง 3 อย่าง คือ พุทธัตถจริยา หมายถึง ทรงบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า ญาตัตถจริยา หมายถึง ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ และโลกัตถจริยา หมายถึง ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลก ด้วยพระคุณอันยิ่งใหญ่ ทั้งในพรรษาและนอกพรรษา โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย หรือความยากลำบากแต่ประการใด นับตั้งแต่ตรัสรู้ตราบจนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นเวลาถึง 45 พรรษา

ในระหว่างเวลา 45 พรรษาแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษาในสถานที่ต่างๆ ซึ่งได้ประมวลไว้พร้อมทั้งเหตุการณ์สำคัญบางอย่าง ดังนี้

พรรษาที่ 1 ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์

พรรษาที่ 2 ถึง 4 พระวิหารเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร โปรดพระญาติ โปรดอนาถปิณฑิกเศรษฐี

พรรษาที่ 5 กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เมืองเวสาลี เพื่อโปรดพระบิดาปรินิพพาน โปรดพระญาติที่วิวาทกัน

พรรษาที่ 6 มกุลบรรพต แสดงยมกปาฏิหาริย์

พรรษาที่ 7 ดาวดึงสเทวโลก เพื่อโปรดพระพุทธมารดา

พรรษาที่ 8 เภสกลาวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคีรี แคว้นภัคคะ โปรดนกุลบิดาและนกุลมารดา

พรรษาที่ 9 โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี

พรรษาที่ 10 ป่าตำบลปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี โปรดภิกษุเมืองโกสัมพีที่ทะเลาะกัน

พรรษาที่ 11 หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกนาลา

พรรษาที่ 12 เมืองเวรัญชา

พรรษาที่ 13 จาลิยบรรพต

พรรษาที่ 14 พระวิหารเชตวัน

พรรษาที่ 15 นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์

พรรษาที่ 16 เมืองอาฬวี เพื่อทรมานอาฬวกยักษ์

พรรษาที่ 17 พระวิหารเวฬุวัน เมืองราชคฤห์

พรรษาที่ 18 และ19 จาลิยบรรพต

พรรษาที่ 20 พระวิหารเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ เพื่อโปรดองคุลิมาล

พรรษาที่ 21 ถึง 44 ประทับสลับไปมาระหว่างพระวิหารเชตวันกับบุพพาราม เมืองสาวัตถี

พรรษาที่ 45 เวฬุวคาม เมืองเวสาลี

ตลอด 45 พรรษานี้ นักศึกษาจะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงทำหน้าที่เป็นครูสอนชาวโลกได้อย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ที่แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ และแม้กาลเวลาจะผ่านไปอีกยาวนานสักแค่ไหน เรื่องราวการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ จะยังคงจารึกอยู่ในจิตใจของพุทธบริษัททั้ง 4 ต่อไปอย่างไม่รู้ลืม เพราะเป็นผลอันเนื่องมาจากความมุ่งมั่นอันเด็ดเดี่ยวของพระพุทธองค์ที่ปรารถนาจะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากวัฏทุกข์ ที่ไม่มีใครทำได้นอกจากพระพุทธองค์

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว พระองค์ไม่ได้ตั้งใครมาเป็นศาสดาแทน แต่ให้พระธรรมและวินัยที่พระองค์ทรงสอนและบัญญัติไว้เป็นศาสดาแทน ที่ให้พุทธบริษัทได้ถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน ฉะนั้น แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติหรืออันตรธานไปก็ตาม พระธรรมคำสอนของพระองค์ก็ยังคงเป็นอยู่ ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ดำเนินไปตามแนวทางที่ถูกต้องในการเกิดมา เพื่อจะได้มีชีวิตที่เป็นสุขและในที่สุดก็หลุดพ้นหมดกิเลสตามอย่างพระพุทธองค์ที่ทรงทำได้แล้ว

-------------------------------------------------------------------

15) มหาปรินิพพานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค. มก. เล่ม 13 ข้อ 98 หน้า 280.

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010827342669169 Mins