ฉบับที่ 104 มิถุนายน ปี2554

ปัญหาวัดร้าง ตอนที่ ๓

พระธรรมเทศนา

 





 

       ๖. ความเคารพในธรรมอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน

         นับตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว บุคคลที่จะบำเพ็ญเพียรจนกระทั่งบรรลุโลกุตรธรรมได้นั้น ล้วนแต่ต้องผ่านการบำเพ็ญภาวนาตามหลักปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยความเคารพในธรรมอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน มาก่อนทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก พระสงฆ์สาวก เป็นต้น ดังมีบันทึกอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกปรากฏเป็น "หนทางแห่งการบรรลุโลกุตรธรรม"Ž มาถึงทุกวันนี้

         ๖.๑ การอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงการบำเพ็ญเพียรก่อนตรัสรู้ธรรมไว้ใน "อุปัญญาตสูตรŽ" ว่า ภิกษุทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงธรรม ๒ ประการ ธรรม ๒ ประการ คือ
         ๑. ความไม่สันโดษเพียงแค่กุศลธรรมทั้งหลาย
         ๒. ความไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญเพียร

         ภิกษุทั้งหลาย เราเริ่มตั้งความเพียรไม่ย่อหย่อนว่า "(แม้) จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระ (นี้) จงเหือดแห้งไปเถิด (ตราบใดที่เรา) ยังไม่บรรลุผลที่พึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรŽ"

         หลังจากนั้น พระบรมศาสดาก็ตรัสยืนยันผลแห่ง การประกอบความเพียรอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันว่า "สัมโพธิญาณนั้นเราบรรลุได้ด้วยความไม่ประมาท ธรรมเป็นแดนเกษม จากโยคะที่ยอดเยี่ยม เราก็บรรลุได้ด้วยความไม่ประมาท"

         เมื่อพระบรมศาสดาตรัสยืนยันผลแห่งการบำเพ็ญเพียรของพระองค์จบลง อันเป็น การสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ฟังแล้ว ก็ทรงแนะนำให้พระภิกษุลงมือปฏิบัติตามอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันว่า "แม้ถ้าเธอทั้งหลายพึงตั้งความเพียรไม่ย่อหย่อนว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่บรรลุผลที่พึงบรรลุ ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุด ความเพียรŽ"

         แล้วพระองค์ก็ทรงให้กำลังใจในการปฏิบัติด้วยว่า "ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่กุลบุตร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแน่แท้Ž"

         นั่นก็หมายความว่า แม้แต่พระบรมศาสดายังต้องทรงบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน จึงทรงสามารถตรัสรู้โลกุตรธรรมด้วยตัวของพระองค์เอง และนำมาสั่งสอนให้ชาวโลกตรัสรู้ตามพระองค์ไปได้

          ดังนั้น พระภิกษุเถระ พระมัชฌิมะ พระนวกะในยุคปัจจุบัน ก็ต้องบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเช่นกัน จึงจะสามารถบรรลุโลกุตรธรรมได้เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในครั้งพุทธกาล

         ๖.๒ การอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันของพระปัจเจกพุทธเจ้า

         พระบรมศาสดาตรัสเล่าประวัติการบำเพ็ญเพียรอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันของ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งใน ขัคควิสาณสูตร ไว้ว่า (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ตั้งความเพียรเพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน มีความพากเพียร มั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

         พระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา ได้อธิบายพระพุทธพจน์นี้ไว้ในคัมภีร์จูฬนิทเทส ว่า

         คำว่า ตั้งความเพียรเพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง หมายถึง การบำเพ็ญภาวนาเพื่อให้ได้ความสิ้นกิเลส บรรลุโลกุตรธรรม คือ อมตนิพพาน

         คำว่า มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน หมายถึง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตมุ่งมั่นว่า ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ ยึดมั่น ตราบนั้นเราจักไม่ลุกจากที่นั่งนี้Ž (ซึ่งก็คือการบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันนั่นเอง)

         คำว่า มีความพากเพียรมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว หมายถึง เป็นผู้เต็มเปี่ยมด้วยกุศลกรรม คือเป็นผู้มีความบริสุทธิ์กาย ความบริสุทธิ์วาจา และความบริสุทธิ์ใจแล้ว

         คำว่า จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด หมายถึง ความสิ้นกิเลสด้วยการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางเอกสายเดียว ไม่มีทางอื่นเป็นสอง

         นั่นก็หมายความว่า แม้แต่พระปัจเจกพุทธเจ้ายังต้องบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน จึงสามารถตรัสรู้โลกุตรธรรมได้ด้วยตัวของพระองค์เอง

         ดังนั้น พระภิกษุเถระ พระมัชฌิมะ พระนวกะในยุคปัจจุบัน ก็ต้องบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเช่นกัน จึงจะสามารถบรรลุโลกุตรธรรมได้เช่นเดียวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีตกาล

         ๖.๓ การอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันของพระอรหันตสาวกในยุคพุทธกาล

          ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมีบันทึกการบำเพ็ญเพียรของพระอรหันตเถระไว้มากมาย พระอรหันต์รูปหนึ่ง ซึ่งมีนามว่า พระปัจจยเถระ เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผล จึงได้กล่าว ๓ คาถาไว้ดังนี้ว่า "เราบวชแล้วได้ ๕ วัน ยังเป็นเสขบุคคลอยู่ ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันตŒ เมื่อเราเข้าไปยังวิหารแล้วได้ตั้งใจปรารถนาว่า เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้ เราจะไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออกไปจากวิหาร ทั้งจะไม่เอนกายนอน

         เชิญท่านดูความเพียร ความบากบั่นของเรานั้นผู้อยู่อย่างนี้ เราบรรลุวิชชา ๓ ได้ทำ ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วŽ"

         นั่นก็หมายความว่า แม้แต่พระอรหันตสาวกในครั้งพุทธกาล ยังต้องบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน จึงสามารถตรัสรู้โลกุตรธรรมตามพระบรมศาสดาไปได้

         ดังนั้น พระภิกษุเถระ พระมัชฌิมะ พระนวกะในยุคปัจจุบัน ก็ต้องบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเช่นกัน จึงจะสามารถบรรลุโลกุตรธรรมได้เฉกเช่นเดียวกับพระอรหันตสาวก ในยุคพุทธกาล

         ๖.๔ การอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันของพระภิกษุผู้ปรารภความเพียรในยุคพุทธกาล

         ใน ทุติยทสพลสูตร พระบรมศาสดาทรงให้โอวาทแก่พระภิกษุผู้ยังมิได้บรรลุโลกุตร-ธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ในวัฏสงสารให้หมดสิ้นไปว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เรากล่าว ไว้ดีแล้ว เป็นธรรมเข้าใจง่าย เปิดเผย ประกาศไว้แล้ว เป็นดุจผืนผ้าเก่าที่ตัดไว้แล้วอย่างนี้ (หมายถึงทรงจำแนกธรรมไว้ดีแล้ว)

         กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา สมควรแท้เพื่อปรารภความเพียรในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้ว เป็นธรรมเข้าใจง่าย เปิดเผย ประกาศไว้แล้ว เป็นดุจผืนผ้าเก่าที่ตัดไว้แล้วอย่างนี้ว่าเนื้อและเลือดในร่างกายจงเหือดแห้งไป จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที ผลใดพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ (ถ้า) ไม่บรรลุผลนั้น ก็จักไม่หยุดความเพียรของบุรุษŽ"

         หลังจากนั้น พระบรมศาสดาก็ทรงให้ความมั่นใจในการบำเพ็ญเพียรว่า บุคคลผู้เกียจคร้าน เกลื่อนกล่นไปด้วยบาปอกุศลธรรมทั้งหลายย่อมอยู่เป็นทุกข์ และทำประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ของตนให้เสื่อมเสียไป ส่วนบุคคลผู้ปรารภความเพียร ผู้สงัดจากบาปอกุศลธรรมทั้งหลายย่อมอยู่เป็นสุข และทำประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ของตนให้บริบูรณ์ได้

         การบรรลุธรรมที่เลิศด้วยธรรมอันเลวหามีไม่ แต่การบรรลุธรรมที่เลิศด้วยธรรมอันเลิศ ย่อมมีได้ พรหมจรรย์นี้ผ่องใสและน่าดื่ม พระศาสดาก็ยังอยู่เฉพาะหน้าŽ"

         เมื่อพระภิกษุเกิดความมั่นใจแล้ว พระบรมศาสดาก็ทรงให้กำลังใจต่อไปว่า  เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง โดยตั้งใจว่า บรรพชาของเราทั้งหลายนี้ เป็นของไม่ต่ำทราม ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร จักมีแก่เราทั้งหลาย เราทั้งหลายบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของชนเหล่าใด สักการะของชนเหล่านั้น จักมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะเราทั้งหลายž

         เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกดังพรรณนามาฉะนี้แล

         ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้พิจารณาเห็นประโยชน์ของตน สมควรแท้ เพื่อที่จะทำกิจของตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท หรือว่าบุคคลผู้พิจารณาเห็นประโยชน์ของผู้อื่น สมควรแท้ เพื่อที่จะทำกิจของผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท หรือบุคคลผู้พิจารณา เห็นประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย สมควรแท้ที่จะทำกิจของทั้ง ๒ ฝ่ายให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทŽ

         นั่นก็หมายความว่า การปรารภความเพียรเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างยิ่ง เพราะทำให้ ทั้งการบวชของพระภิกษุ และการทำนุบำรุงด้วยข้าวปลาอาหารของญาติโยมไม่สูญเปล่า พระพุทธองค์ทรงสอนให้พระภิกษุ ใช้การตระหนักถึงความไม่สูญเปล่านี้ เป็นกำลังใจในการ ปรารภความเพียรอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน

         ดังนั้น จากพระบรมพุทโธวาทนี้ แม้พระพุทธองค์จะไม่ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่แล้ว แต่ก็เหมือนกับทรงชี้ให้เห็นว่า พระภิกษุเถระ พระมัชฌิมะ พระนวกะในยุคปัจจุบัน จะสามารถบรรลุโลกุตรธรรมได้ ก็ต้องบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิต เช่นเดียวกับพระภิกษุสาวกที่อยู่ต่อหน้าพระบรมศาสดาในยุคพุทธกาล

         ๖.๕ การอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันของพระภิกษุในยุคปัจจุบัน

         ในอดีตที่ผ่านมามีพระภิกษุหลายรูปที่บำเพ็ญเพียรตามรอยบาทของพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า ตามรอยบาทของพระปัจเจกพุทธเจ้า ตามรอยเท้าของพระอรหันต์ ตามรอยเท้าของพระเถระผู้บำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิต สืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จวบจนกระทั่งยุคปัจจุบันที่ผ่านมาเกือบร้อยปี พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก็ได้บำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน ตามรอยบาทของพระบรมศาสดาเช่นกัน จนกระทั่งท่านได้เข้าถึง "พระรัตนตรัยในตัว"Ž ซึ่งมีศัพท์บาลีในคัมภีร์พระไตรปิฎก เรียกว่า "ธรรมกาย"Ž ทำให้ภายหลังมีพระภิกษุและญาติโยมในยุคปัจจุบัน เกิดกำลังใจในการบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน และเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวเช่นเดียวกับท่านเป็นจำนวนมาก โดยมีบันทึกปรากฏอยู่ในชีวประวัติของท่านดังนี้

         ในพรรษาที่ ๑๒ ปีพุทธศักราช ๒๔๖๐

         หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ท่านมีความคิดที่จะกระทำความเพียร อย่างอุกฤษฏ์ตั้งแต่เช้าตรู่ว่า "เราบวชมาจวนจะครบ ๑๒ พรรษาแล้ว วิชชาของพระพุทธ- เจ้าเรายังไม่ได้บรรลุเลย ทั้งที่การศึกษาของเราก็ไม่เคยขาดเลยสักวัน ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ อย่าเลยควรจะรีบกระทำความเพียรให้รู้เห็นของจริงในพระพุทธศาสนาเสียทีŽ"

         เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้วท่านก็รีบจัดการภารกิจต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เพื่อจะได้ไม่มีเรื่องกังวลใจ เสร็จแล้วก็ได้เข้าเจริญภาวนาในอุโบสถ โดยตั้งใจว่าหากไม่ได้ยินเสียงกลองเพลจะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจแล้วก็หลับตาภาวนา "สัมมา อะระหัง"Ž เรื่อยไป จนกระทั่งความปวดเมื่อยและอาการกระสับกระส่ายเริ่มติดตามมา จิตก็ซัดส่ายกระวน- กระวายจนเกือบจะหมดความอดทน แต่ได้ตั้งสัจจะไว้แล้วจึงทนนั่งต่อไป เมื่อไม่สนใจความปวดเมื่อยของสังขาร ในที่สุดใจก็ค่อย ๆ สงบลงทีละน้อย แล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ใจชุ่มชื่นเบิกบาน อย่างบอกไม่ถูก

         วันนั้นท่านมีความสุขทั้งวัน ดวงธรรมขั้นต้นซึ่งเป็นดวงใสสว่างก็ยังเห็นติดอยู่ที่ ศูนย์กลางกายไม่ขาด ท่านได้รำพึงว่า "ความสว่างเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนเลยในชีวิตของการบำเพ็ญธรรม เราไม่เคยเห็นความสว่างใดจะเทียบเท่าได้ ความสว่างแห่งดวงอาทิตย์ก็ยังห่างไกล เท่าที่เห็นอุปมาเหมือนแสงหิ่งห้อยกับโคมไฟŽ"

         ทำให้ท่านหวนระลึกถึงพระพุทธวจนะบทหนึ่งที่ว่า "นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํŽ" แปลว่า สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี เมื่อใจหยุดก็เกิดความสงบ เมื่อสงบจิตย่อมเป็นสุข และได้ตั้งใจว่า วันนี้เป็นไงเป็นกัน หากเราไม่บรรลุธรรมที่พระบรมไตรโลกนาถได้ทรงบรรลุละก็ เราจะถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา หากเราจะต้องตายไปในครั้งนี้ ก็จะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่จะตามมาภายหลัง จะได้ยึดถือเป็นแบบปฏิบัติต่อไป ก็จะได้อานิสงส์อีกโสดหนึ่งŽ

         เย็นวันนั้นหลังจากได้ฟังพระปาติโมกข์กับเพื่อนสหธรรมิกแล้ว ท่านได้รีบทำภารกิจ ส่วนตัว สรงน้ำให้ร่างกายสดชื่นดีแล้ว จึงเข้าไปในอุโบสถแต่เพียงรูปเดียว เมื่อกราบ พระประธานแล้วก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า "ขอให้พระองค์ทรงพระเมตตาโปรดประทานธรรม ที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยินดี ถ้าหากการบรรลุธรรมของข้าพระพุทธเจ้า จักเกิดโทษแก่พระศาสนา ก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้า จะเป็นคุณแก่พระศาสนาแล้ว ขอได้โปรดประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด ข้าพระพุทธเจ้า จะขอรับเป็นทนายพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิตŽ"

         เมื่อได้ตั้งสัตยาธิษฐานแล้ว ท่านก็เริ่มนั่งหลับตา ขณะนั้นมีมดอยู่ในช่องแผ่นหินที่ท่านนั่ง กำลังไต่ขึ้นมารบกวน ท่านจึงหยิบขวดน้ำมันก๊าดขึ้นมา เพื่อจะทากันมด แต่แล้วก็คิดได้ว่า ชีวิตของเรา เราได้สละแล้วเพื่อการบำเพ็ญเพียร แต่เหตุไฉนจึงยังกลัวมดอยู่อีกŽ จึงวางขวดน้ำมันก๊าดลง เจริญกัมมัฏฐานต่อไป จนถึงยามดึกจึงได้เริ่มเห็นดวงปฐมมรรคหรือ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เมื่อได้รู้เห็นธรรมะแล้ว ท่านจึงได้เข้าใจว่า คมฺภีโร จายํ ธรรมเป็นของลึกซึ้งถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึก นึก คิด

         ถ้ายังตรึก นึก คิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าให้ถึงต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้นหยุดเป็นจุดเดียวกัน

         แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด

         นี้เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ก็ไม่มี ไม่เป็นเด็ดขาด 

         เมื่อมองเรื่อยไปก็เห็นดวงใหม่ผุดซ้อนขึ้นมาแทนที่ดวงเก่า แต่ใสสว่างมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็เห็นกายต่าง ๆ ตามลำดับจนกระทั่งถึง "ธรรมกายŽ"

         คำว่า "ธรรมกายŽ" นี้ มีพระบาลีรับรองว่า

         "ตถาคตสฺส วาเสฏฺฐฺ เอตํ ธมฺมกาโยติ วจนํŽ"

         ดูกร! วาเสฏฐะ ธรรมกายนี้เป็นชื่อของพระตถาคต

         ในอัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก มีพระบาลีดังนี้ว่า

         "ตถาคตสฺส เหตํ วาเสฏฺฐฺา อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปิ พฺรหฺมกาโยอิติปิ ธมฺมภูโต อิติปิ พฺรหฺมภูโต อิติปิฯ....

         ดูกร! วาเสฏฐะและภารทวาชะ คำว่าธรรมกายก็ดี พรหมกายก็ดี ธรรมภูตก็ดี พรหมภูตก็ดีเป็นชื่อของพระตถาคตŽ"

         ดังนั้น จากปฏิปทาการบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันของพระเดช พระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำนี้เอง ย่อมเป็นการให้กำลังใจว่า การบำเพ็ญภาวนาของพระภิกษุเถระ พระมัชฌิมะ พระนวกะตามรอยบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปนั้น ย่อมเป็นหนทาง แห่งการบรรลุโลกุตรธรรมโดยไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน

         ๖.๖ การบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันเป็นเส้นทางเก่าของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์

         จากเส้นทางแห่งการบรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตเจ้า และพระภิกษุสาวกที่ไล่เรียงมาตามลำดับนี้ ย่อมเห็นปรากฏเป็นหลักฐานได้อย่างชัดเจนว่า

         บุคคลสำคัญของโลกผู้มีความเคารพในธรรมยิ่งกว่าชีวิตทุกท่านนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ตรัสรู้โลกุตรธรรม ด้วยการบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันทั้งสิ้น

         ทั้งนี้เพราะเส้นทางตรัสรู้โลกุตรธรรมนี้ เป็น "เส้นทางเก่าของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุก ๆ พระองค์Ž" ทั้งที่บังเกิดขึ้นแล้วในอดีตกาล ทั้งที่บังเกิดขึ้นในปัจจุบันกาล และทั้งที่จะบังเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตกาล ล้วนต้องผ่านเส้นทางนี้ทั้งสิ้น ดังที่พระบรมศาสดาตรัสเล่าไว้ใน นครสูตรŽ8 ว่า ภิกษุทั้งหลาย... อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น ได้แก่

         ๑. สัมมาทิฐิ (เห็นชอบ)

         ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)

         ๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)

         ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)

         ๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)

         ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)

         ๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)

         ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

          นี้คือทางเก่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ เคยเสด็จพระดำเนิน เราก็ได้ดำเนิน ตามทางนั้น...

         ...ขณะดำเนินไป ได้รู้ชัดสังขารทั้งหลาย ได้รู้ชัดความเกิดแห่งสังขาร ได้รู้ชัดความดับแห่งสังขาร ได้รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสังขาร

         ครั้นได้รู้ชัดอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นแล้ว เราจึงบอกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

         ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้จึงได้บริบูรณ์ กว้างขวาง รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว

         นั่นก็หมายความว่า การที่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจะมีโลกุตรธรรมมาแจกจ่ายประชาชน ได้นั้น ล้วนแล้วแต่ต้องบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน ผ่านเส้นทางเก่าอันเป็นทางเอกสายเดียว ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์นั่นเอง

อ่านต่อฉบับหน้า

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล