ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : วิสาขา ๓ แรงสัจจาธิษฐาน


ธรรมะเพื่อประชาชน : วิสาขา ๓ แรงสัจจาธิษฐาน

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP208_01.jpg

วิสาขา ๓ แรงสัจจาธิษฐาน

(สุเมธายอดนารี)

 

          ธรรมกายเป็นกายตรัสรู้ธรรมที่เป็นเป้าหมายชีวิตของทุกๆ คนในโลก จะปฏิบัติให้เข้าถึงได้ ต้องเริ่มจากการฝึกฝนใจให้หยุด ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เป็นประจำ หากบุคคลใดได้เข้าถึงธรรมกาย ชีวิตของบุคคลนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จะมีความสุขเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีความมั่นคง และความปลอดภัยในชีวิตตลอดไป และยังสามารถอาศัยธรรมกาย ขจัดกิเลสอาสวะให้หลุดล่อนออกจากใจ เพื่อมุ่งไปสู่อายตนนิพพานอันเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตทุกคน

 

 

                มีสัจจะวาจาที่พระนางสุเมธาเทวีได้กล่าวไว้ใน สุรุจิชาดก ว่า

              “ดิฉันเข้าอยู่ประจำอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ตลอดดิถีที่ ๑๔, ๑๕ และดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ ดิฉันสำรวมแล้วในศีลทุกเมื่อ ข้าแต่พระฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉัน จงแตกเป็น ๗ เสี่ยง”

 

 

               การที่สามีภรรยาจะให้กำเนิดบุตรหรือธิดาที่จะมาเป็นอภิชาตบุตร มาเป็นลูกแก้วลูกยอดกตัญญู เพื่อเชิดชูวงศ์ตระกูลให้สูงขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะอายตนะหรือกรรมระหว่างพ่อ แม่ และลูก ต้องใกล้เคียงกัน บางครั้งพ่อแม่มีบุญมาก แต่ผู้มีบุญมากที่สมควรจะได้มาเกิดยังไม่มี พ่อแม่นั้นจึงยังไม่สามารถมีลูกได้  ดังนั้น ตั้งแต่สมัยโบราณ เรามักได้ยินหรือได้เห็นสตรีที่อยากมีลูก ไปทำพิธีบวงสรวงบ้าง อ้อนวอนขอกับเจ้าพ่อเจ้าแม่บ้าง  เซ่นไหว้ผีสางเทวดาด้วยวิธีการต่างๆ บ้าง เป็นต้น

 

 

               สำหรับผู้มีปัญญาทั้งหลาย หากปรารถนาบุตร ท่านจะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ แล้วอ้อนวอนต่อเทวดา โดยหลักคือ อ้างถึงบุญที่ตนได้ทำไว้ดีแล้ว ซึ่งคราวก่อนหลวงพ่อได้เล่าเกี่ยวกับนฬการเทพบุตรผู้มีบุญมาก ผู้เหมาะสมที่จะมาเป็นพระโอรสของพระนางสุเมธา และพระเจ้าสุรุจิมหาราช  ถึงขนาดพระอินทร์ต้องอัญเชิญให้ลงมาเกิดในเมืองมนุษย์

 

 

               เทพบุตรนฬการเป็นเทพที่สั่งสมบุญไว้มาก ในภพชาติก่อนที่จะมาอุบัติเป็นเทวดานั้น ท่านเกิดเป็นชาวนาผู้มีฐานะดี อาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี ครั้งหนึ่งตัวท่านและบิดาของท่านได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เกิดความเลื่อมใสได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ได้สร้างบรรณศาลาด้วยไม้มะเดื่อ และสร้างสถานที่สำหรับจงกรม แล้วกราบนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้อยู่จำพรรษาที่บรรณศาลาหลังนั้น

 

 

               พระปัจเจกพุทธเจ้าเห็นว่า พ่อลูกคู่นี้เป็นผู้มีความเลื่อมใสไม่คลอนแคลน จึงตกลงอยู่จำพรรษาในบรรณศาลาแห่งนั้น เพื่อเป็นเนื้อนาบุญให้กับสองพ่อลูกผู้ใจบุญ ครั้นออกพรรษาแล้ว  สองพ่อลูกได้ร่วมกันถวายผ้าไตรจีวรผืนใหม่แด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ปีต่อมา พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ใหม่มาโปรดสองพ่อลูกอีก ก็ได้รับนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาเช่นกัน นับเป็นความโชคดีของสองพ่อลูกที่มีพระปัจเจกพุทธเจ้าหมุนเวียนกันมาเป็นเนื้อนาบุญถึง ๗ องค์ และด้วยบุญนั้นทำให้ทั้งสองได้ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์ เสวยทิพยสมบัติ กลับไปมาอยู่ในกามาวจรภูมิทั้ง ๖ ชั้น เป็นเวลายาวนานถึงหลายหมื่นปีทิพย์

 

 

               ท้าวสักกะตระหนักดีว่า เทพบุตรทั้งสองมีบุญมาก จึงเสด็จไปที่วิมานของนฬการเทพบุตร ผู้เคยเป็นลูกชายของเทพบุตรที่มีวิมานอยู่ข้างเคียงกัน พระองค์ได้ตรัสเชื้อเชิญว่า “ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ บัดนี้ มีผู้มีบุญปรารถนาบุตร ขอเชิญท่านจุติไปเกิดในมนุษยโลกเถิด” เทพบุตรปฏิเสธว่า “ข้าแต่มหาราช โลกมนุษย์สกปรก มหาชนที่อยู่ในโลกมนุษย์ ต่างทำบุญเพื่อปรารถนาเทวโลก บัดนี้ ข้าพระองค์ได้เสวยทิพยสมบัติแล้ว ข้าพระองค์จะลงไปเกิดในโลกมนุษย์อีกทำไม”

 

 

               พระอินทร์ทรงเล่าถึงความปรารถนาบุตรของพระนางสุเมธา แล้วทรงเกลี้ยกล่อมว่า “หากท่านเสียสละเพื่อเรา ยอมไปเกิดเป็นมนุษย์ เราจักให้ท่านได้บริโภคทิพยสมบัติที่เคยบริโภคในเทวโลก และจะให้ท่านอยู่ในปราสาทแก้วสูง ๒๕ โยชน์” นฬการเทพบุตรพิจารณาเห็นความดีของพระนางสุเมธา และรางวัลที่พระอินทร์ทรงมอบให้ ก็ยอมตกลงทันที

 

 

               จากนั้นพระอินทร์ก็แปลงเพศเป็นฤๅษี เสด็จไปอุทยานของพระเจ้าสุรุจิ ได้เสด็จจงกรมในอากาศเหนือสตรีทั้ง ๑๖,๐๐๐ นาง และตรัสว่า “อาตมาจะให้โอรสผู้ประเสริฐแก่ผู้ใดดีหนอ สตรีทั้งหมดต่างรับประนมมือวิงวอนว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ โปรดให้แก่ดิฉันเถิด” ท้าวสักกะตรัสว่า “อาตมภาพจะให้โอรสแก่สตรีผู้มีศีล พวกเธอมีศีลอย่างไร มีอาจาระอย่างไรหรือ”

 

 

                  สตรีทั้ง ๑๖,๐๐๐ นางฟังเช่นนั้น พากันหมดหวัง ต่างลดมือลงหมด กล่าวว่า “ถ้าพระคุณเจ้าปรารถนาจะให้แก่สตรีผู้มีศีล เชิญไปสู่สำนักของพระนางสุเมธาเถิด” พระอินทร์เหาะไปประทับยืนตรงช่องพระแกล ปรากฏกายให้อัครมเหสีได้ทัศนา พระนางสุเมธาตรัสว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ได้ยินว่า พระคุณเจ้าจะให้โอรสผู้ประเสริฐแก่สตรีผู้มีศีล เป็นความจริงหรือพระเจ้าข้า หากเป็นเช่นนั้นจริง ขอพระคุณเจ้าโปรดให้แก่ดิฉันเถิด เพราะดิฉันเป็นหญิงที่รักษาศีล”

 

 

               พระอินทร์ทรงถามว่า “ศีลของพระนางเป็นอย่างไร โปรดบอกอาตมาด้วยเถิด ถ้าอาตมภาพพอใจ อาตมภาพจักถวายพระโอรสผู้ประเสริฐให้” พระนางตอบด้วยความองอาจว่า “ถ้าเช่นนั้น เชิญพระคุณเจ้าโปรดฟังเถิด ดิฉันถูกเชิญมาเป็นพระอัครมเหสีคนแรกของพระเจ้าสุรุจิตลอดเวลาหมื่นปี ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ดิฉันนั้นไม่เคยล่วงเกินพระเจ้าสุรุจิด้วยกาย วาจา หรือใจ ทั้งในที่แจ้งหรือในที่ลับ ข้าแต่พระฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงมาเกิดเถิด หากดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตกเป็น ๗ เสี่ยง

 

 

               ข้าแต่ท่านพระฤๅษี ดิฉันเป็นที่พอใจของพระภัสดา พระชนนีและพระชนกของพระภัสดาก็เป็นที่รักของดิฉัน ท่านเหล่านั้นทรงแนะนำดิฉันตลอดเวลาที่พระองค์ยังทรงพระชนมชีพอยู่ ดิฉันนั้นยินดีในความไม่เบียดเบียน มีปกติประพฤติธรรม บำรุงท่านเหล่านั้นโดยเคารพ ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน ข้าแต่พระฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงมาเกิดเถิด

 

 

               ข้าแต่ท่านพระฤๅษี ความริษยาหรือความโกรธในสตรีผู้เป็นราชเทวีร่วมกัน ๑๖,๐๐๐ พระนาง ไม่เคยเกิดแก่ดิฉันเลย ดิฉันอนุเคราะห์หญิงเหล่านั้นเหมือนอนุเคราะห์ตนฉะนั้น ดิฉันเลี้ยงดูทาสกรรมกร และชนเหล่าอื่นผู้อาศัยเหมาะสมกับหน้าที่

 

 

                  ดิฉันมีฝ่ามืออันชุ่มด้วยบุญ อุปัฏฐากบำรุงสมณพราหมณ์ และให้ทานแก่ยาจกวณิพกเหล่าอื่น ให้ได้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำทุกเมื่อ ดิฉันเข้าอยู่ประจำอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ตลอดดิถีที่ ๑๔,๑๕ และดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ ดิฉันสำรวมในศีลทุกเมื่อ ข้าแต่พระฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดขึ้นเถิด หากดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตกเป็น ๗ เสี่ยง”

 

 

               เราจะเห็นว่า การอ้อนวอนเพื่อขอบุตรของผู้มีบุญมีปัญญานั้น ท่านอ้างเอาบุญในตัวที่เกิดจากการทำความดี เช่น ได้ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา อ้างเอาความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจของตนที่ได้ประพฤติมา ไม่ใช่ไม่ได้ทำความดี แต่อ้อนวอนอย่างเดียว อย่างนั้นไม่สำเร็จ  หากทำบุญแล้วตั้งความปรารถนา อย่างนี้ทำถูกหลักวิชชา

 

 

                     ส่วนพระนางสุเมธาจะสมปรารถนาหรือไม่อย่างไร เราจะได้มาศึกษากันเอาไว้ในครั้งต่อไป


 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
 
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 

* มก. เล่ม ๖๐ หน้า ๔๓๓

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล