ฉบับที่ 131 กันยายน ปี 2556

สุนทรพจน์ ตัวแทนเปรียญธรรม ๙ ประโยค

สุนทรพจน์
ตัวแทนเปรียญธรรม
๙ ประโยค

 

สุนทรพจน์ ตัวแทนเปรียญธรรม ๙ ประโยค

 

            เกล้ากระผม พระมหาปิยณัฐ ปิยชโย ในนามตัวแทนเปรียญธรรม ๙ ประโยค ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ ขอกราบแทบเท้าพระเดชพระคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์ ผู้เป็นประธานสงฆ์ พระมหาเถระ พระเถรานุเถระ ที่ได้เมตตามาร่วมงานมุทิตาเปรียญธรรม ๙ ประโยค ในวันนี้ทุกรูป สวัสดีเพื่อนสหธรรมิก เจริญพรยอดกัลยาณมิตรผู้ใจบุญ ผู้พร้อมสนับสนุนงานพระพุทธศาสนาทุก ๆ ท่าน

             มีคำที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ปทรูปสิทธิ ว่า

                              สา มาคธี มูลภาสา            นรา ยายาทิกปฺปิกา
                            พฺรหฺมาโน จสฺสุตาลาปา    สมฺพุทฺธา จาปิ ภาสเร

             แปลความว่า นรชนผู้เกิดในปฐมกัป พรหม แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย และบุคคลผู้มิเคยได้สดับคำพูดของมนุษย์เลย ย่อมกล่าวด้วยภาษาใด ภาษานั้นคือภาษามาคธี ได้แก่ภาษาบาลี อันเป็นมูลภาษา

            เพราะเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่า ภาษาบาลีเป็นภาษาของมนุษย์ในยุคแรกของโลกและนับได้ว่าเป็นภาษาสวรรค์อย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นอมตภาษาที่เก็บรวบรวมอมตวาจาแห่งองค์พระบรมศาสดาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์บริบูรณ์ไม่มีเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานสักเพียงใด

           องค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งแต่งตั้งพระธรรมแลพระวินัยให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ในกาลที่ได้เสด็จล่วงไปแล้ว เพราะเหตุฉะนี้ ใครก็ตาม  ที่ได้มีโอกาสศึกษาภาษาบาลี อันเป็นภาษาที่เก็บบันทึก จารึกรักษาถ้อยวจนะคำสอน  ที่พระพุทธชินวรตรัสไว้ดีแล้ว ก็เปรียบเสมือนได้เข้าเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์แห่งพระชินสีห์ จะมีสักกี่คนกันเล่าที่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ในคราที่เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว และพระบาลีก็เป็นการศึกษาแขนงเดียวในโลกที่มีเป้าหมายสูงสุด คือความบริสุทธิ์และหลุดพ้นจากอาสวกิเลส

            การที่เหล่าพุทธบุตรมหาเปรียญธรรมทุกรูปได้ศึกษาพระบาลีจนมาถึงแท่นแห่งความสำเร็จเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค อันเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาตามที่คณะสงฆ์ได้กำหนดเอาไว้นั้น นับได้ว่ากระทำสิ่งที่บุคคลทั่วไปทำได้ยากอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า พระบาลีมีความละเอียดลึกซึ้งทั้งโดยอรรถและโดยพยัญชนะ หากผู้ศึกษามีแต่สติปัญญาปรีชาสามารถเพียงเท่านั้น ก็หาอาจยังกิจให้สำเร็จได้ไม่ หากแต่จะต้องมีความพากเพียรพยายามทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ อีกทั้งต้องหนักแน่นในมโนปณิธานและเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่จะธำรงสืบทอดพุทธธรรม ให้เป็นแสงสว่างชี้นำส่องทางแก่ชาวโลก ให้คงอยู่ตราบสิ้นกาลนาน

             หากว่าพระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่แล้วไซร้ ก็คงจักต้องตรัสชื่นชมเหล่า  พุทธบุตรมหาเปรียญธรรมในท่ามกลางมหาสมาคมแห่งพุทธบริษัท ๔ เป็นแน่แท้

            แม้ในวันนี้ ดวงประทีปเอกแห่งโลกจะลาลับดับลง แต่พระธรรมคำสอนอันเป็นตัวแทนแห่งพุทธองค์ยังคงดำรงอยู่ ซึ่งถูกสืบทอดต่อกันมาโดยพระมหาเถระ พระเถรานุเถระ ผู้เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำรุ่นเก่า รุ่นแล้วรุ่นเล่าได้เอาชีวิตเป็น
เดิมพัน ช่วยปกป้อง จรรโลงรักษา จนคำสอนอันบริสุทธิ์ล้ำค่าได้ตกทอดมาถึงพวกเราในทุกวันนี้ และการที่จะยังคงสามารถสืบต่อไปได้นั้น ก็จะต้องอาศัยศาสทายาท ซึ่งก็คือเหล่า กุลบุตรผู้มีศรัทธาในกาลปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำรุ่นใหม่ ถวายอกอุทิศชีวิตเข้ามาบวช  ในบวรพระพุทธศาสนา สละเสียซึ่งทางโลกา ทุ่มชีวาเป็นเดิมพัน ตรากตรำ เล่าเรียน  เพียรศึกษา จนเจนจบแตกฉานในทุกตำรา แล้วน้อมนำมาสู่การปฏิบัติจนกระทั่งได้ลิ้มรสแห่งอมตธรรม คือปฏิเวธ อันเป็นแก่นแท้ของพระศาสนา เป็นสมณะพระแท้ ๓ ป. คือ สมบูรณ์ด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือจะต้องเทศนาสั่งสอนโปรดญาติโยมทั้งหลาย โดยไม่เลือกชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ ให้ได้มีโอกาสลิ้มรสพระธรรม  อันเลิศล้ำกว่ารสทั้งปวง เมื่อเป็นได้เช่นนี้ คำสอนของพระชินสีห์ที่ถูกสืบทอดมายาวนาน กว่าสองพันปี จึงจะสามารถสืบต่อไปได้ตราบนานเท่านาน

           ในยุคนี้ซึ่งมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง แต่เหนี่ยวรั้งการพัฒนาทางด้านจิตใจ ยังมีมวลมนุษยชาติอีกมากมายที่ดำเนินชีวิตไปตามกระแสกิเลส เพราะเหตุไม่มีโอกาสได้มาศึกษาความจริงของชีวิต ว่าเกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นความรู้ที่องค์พระบรมศาสดาได้ตรัสเทศนาสั่งสอนมาตั้งแต่ ๒,๕๐๐ กว่าปีที่แล้ว เมื่อไม่ได้ศึกษาก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ดำเนินชีวิตผิดพลาด เสียโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

            ถึงเวลาแล้วที่เหล่าพุทธบริษัททั้ง ๔ ทั่วโลก โดยมีพุทธบุตรเป็นดุจช้างเท้าหน้า อุบาสก อุบาสิกา และสาธุชนทั้งหลายเป็นดุจช้างเท้าหลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เรื่องส่วนตัวให้วางอุเบกขา เอาเรื่องพระศาสนาเป็นสำคัญ เร่งฟื้นฟูศีลธรรม เผยแผ่พุทธธรรมคำสอนให้ขจรไปทั่วทุกสารทิศ กอบกู้พระศาสนาให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองเฉกเช่นสมัยพุทธกาล ให้กลองธรรมเภรีดังกึกก้องไปทั่วหล้า ให้ความไม่รู้คืออวิชชาหมดสิ้นไปจากใจของชาวโลก

           ไฟอันลุกโพลงโชติช่วงไม่เคยหมดสิ้นไปจากดวงสุริยันเพื่อทำโลกนี้ให้สว่างไสวฉันใดไฟในใจแห่งการกอบกู้พระศาสน์ให้เจริญรุ่งเรืองดังเช่นในสมัยพุทธกาล  ก็จะต้องไม่หมดไปจากดวงหทัยของเหล่าพุทธบริษัท ๔ ฉันนั้น

สมฺมาสมฺพุทฺธสาสนํ โลกสฺมึ จิรํ ติฏฺฐตุ ฯ

ขอคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงสถิตอยู่ในโลกสิ้นกาลนานฯ
กราบแทบเท้าพระเดชพระคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์ พระมหาเถระ พระเถรานุเถระทุกรูป เจริญพรยอดกัลยาณมิตรทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

 

ความในใจ ป.ธ.๙

 

สุนทรพจน์ ตัวแทนเปรียญธรรม ๙ ประโยค

พระมหายุทธนา โสภณาจาโร
(อายุ ๒๖ ปี)
วัดจองคำ จังหวัดลำปาง

              “การเรียนภาษาบาลีมีความยากหรือมีอุปสรรคมากมาย แต่ที่สำเร็จได้ก็เพราะปัจจัยสำคัญ คือ   ๑. เจ้าสำนักเรียน ต้องมีความมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง เอาใจใส่การเรียนของลูกศิษย์ ให้การส่งเสริมทุกด้าน รวมทั้งให้กำลังใจด้วย ด้านปัจจัยต่าง ๆ ก็ไม่ให้ขาด ๒. ตัวผู้เรียน ต้องมีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ เอาใจใส่การเรียนอยู่เสมอ ไม่ถอยหลังเมื่อยังไม่เห็นฝั่ง ๓. สภาพแวดล้อม มีผลอย่างมาก เหมือนเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ต้องมีความสงบ สะดวก และไม่ขาดแคลน

             “อาตมาเชื่อว่า ทุกท่านที่เรียนพระปริยัติธรรมคงมีความรู้สึกเช่นเดียวกันว่า พระสงฆ์ทุกรูปจำเป็นต้องศึกษาพระปริยัติธรรมมากถึงมากที่สุด เพราะเมื่อมาอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้าแล้ว อย่างน้อยต้องเรียนรู้ภาษาของพระองค์ ต้องแปลบาลีได้ ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นสาวกของพระองค์

            “หลวงพ่อท่านเล็งเห็นความจำเป็นของการศึกษาพระปริยัติธรรม และมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ท่านอยากให้กำลังใจผู้ที่สอบได้ ท่านจึงจัดมุทิตาสักการะเปรียญธรรม ๙ ประโยค ทุก ๆ ปี ซึ่งถือเป็นความโชคดีของผู้เรียน ที่มีผู้ใหญ่เล็งเห็นความสำคัญของตรงนี้”


ความในใจ ป.ธ.๙

 

สุนทรพจน์ ตัวแทนเปรียญธรรม ๙ ประโยค

พระมหาสันติ โชติกโร (อายุ ๓๙ ปี)
วัดราษฎร์ประชุมชนาราม
จังหวัดกาญจนบุรี

           “วันนี้ รู้สึกดีใจที่คณะสงฆ์และสาธุชนวัด    พระธรรมกายนิมนต์พระสงฆ์ที่สอบได้ในปีนี้ทั้ง ๖๕ รูป มามุทิตาสักการะ

          “ภาษาบาลีถือว่าเป็นตันติภาษา เป็นแบบอย่างที่คณะสงฆ์เถรวาทได้ศึกษาและช่วยกันรักษามา ส่วนผู้ที่อยากจะศึกษาแต่ไม่มีโอกาส ก็ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน เช่นในวันนี้เป็นต้น ก็ถือเป็นกำลังใจอย่างหนึ่ง การศึกษาบาลีไม่ยากไม่ง่าย ถ้ามีใจรักเบื้องต้นคือรักพระพุทธศาสนา และเห็นว่าบาลีเป็นภาษาที่สืบสานพระพุทศาสนา เมื่อเรามีใจอย่างนี้ก็ไม่ยากเกินไป ภาษาบาลีถือเป็นภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธ-วจนะใกล้เคียงถูกต้องมากที่สุด ตราบใดที่ยังมีการรักษาภาษาบาลีไว้ ก็จะเป็นอุปการะในการสั่งสอนสืบสานพระพุทธศาสนามิให้ออกนอกแนวทางจากพระพุทธศาสนาดั้งเดิม

          “สำหรับรุ่นน้องที่ศึกษาพระบาลี ก็ขอให้มีอิทธิบาท ๔ เบื้องต้นต้องมีใจรักพระพุทธศาสนา ส่วนข้ออื่น ๆ ก็คงไม่ยากเกินไป ถ้าเรามีฉันทะ มีความรัก มีความพอใจในภาษาบาลี ไม่มีอะไรที่เกินความสามารถของเรา”

 

สุนทรพจน์ ตัวแทนเปรียญธรรม ๙ ประโยค

พระมหาวิรัติ สุมงฺคโล
(อายุ ๖๒ ปี)
วัดเทพลีลา กรุงเทพมหานคร

          “การศึกษาบาลีเป็นหลักในการศึกษาของพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว เพราะเป็นภาษาที่รองรับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทคนิคในการเรียนของอาตมาใช้ธรรมะพื้น ๆ คือ ฉันทะ พูดง่าย ๆ คือชอบเรียน ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา เฉพาะวิชานี้อยากรู้เหลือเกิน เวลาพระเทศน์แปลว่าอย่างไร พอมาบวชเณรมาสวดมนต์ ยิ่งอยากรู้อยากเห็น

          “ตอนที่ท่องปาติโมกข์ เราเป็นพระมหา รู้ความหมายบาลี ทำให้จำได้เร็ว อาตมาท่องปาติโมกข์ตอนอายุ ๓๐ กว่า ใช้เวลาเดือนกว่าจำได้หมด เพราะเรารู้ภาษาบาลี รู้ความหมายของคำ ตัวนี้แปลว่าอย่างนี้ ตัวต่อไปต้องแปลอย่างนี้ อาศัยบาลีแท้ ๆ มีประโยชน์มาก”

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล