ฉบับที่ 98 ธันวาคม ปี2553

นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลง "โลก"

ทันโลกทันธรรม

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ (M.D.; Ph.D.)

 

 

        นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองทั่วโลก ในอีก ๕ ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้อง กับเรื่องคอมพิวเตอร์ คือ เอาเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการปรับเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ปรับตึกให้เป็นตึกอัจฉริยะ ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปด้วยความ คล่องแคล่ว แต่ที่อยากให้พวกเราให้ความสำคัญ ก็คือ นวัตกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องจิตใจ เพราะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับเรามาก ๆ และจะช่วยเปลี่ยน แปลง เมืองทั่วโลกในอีก ๕ ปีข้างหน้าเช่นเดียวกัน

         ภาวะความเป็นจริงที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือ เมืองขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ คนในชนบทอพยพมาอยู่ในเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าเมืองเป็นทั้งแหล่ง เรียนหนังสือ เป็นทั้งแหล่งทำงานที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าในชนบท โอกาสที่มากกว่าจึงเป็นแรงดึงดูด ให้คนมาอยู่ในเมืองมากขึ้น ยิ่งมาอยู่มาก ก็ยิ่งเกิดระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ มารองรับผู้คนจำนวนมาก แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ ในชนบทคนรู้จักกันเกือบ ทั้งหมู่บ้าน แต่คนในเมืองที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรร หรือตึกแถวที่ติด ๆ กัน บ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน อยู่มาเป็น ๑๐ ปี ก็ยังไม่รู้จักกัน อาจจะเคยทักกันคำสองคำ ยิ่งถ้าห่างออกไป ๒-๓ บ้าน บางทีอยู่มาแล้วเป็น ๑๐ ปี ไม่เคยคุยกันเลยก็มี ถามว่าในหมู่บ้านจัดสรร ที่อาจมีสัก ๕๐๐ หลังคาเรือน จะรู้จักกันถึง ๕ หลังคาเรือนหรือเปล่า แต่ในชนบท ๕๐๐ หลังคาเรือน อาจจะรู้จักกัน ๓๐๐-๔๐๐ หลังคาเรือน รู้จักกันถึงรุ่นพ่อ รุ่นปู่

         มีอาจารย์ท่านหนึ่ง เรียนจบปริญญาเอกจาก ญี่ปุ่น เล่าให้อาตมาฟังก่อนที่อาตมาจะไปญี่ปุ่นว่า ในโตเกียวมีคนอยู่ ๑๐ กว่าล้านคน เวลาท่านเดินในโตเกียว รอบ ๆ ตัวมีคนเดินพลุกพล่าน แต่ในใจ ของท่านรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว เป็นความโดดเดี่ยว และความเหงาที่เกิดขึ้นท่ามกลางผู้คนมากมายมหาศาล คิดว่าในกรุงเทพฯ คนที่รู้สึกอย่างนี้ก็มีไม่ น้อยเหมือนกัน เวลาไปตามห้างสรรพสินค้า ไปตามสถานีรถไฟฟ้า หรือเดินตามถนน แม้มีคนมากมาย แต่ก็เหงา เพราะว่าไม่รู้จักใคร ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น บางครั้งในบ้านเดียวกัน พ่อ แม่ ลูก

ยังแทบไม่ค่อยได้คุยกัน ต่างคนต่างก็นั่งอยู่หน้า จอคอมพิวเตอร์จอใครจอคนนั้น เข้าอินเทอร์เน็ตบ้าง เล่นเกมส์บ้าง มีโลกส่วนตัวอยู่ในนั้น แต่ละคนมีความรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกกับสังคมรอบตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

         ลองมาดูในระดับชุมชนกันก่อน ทำไมคน ในชนบทรู้จักกัน แต่คนในกรุงไม่ค่อยรู้จักกัน เราอย่าไปโทษว่าเป็นเพราะคนในกรุงไม่มีน้ำใจ จริง ๆ แล้วไม่ใช่ แต่เป็นเพราะวิถีชีวิตต่างกัน ในชนบทเขาทำการเกษตร ทำไร่ ไถนา ปลูกพืชปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ แล้วก็อยู่กันมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย งาน ที่ทำอยู่บางคราวก็มีกิจกรรมให้ต้องทำร่วมกัน เช่น คนที่ทำนาถึงเวลาก็ต้องไปลงแขกช่วยกันเกี่ยวข้าว นวดข้าว วันนี้เกี่ยวข้าวนาของฉันเธอมาช่วย วันที่เกี่ยวข้าวนาของเธอ ฉันจะไปช่วยเธอสลับกันไป มีกิจกรรมให้ต้องช่วยกันอย่างนี้ตลอดทำให้รู้จักคุ้นเคยกัน ถึงคราวจะพักผ่อนหย่อนใจก็ไปที่วัดเพราะวัดเป็นแหล่งรวมทุกอย่าง ไปถึงฝ่ายหญิงเข้า ครัวช่วยเตรียมข้าวปลาอาหาร ฝ่ายชายช่วยกันเตรียมสถานที่ แล้วก็ฟังพระเทศน์ด้วยกัน และช่วยกันทำงานบุญต่าง ๆ เช่น ขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเจดีย์ทราย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย ฉะนั้นคนในชุมชนจึงมีกิจกรรมร่วมกันตลอดเวลา องค์ประกอบอื่นของสังคมที่จะดูดเวลาไปยังมีน้อย โรงหนังก็ยังไม่มี บาร์ ผับ ก็ไม่มี อะไร ๆ ก็อยู่ที่วัด และวัดก็มีลักษณะ open คือ มีลักษณะเปิด ใครมาก็เจอหน้าเจอตากัน

         แต่ว่ายุคปัจจุบัน ในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ ๆ มีคนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ ที่มาเรียนหนังสือก็ไปเรียนกันคนละโรงเรียน มหาวิทยาลัยคนละแห่ง ทำงานคนละบริษัท เช้าตื่นมาต้องรีบไป ทำงาน บางคนก็ขับรถไป บางคนก็ขึ้นรถเมล์ เย็นกว่าจะกลับก็มืดค่ำ หมดแรง ต่างคนต่างเข้าบ้าน ของตัว ในชุมชนแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านจัดสรร หรือชุมชนต่าง ๆ ในเมืองกิจกรรมร่วมที่ทุกคนในชุมชนทำร่วมกันมีน้อยกว่าในชนบทมาก ทำให้ความคุ้นเคยของคนมีจำกัดบางทีถ้าจะมีความคุ้นเคยเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าประสงค์ เช่น วัยรุ่นมาจับกลุ่มกันไปขับมอเตอร์ไซค์ซิ่ง หรืออะไรต่าง ๆ อันนี้กลับไม่ค่อยดี ยิ่งสังคมพัฒนามากขึ้น กลายเป็นว่าสิ่งที่เราต้องเสียไป กับสิ่งที่เราได้มาต้องดูว่าคุ้มกันหรือเปล่า ต้องยอมรับว่าเมื่อเศรษฐกิจ พัฒนาไป ชีวิตมนุษย์มีความสะดวกสบายขึ้นมาก บางคนมีลักษณะโหยหาอดีต รู้สึกว่าสังคมเมื่อร้อยปีที่แล้วสวยงามมาก อันที่จริงก็เป็นบางมุม แต่ใน บางมุมก็ขาดแคลน เช่น เวลาไม่สบาย หยูกยารักษาโรคก็หาลำบาก ไม่สบายขึ้นมาก็ตายง่าย ๆ เพราะว่าหาหมอยากเดินทางก็ไม่สะดวก ข้าวของสิ่งอำนวยความสะดวกก็มีน้อย ปัจจุบันต้องการอะไรสะดวกสบายไปทุกอย่าง แต่สิ่งที่ต้องแลกไปคือเวลา

         สมัยก่อนคนมีอาชีพทำไร่ ทำนา ในเวลา ๑ ปี เวลาที่งานยุ่งจริง ๆ ไม่นาน ไถนา หว่านข้าว เสร็จ ก็ไม่ค่อยยุ่งแล้ว รอให้ข้าวออกรวง ระหว่างนั้นก็ไปวิดน้ำเข้านาบ้าง หรือว่าดูระดับน้ำให้พอดี และคอยระวังอย่าให้มีศัตรูพืชมารบกวน เป็นงาน สบาย ๆ ไปยุ่งอีกครั้งตอนเกี่ยวข้าวและนวดข้าว ถ้าทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยก็จะค่อนข้างว่าง จะยุ่งอีกครั้งก็ฤดูฝนหน้า ฉะนั้นจริง ๆ แล้ว ในเวลา ๑ ปี งานไม่ยุ่งมากนัก เวลาเหลือค่อนข้างมาก แต่ยุคปัจจุบันยุ่งตลอด ชีวิตถูกบีบรัดด้วยเวลามาก ๆ เพราะถ้าเราไม่รีบเดี๋ยวสู้เขาไม่ได้ ส่วนตัวก็ต้องแข่งกับคนอื่น บริษัทก็ต้องแข่งกับบริษัทอื่น ถ้าไม่ทุ่มเทเดี๋ยวก็สู้เขาไม่ได้ ทุกคนถูกบีบให้อยู่ในลู่ แล้วก็วิ่งแข่งกัน แต่พอแข่ง ๆ ไปแล้ว สิ่งที่ได้มาคือความสะดวกสบายบางอย่าง แต่ถ้าทางใจพร่อง เหงา พอทำ ๆ ไปแล้วไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร อย่างนี้ก็น่าเสียดาย

         ถามว่าจะแก้อย่างไร เขาบอกว่าตอนนี้กำลัง จะเกิดนวัตกรรมใหม่ที่จะเปลี่ยนเมืองทั่วโลก ก็คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน คือ ต้องสร้างกิจกรรม ร่วมในชุมชน เราจะเปลี่ยนเมืองให้เป็นเหมือนในชนบทไม่ได้ เพราะวิถีชีวิตคนเปลี่ยนไปแล้ว ต้อง เสริมจุดที่ขาด คือดึงให้คนในชุมชนมามีกิจกรรมร่วมกัน โดยใช้เรื่องการศึกษาธรรมะ เพราะเรื่องธรรมะเป็นเรื่องที่ไม่มีวัย จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถศึกษาธรรมะได้เช่นเดียวกัน ไม่จำกัดด้วยวัย ไม่จำกัดด้วยเพศ แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นความสนใจจะต่างกัน เช่น เรื่องหนัง เด็กจะสนใจหนังแบบหนึ่ง ผู้ใหญ่สนใจอีกแบบหนึ่ง ความสนใจที่ต่างกันทำให้ มีช่องว่างระหว่างวัย แต่ธรรมะเป็นเรื่องกลาง ๆ ที่ ทุกคนสามารถศึกษาได้หมด "แล้วถ้าหากทุกคนเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องบุญ เรื่องวัฏสงสาร เรื่องนรก สวรรค์ บุญ บาป เป้าหมายชีวิต ชีวิตก็จะมีเป้าหมาย ไม่เคว้งคว้างไปวัน ๆ หนึ่ง" แม้ต้องทำการงานเพื่อหาปัจจัย ๔ มาหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ขณะเดียวกันบุญก็ต้องสร้างด้วย จะได้เป็นเสบียงต่อไปในภพเบื้องหน้า เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเกิดแรงบันดาลใจที่จะมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องการบุญการกุศลร่วมกัน

         สิ่งนี้หลาย ๆ คนก็เคยคิดว่าน่าจะมี แต่ก็เป็นแค่แนวคิด แต่บัดนี้จากแนวคิดเริ่มจะไปสู่การปฏิบัติแล้ว คือ การบวชอุบาสิกาแก้ว การบวชพระธรรมทายาท บางครั้งเป็นแสนหรือหลาย ๆ แสนรูป ซึ่งจะค่อย ๆ กระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการปฏิบัติธรรม การสร้างบุญสร้างกุศล มากขึ้น ๆ จะได้ไปเป็นผู้นำทางศีลธรรมในชุมชน ถ้าสามารถขยายสิ่งนี้ให้ทั่วถึงและกว้างขวางไปทั้งประเทศ ผลคือทุกชุมชนจะเกิดกิจกรรมขึ้นมา เช่น วันจันทร์ไปสวดมนต์บ้านนี้ วันอังคารไปบ้านนั้น บ้านใครสะดวกรวมคนได้ก็รวม แล้วมาสวดมนต์ ทำกิจกรรมร่วมกัน ชุมชนจะเริ่มเกิดกิจกรรมร่วมกันแบบใหม่ แม้ที่ทำงานอยู่คนละที่ เรียนหนังสือคนละแห่งก็ไม่มีปัญหา ถึงคราววันเสาร์เช้านิมนต์พระมารับบาตร วันอาทิตย์ไปวัด อย่างนี้เป็นต้น ก็จะเกิดกิจกรรมร่วมกัน ชุมชนก็จะเริ่มมีความคุ้นเคย ความเหงาในท่ามกลางผู้คนมากมายก็จะไม่เกิดขึ้น และยังเป็นกิจกรรมร่วมของชุมชนที่สร้างสรรค์ ทำให้ ชุมชนสงบร่มเย็น เด็กก็เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้ใหญ่ก็มีความสุข มีอะไรก็เกื้อกูลกัน นั่นคือสังคมในอุดมคติที่เราอยากจะเห็น

 




 

         บัดนี้ สิ่งนี้ไม่ใช่ความฝันอีกแล้ว แต่กำลังจะ เป็นความจริง เพราะเราได้ทำกันมาแล้ว และทำใน สิ่งที่ใคร ๆ คิดว่าไม่น่าจะทำได้ แต่ก็ก้าวมาหลาย ก้าวแล้ว บวชพระ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ก็ช่วยกันทำมาแล้ว อุบาสิกาแก้ว ๑๐๐,๐๐๐ คน ก็ทำแล้ว อุบาสิกาแก้ว ๕๐๐,๐๐๐ คน ก็ทำมาแล้ว ธันวาคมนี้ก็จะทำอุบาสิกา แก้ว ๑,๐๐,๐๐๐ คน คลื่นความดีเริ่มขยายกว้างออกไป เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่โลกทั้งโลกแสวงหา ไม่เฉพาะที่ประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร บัดนี้ วิธีการมาถึงแล้ว รอแต่เพียงให้ทุกคนเห็นความสำคัญ "แล้วช่วยกันคนละไม้คนละมือ เดินหน้าเข็นกงล้อธรรมจักรให้เคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อนำความสงบเย็นแห่งพุทธธรรมไปเป็นที่พึ่งของมหาชน" นวัตกรรมนี้ต่างหากที่จะเปลี่ยนแปลงโลกทั้งโลกภายใน ๕ ปีได้อย่างอัศจรรย์ ช่วยกันทำให้ขยายไปทั่วทั้งประเทศไทยให้เร็วที่สุดภายใน ๒-๓ ปี แล้วให้ขยายออกไปทั้งโลก เพื่อนำความสงบร่มเย็น กลับคืนมาสู่สังคมโลก

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล