หน้า 3
มหาอำมาตย์ผู้ทรงปัญญา
มหาสารชาดก ว่าด้วย ต้องการคนที่เหมาะกับเหตุการณ์
ภาพ ป๋องแป๋ง
ลงสี ปูเป้
จบ
สมัยหนึ่ง เหล่าพระสนมของพระเจ้าโกศลคิดกันว่า ขึ้นชื่อว่า การเสด็จอุปบัติแห่งพระพุทธเจ้าเป็นสภาพหาได้ยาก การกลับได้เกิดเป็นมนุษย์ และความเป็นผู้มีอายตนะบริบูรณ์เล่า ก็หาได้ยากเหมือนกัน อนึ่ง พวกเราแม้จะได้พบความพร้อมมูลแห่งขณะซึ่งหาได้ยากนี้ ก็ไม่ได้เพื่อจะไปสู่พระวิหาร ฟังธรรม หรือกระทำการบูชา หรือให้ทานตามความพอใจของตนได้ ต้องอยู่กันเหมือนถูกเก็บเข้าไว้ในหีบ พวกเราจักกราบทูลพระราชาให้ทรงพระกรุณาโปรดนิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งสมควรแสดงธรรมโปรดพวกเรา จักพากันฟังธรรมในสำนักของท่าน ข้อใดที่พวกเราต้องศึกษา ก็จักพากันเรียนข้อนั้นจากท่าน พากันบำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น ด้วยประการอย่างนี้ การได้เฉพาะซึ่งขณะนี้ของพวกเรา จักมีผล.
พระสนมเหล่านั้น แม้ทั้งหมดพากันเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลเหตุที่คบคิดกัน พระราชาทรงรับสั่งว่า ดีแล้ว. ครั้นวันหนึ่ง มีพระประสงค์จะทรงเล่นอุทยาน รับสั่งให้เรียกนายอุทยานบาลมาเฝ้า ตรัสว่า เจ้าจงชำระอุทยาน. นายอุทยานบาล เมื่อจะชำระอุทยาน พบพระศาสดาประทับนั่ง ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง รีบไปสู่ราชสำนัก กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ อุทยานสะอาดราบรื่นแล้ว ก็แต่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง ในอุทยานนั้น พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ดีแล้วสหาย เราจักไปฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา. เสด็จขึ้นราชรถทรงอันประดับแล้วเสด็จไปสู่พระอุทยาน ได้เสด็จไปสู่สำนักของพระศาสดา.
ก็ในสมัยนั้น อุบาสกผู้เป็นพระอนาคามีผู้หนึ่ง ชื่อว่า ฉัตตปาณี นั่งฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระศาสดา. พระราชาเห็นฉัตตปาณีอุบาสก แล้วเกิดระแวง ประทับหยุดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วทรงพระดำริว่า ถ้าบุรุษผู้นี้เป็นคนชั่วละ ก็คงไม่นั่งฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ชะรอยบุรุษผู้นี้จักไม่ใช่คนชั่ว แล้วเสด็จเข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วเสด็จประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง อุบาสกมิได้กระทำการรับเสด็จ หรือการถวายบังคม ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุนั้น พระราชาจึงไม่ทรงพอพระทัยฉัตตปาณีอุบาสก.
พระศาสดาทรงทราบความที่พระราชาไม่ทรงพอพระทัยอุบาสก จึงตรัสคุณของอุบาสกว่า มหาบพิตร ผู้นี้เป็นอุบาสก เป็นพหูสูต คงแก่เรียน ปราศจากความกำหนัดในกาม. พระราชาทรงพระดำริว่า พระศาสดาทรงทราบคุณของผู้ใด ต้องเป็นคนไม่ต่ำ จึงตรัสว่า อุบาสก ท่านต้องการสิ่งใด ก็ควรบอกได้. อุบาสกรับสนองพระดำรัสว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า. พระราชาทรงสดับพระธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้ว ทรงกระทำประทักษิณพระศาสดา แล้วเสด็จกลับไป.
วันหนึ่ง พระราชาทรงเปิดพระแกล ประทับยืน ณ ปราสาทชั้นบน ทอดพระเนตรเห็นอุบาสกนั้น บริโภคอาหารเย็นแล้ว ถือร่มเดินไปสู่พระเชตวัน ก็รับสั่งให้ราชบุรุษไปเชิญมาเฝ้า แล้วตรัสอย่างนี้ว่า อุบาสก ได้ยินว่า ท่านเป็นพหูสูต พวกหญิงของเราต้องการจะฟังและต้องการจะเรียนธรรม พึงเป็นการดีหนอ. ธรรมดาคฤหัสถ์ทั้งหลายไม่เหมาะสมที่จะแสดงธรรม หรือบอกธรรมในพระราชสถานฝ่ายใน เรื่องนั้นเหมาะแก่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายเท่านั้น พระเจ้าข้า.
พระราชาทรงพระดำริว่า อุบาสกนี้พูดจริง ทรงส่งท่านไป รับสั่งให้หาพระสนมมาเฝ้า มีพระดำรัสว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เราจะไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลขอภิกษุรูปหนึ่ง เพื่อแสดงธรรมและบอกธรรมแก่พวกเธอ ในพระมหาสาวกทั้ง ๘๐ องค์ เราจักทูลขอองค์ไหนดี. พระสนมทั้งหมดปรึกษากัน กราบทูลถึงพระอานนทเถระผู้เป็นคลังพระธรรมองค์เดียว.
พระราชาก็เสด็จไปสู่สำนักพระศาสดา ถวายบังคมแล้วประทับ ณ ส่วนข้างหนึ่ง พลางกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกหญิงในวังของหม่อมฉัน ปรารถนาจะฟังและเรียนธรรมในสำนักของพระอานนทเถระ จะพึงเป็นการดีหนอ พระเจ้าข้า ถ้าพระเถระพึงแสดงธรรม พึงบอกธรรมในวังของหม่อมฉัน. พระศาสดาทรงรับคำว่า ดีแล้ว มหาบพิตร แล้วตรัสสั่งพระเถระเจ้า. จำเดิมแต่นั้น พระสนมของพระราชา ก็พากันฟังและเรียนธรรมในสำนักของพระเถระเจ้า.
ภายหลังวันหนึ่ง พระจุฬามณีของพระราชาหายไป พระราชาทรงทราบความที่พระจุฬามณีนั้นหายไป ทรงบังคับพวกอำมาตย์ว่า พวกเจ้าจงจับมนุษย์ผู้รับใช้ภายในทั้งหมด บังคับให้นำจุฬามณีคืนมาให้ได้ พวกอำมาตย์สืบถามพระจุฬามณี ตั้งต้นแต่มาตุคาม ก็ไม่ได้ความ ทำให้มหาชนพากันลำบาก.
ในวันนั้น พระอานันทเถระเจ้าเข้าสู่พระราชวัง พวกพระสนมเหล่านั้นก่อนๆ พอเห็นพระเถระเจ้าเท่านั้น ก็พากันร่าเริงยินดี ตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียนธรรม หาได้กระทำอย่างนั้นไม่ ทุกๆ คนได้พากันโทมนัสไปทั่วหน้า ครั้นพระเถระถามว่า เหตุไร พวกเธอจึงพากันเป็นเช่นนี้ ในวันนี้ ก็พากันกราบเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พวกอำมาตย์กล่าวว่า พวกเราจักค้นหาพระจุฬามณีของพระราชา พากันจับพวกมาตุคามไว้ ทำให้คนใช้สอยข้างในลำบากไปตามๆ กัน พวกดิฉันก็ไม่ทราบว่า ใครจักเป็นอย่างไร? เหตุนั้น พวกดิฉันจึงพากันกลุ้มใจเจ้าค่ะ.
พระเถระกล่าวปลอบพวกนางว่า อย่าคิดมากไปเลย ดังนี้แล้ว ไปสู่สำนักพระราชา นั่งเหนืออาสนะที่จัดไว้ ถวายพระพรถามว่า มหาบพิตร ได้ทราบว่า แก้วมณีของมหาบพิตรหายไปหรือ? พระราชารับสั่งว่า ขอรับ พระคุณเจ้าผู้เจริญ. ถวายพระพรว่า ก็มหาบพิตรไม่ทรงสามารถจะให้ใครนำพาคืนได้หรือ ขอถวายพระพร?
รับสั่งว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าสั่งให้จับคนข้างในทุกคน ถึงจะทำให้ลำบาก ก็ยังไม่อาจให้นำมาได้ ขอรับ.
ถวายพระพรว่า มหาบพิตร อุบายที่จะไม่ต้องให้มหาชนลำบาก แล้วให้เขานำมาคืน ยังพอมีอยู่ ขอถวายพระพร.
รับสั่งว่า เป็นอย่างไร พระคุณเจ้า?
ถวายพระพรว่า บิณฑทานซิ มหาบพิตร.
รับสั่งถามว่า บิณฑทานเป็นอย่างไร ขอรับ ?
ถวายพระพรว่า มหาบพิตรมีความสงสัยคนมีประมาณเท่าใด ก็จับคนเหล่านั้นเท่านั้น แล้วให้ฟ่อนฟาง หรือก้อนดินไปคนละฟ่อน หรือคนละก้อน บอกว่า เวลาย่ำรุ่งให้นำฟ่อนฟาง หรือก้อนดินนี้มาโยนทิ้งไว้ที่ตรงโน้น ผู้ใดเป็นคนเอาไป ผู้นั้นจักซุกจุฬามณีไว้ในฟ่อนฟางหรือก้อนดินนั้น นำมาโยนไว้ ถ้าพากันเอามาโยนให้ในวันแรกทีเดียว นั่นเป็นความดี ผิไม่นำมาโยนให้ ก็พึงกระทำอย่างนั้นแหละต่อไป แม้ในวันที่สองที่สาม ด้วยวิธีนี้มหาชนจักไม่ต้องพลอยลำบากด้วย จักต้องได้แก้วมณีด้วย ขอถวายพระพร. ครั้นถวายพระพรอย่างนี้แล้ว พระเถระเจ้าก็ถวายพระพรลาไป.
พระราชาได้รับสั่งให้พระราชทาน โดยนัยที่พระเถระเจ้าถวายพระพรไว้ตลอด ๓ วัน ไม่มีใครนำแก้วมณีมาคืนเลย ในวันที่ ๓ พระเถระเจ้าก็มาถวายพระพรถามว่า มหาบพิตร ใครเอาแก้วมณีมาโยนให้แล้วหรือ?
รับสั่งว่า ยังไม่มีใครนำมาโยนให้เลย ขอรับ.
ถวายพระพรว่า ถ้าเช่นนั้น มหาบพิตรจงโปรดรับสั่งให้ตั้งตุ่มใหญ่ไว้ในที่กำบังในท้องพระโรงใหญ่นั่นแหละ ให้ตักน้ำใส่ให้เต็ม ให้วงม่าน แล้วรับสั่งว่า พวกมนุษย์ที่รับใช้ข้างใน ทุกคนและพวกสตรีจงห่มผ้าเข้าไปในม่านทีละคนๆ จงล้างมือเสียแล้วออกมา. พระเถระเจ้าถวายพระพรบอกอุบายนี้แล้ว ก็ถวายพระพรลาหลีกไป. พระราชารับสั่งให้กระทำอย่างนั้น. คนที่ขโมยแก้วมณีไปได้คิดว่า พระเถระเจ้าผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริก มาคุมอธิกรณ์เรื่องนี้ ยังไม่ได้แก้วมณี จักระบุตัวได้ คราวนี้ เราควรจะทิ้งแก้วนั้น แล้วถือเอาแก้วซ่อนไว้มิดชิด เข้าไปภายในม่าน ทิ้งไว้ในตุ่มแล้วรีบออก ในเวลาออกกันหมดทุกคนแล้ว พวกราชบุรุษเทน้ำทิ้ง ได้เห็นแก้วมณี.
พระราชาทรงดีพระทัยว่า เราอาศัยพระเถระเจ้า มิต้องให้มหาชนลำบากเลย ได้แก้วมณีแล้ว. ถึงพวกมนุษย์ที่เป็นพวกรับใช้ฝ่ายใน ก็พากันยินดีว่า พวกเราพากันอาศัยพระเถระเจ้า พากันพ้นจากทุกข์อันใหญ่หลวง. อานุภาพของพระเถระเจ้าที่ว่า พระราชาทรงได้พระจุฬามณี ด้วยอานุภาพของพระเถระเจ้า ลือชาปรากฏไปในพระนครทั้งสิ้น และในภิกษุสงฆ์.
พวกภิกษุนั่งประชุมกันในธรรมสภา พรรณนาคุณของพระเถระเจ้าว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระอานนท์เถระไม่ต้องให้มหาชนลำบาก ใช้อุบายเท่านั้น แสดงแก้วมณีให้พระราชาได้ เพราะท่านเป็นพหูสูต เป็นบัณฑิต และเป็นผู้ฉลาดในอุบาย.
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า มิใช่อานนท์ผู้เดียวที่แสดงภัณฑะอันตกถึงมือผู้อื่นได้ ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน บัณฑิตทั้งหลายมิต้องให้มหาชนลำบากเลย ใช้แต่อุบายเท่านั้นก็แสดงภัณฑะ อันตกถึงมือสัตว์เดียรัจฉานได้. ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้
::ข้อคิดจากชาดก::
ธรรมดาคนกล้าเป็นต้น เป็นบุคคลที่น่าปรารถนา ในฐานะตำแหน่งจอมทัพเป็นต้น
ยามคับขัน ย่อมปรารถนาผู้กล้าหาญ
ยามปรึกษาการงาน ย่อมปรารถนาคนไม่พูดพล่าม
ยามมีข้าวน้ำ ย่อมปรารถนาคนเป็นที่รักของตน
ยามต้องการเหตุผล ย่อมปรารถนาบัณฑิต ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุกฺกฏฺเฐ ความว่า ในยามคับขัน คือคราวที่ทั้งสองฝ่ายเข้าประชิดกัน อธิบายว่า เมื่อการรุกรบในสงครามกำลังดำเนินไป.
บทว่า สูรมิจฺฉนฺติ ความว่า ย่อมปรารถนาผู้ที่กล้าหาญ อันมีปกติไม่รู้จักถอย แม้เมื่อสายฟ้าจะฟาดลงมาบนกระหม่อม เพราะว่า ในขณะนั้น คนอย่างนี้ควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นจอมทัพ.
บทว่า มนฺตีสุ อกุตูหลํ ความว่า เมื่อเวลามีกิจการที่จะต้องปรึกษาถึงกิจที่ควรทำและไม่ควรทำ ในเวลาปรึกษากิจการ ย่อมปรารถนาคนที่ไม่พูดพร่ำ ไม่พูดเลื่อนเปื้อน คือไม่แพร่งพรายข้อที่ปรึกษากัน เพราะคนลักษณะเช่นนั้น เหมาะที่จะแต่งตั้งในตำแหน่งนั้นๆ.
บทว่า ปิยญฺจ อนฺนปานมฺหิ ความว่า เมื่อข้าวน้ำมีรสอร่อยปรากฏขึ้น ย่อมปรารถนาคนอันเป็นที่รัก เพื่อชักชวนให้บริโภคร่วมกัน เพราะคนเช่นนั้นจำปรารถนาในเวลานั้น.
บทว่า อตฺเถ ชาเต จ ปณฺฑิตํ ความว่า เมื่ออรรถอันลึกซึ้ง ธรรมอันลึกซึ้งเกิดขึ้น หรือเมื่อเหตุ หรือปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ย่อมปรารถนาบัณฑิตผู้มีปัญหาประจักษ์ เพราะท่านผู้มีลักษณะเช่นนั้น ชอบที่จะปรารถนาในสมัยนั้น.
พระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วตรัสคุณของพระเถระเจ้า ทรงประชุมชาดกว่า
พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์
ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิต ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.