ฉบับที่ ๑๓๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

วันมาฆบูชา : วันแห่งความรักอันบริสุทธิ์

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย ?านวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 

 

วันมาฆบูชา : วันแห่งความรักอันบริสุทธิ์

 

วันแห่งความรักทางพระพุทธศาสนามีจริงหรือไม่? 


      อย่างที่เราทราบกันว่าอะไรที่อิงกระแสกิเลสจะไปได้เร็ว เพราะฉะนั้นพอถึงวันวาเลนไทน์ซึ่งทางโลกถือเป็นวันแห่งความรัก หนุ่ม ๆ สาว ๆ ซึ่งกำลังหาเหตุอะไรสักอย่างหนึ่งอยู่พอดี ก็เลยนัดหมายไปเที่ยวเตร่กัน แล้วใครที่ไม่ระมัดระวังตัว บางทีก็มีอะไรเลยเถิดอย่างที่เป็นข่าวกันบางคนพลาดท่าไปทีหนึ่ง เสียทั้งชีวิตเลยก็มี ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ค่อนข้างเป็นห่วงว่า ถ้าปล่อยไปอย่างนี้คงไม่ถูกต้อง ก็เลยมองว่าวันมาฆบูชาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ เป็นวันที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระภิกษุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบวชให้พากันเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์โดยไม่ได้นัดหมายเราน่าจะเอาวันนี้เป็นวันแห่งความกตัญญู ว่าพระภิกษุทั้งหลายซึ่งท่านได้บวชจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงเวลาก็ไปหาครูบาอาจารย์ เพื่อแสดงความกตัญญู แล้วก็ถือว่าเป็นวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์ด้วย นี้เป็นที่มาของการยกให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญูและวันแห่งความ

 

ทำอย่างไรวันมาฆบูชาจึงจะมีความสำคัญในใจเยาวชนมากกว่าวันวาเลนไทน์?


     ถ้าเราเป็นชาวพุทธจริง ๆ ได้เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ได้ปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ก็จะเห็นความสำคัญของวันมาฆบูชาโดยปริยาย แต่ปัจจุบันเยาวชนที่เข้าวัดยังมีไม่มาก เลยเป็นภาพอย่างที่เห็น  ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริง ๆ เราจะต้องชวนทั้งเยาวชนและประชาชนให้หมั่นเข้าวัดศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น  ถ้าตรงนี้สำเร็จ ทุกอย่างก็จะแก้ได้หมด ตอนนี้ที่พยายามทำอยู่ในแง่ของเยาวชนก็คือ โครงการเด็กดีวีสตาร์ ชวนเด็กมาทำความดีทีละล้านคน หรือบวชอุบาสิกาแก้ว คือฝ่ายหญิงมาปฏิบัติธรรม มารักษาศีล ๘ จะได้เป็นชาวพุทธเต็มตัว ฝ่ายชาย     ก็บวชพระ ช่วงสั้น ๔๙ วัน ถ้าใครจัดเวลาได้ก็บวช ๔ เดือน ในช่วงเข้าพรรษา อย่างนี้เป็นต้น
 

ในวันมาฆบูชาเราจะได้ยินคำว่า จาตุรงคสันนิบาต โอวาทปาติโมกข์ ปัจจุบันมีการปลูกฝังให้เยาวชนซึมซับเรื่องนี้แค่ไหน?


      ในตำราเรียนคิดว่ายังคงมีอยู่ แต่ถ้าแค่อ่านหนังสือท่องจำเอาไว้สอบ ก็ซึมซับได้แค่ระดับหนึ่ง จะให้ได้จริง ๆ ต้องปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง ๆ ถ้าอย่างนี้ได้ทันที ปัญหาศีลธรรมในสังคมก็จะจบ แล้วแต่ละคนก็สามารถนำธรรมะไปใช้เป็นแสงสว่างนำทางชีวิตไปสู่ความสุขความสำเร็จได้จริง เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวบุคคล สังคม และพระพุทธศาสนาโดยรวม

 

มีวิธีปฏิบัติอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในชีวิต?


    ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของจริง เพราะคำสอนในพระพุทธศาสนาไม่ใช่        ความเชื่อ แต่เป็นความจริง ดังนั้นขอให้ก้าวเข้ามาแล้วลงมือปฏิบัติธรรมเท่านั้น ก็จะพบคำตอบว่า นี่คือสิ่งที่เราแสวงหามานาน ลำพังแค่อ่านยังไม่พอ ต้องลงมือปฏิบัติด้วย หลักทฤษฎีที่เรียกว่าปริยัติเป็นแค่ลายแทงขุมทรัพย์ แต่เราจะได้ขุมทรัพย์นั้นมาใช้จริง ต้องลงมือปฏิบัติ

 

ข้อควรปฏิบัติในวันมาฆบูชามีอย่างไรบ้าง?


      โดยหลักวันนั้นให้เป็นวันที่เราได้ทำความดีเป็นพิเศษกว่าวันอื่น ๆ เช่น ไปวัดทำบุญถวายภัตตาหาร ฟังธรรม สวดมนต์ นั่งสมาธิ และเวียนเทียนจุดโคมประทีปบูชาพระรัตนตรัย   ในท้องถิ่นที่เราอยู่มีธรรมเนียมประเพณีอย่างไร เราก็ดูตามความเหมาะสม แต่โดยหลักคือการ บำเพ็ญบุญ ให้ทาน รักษาศีลเป็นพิเศษ ถ้ารักษาศีล ๘ ได้จะดีมาก แต่อย่างน้อยต้องศีล ๕     แล้วก็สวดมนต์ ทำสมาธิภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรม นี้คือสิ่งที่เราควรทำในวันมาฆบูชา

 

การเวียนเทียนจุดโคมมาฆประทีปสำคัญอย่างไร? ทำแล้วดีอย่างไร?

 

     ก่อนอื่นให้เรามาดูว่าวันมาฆบูชามีความสำคัญอย่างไร 
 ๑. มีพระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป เดินทางไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกันโดยไม่ได้ นัดหมาย
 ๒. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
 ๓. ทุกรูปล้วนบวชโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา 
 ๔. วันนี้เป็นวันเพ็ญเดือน ๓ (วันเพ็ญมาฆฤกษ์)
 เหตุ ๔ อย่างนี้เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือการประชุมพร้อมกันขององค์ ๔
 ในวันนั้น พระองค์ประทานโอวาทปาติโมกข์แก่พระภิกษุ เป็นแม่บทในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้เท่านั้น แต่เป็นพุทธประเพณีของ           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ว่าจะต้องมีการประชุมสงฆ์โดยมิได้นัดหมายอย่างนี้ แล้วพระองค์ก็จะประทานโอวาทปาติโมกข์เหมือนกันทุกพระองค์ 

 

     โอวาทปาติโมกข์มี ๓ หมวด


      หมวดที่ ๑ พระภิกษุที่ตั้งใจจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะต้องยึดหลักนี้เป็นอุดมการณ์ไว้


     ๑. ต้องอดทน (ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา) ภาษาไทยแปลว่า ความอดทนคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง คือท่านบอกว่าถ้าคิดจะเผยแผ่ ต้องอดทน ถ้าบวชแล้วตั้งใจปฏิบัติธรรม        เงียบ ๆ คนเดียว ก็รับผิดชอบแค่ตัวเอง อย่างนี้ง่าย แต่ถ้าลงมือเผยแผ่เมื่อไร จะต้องไปสัมพันธ์กับผูู้คนจำนวนมาก แล้วคนเรานิสัยไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีเงื่อนไขตัวแปรต่าง ๆ มากมาย         เพราะฉะนั้นท่องไว้ในใจเถิดว่า “ทน” ถ้าอดทนไม่ได้ ทำงานเผยแผ่ไม่สำเร็จ


     ๒. พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่าพระนิพพานเป็นเยี่ยม (นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา) คือให้รู้ว่าเป้าของเราคือจะไปนิพพาน ต้องตอกย้ำในใจ ไม่อย่างนั้นเป้าหมายมีโอกาสเบี่ยงเบน ตอนปฏิบัติส่วนตัวไม่มีปัญหา แต่พอทำงานเผยแผ่ ถ้าทำได้สำเร็จดี มีคนนับหน้าถือตามาก        ให้ความเคารพบูชามาก ลาภสักการะ คำสรรเสริญจะเข้ามา ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็รอดตัว แต่ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์แล้วไม่ระมัดระวังตัวให้ดี มีโอกาสพลาดสูง พระองค์จึงทรงย้ำว่า อย่าลืมว่า       เป้าหมายในการเผยแผ่คือจะไปนิพพาน ไม่ใช่ลาภสักการะ แล้วขณะเดียวกันอีกแง่หนึ่ง พอเผยแผ่ไปแล้วเกิดเจออุปสรรค มีอะไรมาปะทะมากมาย เจอคนพาลมากลั่นแกล้งบ้าง ถ้าไม่ได้ยึดว่า    จะไปนิพพาน เดี๋ยวก็จะไปลุยกับเขา ท่านจึงมีข้อ ๓ มาให้ด้วยว่า


     ๓. ผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าสมณะเลย (นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี       สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต) ก่อนจะเริ่มไปทำหน้าที่เผยแผ่ จะต้องย้ำในใจก่อน ๓ ข้อ   ตรวจสอบตัวเองก่อนว่า ความอดทนเราพอไหม เป้าหมายอย่าเบี่ยงเบน เราตั้งใจจะไปนิพพาน แล้วก็ย้ำตัวเองเสมอว่า อย่าไปฆ่าไปเบียดเบียนใครเด็ดขาด
 ๓ ข้อนี้ผูกไว้ในใจก่อนเลย ตีกรอบไว้ก่อน


     หมวดที่ ๒ มี ๓ ข้อ คือ ๑. ละชั่ว ๒. ทำดี ๓. ทำใจให้ผ่องใส (สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา สะจิตตะปะริโยทะปะนัง) การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ ละชั่ว การทำกุศล
ให้ถึงพร้อม คือ ทำดี การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว คือ ทำใจให้ผ่องใส อันนี้คือเนื้อหาที่ใช้สอน
ญาติโยม


      หมวดที่ ๓ หมวดนี้สอนตัวเอง พระองค์ทรงกำกับไว้อีกทีว่า สิ่งที่พระภิกษุหรือผู้ทำหน้าที่เผยแผ่ทั้งหลายจะต้องประพฤติปฏิบัติ คือ


      ๑. ไม่ว่าร้าย (อะนูปะวาโท) คือ ไม่ไปด่าไปว่า กระทบกระเทียบ กระแนะกระแหน หรือโจมตีใคร 

 

      ๒. ไม่ทำร้าย (อะนูปะฆาโต) นี้คือหลักพระพุทธศาสนา จะเห็นว่าพระพุทธศาสนาไม่เคย     มีสงครามพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งกำกับไว้ก่อนว่า อย่าไปว่าร้ายใคร           ยิ่งลงมือทำร้ายยิ่งห้ามใหญ่


     ๓. สำรวมในพระปาติโมกข์ (ปาติโมกเข จะ สังวะโร) คือ สำรวมในความประพฤติของ        ตัวเอง เกิดอะไรขึ้นมา แทนที่จะไปโทษว่าคนนั้นคนนี้ไม่ดี ให้มาเช็กตัวเองว่า เรายังมีอะไรบกพร่องอยู่หรือเปล่า ให้ดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง


      ๔. รู้ประมาณในโภชนาหาร (มัตตัญญุตา จะ ภัตตัส๎มิง) คือ จะบริโภค จะใช้สอยอะไร       เอาให้พอดี ๆ อย่าให้เกินขอบเขตความเหมาะสม ให้เป็นไม้ใหญ่ที่กินน้ำน้อย ไม้ใหญ่ที่กินน้ำน้อยถึงคราวเกิดอะไรขึ้นมามันอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นไม้ใหญ่กินน้ำมาก ช่วงฝนตกชุกก็รอด ถ้าเกิดฝนแล้งเมื่อไรก็ตาย


   ๕. การนอนการนั่งอันสงัด (ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง) คือ ไม่เอิกเกริกเฮฮา รู้จักหาความสงัด ไม่ใช่ไปเผยแผ่แล้วหลงไปกับเทคโนโลยี สนุกสนานเพลิดเพลินไปจนกระทั่งหลงลืมเป้าหมายที่แท้จริงของการบวชว่าคืออะไร เทคโนโลยีใช้ได้ แต่ใช้เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการเผยแผ่พระพุทธ-ศาสนา ไม่ได้ใช้เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน

 

      ๖. รู้จักประกอบความเพียรในอธิจิต (อะธิจิตเต จะ อาโยโค) เพราะมีเป้าหมายจะไปนิพพาน ถ้าจะไปได้ต้องทำสมาธิ ทำใจให้ผ่องใส นี้คือหน้าที่ที่พระต้องทำ นักเผยแผ่ทุกคนต้องทำ 
 

    พระพุทธศาสนาเติบโตอย่างรวดเร็ว เริ่มจาก ๑ ผ่านไป ๙ เดือน อัตราการเติบโตของบุคลากรพันกว่าเท่า จากพระบรมศาสดาพระองค์เดียว กลายเป็นพระอรหันต์เป็นพันรูป แล้วออกไปประกาศศาสนากัน พระองค์จึงทรงให้หลักการทั้งหมดไว้ก่อน เพราะในสมัยก่อนการคมนาคมไม่สะดวก ไม่มีวิทยุ อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์ ดังนั้นก่อนไปเผยแผ่จึงมาประชุมกันก่อน ซักซ้อมอุดมการณ์ หลักการเนื้อหาในการสอน และวิธีการในการประพฤติปฏิบัติตน ว่าต้องทำอย่างไร ให้ทั้งหมดเข้าใจตรงกัน แล้วแยกกันไปคนละทิศคนละทาง แต่ก็มีฟอร์มเดียวกัน โอวาทปาติโมกข์เป็นวัฒนธรรมองค์กรของพระพุทธศาสนาที่แข็งมาก แน่นมาก รัดกุมมาก ทำให้พระพุทธศาสนาเติบโตและขยายไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวางรวดเร็ว
 

     นี้คือประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากวันมาฆบูชา เราจึงถือว่าวันนี้เป็นวันกตัญญู เป็นการระลึกว่า  พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ท่านนึกถึงครูบาอาจารย์ ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ประทานโอวาท-ปาติโมกข์ให้ เพื่อให้ทุกรูปออกไปทำหน้าที่นำธรรมะให้แก่ชาวโลก พวกเรามีพระพุทธศาสนา    เป็นหลักใจในปัจจุบัน ก็เพราะโอวาทปาติโมกข์นี้ เพราะความเมตตาและมหากรุณาของ            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย พอถึงวันมาฆบูชา เราจึงควรระลึกนึกถึง     พระพุทธองค์และพระอรหันตสาวกด้วยความกตัญญู แล้วตั้งใจทำตามที่ท่านสอน คือ ละชั่ว    ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ถ้าทำอย่างนี้ถูกหลักวิชา
 

       ส่วนการเวียนเทียนจุดโคมประทีปบูชาในวันมาฆบูชานั้น เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะวันนี้จะ        ถือเป็นวันพระธรรมก็ได้ เราก็เอาวันนี้มาจุดโคมประทีปบูชาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า     บูชาพระอรหันต์ทั้ง ๑,๒๕๐ รูป บูชาพระสงฆ์ที่ตั้งใจสืบทอดคำสอนของพระพุทธองค์มาจนถึงปัจจุบัน บูชาครบทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำอย่างนี้แล้ว อานิสงส์ก็คือ เราเกิดกี่ภพ       กี่ชาติ ดวงตาจะสวย แวววาว มีประกายใสกระจ่าง ปัญญาก็จะดี เพราะเป็นการบูชาด้วย      ความสว่าง เพราะฉะนั้นเราจะมีดวงปัญญาสว่างไสว ยิ่งถ้าทำถูกหลักวิชา คือไม่ใช่จุดโคม    ประทีปเวียนเทียนไป กระหนุงกระหนิงคุยกันไป แต่จุดโคมประทีปไปแล้ว ใจก็ระลึกถึงพระรัตนตรัย          บูชาด้วยความเคารพ ถ้าอย่างนี้เราจะได้บุญมาก มาฆบูชาทุกปีชีวิตเราก็จะดีขึ้นทุกปี

 

จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องปรับเปลี่ยนหลักธรรมคำสอนตามยุคสมัย?


         เนื้อหาหลัก ๆ เหมือนเดิม ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก คือ ไม่ขึ้นกับ        กาลเวลา ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนก็ต้องละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ไม่เคยเปลี่ยน แต่เทคโนโลยี อุปกรณ์ สื่อ หรือวิธีการในการใช้สื่อนำธรรมะไปถึงประชาชนนั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมว่าเป็นอย่างไร สมัยก่อนไม่มีลำโพงก็พูดปากเปล่า ปัจจุบันมีลำโพงก็ใช้ลำโพง มีทีวีก็ใช้ทีวี มีวิทยุก็ใช้วิทยุ มีหนังสือก็ใช้หนังสือ เราสามารถใช้สื่อเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้ แต่ตัวเนื้อหาเหมือนเดิม เปลี่ยนที่วิธีการเท่านั้น..   

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล