ฉบับที่ 113 มีนาคม ปี2555

พิธีบรรพชาสามเณร ๒๙๔ รูป ณ ประเทศบังกลาเทศ

เรื่องเด่น

เรื่อง : ธัมมยันตี

 



 

พิธีบรรพชาสามเณร ๒๙๔ รูป

ณ ประเทศบังกลาเทศ

        นิมิตหมายแห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นแล้ว ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เมื่อเหล่าธรรมทายาทโครงการ บรรพชาสามเณร ๒๙๔ รูป บูชาธรรมท่านบานะ ภันเต ได้กล่าวคำปฏิญาณ พร้อมกันว่า "สุขา สังฆัสสะ สามัคคีŽ" ๓ ครั้ง เพื่อประกาศถึงความสามัคคีที่จะนำความสุขที่แท้จริงกลับคืนสู่เมืองพุทธในอดีตแห่งนี้ให้ได้

       ท่านบานะ ภันเต อายุ ๙๓ ปี เป็นพระ สุปฏิปันโนที่สาธุชนนับล้านในบังกลาเทศเคารพบูชา เช่นเดียวกันกับพระอรหันตสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงแม้สังขารจะไม่เอื้ออำนวย แต่ท่านก็ ยังปรารภความเพียรปฏิบัติธรรมอย่างไม่ลดละ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สาธุชนนับล้าน แม้ต่างศาสนาก็ เกิดความศรัทธาและยึดถือเป็นต้นแบบในการปฏิบัติธรรมแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และทำให้มี ผู้สมัครบวชครบ ๒๙๔ รูป เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แบบไม่มีตกหล่น

        ในที่สุดวันที่แม่ชาวบังกลาเทศรอคอยก็มาถึง เมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ การบรรพชา สามเณร ๒๙๔ รูป ณ วัดราชบัณณะวิหาร เป็นไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ มีท่านรองสังฆราชญาณรัตนะ ท่านบานะ ภันเต และพระครูวรกิตติโสภณ เจ้าอาวาสวัดนาคปรก พระอุปัชฌาย์ เมตตาให้โอวาทแก่ธรรมทายาท และในโอกาสนี้ ท่านบานะ ภันเต ได้กล่าวชื่นชมวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีพระเทพญาณมหามุนีเป็นเจ้าอาวาส ว่าพูดจริง ทำจริง และสำเร็จจริง

 









 

ในที่สุด...วันที่แม่ชาวบังคลาเทสรอคอยก็มาถึง..

       ภาพการบรรพชาสามเณรครั้งนี้ ทำให้เกิดกระแสการบวชในบังกลาเทศ แม้ชนต่างศาสนาก็ขอมีส่วนร่วมในการสร้างสันติสุขในสังคมด้วย ขณะเดียวกันราชาเดวาสิส รอย ราชาผู้นำชนเผ่าจั๊กมาร์ ก็อยากจัดบวช ๑,๐๐๐ รูป ส่วนคุณปาราช บารัว ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ก็ตั้งผังสำเร็จว่าจะจัดบวช ๑,๐๐๐ รูป โดยการรวมผู้นำชาวพุทธและองค์กรชาวพุทธมาช่วยกันวางแผนจัดงานบวช โดยเริ่มต้นจากการตั้งศูนย์ประสานงานขึ้น มีชื่อว่า DIMC of Bangladesh และที่สำคัญคือพระอาจารย์ ดร.กียานรัตนะ ได้นำคณะทำงานลูกพระธัมฯ เข้าถวายรายงานโครงการบรรพชา ๒๙๔ รูป แด่พระสังฆราชบังกลาเทศ ซึ่งทำให้ท่านปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง และปวารณาตัวเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการ จัดบวช ๑,๐๐๐ รูป ต่อไป

        ส่วนสามเณรใหม่ได้เริ่มต้นเป็นเนื้อนาบุญในพิธีตักบาตรพระและสามเณรใหม่กว่า ๑,๐๐๐ รูป เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยมีชาวบังกลาเทศไปใส่บาตรประมาณ ๓,๐๐๐ คน และมีอาสาสมัครนับร้อยคน โดยมีราชาเดวาสิส รอย ให้เกียรติมาเป็นประธานฝ่ายฆราวาส

        ในช่วงการเตรียมงานตักบาตร สาธุชนในท้องถิ่นเกิดความไม่เข้าใจ เพราะว่าประเพณีการตักบาตรที่ทำกันมาจนเคยชินในบังกลาเทศนั้น พระภิกษุสามเณรต้องยืนนิ่ง ๆ ให้โยมเข้าแถวเดินไปใส่บาตรเอง นอกจากนี้ พวกเขายังใส่อาหารเปียก และอาหารแห้งผสมปนเปกันลงไปในบาตร แต่เมื่อทีมงานแนะให้ทำ นำให้ดูแล้ว ความเป็นระเบียบ ก็เกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้ทุก ๆ คนเกิดความศรัทธาในวัฒนธรรมชาวพุทธ ที่ทีมงานจากวัดพระธรรมกายนำ know how ไปแบ่งปันให้เรียนรู้

 



 

        ในโอกาสนี้ ธรรมทายาททุกท่านยังได้รับทราบ ผลงานต่าง ๆ ของวัดพระธรรมกายผ่านการนำเสนอ ของพระอาจารย์ โดยเฉพาะโครงการธุดงค์ธรรมชัย ซึ่งธรรมทายาทต่างเรียกร้องให้จัดขึ้นที่บังกลาเทศบ้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นการบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ เพราะท่านบานะ ภันเต คณะสงฆ์ และสาธุชนส่วนใหญ่ในบังกลาเทศ มีความเคารพบูชาพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ว่าเป็นพระผู้บรรลุธรรมแล้ว แม้แต่พระสังฆราชและ มหาสังฆนายกของบังกลาเทศ ซึ่งชนต่างศาสนา ที่นั่นนับถือว่าเป็นกูรู ก็ยังนับถือหลวงปู่ของเรา

        เมื่อกระแสธุดงค์ธรรมชัยบวกกับกระแสธรรม ของพระมงคลเทพมุนีแผ่ไปถึงบังกลาเทศ จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเดินธุดงค์ธรรมชัยในวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ นี้ ที่ทุกรูปพร้อมใจกันเดินธุดงค์ไปโปรดญาติโยมกลางเมืองรังกามาติ จนกระทั่ง รถทุกคันต้องจอดดู ผู้โดยสารต่างยกมือไหว้ด้วยความศรัทธา ส่วนคณะพระผู้ใหญ่ของวัดราชบัณนะ หลังจากเห็นภาพโครงการธุดงค์ธรรมชัยผ่าน DMC ก็ทำการประชาสัมพันธ์ให้ญาติโยมเตรียมกลีบกุหลาบ และดอกไม้มาโปรยต้อนรับพระธุดงค์เหมือน ที่เห็นตัวอย่างจากประเทศไทย แต่พิเศษตรงที่มีการยาตราทางชลมารค เพื่อไปเดินธุดงค์บนเกาะ ซึ่ง ปรากฏว่างานนี้ไม่ใช่แค่โยมเท่านั้นที่ปลื้ม แม้แต่พระ ก็ปลื้มในศรัทธาของญาติโยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหนูน้อยอายุประมาณ ๕ ขวบ กราบเท้าของพระธุดงค์จนครบ ๒๙๔ รูป ซึ่งทุกคนต่างสุขใจที่ได้ร่วมสร้างภาพประวัติศาสตร์ที่หายไปนับพันปี ให้กลับมาสู่บังกลาเทศอีกครั้ง

 






 

        การบรรพชาในครั้งนี้ ทำให้ญาติโยมตื่นตัวที่จะเข้าวัดทำบุญ ต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็น อย่างยิ่ง เมื่อทางทีมงานตัดสินใจเปิดการอบรมอุบาสก-อุบาสิกาแก้วภาคพิเศษขึ้น ชาวบังกลาเทศต่างรีบบอกต่อ และชักชวนกันไปอบรมถึงพันกว่าคน ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมชาวพุทธและความเป็นจริง ของชีวิตที่ไม่เคยมีใครสอนมาก่อน เป็นผลให้บังเกิด กำลังสาธุชนที่พร้อมจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเคียงข้างพระภิกษุสงฆ์สืบต่อไป

 






 

        ก่อนปิดการอบรมสามเณร ทั้งคณะสงฆ์ อุบาสก และอุบาสิกา ได้มารวมใจกันครั้งใหญ่ในพิธี จุดประทีปลอยโคมเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรม ท่านบานะ ภันเต

        กิจกรรมงานบุญทั้ง ๕ ประการดังกล่าว คือ พิธีบรรพชาสามเณรธรรมทายาท พิธีตักบาตร ธุดงค์ธรรมชัย การอบรมอุบาสก-อุบาสิกาแก้ว และการจุดประทีปลอยโคมเป็นพุทธบูชา จึงเป็นเสมือน เครื่องมือในการหล่อหลอมคณะสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ทั้งของไทยและบังกลาเทศให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งในขณะนี้ มีการวางแผนจัดโครงการบรรพชาสามเณรธรรมทายาท ๑,๐๐๐ รูป ที่เมืองจิตตะกองกันแล้ว ซึ่งทุกคนต่างต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างความสำเร็จให้แก่ประเทศของตนเอง อีกทั้งมีความมั่นใจ และศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในบังกลาเทศให้กลับมาเข้มแข็ง เหมือนในครั้งพุทธกาล

 






บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล