ฉบับที่ 98 ธันวาคม ปี2553

วิวัฒนาการการสร้างวัด ตอนที่ ๒ บุพพาราม

พระธรรมเทศนา

เรียบเรียงจากโอวาทพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีดว)



 

"วิวัฒนาการการสร้างวัด"

ตอนที่ ๒

บุพพาราม

ต้นแบบพุทธอารามเพื่อการฝึกนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา

 

          นางวิสาขา มหาอุบาสิกาผู้เลิศด้วยการถวายทานเป็นผู้สร้างถวาย โดยซื้อที่ดินนอกเมืองด้านทิศตะวันตกของกรุงสาวัตถี หลังจากสถาปนิกออกแบบแปลนแผนผังดีแล้ว จึงลงมือก่อสร้างอารามนี้ขึ้นในบริเวณทุ่งนารกร้าง โดยมีพระโมคคัลลานะ พระอรหันต์ผู้เลิศด้วยฤทธิ์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ใช้เวลาทั้งหมด ๙ เดือน การก่อสร้างจึงแล้วเสร็จ อาคารที่สร้างเป็นทรงปราสาท ๒ ชั้น แต่ละชั้นมี ๕๐๐ ห้อง จัดเป็นส่วน ๆ โดยแยกเป็น ที่อยู่ของพระผู้ชำนาญพระวินัยส่วนหนึ่ง ของพระผู้ชำนาญพระสูตรส่วนหนึ่ง ของพระผู้ชำนาญพระอภิธรรมส่วนหนึ่ง เป็นที่พักของภิกษุอาพาธส่วนหนึ่ง เป็นห้องพยาบาลส่วนหนึ่ง เป็นที่พักของพระอาคันตุกะส่วนหนึ่ง และมีห้องอื่น ๆ อีกครบถ้วน ยอดปราสาทเป็นรูปหม้อน้ำทรงสูง ทำด้วยทองคำถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ปลูกต้นไม้ทำสวนป่าพาให้ร่มเย็นตลอดบริเวณ ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นถึง ๒๗๐ ล้านกหาปณะ คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๑,๐๘๐ ล้านบาท

          เนื่องจากบุพพารามเป็นพระอารามที่มีแบบแปลนแผนผังดีมาก ดังนั้นจึงใช้เป็นมาตรฐานในการสร้างวัดในสมัยต่อ ๆ มา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับฉลองศรัทธาอยู่ที่พระอารามนี้ถึง ๖ พรรษา นางวิสาขาก็ได้ทำนุบำรุงโดยถวายภัตตาหารและปัจจัย อื่น ๆ แก่พระภิกษุผู้อยู่ในอารามจนตลอดชีวิต

๒. วัดเพื่อการศึกษา

          วัดเพื่อการศึกษา โบราณเรียกว่า คามวาสีŽ หรือ วัดบ้านŽ หมายถึง วัดที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น โรงเรียนสอนศีลธรรมประจำท้องถิ่นŽ สำหรับพระภิกษุและชาวบ้านที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสอนอย่างทั่วถึง

          คำว่า คามวาสีŽ (คา-มะ-วา-สี) ในพจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสตร์ฉบับ คำวัดŽ ของ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ปธ.๙, ราชบัณฑิต) ได้ให้ความหมายไว้ว่า

          คามวาสี แปลว่า ผู้อยู่ในหมู่บ้าน ผู้ประจำอยู่ในหมู่บ้าน
          คามวาสี หมายถึง ภิกษุที่พำนักอยู่ตามวัดในหมู่บ้านหรือในตัวเมือง มีกิจวัตรประจำเน้นหนักไปในทางคันถธุระ คือ ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม มีภารกิจ คือ การบริหารปกครอง การเผยแผ่ธรรม และการก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเป็นหลัก เรียกกันทั่วไปว่า พระบ้าน พระเมือง ซึ่งเป็นคู่กับคำว่า อรัญวาสี คือ พระป่า

          วัตถุประสงค์หลักของการสร้างวัดบ้าน คือ
          ๑. เพื่อเป็นที่พักจำพรรษาของพระภิกษุเถระผู้เดินทางไปทำหน้าที่เผยแผ่ในท้องถิ่นนั้น
          ๒. เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระธรรมวินัยของพระภิกษุที่บวชจากท้องถิ่นนั้น
          ๓. เพื่อเป็นสถานที่ทำบุญและฟังธรรมของประชาชนที่อยู่ประจำท้องถิ่นนั้น
          ๔. เพื่อเป็นสถานที่สร้างประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธตามหน้าที่ประจำทิศ ๖

          ในสมัยพุทธกาล วัดคามวาสีมีการก่อสร้างอาคารสถานที่ใหญ่โต สามารถใช้เป็นที่อยู่จำพรรษา ของพระภิกษุได้ไม่ต่ำกว่าพันรูป มีความเพียบพร้อมเหมาะแก่การศึกษา เล่าเรียนพุทธพจน์ คือ ภาคปริยัติŽ ทุกประการมีการสร้างอาคารโรงฉัน และธรรมสภาไว้สำหรับรวมชาวพุทธมาทำบุญและฟังธรรมเป็นประจำทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่าพันคน

          นอกจากนี้ บริเวณที่ดินด้านหลังวัดมักนิยมสร้างสวนป่าขนาดใหญ่ที่มีความสงบวิเวกทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อเป็นสถานที่ฝึกฝนการบำเพ็ญภาวนา คือ ภาคปฏิบัติŽ โดยมีพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกฝนเคี่ยวเข็ญอบรม นิสัยบรรพชิตŽ ให้เกิดขึ้นกับพระภิกษุใหม่ จนกระทั่งแน่ใจว่า ภิกษุนั้นสามารถละทิ้ง นิสัยเก่าของคฤหัสถ์Ž ได้แล้ว จึงจะอนุญาตให้ออกไปบำเพ็ญภาวนาตามลำพังในวัดป่าได้ต่อไป

          ในสมัยพุทธกาล บุคคลที่สร้างวัดเพื่อการศึกษาประจำท้องถิ่นนี้ ส่วนใหญ่ได้แก่ เศรษฐี และคหบดีผู้ได้โอกาสบรรลุธรรม จึงมีศรัทธาแรงกล้าที่จะนำพระพุทธศาสนาไปประกาศในท้องถิ่นของตน โดยเริ่มต้นด้วยการใช้ทรัพย์สินส่วนตัว เป็นงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด และอุทิศถวายเป็นวัดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นก็จัดฉลองวัดใหม่ด้วยการเชิญชวนให้ชาวบ้านชาวเมืองเข้ามาร่วมฟังธรรม โดยรับเป็นเจ้าภาพอุปัฏฐากดูแลพระ และดูแลวัดตลอดชีวิต ทำให้มีพระภิกษุใหม่เกิดขึ้นในท้องถิ่นจำนวนมาก เมื่อการบำรุงวัดนั้นผ่านไปห้าปีสิบปี ท้องถิ่นนั้นก็รุ่งเรืองด้วยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะมีพระภิกษุทั้งที่เป็นนวกะ มัชฌิมะ และเถระเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และจาริกกันออกไปอยู่จำพรรษาทั้งในวัดบ้านและวัดป่าอย่างทั่วถึงทุกหมู่บ้านนั่นเอง

          ในสมัยพุทธกาล แม้ว่า "เศรษฐีŽ" กับ "คหบดีŽ" จะมีฐานะทางสังคมที่แตกต่างกันมาก แต่ก็มีส่วนสำคัญในการขยายงานเผยแผ่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

          ในยุคนั้นคำว่า "คหบดีŽ" หรือ "คฤหบดีŽ" หมายถึง ชาวบ้านผู้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย แต่ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีจากพระราชา

          ส่วนคำว่า "เศรษฐีŽ" หมายถึง ชาวบ้านที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในเมืองนั้น และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีจากพระราชาโดยตรง

          ดังนั้น ในยุคพุทธกาล การเรียกผู้ใดเป็นเศรษฐี จึงหมายถึงความหมายอย่างเป็นทางการ คือผู้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีที่พระราชาแต่งตั้งให้

          ส่วนการเรียกผู้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีอย่างไม่เป็นทางการว่า คฤหบดีŽ หรือ คหบดีŽ ก็มีอยู่เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น จิตตคฤหบดี อุบาสกผู้เลิศด้วยการแสดงธรรม โดยฐานะตำแหน่งท่านคือเศรษฐีประจำเมืองมัจฉิกสัณฑะ แคว้นมคธ แต่ชาวบ้านชาวเมืองนิยมเรียกท่านว่า คฤหบดี ซึ่งเป็นการเรียกตามความประสงค์ของเจ้าตัวบ้าง ตามความนิยมของสังคมบ้าง ตามความคุ้นเคยกันมาแต่เดิมบ้าง

          สำหรับขั้นตอนการแต่งตั้งตำแหน่งเศรษฐีอย่างเป็นทางการในครั้งแรกนั้น จะต้องประกอบด้วย

          ๑. คหบดีจะต้องนำทรัพย์สินทั้งหมดมาแสดงไว้ที่พระลานหลวง เพื่อให้พระราชาทรงเห็นและชาวเมืองรับรู้เป็นพยาน
          ๒. เจ้าพนักงานของรัฐตรวจสอบความโปร่งใสของที่มาของทรัพย์สิน และประเมินจำนวนทรัพย์สินทั้งหมดว่ามีมูลค่าราคาเท่าไร
          ๓. นำตัวเลขจำนวนทรัพย์สินที่ได้ไปประเมินเทียบเคียงกับบัญชีทรัพย์สินของเศรษฐี อื่น ๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น
          ๔. เมื่อตรวจสอบแล้วว่า ในเมืองนั้นไม่มีทรัพย์สินของผู้ใดมากกว่านี้อีกแล้ว พระราชา ก็จะทรงให้การรับรองและประกาศแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐีคนใหม่ทันที
          ๕. เมื่อพระราชาพระราชทาน ฉัตรประจำตำแหน่งเศรษฐีŽ ให้แล้ว ก็ถือว่าบุคคล นั้นได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งเศรษฐีอย่างสมบูรณ์ แบบเป็นทางการแล้ว

          หลังจากแต่งตั้งแล้วตระกูลนั้นย่อมถูกยกระดับฐานะเป็นตระกูลเศรษฐีŽ บุตรชายสามารถสืบทอดตำแหน่ง เศรษฐีประจำเมืองต่อจากบิดาได้ ผู้คนทั้งบ้านทั้งเมืองก็จะจดจำผู้นั้นไว้ในฐานะของเศรษฐี การวางตัวของผู้นั้นก็จะตกอยู่ในสายตาของคนทั้งบ้านทั้งเมืองทันที โดยชาวเมืองก็มักจะนิยม ตั้งฉายานามตามพฤติกรรมของเศรษฐีผู้นั้นต่อท้ายชื่อ หรือ เรียกฉายาเป็นชื่อใหม่เลยก็มี

          ตัวอย่างเช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านมีชื่อจริงว่า สุทัตตเศรษฐี ดำรงตำแหน่งเศรษฐีสืบต่อจากบิดา แต่เพราะท่านตั้งโรงทานเพื่อแจกจ่ายอาหารแก่คนทุกข์ยากในเมืองสาวัตถี ชาวเมืองจึงขนานฉายานามใหม่ให้ท่านว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี แปลว่า เศรษฐี ผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนยากจนŽ หรือ เศรษฐีผู้เป็นที่พึ่งของคนยากŽ ซึ่งเป็นการเรียกชื่อตาม ความเป็นผู้มีใจบุญของท่านนั่นเอง

          ดังนั้น ด้วยเหตุเหล่านี้ เศรษฐีŽ จึงเป็นตำแหน่งทางราชการที่บ่งบอกถึงฐานะความร่ำรวยของประเทศ และสภาพเศรษฐกิจสังคมของประชาชน โดยผู้เป็นเศรษฐีมี หน้าที่จะต้องเข้าเฝ้าพระราชา เพื่อรายงานสภาพสังคม สภาพเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต ของประชาชน ให้พระราชาทรงทราบสถานการณ์ทั้งในอาณาจักรและนอกอาณาจักร เพื่อจะได้ตระเตรียมนโยบายต่าง ๆ เพื่อบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้ประชาชนได้อย่างทันการณ์ นั่นเอง

          ดังนั้น ด้วยข้อดีของการเป็นที่ยอมรับจากพระราชานี้เอง จึงทำให้เศรษฐีมีบทบาทอย่างมากในการขยายงานพระพุทธศาสนาไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว เพราะได้มีโอกาสนำพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปกราบทูลให้พระราชาทราบอยู่เสมอ และยังได้รายงานถึงข้อดีต่าง ๆ เกี่ยวกับการอนุญาตให้พระภิกษุทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแว่นแคว้นของตน ทำให้ไม่เป็นที่หวาดระแวง และได้รับความสะดวกในการสร้างวัดในท้องถิ่นต่าง ๆ ตามมา เพราะมีเศรษฐีเป็นตัวเชื่อมระหว่างพระพุทธศาสนากับพระราชานั่นเอง

          ขณะเดียวกัน คหบดีŽ ในแต่ละท้องถิ่น ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเพราะ เป็นเหมือนผู้เข้ามาช่วยอุดช่องว่างรอยโหว่ในการทำงานเผยแผ่ของเหล่าเศรษฐีได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะไม่มีภาระทางด้านราชการ จึงมีเวลาลงสำรวจพื้นที่มากกว่า สร้างความคุ้นเคยสนิทสนมกับชาวบ้านได้คล่องตัวกว่า ทำให้ชาวบ้านกล้าที่จะเปิดใจพูดคุยปัญหาในชีวิตประจำวันได้โดยตรง ไม่ต้องปิดบัง ทำให้มีความใกล้ชิดประชาชนมากกว่าผู้ดำรงตำแหน่ง เศรษฐี

          ดังนั้น ด้วยข้อดีของคหบดี ที่เป็นผู้ใกล้ชิดประชาชนนี้เอง จึงทำให้มีเวลาดูแล พระภิกษุสงฆ์ได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยไม่มีตกหล่นหรือตกค้างให้ท่านตกระกำลำบากในการบำเพ็ญสมณธรรม เพราะมีคหบดีเป็นตัวเชื่อมระหว่างพระพุทธศาสนากับประชาชนนั่นเอง ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนวัด การเพิ่มขึ้นของจำนวนพระภิกษุ การเพิ่มขึ้นของจำนวนชาวพุทธในแต่ละท้องถิ่นนั้น จึงต้องอาศัยกำลังของ เศรษฐีŽ และ คฤหบดีŽ ประจำท้องถิ่น ในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งใน เชิงกว้างŽ และ เชิงลึกŽ ควบคู่ กันไป

          การเผยแผ่เชิงกว้าง คือการอาศัยความน่าเชื่อถือของตัวเอง ช่วยเป็นประชาสัมพันธ์ ให้ชาวบ้านชาวเมืองในดินแดนที่ยังไม่มีศรัทธา ให้เกิดการยอมรับในพระพุทธศาสนาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดความหวาดระแวงจากทางราชการ และเกิดแรงต้านจากชาวเมืองท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะต้องการเพิ่มจำนวนวัดให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นอย่างรวดเร็ว และทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ด้วยความเต็มใจต้อนรับการบังเกิดขึ้นของพระรัตนตรัยในท้องถิ่นของตนนั่นเอง

          การเผยแผ่เชิงลึก คือ การใช้ทรัพย์สินส่วนตัวเป็นกองทุนทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตั้งแต่
          ๑. การสร้างวัดแห่งแรกให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น
          ๒. การเชิญพระภิกษุเถระจากวัดที่เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่มายังท้องถิ่นของตน
          ๓. การส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียนธรรมะของพระภิกษุที่บวชเพิ่มขึ้นใหม่ในท้องถิ่น ของตน
          ๔. การชักชวนประชาสัมพันธ์ชาวบ้านชาวเมืองในท้องถิ่นนั้นมาบำเพ็ญบุญกุศลและฟังธรรมยังวัดที่ตนเป็นผู้สร้าง
          ๕. อีกทั้งยังรับเป็นเจ้าภาพอุปัฏฐากเลี้ยงดูพระภิกษุทั้งหมดในวัดนั้น ทั้งที่อยู่ประจำ ทั้งที่เป็นอาคันตุกะ โดยไม่ให้ขาดตกบกพร่องแม้แต่มื้อเดียว ทั้งนี้เพราะต้องการให้จำนวนพระ และจำนวนชาวพุทธในท้องถิ่นนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อมาช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กระจายไปทั่วถึงทุกพื้นที่ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมชาวพุทธประจำท้องถิ่น นั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม นอกจากเศรษฐีและคฤหบดีแล้ว การสร้างวัดเพื่อการศึกษายังเกิดจากการรวมพลังศรัทธาของ กลุ่มชาวบ้านŽ ในระดับรากหญ้าอีกแรงหนึ่งด้วย โดยเฉพาะ ชาวบ้านที่อยู่ใน เมืองใหญ่Ž หรือ หมู่บ้านใหญ่Ž ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมของเส้นทาง การค้าที่เชื่อมต่อกับหัวเมืองต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน

          วิธีการสร้างจะใช้การระดมทุนทรัพย์ในหมู่บ้านและการระดมกำลังคน เพื่อช่วยกันสร้างวัดประจำท้องถิ่น ซึ่งเป็นความขวนขวายในการแสวงหาโอกาสเพื่อเล่าเรียนศึกษา พุทธพจน์ นับเป็นที่น่ายกย่องอนุโมทนาอย่างยิ่ง หลังจากนั้น หัวหน้าหมู่บ้านก็จะเดินทาง ไปนิมนต์พระภิกษุจากเวฬุวนารามบ้าง เชตวนารามบ้าง บุพพารามบ้าง หรืออาราธนาพระธุดงค์ให้อยู่ประจำที่นั่นบ้าง เพื่อให้หมู่บ้านของตนมีครูสอนศีลธรรม อันเป็นโอกาส แห่งการบรรลุธรรมตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้านิพพานไปนั่นเอง

          ดังนั้น หากกล่าวโดยสรุปในเรื่อง  วัดเพื่อการศึกษาŽ ก็คือ การรวมพลังศรัทธาของ  สามประสานŽ ในท้องถิ่นนั้น ได้แก่ เศรษฐี คหบดี และกลุ่มชาวบ้าน ที่พร้อมใจช่วยกันสร้าง วัดเพื่อการศึกษาŽ เพื่อทำงานเผยแผ่ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง เป็นพลังความสามัคคีของท้องถิ่น ส่งผลให้งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลหยั่งรากฝังลึกในจิตใจมหาชน และแผ่ขยายขจรขจายในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การตรัสรู้ ของพระองค์ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ไม่สูญเปล่า การประดิษฐานพระพุทธศาสนาจึงเป็นปึกแผ่น มั่นคงได้ทันกับเวลาอายุสังขารของพระพุทธองค์ ดังตัวอย่างเช่น อัมพาฏกวันของ จิตตคฤหบดี เป็นต้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล