Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
ศาสตร์พิฆาตกิเลส ตอน ๑
การปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนานั้น เป็นการเพิ่มเติมความสะอาดและความบริสุทธิ์ให้กับตัวของเราเอง บริสุทธิ์จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายภายใน ซึ่งเป็นแหล่งแห่งความรู้และความบริสุทธิ์ ถ้าเราปฏิบัติด้วยวิธีการที่ถูกต้องและปรับให้ถูกส่วน ทั้งร่างกายและจิตใจ ร่างกายก็ให้ผ่อนคลาย จิตใจก็ให้เบาสบาย จนกระทั่งมีความรู้สึกว่า เราจะนั่งไปนานแค่ไหนก็ได้ตามใจปรารถนา ไม่มีห่วงไม่มีกังวล ใจจะเกลี้ยงเกลาบริสุทธิ์ผ่องใสปลอดโปร่ง ว่างเปล่าจากความคิดทั้งมวล อย่างนี้จิตจึงจะบริสุทธิ์และหยุดนิ่งได้ง่าย ถ้าทำได้วันนี้ก็เข้าถึงวันนี้ ถ้าทำได้วันพรุ่งนี้ก็เข้าถึงวันพรุ่งนี้ ถ้าทำได้วันไหนก็เข้าถึงวันนั้นแหละ สรุปแล้วทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ตัวของเราว่า จะเลือกขยันวันไหน ถ้าทราบกันอย่างนี้ดีแล้ว ก็ให้ลูกทุกๆ คนตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ทำใจหยุดใจนิ่ง มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพารกันทุกๆ คนนะจ๊ะ
มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ใน อุปัชฌายสูตร ว่า
ดูก่อนภิกษุ การที่กายของเธอหนัก ทิศทั้งหลายย่อมมืดมนแก่เธอ ธรรมทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่เธอ เธอไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ สงสัยในธรรมทั้งหลายนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับภิกษุผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ประมาณในการคบฉัน ไม่ปรารภความเพียร ผู้ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ผู้ไม่เจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งหลาย ตลอดทุกวันทุกคืน
การคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายก็คือ มีสติคอยกำกับทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสหรือรับรู้เรื่องราวอะไรก็ตาม ก็สักแต่ว่าได้เห็น ได้ยิน ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ถูกต้องสัมผัสและก็ได้รับรู้เรื่องราวเท่านั้น ไม่ไปยินดีร้ายหรือไม่คิดต่อว่ารูปสวย หล่อหรือขี้เหร่ เสียงหน้าฟังหรือไม่น่าฟัง กลิ่นหอมหรือไม่หอม รสอร่อยหรือไม่อร่อย สัมผัสนุ่มนวลหรือหยาบกระด้าง อารมณ์จะน่ายินดีหรือไม่น่ายินดี
นอกจากนี้การมีสติคอยกำกับทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ยังเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ทอดสะพานให้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและธรรมารมณ์เข้ามาคุกคามใจเราให้เศร้าหมอง แต่ถ้าสำรวมไม่ได้ คือหยุดความคิดไม่ได้ เกิดชอบใจหรือพอใจในรูปที่ตนเห็นก็จะเกิดความโลภอยากได้ ซิ่งเป็นกิเลสกามที่นอนเนื่องอยู่ในใจอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้รูปนั้นมาสนองความทะยานอยาก ก็จะรู้สึกเสียใจเป็นทุกข์ใจ นี้คือโทษของการไม่มีสติกำกับ สำหรับการรับรู้ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจก็เช่นเดียวกัน ถ้าไมสำรวมแล้วก็จะมีผลเป็นทุกข์เหมือนกันหมดคือ ทุกทั้งกายและใจนั่นเอง
ส่วนการรู้ประมาณในโภชนะ คือต้องรู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบริโภคก่อนว่า ไม่ได้รับประทานเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ได้รับประทานเพื่อเอากำลังไปทำร้ายกัน ไม่ได้รับประทานเพื่อจะประดับประดา ตกแต่งร่างกาย แต่เป็นการรับประทานอย่างมีสติและป้องกันกิเลสที่จะเกิดขึ้น ส่วนในด้านที่จะเป็นคุณประโยชน์ก็คือ พระภิกษุท่านฉันอาหารก็เพื่อยังชีวิตให้ดำรงอยู่ได้เพื่อระงับความหิว แล้วอาศัยกำลังกายเกิดจากการบริโภคนั้น มาทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญสร้างบารมีให้ยิ่งยวดขึ้นไป นี่ก็เป็นการฉันเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
ส่วนโทษของการฉันอาหารนั้นก็มีอยู่เหมือนกัน เช่นโทษของการฉันอาหารที่ได้มาจากการแสวงหาที่ผิดพระวินัย การฉันสิ่งที่ไม่เป็นคุณต่อร่างกายตามหลักโภชนาการ นอกจากนี้ ยังมีโทษของการฉันมากเกินไป เช่นทำให้มีพลังงานเหลือเฟือ จนเกิดความกระสันขึ้น มีความอืดอาด ความง่วงหงาวหาวนอน อันเป็นเหตุแห่งความเกลียดคร้าน ส่วนการฉันพอประมาณนั้น ควรฉันแค่ให้รู้สึกอิ่มพอดี จะไม่ทำให้แน่นท้องจนรู้สึกอึดอัด ส่วนเรื่องโพธิปักขิยธรรมนั้น เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง หลวงพ่อจะนำมาอธิบายขยายความให้ฟังในโอกาสต่อไปนะจ๊ะ
สำหรับวันนี้หลวงพ่อมีเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาพิฆาตกิเลส ซึ่งเป็นวิชาชีวิตชั้นสูง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงสอนไว้เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว และมีพยานบุคคลบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ซึ่งมีผู้นำไปปฏิบัติได้ผลมาแล้ว มาเล่าสู่กันฟังนะจ๊ะ
เรื่องก็มีอยู่ว่า ภิกษุพุทธบุตรรูปหนึ่ง ถูกนิวรณ์ครอบงำจิตไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม จึงเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ได้ปรึกษากับท่านว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้กายของผมหนักขึ้น คืออ้วนขึ้นนั่นเอง ทิศทั้งหลายก็มืดมน ธรรมทั้งหลายไม่แจ่มแจ้งด้วยกระผมเลย ถีนมิทธะได้ครอบงำจิตของกระผม กระผมไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์และก็มีความสงสัยในธรรมหลายประการ
พระอุปัชฌาย์ซึ่งเป็นที่พึ่งให้กับกุลบุตรผู้มีศรัทธา ผู้เห็นโทษภัยในการอยู่ครองเรือนมาบวชก็ได้หวังว่า จะได้มีเวลาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง และแสวงบุญสร้างบารมีได้เต็มที่ ซึ่งแต่ก่อนเคยอยู่กับพ่อแม่ เมื่อมีปัญหาอะไรท่านก็ช่วยแก้ไขกันไป แต่เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ได้ยกฐานะจากกุลบุตรมาเป็นพุทธบุตร โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบิดา มีพระอุปัชฌาอาจารย์เป็นที่ปรึกษา คอยประคับประคองในฐานะที่เป็นสัทธิวิหาริกของท่าน ต้องดูแลทั้งเรื่องความเป็นอยู่และการประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อทราบว่าสัทธิวิหาริกที่อยู่ในความดูแล ติดขัดในเรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ปรารภความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ จึงพาภิกษุสัทธิวิหาริกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ
เมื่อพระผู้มีพระเจ้าผู้มีอานุภาพไม่มีประมาณ ทรงตรวจดูจริตอัธยาศัย อธิมุตติและธาตุ ด้วยญาณทัศนะอันบริสุทธิ์ ก็ทรงทราบว่าพุทธบุตรรูปนี้ มีอุปนิสัยที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เพียงแต่ขาดการแนะนำที่ถูกหลักวิชชา ที่ถูกกับจริตอัธยาศัยเท่านั้น
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันไม่มีประมาณ พุทธองค์ก็ตรัสสอนว่า ดูก่อนภิกษุ การที่กายของเธิหนักขึ้น จิตทั้งหลายมืดมนแก่เธอ ธรรมทั้งหลายไม่แจ่มแจ้งแก่เธอ เธอไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ และเธอมีความสงสัยในธรรมทั้งหลายนั้น ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับภิกษุผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในการฉัน ไม่ปรารภความเพียร ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลายและไม่เจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งหลาย ตลอดทุกวันทุกคืน
ดูก่อนภิกษุ ฉะนั้นเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจะเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ประมาณในการขบฉัน ปรารภความเพียร เพื่อให้เห็นแจ้งในกุศลธรรมทั้งหลาย เจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งหลาย ตลอดทุกวันทุกคืน ดูก่อนภิกษุเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
พุทธบุตรผู้มีบุญรูปนี้ เมื่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าและได้ฟังโอวาทจากพระพุทธองค์แล้ว ก็ได้ตรองตามส่วนว่าท่านจะสามารถ ทำตามได้แค่ไหนอย่างไร และจะสามารถพิฆาตกิเลสที่กัดกล่อนเป็นสนิมในใจได้หรือไม่นั้น เราคงต้องมาติดตามรับฟังกันต่อในตอนต่อไปแล้วนะจ๊ะ
จากเรื่องนี้เราก็จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ผู้มีบารมีแก่กล้า มีบุญวาสนาได้เกิดร่วมยุคกับพระพุทธองค์ ได้บวชเป็นพุทธบุตรในพระพุทธศาสนา มีอุปนิสัยที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ยังต้องถูกอสรพิษ คือนิวรธรรมครอบงำจิตใจ จนทำให้เกือบจะเอาตัวไม่รอด เพราะโทษของการไม่สำรวมอินทรีย์ ฉันอาหารไม่รู้จักประมาณและไม่ได้บำเพ็ญเพียร ถ้าหากไม่ได้พระอุปัชฌาย์อาจารย์และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรให้แล้ว ก็อาจจะเสียโอกาสไม่ได้บรรลุธรรมและต้องกลับไปใช้ชีวิตในทางโลกอีกก็ได้
ในทำนองเดียวกัน บนเส้นทางของการทำพระนิพพานให้แจ้ง หรือแสวงบุญและสร้างบารมี เพื่อไปสู่ที่สุดแห่งธรรมของเรานั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่พอดีพอร้ายเลย ฉะนั้นเราจะต้องสร้างบารมีกันให้เต็มที่ เพื่อเป็นสะเบียงบุญ เอาไว้สู้รบกับข้าศึกคือกิเลสภายใน และต้องอาศัยกัลยาณมิตรคอยประคับประคอง รวมทั้งให้มีสติ ให้เรารู้เท่าทันกิเลส ที่จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเรารู้จักสำรวมระวังดีแล้ว เราก็จะได้สร้างบารมีกันไปได้ ตลอดรอดฝั่งและปลอดภัย จนกระทั่งไปถึงจุดหมายปลายทางคือ ที่สุดแห่งธรรมกันทุกคนนะจ๊ะ
พระธรรมเทศนาโดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)