ฉบับที่ 45 กรกฏาคม ปี 2549

พรรษาแห่งการบรรลุธรรมาภิสมัย

 

โดย : ฟ้าสว่าง

          วันเข้าพรรษา คือ วันที่พระภิกษุเริ่มเข้าจำพรรษาอยู่ ณ วัดใดวัดหนึ่งในระหว่างฤดูฝนโดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น ๓ เดือนเต็ม ในภาคเช้า พระภิกษุสงฆ์จะลงอุโบสถอธิษฐานพรรษา โดยมีความตั้งใจมั่นว่า จะอยู่จำพรรษาในขอบเขตที่สงฆ์กำหนดเอาไว้เท่านั้น จะอยู่รักษาพระธรรมวินัย ฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการบวช คือการทำพระนิพพานให้แจ้ง

ปฐมเหตุแห่งวันเข้าพรรษา

            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ พระบรมศาสดายังมิได้ทรงบัญญัติให้ภิกษุจำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจึงจาริกไปในที่ต่างๆ ทั้ง ๓ ฤดู มหาชนเกรงว่า การที่ภิกษุเที่ยวจาริกไปตลอด ๓ ฤดู จะเหยียบย่ำข้าวกล้าและพืชพันธุ์ต่างๆ ที่พวกเขาเพาะปลูกไว้ รวมทั้งสัตว์เล็กสัตว์น้อย ตามปกติในฤดูฝนนั้น แม้นักบวชนอกศาสนาก็ยังอาศัยอยู่ประจำที่ตลอดฤดู เหตุไฉนภิกษุทั้งหลายจึงยังคงเที่ยวจาริกไปเล่า มหาชนทั้งหลายจึงได้พากันบอกกล่าวให้ภิกษุสงฆ์ทราบพระผู้มีพระภาคเจ้าอาศัยเรื่องนั้นเป็นเหตุ จึงทรงบัญญัติให้พระภิกษุ อยู่จำพรรษา ณ วัดใดวัดหนึ่ง ระหว่างฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

 

 

วัตถุประสงค์ของการอยู่จำพรรษา

                      วัตถุประสงค์ของการอยู่จำพรรษาของพระภิกษุ ก็คือ เพื่อให้พระภิกษุได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัย และประพฤติปฏิบัติธรรม กลั่นจิตกลั่นใจ ทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น เพื่อเติมเต็มชีวิตสมณะกันอย่างเต็มที่ จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน สมดังที่ได้ตั้งมโนปณิธานอันแน่วแน่ในวันบวชว่า " สพฺพทุกฺขนิสฺสรณ นิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย เราจักออกบวชในครั้งนี้ เพื่อสลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์ ทั้งมวล และเพื่อทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลนิพพาน"

ความเป็นมาของการถวายผ้าอาบน้ำฝน

                      สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร นางวิสาขาได้ทูลอาราธนาพระศาสดาและหมู่สงฆ์ไปฉันที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้น เช้าวันนั้น เกิดฝนตกครั้งใหญ่ พระบรมศาสดารับสั่งกับภิกษุสงฆ์ว่า ให้ออกไปสรงสนาน กายกัน เพราะเป็นครั้งสุดท้ายที่ฝนห่าใหญ่ตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้งสี่

 


           ฝ่ายนางวิสาขาสั่งให้หญิงรับใช้ไปนิมนต์พระ เมื่อนางไปถึงวัด เห็นพระภิกษุ เปลื้องผ้าสรงสนานกาย ก็เข้าใจว่าในอารามมีแต่พวกชีเปลือย จึงกลับบ้านไปเล่าเรื่องนั้นให้นายหญิงฟัง นางวิสาขาเป็นสตรีที่ฉลาดรู้แจ้งในเหตุการณ์ทุกอย่าง จึงให้หญิงรับใช้กลับไปนิมนต์พระอีกครั้ง เมื่อนางกลับไปก็เห็นพระสงฆ์นุ่งสบง ห่มจีวรเรียบร้อยทุกรูป จึงได้เข้าไปกราบอาราธนา

            ครั้นได้เวลา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองบาตรจีวรเสด็จหายไปจาก พระเชตวันมาปรากฏที่ซุ้มประตูบ้านนางวิสาขา ดุจบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียด ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย พร้อมด้วยพระสงฆ์ ขณะนั้น นางวิสาขากล่าวว่า "ชาวเราผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริงหนอ พระตถาคตชื่อว่ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพราะเมื่อห้วงน้ำไหลนองไปเพียงเข่าบ้าง เพียงสะเอวบ้าง เท้าหรือจีวรของภิกษุแม้รูปหนึ่ง ก็ไม่ได้เปียกน้ำเลย" จากนั้นได้ประเคนภัตตาหารอันประณีตแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

                      เมื่อได้โอกาสอันควร วิสาขามหาอุบาสิกาจึงทูลขอพร ๘ ประการจาก พระศาสดา คือ

                       ๑. ขอถวายผ้าอาบน้ำแก่พระสงฆ์ เพื่อปกปิดร่างกาย
                       ๒. ขอถวายภัตแก่พระอาคันตุกะ
                       ๓. ขอถวายภัตแก่พระผู้เตรียมตัวจะเดินทาง
                       ๔. ขอถวายคิลานภัตแก่พระอาพาธ
                       ๕. ขอถวายภัตแก่พระผู้พยาบาลพระอาพาธ
                       ๖. ขอถวายคิลานเภสัชแก่พระผู้อาพาธ
                       ๗. ขอถวายยาคูเป็นประจำแก่สงฆ์
                       ๘. ขอถวายผ้าอาบน้ำแก่ภิกษุณีสงฆ์ เพื่อปกปิดความไม่งามและไม่ให้ถูกเย้ยหยัน

 

 

 

       พระพุทธองค์ตรัสถามว่า "วิสาขา ก็เธอเห็นอานิสงส์อะไร จึงขอพร ๘ ประการต่อตถาคต" นางวิสาขากราบทูลว่า " พระพุทธเจ้าข้า ในเวลาที่พระองค์ทรงพยากรณ์ภิกษุรูปใดว่าได้บรรลุโสดาปัตติผล...หรืออรหัตผล หม่อมฉันจักเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น เพื่อถามว่าเคยรับทานจากโยมหรือเปล่า ครั้นทราบว่าเคยรับ หม่อมฉันก็จะเกิดความปลื้มปีติในบุญ อิ่มเอิบเบิกบานใจมากขึ้น... หม่อมฉันเห็นอานิสงส์นี้จึงขอประทานพร ๘ ประการ พระพุทธเจ้าข้า"

         พระบรมศาสดาทรงให้สาธุการว่า "ดีละ วิสาขา เราอนุญาตพร ๘ ประการแก่เธอ" ตรัสอนุโมทนาว่า "สตรีใดให้ข้าวและน้ำ มีใจเบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล.. ครอบงำความตระหนี่แล้ว บริจาคทานอันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ สตรีนั้น... ย่อมได้กำลังและอายุเป็นทิพย์ สตรีผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมีสุข สมบูรณ์ด้วยอนามัย ย่อมปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน" และด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน

 

 

จำพรรษาในกลางกาย

             การจำพรรษาในพระธรรมวินัยนี้ เกิดจากการที่พระบรมศาสดา ทรงปรารภเหตุการณ์ที่ชาวบ้าน ในอดีตได้กล่าวติเตียนภิกษุ จึงทรงกำหนดขอบเขตให้ภิกษุ จำพรรษา แต่ในความจริงแล้วมีเป้าหมายที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น คือ พระองค์ทรงมีพุทธประสงค์ให้ภิกษุ มีเวลาได้ประพฤติปฏิบัติ ขัดเกลาจิตใจของตนอย่างเต็มที่ จนหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้ให้โอวาท แก่พระภิกษุสามเณรในวันเข้าพรรษา เกี่ยวกับการเข้าพรรษาที่แท้จริง มีใจความตอนหนึ่งว่า

            "การจำพรรษาตามพระวินัยนั้น มีขอบเขตตามที่สงฆ์ได้กำหนดไว้ แต่ขอบเขตของการจำพรรษาในระดับที่ลึกลงไปอีก คือ จำพรรษาอยู่ภายในวงกายของเรา กายยาววา หนาคืบ กว้างศอกนี้ ให้เป็นปริมณฑลของใจ เป็นสถานที่จำพรรษา ของเรา โดยเอาใจมาหยุดอยู่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ถูกต้องในการเดินทางไปสู่อายตนนิพพาน ถ้าเอาใจมาหยุดอยู่ตรงนี้ตลอดวันตลอดคืน เรียกได้ว่า เป็นการจำพรรษาอย่างแท้จริง"

 

 

               เนื่องในโอกาสวันเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ แม้จะเป็นฆราวาสก็สามารถจำพรรษาได้เหมือนกัน โดยการเอาใจของเรามาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จำพรรษาอยู่ในวงกาย ยาววา หนาคืบ กว้างศอกได้เช่นกัน และเป็นโอกาสดีที่จะได้เพิ่มพูนทานบารมี โดยการถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายยารักษาโรค เป็นต้น โดยมีวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นแบบอย่างในการถวายทาน ๘ ประการ แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมานานปี แต่เราก็ยังสามารถถวายทานเหล่านี้ได้ โดยสำรวจดูว่า ในทาน ๘ ประการ เรายังไม่ได้ทำทานใด ก็พึงทำทานนั้นให้ครบถ้วนบริบูรณ์ เช่นนี้จึงได้ชื่อว่า เป็นอุบาสกอุบาสิกาแก้ว ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาเหมือนมหาอุบาสิกาวิสาขา

               ดังนั้น จึงขอเรียนเชิญพุทธบริษัททั่วโลกมาร่วมจำพรรษาที่แท้จริง และสั่งสมบุญอย่างเต็มที่ตลอด ๓ เดือนเต็ม เพื่อให้พรรษานี้เป็นพรรษาแห่งการสั่งสมบุญ และเป็นพรรษาแห่งการยกชั้นของนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ได้บรรลุธรรมาภิสมัยกันทุกคน...

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล