ฉบับที่ 58 สิงหาคม ปี 2550

ความแตกต่างระหว่าง อกุศลกรรมบถและกุศลกรรมบถ

พระธรรมเทศนา

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาพระภาวนาวิริยคุณ(หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

ตอนที่ ๓

กุศลกรรมบถ ๑๐


ความหมายของกุศลกรรมบถ
กุศลกรรมบถ เป็นคำสมาส มาจากศัพท์ ๒คำ คือ กุศลกรรม + บถ

กุศลกรรม แปลว่า การกระทำที่ดี
บถ แปลว่า ทาง วิธี
กุศลกรรมบถ จึงแปลว่า ทางแห่งการกระทำ ที่ดี

กุศลกรรมบถ หมายความว่า ทางแห่งการกระทำความดี ๓ ทางคือ ทางกาย ๓ ประการ ทางวาจา ๔ ประการ
และทางใจ ๓ ประการ รวมเรียกว่า กุศลกรรมบถ ๑๐

กุศลกรรมบถนี้มีชื่อเรียกได้อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า ธรรม, ธรรมที่ไม่มีอาสวะ, ธรรมที่ไม่มีโทษ, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน,สัทธรรม

ขอบเขตของกุศลกรรมบถ

กุศลกรรมบถ แบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม

กุศลกรรมบถทางกายกรรม มี ๓ ประการ คือ
๑. เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๓. เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามกุศล

กรรมบถทางวจีกรรม มี ๔ ประการ คือ
๑. เว้นขาดจากการพูดเท็จ
๒. เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
๓. เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
๔. เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ

กุศลกรรมบถทางมโนกรรม มี ๓ ประการ คือ
๑. ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น
๒. ไม่มีจิตคิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น
๓. มีความเห็นชอบ

เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์

        เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ หมายถึง การที่บุคคลใดเป็นผู้มีความเมตตากรุณา ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ อีกทั้งมีความเอ็นดูหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง

การเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์นั้นครอบคลุมถึงการกระทำใน ๔ ลักษณะ ดังนี้คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง
๒. ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการฆ่าสัตว์
๓. พอใจในการเว้นจากการฆ่าสัตว์
๔. กล่าวสรรเสริญการเว้นจากการฆ่าสัตว์

เว้นขาดจากการลักทรัพย์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ หมายถึง การที่บุคคลใดเป็นผู้ไม่ถือเอาทรัพย์สิ่งของที่บุคคลอื่น ไม่ได้ให้โดยทางทุจริต

การเว้นขาดจากการลักทรัพย์นั้นครอบคลุมถึงการกระทำใน ๔ ลักษณะ ดังนี้คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์ด้วยตนเอง
๒. ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการลักทรัพย์
๓. พอใจในการเว้นจากการลักทรัพย์
๔. กล่าวสรรเสริญการเว้นจากการลักทรัพย์

เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม หมายถึง การที่บุคคลใดเว้นจากการล่วงเกินในสตรีที่อยู่ในความปกครองดูแลรักษาของมารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว
น้องสาว ญาติ ศาสนา สตรีมีสามี สตรีที่มีคู่หมั้น

การเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามนี้ ครอบคลุมถึงการกระทำใน ๔ ลักษณะ คือ
๑. เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามด้วยตนเอง
๒. ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๓. พอใจในการเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. กล่าวสรรเสริญการเว้นจากการประพฤติผิด ในกาม

เว้นขาดจากการพูดเท็จ
เว้นขาดจากการพูดเท็จ หมายถึง การที่บุคคลใดเว้นจากการเจตนาพูดให้ผู้ฟังเข้าใจผิดไปจากความจริง เมื่อรู้
สิ่งใดก็พูดสิ่งนั้น เมื่อไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ เมื่อเห็นก็บอกว่าเห็น เมื่อไม่เห็นก็บอกว่าไม่เห็น

การเว้นขาดจากการพูดเท็จนี้ ครอบคลุมถึงการกระทำใน ๔ ลักษณะ ดังนี้คือ
๑. เว้นขาดจากการพูดเท็จด้วยตนเอง
๒. ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการพูดเท็จ
๓. พอใจในการเว้นจากการพูดเท็จ
๔. กล่าวสรรเสริญการเว้นจากการพูดเท็จ

เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด หมายถึง การที่บุคลใดฟังความข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือสมานคนที่แตกร้าว หรือ ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วให้ชื่นชอบยินดี ให้เพลิดเพลินในความพร้อมเพรียง รวมถึงการกล่าวแต่คำที่ทำให้เกิด
ความพร้อมเพรียงกัน

การเว้นขาดจากการพูดส่อเสียดนี้ ครอบคลุม ถึงการกระทำใน ๔ ลักษณะ ดังนี้คือ
๑. เว้นขาดจากการพูดส่อเสียดด้วยตนเอง
๒. ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการพูดส่อเสียด
๓. พอใจในการเว้นจากการพูดส่อเสียด
๔. กล่าวสรรเสริญการเว้นจากการพูดส่อเสียด

เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ หมายถึง การที่บุคคลใดกล่าววาจาที่ไม่มีโทษ ไพเราะหู ชวนให้รัก จับใจ ประกอบด้วย
คำสุภาพ เป็นที่พอใจ รักใคร่ของผู้ฟัง

การเว้นขาดจากการพูดคำหยาบนี้ ครอบคลุม ถึงการกระทำใน ๔ ลักษณะ คือ
๑. เว้นขาดจากการพูดคำหยาบด้วยตนเอง
๒. ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการพูดคำหยาบ
๓. พอใจในการเว้นจากการพูดคำหยาบ
๔. กล่าวสรรเสริญการเว้นจากการพูดคำหยาบ

เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ หมายถึง การที่บุคคลใดพูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ อิงธรรม อิงวินัย พูดแต่คำเป็นหลักฐาน มีที่อ้างอิงและมีประโยชน์

การเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อนี้ ครอบคลุม ถึงการกระทำใน ๔ ลักษณะ คือ
๑. เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อด้วยตนเอง
๒. ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๓. พอใจในการเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๔. กล่าวสรรเสริญการเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น
ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น หมายถึง การที่บุคคลใดไม่เพ่งเล็งที่จะเอาทรัพย์สิ่งของของผู้อื่นในทาง มิชอบการไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นนี้
ครอบคลุมถึงการกระทำใน ๔ ลักษณะ คือ
๑. ไม่อยากได้ของของผู้อื่นด้วยตนเอง
๒. ชักชวนผู้อื่นให้ไม่อยากได้ของของผู้อื่น
๓. พอใจในการไม่อยากได้ของของผู้อื่น
๔. กล่าวสรรเสริญการไม่อยากได้ของของผู้อื่น

ไม่มีจิตคิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น
ไม่มีจิตคิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น หมายถึง การที่บุคคลใดไม่มีความชั่วร้ายในใจ เป็นผู้ไม่จองเวร ไม่มีความมุ่งร้ายผู้อื่น ปรารถนาให้ผู้อื่นไม่มีทุกข์ มีแต่ความสุข

การไม่มีจิตคิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่นนี้ ครอบคลุมถึงการกระทำใน ๔ ลักษณะ คือ
๑. มีจิตไม่คิดปองร้ายด้วยตนเอง
๒. ชักชวนผู้อื่นให้ไม่คิดปองร้าย
๓. พอใจในการไม่คิดปองร้าย
๔. กล่าวสรรเสริญการไม่คิดปองร้าย

มีความเห็นชอบ
มีความเห็นชอบ หมายถึง การที่บุคคลใดมีความเห็นไม่วิปริตว่าทานที่บุคคลให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผลของกรรมดีกรรมชั่วมโลกนี้โลกหน้ามี มารดาบิดามีคุณ นรกสวรรค์มี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ได้เองโดยชอบมี

การมีความเห็นชอบนี้ ครอบคลุมถึงการกระทำใน ๔ ลักษณะ คือ
๑. มีความเห็นชอบด้วยตนเอง
๒. ชักชวนผู้อื่นให้มีความเห็นชอบ
๓. พอใจในความเห็นชอบ
๔. กล่าวสรรเสริญความเห็นชอบ
 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล