ฉบับที่ 114 เมษายน ปี2555

ชาวพุทธจะยืนหยัด รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร

ชาวพุทธจะยืนหยัด

รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร

 

 

 การที่ชาวพุทธจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้นานแสนนานนั้น สิ่งแรกที่ต้องชัดเจนลงไปในความเข้าใจก็คือ ตัวจริงของพระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่ไหน

          พระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่ประเทศอินเดีย ไม่ได้อยู่ที่โบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่ศาลา และไม่ได้อยู่ที่วัดใดวัดหนึ่ง แต่พระพุทธศาสนาอยู่ในใจคน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนธรรมดา หรือคนนั้นจะมาบวชเป็นพระภิกษุสามเณรก็ตามที

          คนเช่นไรพระพุทธศาสนาจึงเข้าไปอยู่ในใจได้  คนที่ศึกษาแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมตาม คำสอนในพระพุทธศาสนา ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คน ๆ นั้นจึงจะมีพระพุทธศาสนาอยู่ในตัว อยู่ในใจ ไม่ว่าเขาจะได้บวชหรือไม่ได้บวชก็ตาม

          แต่ว่าโดยทั่วไป ถ้าไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ โอกาสที่จะรู้จักคำสอน โอกาสที่จะนำคำสอนมา ปฏิบัติอย่างจริงจัง มักจะไม่มี เพราะฉะนั้นปู่ย่าตาทวดของเรา อยากจะให้พระพุทธศาสนาอยู่ ในใจลูกหลาน ก็เลยสร้างขนบธรรมเนียมประเพณีว่า เกิดมาเป็นลูกผู้ชาย อย่างไรก็ต้องให้ได้บวชสักพรรษาหนึ่ง

          ส่วนลูกผู้หญิงไม่มีโอกาสได้บวชเป็นพระภิกษุ แล้วพระพุทธศาสนาจะเข้าไปอยู่ในใจได้ไหม  คำตอบคือได้ ถ้าเขาตั้งใจศึกษาและปฏิบัติ แต่ถ้าไม่ตั้งใจศึกษา ไม่ปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็คงเข้าไปอยู่ในใจเขาไม่ได้

          ในทำนองเดียวกัน แม้ว่าเป็นผู้ชาย ถ้ามาบวชเป็นพระแล้วยังไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติ มาบวชแล้ว ก็เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน กลางคืนจำวัด ถ้าอย่างนี้คำสอนของพระพุทธศาสนาก็เข้าไปอยู่ในใจเขาไม่ได้ เพราะบวชมาเพื่อนอน ไม่ได้บวชมาเพื่อขจัดขัดเกลากิเลสในตัวเอง คนประเภทนี้ แม้บวชแล้วก็รักษาพระพุทธศาสนาไม่ได้

          การที่เราไปชวนให้เขาเข้ามาบวช ตั้งใจกระจายข่าว ติดคัตเอาต์ (cutout) ประกาศเชิญชวนเขามาบวชทั่วบ้านทั่วเมือง ก็เพราะอยากจะเห็นพระพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในใจเขา

          ถ้าเขามาบวชแล้วตั้งใจปฏิบัติ ก็เป็นประโยชน์กับตัวของเขาเองเต็มที่ แล้วพระพุทธศาสนาก็จะเข้าไปอยู่ในใจของเขา นอกจากพระพุทธศาสนาจะเข้าไปอยู่ในใจของเขาแล้ว เขายังเป็น สิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเราได้อีกด้วย เพราะเขาได้เป็นกำลังของพระพุทธศาสนาไปเรียบร้อยแล้ว ในเวลาเดียวกัน เราก็จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเขาด้วย

          ถ้าเขาบวชแล้วไม่สึก เขาก็เป็นหลักให้กับพระพุทธศาสนาได้ เคียงบ่าเคียงไหล่กับเหล่าพระภิกษุทั่วประเทศได้ ถ้าเขาสึกก็จะเป็นรั้วที่ดีให้กับวัด เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับวัด แล้วก็จะไปทำหน้าที่ตามคนดี ๆ เข้ามาเป็นชาววัดอีกต่อไปในภายภาคหน้า

          เรื่องหลักของการบวชจึงเป็นเรื่องที่ผู้บวชจำเป็นต้องตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง ถ้าไม่ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง การมาบวชของเขาก็จะสูญเปล่า เพราะไม่ได้ฝึกหัดขัดเกลาจิตใจของตนเองให้ดีขึ้นเลย ความผิดนั้นก็อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของตัวเขา ส่วนว่าบวชแล้ว เขาจะกลายมาเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีของวัด หรือมาช่วยเป็นรั้วของพระพุทธศาสนาหรือไม่ เรื่องนั้นยังเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือบวชแล้วต้องตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง

          คนที่อยู่ในภาวะที่มีโอกาสบวชได้แล้ว แต่ไม่ยอมให้โอกาสตัวเองมาบวช นั่นคือนอกจากไม่ช่วยตนเองแล้ว ยังมีส่วนกร่อนทำลายพระพุทธศาสนาไปโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย แต่ผู้ที่รู้ตัวว่าสามารถ บวชได้ แต่เมื่อโอกาสยังไม่เอื้ออำนวย ก็สามารถชดเชยโอกาสของตัวเองด้วยการทำหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้อื่นได้บวช ช่วยกันไปตามคนอื่น ตามลูกตามหลาน ตามญาติมาบวชแทนตัวเอง พอเขาบวชแล้ว ก็ให้การสนับสนุนด้วยข้าวปลาอาหาร ปัจจัยสี่ต่าง ๆ เพื่อให้พระลูกพระหลานที่มาบวชได้ประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่

          ถ้าทำเช่นนี้ได้ก็จะเป็นความถูกต้องดีงามทั้งต่อตัวเองและต่ออายุ พระพุทธศาสนา เป็นการทำให้คนดีและสิ่งแวดล้อมที่ดีเกิดขึ้นในสังคม แม้ไม่ได้มาบวชแต่ก็จะได้ บุญจากการส่งเสริมความดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นอย่างมาก

          แต่อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ คนก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อเราฝึกฝนอบรม ตัวเองให้ดีขึ้นแล้ว ก็น่าจะเพียงพอ ทำไมถึงต้องมาคำนึงถึงการส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย สำหรับเรื่องนี้ก็ขอให้นึกถึงต้นไม้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นต้นอะไรก็ตามที ต่อให้เป็นต้นไม้สูงใหญ่เพียงใด แต่ถ้าโตขึ้นเดี่ยว ๆ อยู่กลางทุ่ง กลางที่โล่ง วันหนึ่งเมื่อพายุพัดโหมกระหน่ำมา ก็มีโอกาสโค่นลงจนได้ในวันใดวันหนึ่ง เพราะไม่มีอะไรช่วยต้านแรงลม ตอนลมพัดมาเบา ๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าลมพายุพัดมาแรง ๆ เมื่อไร และไม่มีต้นไม้เล็กต้นไม้น้อยขึ้นอยู่รอบ ๆ ทุกทิศทาง คอยช่วย ปะทะแรงลมไว้ด้วย ไม้ใหญ่ต้นนั้นปะทะลมพายุอย่างโดดเดี่ยวตามลำพังได้ไม่นาน ก็ต้องหักโค่น ลงมา ยืนหยัดเดียวดายอยู่กลางทุ่งต่อไปไม่ได้

          เพราะเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่ เป็นคน เป็นวัด เป็นประเทศ เป็นพระพุทธศาสนา ถ้าอยู่ลำพังเดี่ยว ๆ มันยากที่จะต้านลมแรง การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีจึงจำเป็นจะต้องทำ เพราะเราจะเป็นคนดีโดยลำพังไม่ได้ หากเป็นคนดีโดยลำพัง ไม่สนใจว่าสิ่งแวดล้อมจะดีร้ายอย่างไร สักวันก็ต้องถูกลมพายุร้ายพัดโค่นลงมาอยู่ดี

          วันนี้พระพุทธศาสนาซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทย ได้ถูกลมแรงพัดให้โยกคลอน ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดระยะเวลา ๑๐๐-๒๐๐ ปี ซึ่งที่ผ่านมานี้ พระพุทธศาสนาโดนภัยจากการล่าเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ โดนภัยจากการรุกรานของต่างศาสนา โดนภัยจากอบายมุขกัดกร่อนอยู่ทุกวันเวลา ทำให้ประชาชนห่างเหินการปฏิบัติธรรม

          สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง วัดร้างจึงได้เพิ่มขึ้น จำนวนผู้บวชแต่ละปีก็ลดลง พระภิกษุที่รักษาวัดกันอยู่ในขณะนี้ นอกจากจำนวนลดลงแล้ว ก็เป็นพระผู้เฒ่าอยู่เป็นส่วนมาก โดยเฉพาะเมื่อพวกเราได้ไปจัดงานบวชอุบาสิกาแก้ว บวชพระแสนรูปที่ผ่านมา ก็ได้ไปเห็นมาด้วยตา ของตัวเองแล้วว่า ความชำรุดทรุดโทรมของวัดวาอารามต่าง ๆ ที่หลวงพ่อหลวงปู่ช่วยกันรักษาลมหายใจเฮือกสุดท้ายเอาไว้ ตลอดจนความศรัทธาของญาติโยมที่ดูแลวัดในย่านนั้น ๆ ได้ ทรุดโทรมลงไปขนาดไหน ถ้าเรายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ลมหายใจของพระพุทธศาสนาก็จะขาดสิ้นลงไปต่อหน้าต่อตาในยุคของพวกเรานี้เอง

          เพราะฉะนั้น การที่พระภิกษุไปช่วยกันตามญาติโยมมาบวช การที่ญาติโยมไปช่วยกันตามคนมาบวช สิ่งเหล่านี้เป็นการช่วยเหลือตัวเราเองทั้งนั้น เพราะการที่เราไปตามคนมาบวชได้มากเท่าไร ทั้งพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัดนั้น ๆ และศรัทธาญาติโยมที่อยู่ในย่านนั้น ๆ ก็จะได้สิ่งแวดล้อมที่ดีเกิดขึ้นรอบตัวเขาอย่างหนาแน่นมากขึ้นเท่านั้น

          ภัยจากอบายมุข ภัยจากอาชญากร ภัยจากมิจฉาทิฐิ ภัยจากศาสนาหรือความเชื่ออื่นที่ไม่หวังดีกับพระพุทธศาสนา ภัยเหล่านี้จะถูกกันออกไป เพราะเราได้คนดีมาเป็นเพื่อน มาช่วยกันเป็น สิ่งแวดล้อมให้กับเรา แล้วเราก็จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเขา

          เมื่อสองฝ่ายมาบรรจบกัน ทั้งเขาและเราต่างก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่กันและกัน สิ่งเหล่านี้ ก็คือการกระทำตามมงคลสูตรในข้อที่ว่า "ปณฺฑิตานญฺจ เสวนาŽ" แปลว่า "การคบบัณฑิต"Ž หรือ "ปูชา จ ปูชนียานํŽ" แปลว่า "การบูชาบุคคลที่ควรบูชา"Ž ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงกับชีวิตของเรา พระพุทธศาสนาของเรา และประเทศไทยของเรา

          เพราะฉะนั้น พวกเราชาวพุทธชาวไทยที่ในวันนี้ยังมีเวลาอยู่ ก็ไปช่วยกันตามคนมาบวชให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ชวนมาบวชได้มากเท่าไร ก็ทำให้สุดฝีมือไปเลย เพราะนั่นก็คือการทำ เพื่อช่วยเหลือตัวเราเอง และช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่วัด แก่ท้องถิ่น แก่สังคม ประเทศชาติไปด้วย เมื่อทุกคนทำได้เช่นนี้ พระพุทธศาสนาก็จะเข้าไปอยู่ในใจของทุกคน ชาวพุทธทุกคนก็จะสามารถยืนหยัดรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้นานแสนนาน

 

ถ้าเขาบวชแล้วไม่สึก เขาก็เป็นหลักให้กับพระพุทธศาสนาได้

เคียงบ่าเคียงไหล่กับเหล่าพระภิกษุทั่วประเทศได้

ถ้าเขาสึกก็จะเป็นรั้วที่ดีให้กับวัด เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับวัด

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล