ต้นแบบมนุษย์
ปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีแม่หลายท่านที่เมื่อบั้นปลายชีวิตถูกลูกทอดทิ้งอย่างไม่เหลี่ยวแล ลูกที่ดีควรทำหน้าที่ของลูกให้สมบูรณ์เท่าที่เราทำได้อย่างเต็มที่ไม่ให้ท่านต้องผิดหวังในความประพฤติของเรา
หลักสำคัญของลูกที่ดี
ถ้าจะให้เข้าใจและจดจำได้ง่าย หน้าที่ของลูกสรุปได้ 2 คำคือ “ กตัญญู ” แปลว่า “ รู้คุณท่าน ” และ “ กตเวที ” แปลว่า “ ตอบแทนคุณท่าน ” ลูกบางคนกตัญญูรู้คุณแม่ แต่ยังไม่ทันได้ตอบแทนคุณเพราะท่านละโลกไปแล้วเป็นต้น
กรณีที่แม่ให้กำเนิดเรามา แต่ไม่ได้เลี้ยงดูเราเพราะบังเอิญท่านเสียชีวิตไปก่อน หรือลูกไปอยู่อีกที่หนึ่ง มีคนมารับไปเป็นลูกบุญธรรม แม่จึงไม่มีโอกาสได้เลี้ยงดูเราอย่างนี้จะทำอย่างไร ให้เราลองคิดดูว่าความหวังดีและความจริงใจที่แม่มีให้เรานั้นไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าถามว่ากรณีแบบนี้แม่ยังมีพระคุณกับเราหรือไม่ ตอบว่าท่านมีพระคุณสุดจะประมาณ แม้ว่าท่านจะให้กำเนิดโดยไม่ได้เลี้ยงดูเรามา พระคุณของท่านก็มีมหาศาลแล้ว เพราะท่านเป็นผู้ให้ต้นแบบทางกาย เราเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ต้องอาศัยพ่อแม่เป็นต้นแบบทางกายมนุษย์
คุณค่าของสิ่งต่างๆขึ้นอยู่กับรูปแบบ เปรียบกับดินเหนียวถ้าถูกทิ้งไว้กลางบ้านมันก็จะสกปรก ต้องเอาไปทิ้งแล้วล้างออกให้สะอาด แต่ถ้าดินเหนียวนั้นถูกขึ้นแบบเป็นถ้วยชาม นำเข้าเตาเผาหน่อยก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แล้วถ้าเรานำดินเหนียวนั้นมาขึ้นรูปเป็นพระพุทธรูป ผู้คนก็ได้กราบไหว้บูชา คุณค่าของดินเหนียวหรือสิ่งต่างๆจึงอยู่ที่รูปแบบนั่นเอง จริงๆแล้วปฏิสนธิวิญญาณที่จะมาบังเกิดขึ้น ถ้าไม่มีพ่อแม่เป็นต้นแบบ ลูกก็ไม่มีทางได้กายมนุษย์ เพราะฉะนั้นเพียงพระคุณที่ท่านเป็นต้นแบบกายมนุษย์ให้แก่เรานั้น ก็มากมายสุดจะพรรณนาแล้ว
ยิ่งถ้าแม่ได้เลี้ยงดูเรามาจนเติบใหญ่ พระคุณท่านยิ่งมากมายทับทวีคูณ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสอุปมาไว้ว่า “ ถ้าบุตรจะพึงวางบิดามารดาไว้บนบ่าทั้งสองของตน ป้อนข้าวป้อนน้ำ ให้ท่านอุจจาระ ปัสสาวะบนบ่านั้น แม้บุตรจะมีอายุถึงร้อยปี และดูแลปฏิบัติอย่างนี้จนตลอดชีวิต ก็ยังตอบแทนพระคุณท่านได้ไม่หมด ”
เพราะฉะนั้น แม่มีบุญคุณกับลูกสูงมาก ลูกจึงควรไตร่ตรองจนกระทั่งซาบซึ้งถึงพระคุณแม่จริงๆ เรียกว่ามีทั้งความกตัญญูและกตเวทีคือ รู้จักทดแทนพระคุณท่านและตอบแทนพระคุณท่านนั่นเอง เมื่อแม่ยังมีชีวิตอยู่เราควรดูแลปรนนิบัติท่านปฏิบัติตนให้ดีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น ช่วยงานบ้าน ทำให้ท่านชื่นใจ พอเราโตขึ้นท่านก็มีอายุมากขึ้นแล้ว เราเรียนจบและเริ่มทำงานได้ค่าตอบแทนจากงานที่ทำเดือนแรก ก็ควรรีบนำไปมอบให้ท่าน อาตมภาพขอมอบไว้เป็นข้อคิดว่า เงินก้อนแรกที่เราหามาได้ให้เราทำบุญกับแม่ก่อน
แม่คนเดียวเลี้ยงลูกหลายคนได้
มีคำพูดที่เรามักจะเคยได้ยินกันมาบ้างแต่ไม่แน่ใจว่าหลายคนปฏิบัติแบบนั้นหรือไม่ว่า “ แม่คนเดียวเลี้ยงลูกหลายคนได้ แต่ลูกหลายคนกลับเลี้ยงแม่เพียงคนเดียวไม่ได้ ” แม่คนเดียวเลี้ยงลูกให้กินอยู่สบาย อยู่ดีกินดีกันแทบทุกคนแต่ลูกบางคนกลับละเลยแม่ ขาดการดูแลเอาใจใส่แม่ของตนเอง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน แล้วเราควรปฏิบัติอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้หายไปจากสังคมไทย ทางหนึ่งให้แม่ทั้งหลายทำตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนคือ กีดกันลูกจากความชั่ว แล้วปลูกฝังลูกในทางที่ดี ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วล่ะก็ ลูกก็จะมีความกตัญญูกตเวทีต่อแม่ เพราะเขาจะเติบโตเป็นคนดี พอลูกรู้จักบาปบุญคุณโทษ เขาก็จะไม่ละเลยความกตัญญูกตเวที
ในขณะเดียวกันเราผู้เป็นลูกก็ควรตระหนักถึงพระคุณแม่ว่าท่านดีกับเรามาก ดังนั้น อย่าดูเบาในเรื่องนี้เพราะวิบากกรรมจะส่งผลเราทำไว้อย่างไร เราก็จะได้อย่างนั้น ถ้าเราดูแลแม่อนาคตลูกหลานก็จะดูแลเรานั่นเอง ชาวต่างชาติที่มาบ้านเมืองเรา พอเขาเห็นครอบครัวไทยที่เราว่าชักจะแย่ลงกว่าแต่ก่อนแล้ว แต่เขาก็ยังได้เห็นลูกหลานไทยดูแลพ่อแม่ เขาเห็นแล้วซึ้งใจจนน้ำตาไหล เพราะบ้านเมืองเขาพอลูกๆอายุได้ 17-18 ปี จบมัธยมปลายก็บอกว่าตนเองโตแล้ว ออกจากบ้านไปหางานทำเลี้ยงดูตัวเอง หาเงินเรียนมหาวิทยาลัยเอง ครอบครัวไหนร่ำรวยหน่อยก็ให้เงินลูกบ้าง
แต่แนวคิดหลักๆของชาวต่างชาตินั้น เขาถือว่าพออายุ 18 ปี เรียนจบมัธยมปลายแล้ว โตพอที่จะรับผิดชอบตนเองได้แล้วลูกอาจจะแยกบ้านไปอยู่หอพักบ้าง หางานเสริมทำระหว่างเรียนบ้าง พ่อแม่ก็อยู่บ้านกันตามลำพัง หาสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงคลายเหงา ถึงคราววันเกิด คริสต์มาส ปีใหม่ก็กลับไปเยี่ยมบ้าน อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว ปีหนึ่งจะได้พบปะกันพร้อมหน้าครั้งสองครั้งก็ถือว่าดีมากแล้ว วันอื่นๆที่เหลือพ่อแม่ก็นั่งเหงาๆอยู่บ้านกันสองคน
ถ้าเราปล่อยปละละเลยไปอย่างนี้ อีก 10-20 ปี ครอบครัวไทยอาจจะเหมือนครอบครัวต่างชาติก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ควรปล่อยปละละเลยพ่อแม่ไปมากกว่านี้ ช่วยกันดูแลท่าน ถ้าเราทำดีกับพ่อแม่อนาคตลูกหลานเราก็จะทำดีกับเราอย่างนี้ตลอดไป ลูกของเราเขาเห็นเราทำดีกับปู่ย่าตายายอย่างไรเขาก็จะทำดีกับเราอย่างนั้นเหมือนกัน
ปรับทัศนคติที่มีต่อแม่
บางคนมีทัศนคติว่า แม่มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูลูกอยู่แล้ว เขามีความรู้สึกว่า จริงๆแล้วการที่แม่ดูแลลูกนั้นเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำเพราะแม่เป็นคนทำให้เขาเกิดมา เขาจึงไม่รู้สึกว่า การที่แม่เลี้ยงดูเขานั้นเป็นพระคุณมากมายนัก แล้วเราควรทำอย่างไรให้คนที่มีความคิดแบบนี้เข้าใจว่าจริงๆ แล้วแม่มีพระคุณสูงสุดที่เลี้ยงเรามา ให้บุคคลนั้นเขาพิจารณาว่า กรณีที่เด็กบางคนที่แม่ทิ้งขว้างไม่เลี้ยงดูนั้นเป็นอย่างไร เพื่อเปรียบเทียบให้เขาเห็นภาพได้อย่างชัดเจน ถ้าแม่มีหน้าที่ดูแลลูกอยู่แล้ว ให้เราคิดตามว่าจริงๆแล้วลูกก็มีหน้าที่ดูแลแม่อยู่แล้วเช่นกัน ถ้าเราเห็นอย่างนี้ตลอดสายก็ยังพอรับได้ว่าแม่มีหน้าที่ต้องดูแลลูก ลูกก็มีหน้าที่ต้องดูแลแม่ ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วทั้งสองฝ่าย
แต่ไม่ใช่คิดว่าแม่มีหน้าที่ต้องดูแลลูกอยู่แล้ว แต่ว่าลูกไม่ต้องดูแลแม่ก็ได้ ถ้าคิดอย่างนี้ถือว่าเราเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว แล้วถึงคราวที่ลูกของเราโตขึ้น เขาก็จะอ้างได้ว่า แม่ต้องดูแลเขาอยู่แล้ว แต่เขาไม่ต้องดูแลเรา แล้วเราเป็นแม่เราจะรู้สึกอย่างไร ให้เราเอาใจเขามาใส่ใจเรา ครุ่นคิดทั้งสองทางแล้วเราจะได้คำตอบ
----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือของสำนักพิมพ์ ทันโลกทันธรรม โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
http://www.tltpress.com/
วางแผงจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือ
ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ , นายอินทร์ , ศูนย์หนังสือจุฬา , คิโนะคุนิยะ , บุ๊คสไมล์ ฯลฯ