ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ผิดพลาดเพราะลำเอียง (๓)


ธรรมะเพื่อประชาชน : ผิดพลาดเพราะลำเอียง (๓)

Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP158_02.jpg

ผิดพลาดเพราะลำเอียง ตอน
 

                    พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ทรงบำเพ็ญบารมีมายาวนานกว่าพระบารมีจะเต็มเปี่ยม จนตรัสรู้ธรรมได้ในภพชาตินี้นั้น จิตใจของพระองค์ท่านต้องเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นที่จะทำความดีอย่างยิ่งยวด โดยไม่มีข้อแม้ข้ออ้างหรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น คิดแต่ว่าทำอย่างไรบารมีจึงจะเต็มเปี่ยมเท่านั้น ชีวิตของพวกเราทั้งหลายควรจะดูพระองค์ท่านเป็นแบบอย่าง แล้วตั้งใจดำเนินตามรอยบาปพระบรมศาสดาโดยเฉพาะการนำใจของเราให้เข้าสู่เส้นทางสายกลางอันเป็นเส้นทางของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เดียว ที่จะนำพาชีวิตของเราให้เข้าถึงอายตนะนิพพานได้อย่างแท้จริง


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน จูฬปุณณมสูตร เทวทหวรรคว่า 

        สัตบุรุษในโลกนี้ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนเอง 
        ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น
        ไม่คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย 
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล
     
        สัตบุรุษ ชื่อว่า เป็นผู้มีความคิด อย่างสัตบุรุษ 
        เมื่อตายไปย่อมบังเกิดในคติของสัตบุรุษ
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็คติของสัตบุรุษ 
        คือความเป็นใหญ่ในเทวดาหรือความเป็นใหญ่ในมนุษย์ 


                    คุณธรรมประจำใจของคนดีที่โลกต้องการ ซึ่งภาษาพระท่านเรียกว่า สัตบุรุษ ต้องไม่มีความลำเอียง เพราะความลำเอียงเป็นทางมาแห่งอกุศลกรรมหลายอย่าง ตั้งแต่คิดเบียดเบียนคนอื่น เบียดคือทำให้เขาตกไป เบียนคือทำให้ตาย ผู้ที่คิดจะเบียดเบียนคนอื่น แสดงว่ากำลังเบียดเบียนตนเองไปพร้อมๆ กัน เพราะผลที่เกิดจากการประทุษร้ายคนอื่น ก็จะกลายเป็นวิบากกรรมติดตัวให้ต้องประสบทุกข์อีกมากมาย ทั้งในภพนี้และในภพชาติต่อๆ กันไป


                    เพราะฉะนั้นผู้ที่เรียกตัวเองว่าสัตบุรุษ จะต้องไม่คิดเบียดเบียนคนอื่น แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากสักเพียงไร ก็จะยังคงรักษาธรรมะยิ่งชีวิต ถึงแม้จะถูกปองร้ายหมายชีวิต ก็ไม่คิดทำร้ายตอบ แต่หาทางที่จะแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี นี่นับเป็นวิสัยของบัณฑิตบรมโพธิสัตว์ทีเดียวนะจ๊ะ สำหรับวันนี้เราก็มาติดตามรับฟังเรื่องที่หลวงพ่อได้เล่าค้างเอาไว้เมื่อวานนี้นะจ๊ะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความอิจฉาริษยา ตามประสาโลกๆ นั่นแหละ แต่อิจแากันชนิดจะเบียดเบียนให้อีกฝ่ายตายจากโลกนี้ไปเลย


                    เรื่องก็ดำเนินมาถึงตอนที่ พระราชาทรงถูกกาฬกะเสนาบดีเพ็ดทูลยุยงให้กำจัดธรรมชธัชบัณฑิต โดยการให้ก่อสร้างสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็จะถูกลงโทษประหารชีวิต แต่เนื่องจากธรรมธัชบัณฑิตเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทำให้พระอินทร์ลงมาช่วย ให้รอดพ้นจากวิกฤตเรื่อยมา ต่อมากาฬกะเสนาบดีก็แนะนำกลอุบาย ที่แม้เทวดาก็เนรมิตให้ไม่ได้ จากนั้นพระราชาจึงตรัสเรียกบัณฑิตมารับสั่งว่า ท่านอาจารย์อุทยาน สระโบกขรณีและปราสาทที่สำเร็จด้วยงาและแก้วมณี สำหรับส่องสว่างแก่ปราสาท ท่านสร้างให้แก่เราเสร็จแล้ว บัดนี้ท่านจงสร้างคนรักษาอุทยานประกอบด้วยองค์ ๔ ทำหน้าที่รักษาอุทยานแก่เราเถิด


                     ธรรมธัชรับราชบัญชาแล้ว ก็กลับไปนอนใคร่ครวญถึงศีลเหมือนเดิม คืนวันนั้นธรรมธัชบัณฑิตบริโภคอาหารอย่างดี ตื่นนอนในเวลาใกล้รุ่ง นั่งคิดอยู่ว่าท้าวสักกเทวราชสามารถเนรมิตแต่สิ่งที่ตนเนรมิตได้ แต่คงไม่สามารถเนรมิตคนเฝ้าอุทยานประกอบไปด้วยองค์ ๔ ได้ ถึงแม้ว่าท่านจะรู้ว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังแผนการร้ายเช่นนี้ แต่ก็ไม่ปรารถนาที่จะแก้แค้นหรือประทุษร้ายตอบ เพราะไม่อยากจะผูกเวรกันข้ามชาติ จึงคิดจะหลีกทางให้ โดยขอไปตายในป่า ดีกว่าตายในเงื้อมือของอมิตร ด้วยความดีที่ได้สั่งสมมาตรอดชีวิตนี้แหละ แม้จะต้องตายก็จะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไปอย่างแน่นอน 


                    เมื่อพินิจพิจารณาสอนตัวเองแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้บอกเล่าให้ใครฟัง เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องความบาดหมางกันระหว่างตัวเองกับเสนาบดี จึงปลอมตัวออกจากพระนครประตูใหญ่ เข้าป่านั่งลำพึงถึงธรรมของสัตบุรุษที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่งด้วยความสบายใจ ไม่มีความรู้สึกท้อแท้หรือหดหัวใจแต่อย่างใด 


                    ท้าวสักกะทราบว่าธรรมธัช ผู้เป็นสัตบุรุษกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากอีกแล้ว จึงแปลงเป็นพรานไพรเข้าไปหา พระโพธิสัตว์ได้บอกความในใจให้ทราบว่า พระราชารับสั่งให้หาบุคคลผู้รักษาสวน ประกอบไปด้วยองค์ ๔ แต่ข้าพเจ้าไม่อาจหาบุคคลเช่นนั้นได้  เพราะรู้ว่าท่านคงไม่สามารถช่วยเหลือข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าจึงออกจากบ้านเข้าป่า มานั่งนึกถึงธรรมของสัตบุรุษอยู่ที่นี่ตามลำพัง 


                    ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านบัณฑิตเราเนรมิตสวนให้ท่านแล้ว แต่ไม่สามารถจะเนรมิตผู้รักษาสวน ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ ๔ ได้ ตามอย่างที่ท่านคิดนั่นแหละ แต่ท่านก็อย่าเพิ่งด่วนสิ้นหวังในชีวิตเลย เพราะว่าช่างกัลบกผู้แต่งพระศกของพระราชาชื่อว่า ฉัตตปาณีเป็นผู้ประกอบไปด้วยองค์ ๔ เมื่อมีความต้องการผู้รักษาส่วน ท่านจงกราบทูลได้ทรงแต่งตั้ง ช่างกัลบกนั้นเป็นผู้รักษาสวนเถิด เมื่อทรงแนะนำทางออกให้แล้ว ก็เสด็จกลับคืนสู่เทพนครของพระองค์ตามเดิม 


                     พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำแนะนำจากพระอินทร์แล้ว ก็ปีติใจเปี่ยมไปด้วยความหวัง รีบกลับไปหาช่างกัลบกชื่อฉัตตปาณี แล้วก็ซักถามว่า สหายได้ข่าวว่าท่านประกอบไปด้วยคุณธรรม ๔ ประการหรือ ฉัตตปาณีผู้รักษาความลับในการทำความดีมาโดยตลอด สงสัยว่าท่านบัณฑิตรู้ความลับของตนได้อย่างไร เพราะตัวท่านน่ะทำตัวเป็นเพียงนายช่างกัลบก และประพฤติธรรมเงียบๆ ตามลำพังมาโดยตลอด มิเคยเอ่ยปากบอกใครเลย ท่านไปรู้เรื่องนี้มาจากไหน เมื่อรู้ว่าท้าวสักกเทวราชเป็นคนบอก อีกทั้งปุโรหิตโพธิสัตว์ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ฟังฉัตตปาณีก็เกิดความสงสารว่า คนดีควรจะได้รับการคุ้มครอง จึงปวารณาที่จะช่วยเหลือพระโพธิสัตว์ให้พ้นจากภัยในครั้งนี้ ด้วยการจะเปิดเผยคุณธรรมที่ทำมาตั้งแต่ภพชาติในอดีต ให้แก่พระราชาได้ทรงทราบ เพราะท่านมีความสามารถพิเศษคือ เป็นคนระลึกชาติได้


                    ธรรมธัชบัณฑิตพาฉัตตปาณีไปเฝ้าพระราชาด้วยความเบิกบานใจทีเดียว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ฉัตตปาณีนี้น่ะ เป็นผู้ประกอบไปด้วยองค์ ๔ ขอพระองค์ทรงตั้งฉัตตปาณีนี้น่ะ เป็นผู้รักษาสวนเถิดพระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามฉัตตปาณีว่า ท่านเป็นผู้ประกอบไปด้วยองค์ ๔ จริงหรือ เมื่อได้รับคำยืนยันว่าใช่ ก็ทรงรู้สึกฉงนพระทัย เพราะพระองค์ก็ยังไม่ทราบว่าคุณธรรม ๔ ประการที่ว่ามานั้นน่ะเป็นอย่างไรบ้าง 


                    เนื่องจากที่รับสั่งไปนั้นก็เพื่อจะหาทางกำจัดปุโรหิตเท่านั้นเอง พระองค์จึงตรัสถามว่าองค์ ๔ ประการของท่านมีอะไรบ้างล่ะ ฉัตตตปาณีทูลตอบว่า ขอเดชะข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ริษยา เป็นผู้ไม่ดื่มน้ำเมา เป็นผู้ไม่ติดในความรัก เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในความไม่โกรธ ข้าแต่มหาราชชื่อว่าความริษยาไม่มีแก่ข้าพระองค์ น้ำเมาข้าพระองค์ก็ไม่เคยดื่ม ความรักและความโกรธในผู้อื่นไม่เคยมีแก่ข้าพเจ้าเลยพระเจ้าข้า 


                    พระราชาสดับแล้วก็บังเกิดความอัศจรรย์ใจ เพราะคนในโลกที่จะปฏิบัติให้ได้อย่างนี้เป็นเรื่องที่หาได้ยาก แม้แต่พระองค์ขนาดนี้เนี่ยก็ยังตกอยู่ในความรักและความชัง มีความริษยาแน่นอยู่ในพระทัย ได้ตรัสถามดูก่อนฉัตตปาณีท่านเป็นผู้ไม่ริษยาหรือ จริงพระเจ้าข้า ท่านเห็นเหตุอะไรอ่ะจึงเป็นผู้ไม่ริษยา ฉัตตปาณีก็กราบทูลถึงแรงบันดาลใจ ที่ทำให้ท่านเป็นผู้ไม่ริษยาและไม่มักโกรธให้ฟัง ส่วนว่าแรงบันดาลใจในการทำความดี จะมีอะไรบ้างเอาไว้วันต่อไป เราค่อยมารับฟังกันต่อนะจ๊ะ 


                    จากเรื่องนี้เนี่ยเราก็จะเห็นว่า ผู้ได้ชื่อว่า เป็นสัตบุรุษที่แท้จริงนั้น ต้องประกอบไปด้วย กายสุจริต วจีสุจริต แล้วก็มโนสุจริต เมื่อมีความสุจริตมากเข้าก็กลายเป็นผู้มีคุณธรรม ที่ฝังแน่นอยู่ภายในใจ ทำให้ไม่กล้าทำบาป ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เมื่อถึงคราวคับขันเทวดาทั้งหลายก็อยากจะช่วยเหลือ คนดีตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้เพราะธรรมดาคนดีเทวดามักจะคุ้มครองอย่างนี้นะจ๊ะ เพราะฉะนั้นให้ลูกๆ ทุกคนมั่นคงในความดีและบุญบารมีที่เรากำลังสั่งสมกันอยู่เป็นประจำนี้ เมื่อเราสั่งสมความดีสร้างบุญบารมีกันมากเข้าบารมีธรรมนี่แหละจะอำนวยผลให้เราน่ะ ประสบความสุขและความสำเร็จไปทุกภพทุกชาติ ดังนั้นให้รักในการทำความดีกันให้มากๆ แล้วก็หมั่นปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงที่พึ่งภายใน คือพระรัตนตรัยกันทุกคนนะจ๊ะ

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล