Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน โปริสาท ตอนที่ 13
ความขยันหมั่นเพียรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้เกิดความสำเร็จขึ้น ผู้ที่มีความเพียรหมั่นประกอบบุญกุศลอยู่เป็นนิจ ย่อมได้รับความสุขและความสำเร็จ
บุญกุศลที่ทำไว้จะเป็นเสบียงติดตามตัวไปข้ามภพข้ามชาติ และสามารถนำพาเราให้ข้ามสังสารวัฏอันยาวไกลได้ ความเพียรในการทำความดีจะทำให้เป็นที่สรรเสริญและยกย่องของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย
โดยเฉพาะการประกอบความเพียรเพื่อทำใจให้บริสุทธิ์ หยุดนิ่ง โดยมีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสารนั้นเป็นสิ่งที่ผู้รู้ทั้งหลายต่างก็สรรเสริญ
เพราะเป็นกรณียกิจอันสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นงานที่แท้จริงที่จะทำไปสู่ความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในมธุรัตถวิลาสินี ความว่า
เพราะเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสแต่คำจริง ทรงประกาศคำที่แท้จริง และพระดำรัสของพระองค์ก็เป็นคำจริง ฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงชื่อว่าตถาคต
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตกล่าวอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น
ตถาคนทำอย่างใด ก็กล่าวอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าตถาคต”
นอกจากจะเป็นการเฉลิมพระนามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ผู้รู้ได้ให้ความหมายเอาไว้มากมาย เช่นทางเสด็จไปอย่างนั้น คือไปพระนิพพาน
ทรงรู้เห็นธรรมไปตามความเป็นจริง ทรงบรรลุถึงลักษณะทั่วไปอันแท้จริงของธรรมทั้งปวง โดยไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน
ที่ชื่อว่าตถาคตเพราะเสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือเสด็จมาเพื่อบรรลุ อภิสัมโพธิญาณ โดยตรง ทรงถึงลักษณะที่แท้จริง คือทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณอันประเสริญ ทรงตรัสรู้ธรรมที่เป็นของแท้ เป็นเรื่องจริง
คือทรงบรรลุอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นความจริงอันประเสริฐที่ไม่มีใครโต้แย้งได้ ส่วนการคิดค้นทฤษฎีหรือปรัชญาต่างๆในโลกยังมีคนค้านหรือมีการคิดทฤษฎีใหม่มาหักล้างอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้คำว่าตถาคต
ท่านยังหมายถึงตรัสแต่ความจริง ไม่โกหก และทรงทำจริงซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การพูดจริงทำจริงในครั้งที่เป็นปุถุชน ยอมตายเพื่อรักษาคำสัญญานั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
ตอนที่แล้วหลวงพ่อได้เล่าถึงตอนที่พระเจ้าสุตโสมได้ฟังธรรมสมปรารถนาแล้ว ก็ได้บูชาสตารหคาถาเป็นเงินหนึ่งพันกหาปณะ ซึ่งถือว่าเป็นการบูชาธรรมที่มากที่สุด
จึงทำให้เกิดเสียงอนุโมธนาสาธุการดังไปทั่วเมืองว่า คาถาชื่อสตารหา พระเจ้าสุตโสมทรงเปลี่ยนเป็นสหัสสารหา ทรงบูชาแล้ว พระราชบิดาได้ทรงสดับเสียงนั้นก็ตรัสถามต้นทางมาของเสียง ครั้นทราบเรื่องเข้าก็ทรงกริ้วเพราะเสียดายทรัพย์
เมื่อพระราชโอรสไปเข้าเฝ้า แทนที่จะตรัสถามถึงการเอาตัวรอดกลับมาได้ กลับท้วงติงว่า “สุตโสม คาถานั้นมีคุณค่าเพียง ๘๐ หรือ ๙๐ กหาปณะเท่านั้น ถ้าหากให้ราคาถึง ๑๐๐ กหาปณะพ่อก็ยังรู้สึกว่าแพงไป ฉะนั้นคาถาที่มีคุณค่าถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะนั้นจะมีที่ไหนกัน ทำไมลูกถึงตีราคาสูงเหลือเกิน”
พระโพธิสัตว์กราบทูลให้ทราบว่า “เสด็จพ่อ ลูกไม่ปรารถนาความเจริญทางทรัพย์ แต่เพราะชื่นชอบความเจริญทางปัญญา สัตบุรุษทั้งหลายจึงคบกับลูก ลูกไม่อิ่มด้วยภาษิต ดุจมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำ ไฟที่ไหม้หญ้าและไม้ ย่อมไม่อิ่มด้วยเชื้อฉันใด”
“แม้บัณฑิตทั้งหลายได้สดับถ้อยคำของลูกแล้วก็ย่อมไม่อิ่มด้วยสุภาษิตเหมือนกัน ฉะนั้นเมื่อใดต้องเรียงคาถาที่มีประโยชน์จากธาตุ เมื่อนั้นลูกจะเรียนด้วยความเคารพ เพราะความอิ่มในธรรมของลูกไม่มีเลยพระเจ้าค่ะ”
นี่เป็นความเคารพนพนอบในธรรมที่ติดมาข้ามภพข้ามชาติของพระบรมโพธิสัตว์ เป็นคุณธรรมที่ควรศึกษาไว้ว่าเราไม่ควรอิ่มในการแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้ที่เป็นไปเพื่อทำตนให้หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส แม้จะเรียนจากผู้ที่ต่ำกว่าก็ต้องให้ความเคารพในฐานะผู้แสดงธรรม
สิกฺขกาโม ภวํ โหติ ผู้ใฝ่ในธรรมเป็นผู้เจริญ
พระโพธิสัตว์ทูลตอบไปว่า “ข้าแต่เสด็จพ่อ พระองค์อย่าบริภาษข้าพองค์เลย เพราะนี่เป็นเพียงการเสียทรัพย์เท่านั้น ส่วนข้าพองค์ได้ให้คำสัญญาแก่โปริสาทว่า เมื่อได้ฟังธรรมแล้วจะกลับไปหาอีก ฉะนั้นขอพระองค์จงทรงรับราชสมบัตินี้คืนไปเถิด แล้วแว่นแคว้นของพระองค์ก็อุดมสมบูรณ์ มีสมบัติมากมาย พระองค์จะบริพาษข้าพระองค์เพราะทรัพย์เพียงนิดหน่อยไปทำไม บัดนี้ข้าพองค์ขอทูลลาไปหาโปริสาทก่อนพระเจ้าค่ะ”
พอทราบว่าพระโอรสจะกลับไปมอบชีวิตให้กับจอมโจรโปริสาท พระหทัยของพระบิดาก็ลุ่มร้อนขึ้นมาทันที
เพราะเพียงแค่สมบัตินอกกายที่สามารถหากลับคืนมาได้ยังเสียดายถึงเพียงนี้ เมื่อเทียบกับการที่จะต้องสูญเสียพระโอรสผู้เป็นที่รักดั่งแก้วตาดวงใจ จึงเป็นธรรมดาที่ต้องตกพระทัยจนแทบตั้งสติไม่อยู่
และแม้พระบิดาจะทราบดีว่าพระเจ้าสุตโสมมีวาจาตรงกับใจสิ่งใดที่ตรัสไปแล้วจะไม่คืนคำ จะทำในสิ่งที่พูดเสมอ แต่พระบิดายังอดที่จะสงสารพระโอรสไม่ได้ จึงตรัสห้ามว่า “สุตโสมทำไมถึงพูดอย่างนี้ ลูกจะไปหาความตายทำไม จงพักผ่อนตามสบายเถิดลูก พ่อจะจับโจมนั้นเอง ทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ ทัพเท้า ”
“ล้วนแต่ได้รับการฝึกจนเชี่ยวชาญพร้อมรบเสมอ ฉะนั้นพ่อจะยกทัพจับศตรูของลูกมาและจะประหารเสียด้วยมือของพ่อเอง” ถึงกระนั้นพระโอรสก็ยังทรงยืนกรานที่จะตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับโปริสาท
ครั้นพระสนมกำนัลจำนวนหนึ่งหมื่นหกพันนางพร้อมทั้งข้าราชบริพารอีกจำนวนมากทราบข่าวนั้นก็เวทนาร้องห่มร้องไห้ช่วยกันทูลอ้อนวอนว่า ข้าแต่มหาราชผู้เป็นจอมประชาขอพระองค์อย่าเสด็จไปเลย ขอพระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของปวงข้าพระบาทด้วยเถิดจะทอดทิ้งพวกข้าพระองค์ให้เป็นคนอนาถาได้อย่างไร
ส่วนชาวเมืองที่กำลังดีดสีตีเป่าเพราะความปิติยินดีในการเสด็จกลับมาโดยสวัสดิภาพของพระโพธิสัตว์ เมื่อทราบข่าวอีกครั้งว่าครั้งนี้พระเจ้าสุตโสมจะต้องเสด็จไปอย่างไม่มีวันกลับอย่างแน่นอน เพราะจะเสด็จไปให้โปริสาทฆ่าทำพลีกรรม ก็ตกตะลึงไปตามๆกัน บางคนไม่ยอมเชื่อนึกว่าเป็นเพียงข่าวลือ
ความโกลาหลก็เกิดขึ้นทั่วทั้งเมืองและโจษขานไปนอกเมือง ชาวบ้านที่กำลังทำการงานอยู่ก็หยุดงานคอยจับกลุ่มคุยกันถึงเรื่องพระราชาผู้เป็นที่รักด้วยความเป็นห่วง
ส่วนพระโพธิสัตว์ผู้จะต้องเสด็จไปเผชิญกลับความตายกลับไม่ทรงหวั่นไหวอะไรเลย ได้ปลอบโยนพระราชบิดา พระราชมารดาว่า
“โปริสาทได้ทำกิจที่ทำได้แสนยาก เมื่อจับข้าพระองค์ได้แล้วกลับปล่อยมา ข้าพระองค์ยังนึกถึงบุญคุณของเขาอยู่ ข้าพระองค์จะประทุษร้ายเขาได้อย่างไร ขอพระราชมารดาบิดาอย่าได้วิตกเลย ข้าพระองค์มีกัลยาณธรรมที่กระทำไว้ดีแล้ว การให้ความเป็นใหญ่ในกามาวจรภูมิทั้ง ๖ ของข้าพระองค์ไม่ใช่สิ่งที่จะได้โดยยากอีกต่อไป ขออย่าให้ใครมาทำลายความสัตย์และปฏิญาณที่ให้ไว้กับโจรโปริสาทเลยพระเจ้าค่ะ”
จะเห็นได้ว่าพระโพธิสัตว์พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น จึงได้รับฉายานามว่าตถาคน ซึ่งคนทั่วไปมักมองเห็นแต่ประโยชน์ในช่วงสั้นๆจึงทอดทิ้งความสัตย์จริงเพื่อเอาชีวิตให้รอดบ้าง เพื่อผลประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้องบ้าง อันที่จริงความสัตย์เท่านั้นที่จะทำให้รอดชีวิต
หรืออย่างน้อยไม่รอดในชาตินี้ ชีวิตในสังสารวัฏก็จะสดใสอย่างยิ่ง จะทำให้เป็นผู้มีความองอาจเชื่อมั่นในตัวเอง ความเป็นคนไม่คดในข้องอในเกิดจะบังเกิดขึ้น เมื่อมีวาจาตรงกับใจ ครั้นมองย้อนกลับไปจะทำให้มีความปลื้มปิติ เกิดพลังใจที่จะสร้างความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป