ฉบับที่ ๑๔๔ เดือนตุลาคม ๒๕๕๗

ศีลข้อ ๒ (ตอนที่ ๒)

บทความพิเศษ
หลวงพ่อทัตตชีโว

ศีลข้อ ๒  (ตอนที่ ๒)

หลักชีวิตรุ่ง, ขั้นตอนปลูกฝังการรักษาศีลทั้งหมู่บ้าน,
นิสัยและพฤติกรรม, ประเภทบุคคลตามโอกาสละเมิดศีล

บรรยายโดยหลวงพ่อทัตตชีโว
แด่ พระวิทยากรโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ 
วันเสาร์ที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๑๔.๓๐-๑๖.๐๐ น. 
ณ ศาลาสตมานุสรณ์ (ศาลาทรงไทย) วัดปากนํ้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

 

หลักชีวิตรุ่ง

    ชีวิตจะรุ่งได้ เศรษฐกิจกับจิตใจต้องไปด้วยกัน เหมือนร่างกายกับจิตใจ ร่างกายหล่อเลี้ยงด้วยทรัพย์ คือ เศรษฐกิจ จิตใจต้องหล่อเลี้ยงด้วยศีลธรรม ใครจะเศรษฐกิจมั่นคง รักษาศีลได้ ผู้นั้นจะต้องฉลาดและขยันหาทรัพย์ ถ้าฉลาดแต่ขี้เกียจหรือขยันแต่โง่ก็ไม่ได้ แล้วก็ต้องฉลาดเก็บและใช้ทรัพย์ให้เป็นด้วย มาถึงประเด็นนี้ก็เป็นหน้าที่ของพระ ต้องถามตัวเองว่า ทั้งตัวเรา และโยมจะฝึกอย่างไรจึงจะขยันและฉลาดด้วย ถ้าตอบคำถามนี้ไม่ได้ โครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ไปไม่รอดหรอกครับ อย่างที่ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ท่านบอกว่า คนไทยบ้าการพนัน จมอบายมุขถ้าพระเพียงแค่ให้ศีลกับเทศน์ให้ฟัง ทำเท่านี้ไม่สำเร็จหรอกครับ เอาชนะอบายมุขไม่ได้ คนไทยก็ไม่รักษาศีล ๕ อยู่ดี ถ้าไม่ขุด ไม่เจาะลึกหาสาเหตุว่า ทำไมคนจึงไม่รักษาศีล ต่อให้พระช่วยกันให้ศีลจนตาลปัตรหัก เทศน์เป็นพันปี คนก็รักษาศีลไม่ได้

 

หลักชีวิตรุ่ง

ชีวิต

 ร่างกาย               จิตใจ

อาศัย เศรษฐกิจ หล่อเลี้ยง            อาศัย ศีลธรรม หล่อเลี้ยง

• ฉลาด-ขยันหาทรัพย์                  • ฉลาด-ขยันสร้างมิตรแท้

• ฉลาดเก็บทรัพย์                    • ฉลาดเว้นขาดอบายมุข

• ฉลาดใช้ทรัพย์                      • ฉลาด-ขยันสร้างบุญ

 

ความฉลาด + ความขยัน หลักประกันชีวิตรุ่งเรือง


    ขออภัยอย่าโกรธกัน พูดกันชัด ๆ เรามาบวชรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ เปิดทางสวรรค์ เปิดทางนิพพานให้แก่ตัวเอง แล้วโยมพ่อโยมแม่ของเรารักษาศีล ๕ ได้ข้ามวันดีไหม ถ้ายังก็แสดงว่าเราเอาตัวรอด แต่พ่อแม่เราไม่รอด เราหนีคำครหาไม่พ้นครับ คือ ลูกหลานเนรคุณ แล้วโยมที่ตักบาตรให้เราทุกเช้ารักษาศีล ๕ ได้หรือยัง เดี๋ยวจะไปเจอโยมที่ให้ฉันทุกวันแต่หากินแบบชอบ-ไม่ชอบธรรม เราก็ยังไม่พ้นเป็นพระเนรคุณอีก จนได้ศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า ยิ่งต้องย้อนกลับมาดูตัว ย้อนกลับไปดูครอบครัว ย้อนกลับไปดูคนที่ให้ฉัน เราเอาตัวรอดทิ้งเขาหรือเปล่า เราเนรคุณหรือเปล่า

 

ขั้นตอนปลูกฝังการรักษาศีลทั้งหมู่บ้าน

    เมื่อจะปลูกฝังให้โยมรักษาศีลกันทั้งหมู่บ้าน ท่านควรเริ่มดังนี้
        ๑. จำแนกบุคคลตามโอกาสละเมิดศีล
        ๒. ฝึกฝนอบรมเรื่องความสะอาดและความมีระเบียบ
        ๓. พรํ่าสอนให้เพียรปฏิบัติเป็นนิสัย
    
      ๑. จำแนกบุคคลตามโอกาสละเมิดศีล เพื่อคัดแยกบุคคลว่าใครพอจะโปรดได้บ้าง พวกที่พอฝึกไหว ต้องรีบคว้าตัวมาเป็นกำลัง พวกที่กํ้ากึ่งก็ไปเอามาฝึก ส่วนพวกเขี้ยวลากดินปล่อยไปก่อน


       ๒. ฝึกฝนอบรมเรื่องความสะอาดและความมีระเบียบ เมื่อคัดเลือกบุคคลที่พอจะฝึกศีล ๕ ได้แล้ว ต้องรีบฝึกฝนอบรมเรื่องความสะอาดและความมีระเบียบก่อน จะเอาเพียงให้ศีล ฟังเทศน์ ไม่สามารถทำให้รักษาศีล ๕ ได้ ดังตัวอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกในวันปฐมเทศนา วันนั้นมีเหตุการณ์ดังนี้

          ๑)  มีบรมครูต้นแบบ คือ พระพุทธองค์ทรงมีวิชชาและจรณะสมบูรณ์พร้อม

         ๒) มีผู้เรียนที่มีความพร้อม คือ ปัญจวัคคีย์ เมื่อปัญจวัคคีย์เห็นพระองค์เสด็จมาครั้งแรก    ก็ตกลงกันว่าจะปฏิเสธ แต่เอาเข้าจริงก็ถวายการต้อนรับเชื้อเชิญพระองค์อย่างดียิ่ง เพราะฉะนั้นถ้าพระจะเชิญชวนชาวบ้านรักษาศีล ๕ แล้วถูกต่อต้านก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังโดนเลย โดนจากคนที่อยู่ด้วยกันมาถึง ๕ ปีกว่า เมื่อพระองค์ทรงเทศน์จบ มีพระอัญญาโกณฑัญญะเพียงรูปเดียวที่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน อีก ๔ รูป ยังไม่บรรลุ

       ๓) มีการพร่ำสอน พระพุทธองค์ต้องทรงเทศน์และพรํ่าสอน จํ้าจี้จํ้าไชอีก ๔ วัน ทั้ง ๕ รูป จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกัน


       ๓. พร่ำสอนให้เพียรปฏิบัติเป็นนิสัย ลำพังการเทศน์สอนยังไม่เพียงพอที่จะรักษาศีล ๕ ได้ ต้องมีการพรํ่าสอนแนะนำ ให้นำสิ่งที่รู้ไปใช้ปฏิบัติในชีวิตจริงให้ได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติแก่ปัญจวัคคีย์ เรื่องที่ต้องฝึกฝนอบรมและพรํ่าสอน คือเรื่องการรักษาความสะอาดและความมีระเบียบให้เป็นชีวิตจิตใจ

    ถ้าวัดไหนสกปรก จัดระเบียบไม่ได้ วัดนั้นต้องร้างแน่ เอาศีล ๕ เข้าไปในหมู่บ้านก็ไม่ได้ความสะอาดกับความเป็นระเบียบเป็นหัวใจที่จะทำให้คนรักษาศีล ๕ ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นเท่ากับบอกว่า ขณะนี้เรากําลังจะแก้นิสัยหรือพฤติกรรมของคนในหมู่บ้าน ไม่ใช่แค่ให้ศีลแล้วก็กลับวัด ปล่อยชาวบ้านจมอยู่กับความสกปรก ไร้ระเบียบที่บ้าน แล้วหวังจะให้เขารักษาศีล ๕ ย่อมเป็นไปไม่ได้

 

นิสัยและพฤติกรรม

    การจะให้ประชาชนรักษาศีล ๕ ได้ เราจะต้องดูนิสัยและพฤติกรรมในชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว ชีวิตสังคม ชีวิตทำบุญ ว่าประพฤติปฏิบัติกันอย่างไรด้วย เพราะเป็นสิ่งสะท้อนว่าเป็นบุคคลประเภทใดใน ๑๐ จำพวก นิสัย-พฤติกรรมของแต่ละคนล้วนได้รับอิทธิพลจากเหตุในอดีตและปัจจุบันทั้งสิ้น เหตุในอดีตเห็นได้จากบุญ-บาปและนิสัยดี-ไม่ดีที่ติดตัวจากอดีตชาติ เหตุในปัจจุบันพิจารณาจากการฝึกฝนอบรมและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับตั้งแต่เล็กจนถึงปัจจุบัน เหตุในอดีตนั้นเนื่องจากเรายังระลึกชาติไม่ได้ ก็ดูกันง่าย ๆ ว่า พิกลพิการทางใจ บ้า ใบ้ ปัญญาอ่อนกันหรือเปล่า ถ้าเป็นก็เอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปโปรด ส่วนนิสัยติดตัวมาข้ามชาติ สุภาพเรียบร้อยหรือหยาบคาย ชอบทะเลาะวิวาทมาตั้งแต่เด็กหรือไม่ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการอบรมรักษาศีล

    เหตุในปัจจุบัน พิจารณาที่การอบรมสั่งสอนว่า ได้รับอะไรมาบ้าง ถ้าได้รับการอบรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นรก-สวรรค์มีจริง อย่างนี้มีต้นทุนพอจะอบรมศีลได้ แต่ถ้าได้รับตรงกันข้าม เช่น ทำชั่วได้ดีมีถมไป ทำดีได้ดีมีที่ไหน อย่างนี้หนักแรง ต้องพิจารณาให้รอบคอบ นอกจากพิจารณาว่าได้รับการฝึกฝนอบรมมาถูกหรือผิดแล้ว ยังต้องพิจารณาสิ่งแวดล้อมที่ได้รับอีกด้วยว่า สะอาด-เป็นระเบียบหรือสกปรก-ไร้ระเบียบ ถ้ารอบบ้าน-ในบ้านอยู่ในที่สะอาด มีแต่คนมีศีลมีธรรม คน ๆ นั้นมีต้นทุนสูงในการรักษาศีล แต่ถ้าในบ้านรก สกปรก ไร้ระเบียบ รอบบ้านมีแต่อบายมุขอย่างนี้ก็คงยากในการอบรมรักษาศีล

 

ประเภทบุคคลตามโอกาสละเมิดศีล

    เมื่อจับหลักการในการดูนิสัย-พฤติกรรมคนได้แล้ว ท่านก็สามารถจำแนกประเภทบุคคลตามโอกาสละเมิดศีลได้ โดยพิจารณาจาก

    ๑) เหตุในอดีต คือ บุญ-บาปและนิสัยดี-ไม่ดี ซึ่งทำให้บุคคลนั้นมีพื้นเพใจข้ามชาติมาถึงปัจจุบันชาติว่า เป็นคนหยาบ-มักง่ายหรือละเอียด-ประณีต

    ๒) เหตุในปัจจุบัน คือ ได้รับการฝึกฝนอบรมแต่เล็กถูกหรือผิด และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด-มีระเบียบหรือสกปรก-ไร้ระเบียบ

    จากเหตุ ๒ ประการนี้ จึงได้ตารางจำแนกบุคคลตามโอกาสละเมิดศีล จากตารางนี้เราจะจำแนกบุคคลหลัก ๆ ได้ดังนี้

    ๑. โอกาสละเมิดศีล น้อยที่สุด คือบุคคลที่พื้นเพใจข้ามชาติละเอียด-ประณีต ในปัจจุบันชาติก็ได้รับการฝึกฝนอบรมถูกต้อง อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นคนและวัตถุสะอาด-มีระเบียบ ห่างไกลอบายมุข

    ๒. โอกาสละเมิดศีล น้อย แม้พื้นเพใจข้ามชาติจะหยาบ-มักง่าย แต่ปัจจุบันชาติได้รับการฝึกฝนอบรมถูก และอยู่ในสิ่งแวดล้อมสะอาด-มีระเบียบ คนรอบตัวสะอาดกาย วาจา ใจ ห่างไกลอบายมุข โอกาสที่บุคคลนี้จะพัฒนารักษาศีลมีมากทีเดียว

     ๓. โอกาสละเมิดศีล มากที่สุด คือ บุคคลที่พื้นเพใจข้ามชาติ หยาบ-มักง่าย ได้รับการฝึกฝนอบรมแต่เล็กถึงปัจจุบันก็ผิด ทั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สกปรก-ไร้ระเบียบ อยู่ท่ามกลางอบายมุข

    ๔. โอกาสละเมิดศีล มาก เป็นพวกที่แม้พื้นเพใจข้ามชาติละเอียด-ประณีต แต่ได้รับการฝึกฝนอบรมในปัจจุบันชาติผิด ๆ ทั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมสกปรก-ไร้ระเบียบ อบายมุขรอบบ้านรอบตัว

    ส่วนอีก ๔ ประเภท มีโอกาสละเมิดศีลประเภทขึ้น ๆ ลง ๆ ท่านก็ควรพิจารณาจำแนกบุคคลในพื้นที่ของท่านให้ดี จะได้ไม่หมดกำลังใจในการปลูกฝังการรักษาศีล
                                


(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล