ฉบับที่ ๑๔๕ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗

ตำรับยอดเลขา ตอนที่ ๑๑ จรรยาข้อที่ ๒๐-๒๑

ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

 

ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว”  วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

ตอนที่ ๑๑
จรรยาข้อที่ ๒๐-๒๑

 

     “ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อ    ผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา”       โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 

๒๐
จงเป็นผู้มีความอดทนและเสงี่ยมเจียมตัว

ปกติคนเราต้องเหงื่อออก
ถ้าใครเหงื่อไม่ออก คือคนขี้เกียจ ไม่ยอมทำงาน
เป็นคนดูดาย จะทำอะไรก็กลัวเหนื่อยไปเสียหมด
คนประเภทนี้เหงื่อจะตกใน และทะลักออกมาเป็นน้ำตา
จะไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ ในชีวิต

 

๒๐. จงเป็นผู้มีความอดทนและเสงี่ยมเจียมตัว

    ความอดทนเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ควรเราจะปฏิบัติตามอย่างเช่นคนโบราณเขาทำ เราก็ควรจะทำให้ได้เช่นกัน คือหนักเอาเบาสู้ อย่าคิดว่าเรี่ยวแรงที่ทำนั้นจะหมดเปลืองไปเปล่า อันไม่มีประโยชน์นั้นเลย เมื่อเราปรารถนาอันดีแล้วก็ย่อมมีประโยชน์แท้จริงไม่ต้องสงสัย ความอดทน หนักเอาเบาสู้พากเพียรพยายามหาความดีเช่นนั้น นายคนใดเลยที่จะไม่เมตตากรุณาเล่า เป็นอันไม่มีเสียล่ะ ท่านก็ต้องมีความเมตตารักใคร่ไว้เนื้อเชื่อใจแห่งความดีและความสามารถของเรา เราก็คงจะได้รับผลอันดีเป็นลำดับเป็นแน่ และเราอย่าถือตัวเกินไป ให้รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่ อย่าหมิ่นประมาทต่อท่านผู้สูงอายุ ระวังความหยิ่งเย่อเฟ้อฟุ้งไว้มาก ๆ จึงจะดีสมควรนั้น ๆ จึงจะนับว่าเรามีความกตัญญู ซื่อตรง และสามารถในตำแหน่งหน้าที่บ่าวอันดี

     ในเรื่องของความอดทนเพียรพยายามหาความดีนี้ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล1 ท่านบันทึกถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไว้ว่า เมื่อมีใครมาประจบสอพลอ ท่านจะตรัสตรง ๆ ว่า

      “คุณไม่ต้องมาประจบฉันหรอก ถ้าอยากจะประจบฉันละก็ ให้ไปประจบงานดีกว่า เพราะมาประจบฉันนั้นไม่เกิดประโยชน์ มีแต่จะทำให้คุณเสียศักดิ์ศรี ทั้งงานก็ไม่ได้อีก แต่ถ้าคุณประจบงาน ทุ่มเทในการทำงาน ฉันตาไม่บอด ฉันเห็นแล้ว จะเอาอะไรฉันจะปูนบำเหน็จให้ เพราะว่ามันได้งาน”

    สมัยนั้นเป็นสมัยที่ท่านปกครองบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์ ประชาชนจึงได้รับความยุติธรรม สมัยนี้ถ้าบังเอิญเราตกไปอยู่ในหมู่คนพาล ถึงตั้งใจทำงาน เอางานมาประจบเจ้านาย แต่กลับถูกเพื่อนค่อนขอด ก็อย่าไปท้อถอยหมดกำลังใจ ขอให้ตั้งใจทำความดีต่อไป คิดเสียว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่มีจิตใจเป็นพาล ชอบแต่ประจบแต่ไม่เอางาน

        อดีตอธิบดีกรมศาสนา พันเอกปิ่น มุทุกันต์ เคยกล่าวไว้ว่า

      “เกิดเป็นคนแล้ว ต้องรู้ธรรมชาติของคนว่า ปกติคนเราเหงื่อต้องออก ถ้าใครเหงื่อไม่ออก คือ คนขี้เกียจ ไม่ยอมทำงาน เป็นคนดูดาย จะทำอะไรก็กลัวเหนื่อยไปเสียหมด คนประเภทนี้เหงื่อจะตกใน เมื่อเหงื่อตกในมากเข้าก็จะทะลักออกมา แต่ไม่ได้ทะลักออกมาเป็นเหงื่อ จะออกมาเป็นน้ำตา คือจะไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ เลยในชีวิต”

      ดังนั้น หากทำงานอะไรแล้ว รู้สึกว่าจะต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจอย่างเต็มที่ นับว่า       ถูกต้องแล้ว ใครจะอยู่เฉยไม่ทำงานก็ช่างเขา เพราะธรรมชาติของคนเราเหงื่อต้องออก ต้องอดทนต่อความลำบากตรากตรำ มิฉะนั้นเหงื่อจะตกใน กลายเป็นน้ำตาไป 

    นอกจากความอดทนแล้ว จะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอีกด้วย ทั้งกับเจ้านายและกับเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่แต่มีตำแหน่งใกล้เคียงกับเรา อย่าถือตัวเกินไป ต้องให้ความเกรงใจ ให้ความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนแก่ท่าน เพราะท่านอาจจะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ดีให้แก่เรา อันจะเป็นแนวทางไปสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงานให้ยิ่งขึ้นไป

 

๒๑
จงรักษาประโยชน์และเกียรติยศของนาย

สิ่งใดจะเป็นความเสื่อมเสียมาถึงเกียรติยศของนาย
อย่านิ่งดูดายโดยไม่เหลียวแล
รีบแจ้งเตือนหรือหาทางป้องกันแก้ไข
สิ่งใดจะเป็นความเสื่อมเสียมาถึงพระพุทธศาสนา
ต้องช่วยกันปกป้องดูแลรักษา 
ทั้งศาสนธรรม ศาสนบุคคล 
ศาสนวัตถุ ศาสนสถาน และศาสนพิธี 
ให้มีความสะอาด ความสงบ ความบริสุทธิ์
ความศักดิ์สิทธิ์ และความถูกต้องดีงาม

 

๒๑. จงรักษาประโยชน์และเกียรติยศของนาย

    เป็นบ่าวท่าน อยู่ในบ้านท่าน เราต้องรักษาผลประโยชน์และเกียรติยศของท่านโดยดี ซึ่งเราสามารถจะกระทำได้ เช่น บุตรและภรรยาของท่านก็ดี เราต้องมีความสัมมาคารวะและนับถือ ซื่อตรงต่อ อย่าสอพลอพลอมแพลมแกมไปด้วยความหมิ่นประมาท และควรสังเกตสังกาสิ่งซึ่งจะมามัวหมองจากทางอื่น ๆ นั้นด้วย อันที่เราจะมีความสามารถป้องกันได้ ถ้ารู้แล้วโดยความสามารถเราจะทำได้ก็ทำ ถ้าเหลือบ่ากว่าแรงก็ต้องรีบนำความร่ำเรียนให้ท่านทราบ

    ข้อนี้ สอนให้เราเป็นคนไม่นิ่งดูดาย เรียกว่าช่วยเป็นหูเป็นตาให้ สิ่งใดที่จะทำความเสียหายให้กับทรัพย์สินและชื่อเสียงของท่าน ต้องช่วยป้องกัน แม้กระทั่งการที่เรามาวัด นอกจากมาทำบุญ  ทำทานและฟังธรรมแล้ว ขอให้ช่วยกันสอดส่องดูแลปกป้องพระพุทธศาสนา เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนาเช่นกัน

      พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบ คือ
    ๑. ศาสนธรรม คือ หลักธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ๒. ศาสนบุคคล คือ บุคคลในศาสนา ได้แก่ พระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เจ้าหน้าที่วัด และสาธุชน
    ๓. ศาสนวัตถุ คือ สมบัติที่เป็นวัตถุ ตั้งแต่พระพุทธรูป โต๊ะ เก้าอี้ เสื่อ รวมไปถึงเครื่องใช้
ทุกอย่างที่เป็นของวัด
    ๔. ศาสนสถาน ได้แก่ โบสถ์ วิหาร ศาลา ฯลฯ
    ๕. ศาสนพิธี ได้แก่ พิธีกรรมต่าง ๆ 
    เราเป็นพุทธศาสนิกชน มีหน้าที่ช่วยกันป้องกันดูแลไม่ให้เกิดความเสียหายแก่พุทธศาสนาได้ ดังนี้


    ศาสนธรรม - หากมีใครที่เข้าใจธรรมะผิดหรือปฏิบัติผิดพลาดไปอย่างใด เรามีหน้าที่ชี้แจงให้ถูกต้อง มิฉะนั้นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะถูกบิดเบือนไป

    ศาสนบุคคล - การที่เราไปวัด พบเห็นใครมีความประพฤติบกพร่อง กิริยามารยาทไม่ค่อย    จะดี ขอให้ช่วยกันตักเตือน โดยเฉพาะถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของวัด แม้แต่พระภิกษุ สามเณร ถ้าเกรงใจไม่กล้าเตือนโดยตรง ขอให้จดชื่อมาบอกหลวงพ่อด้วย จะได้ช่วยกันแก้ไขไม่ให้เป็นที่ครหาได้

    ศาสนวัตถุ - ของใช้ทุกชิ้นในวัดเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา ได้มาจากศรัทธาของสาธุชนที่เขาทำบุญ เงินทุกบาททุกสตางค์เขาจบขึ้นเหนือหัวอธิษฐานถวายพระ ฉะนั้นขอให้ใช้อย่างระมัดระวัง ใช้เสร็จแล้ว ช่วยกันเก็บรักษา โดยเฉพาะพวกโต๊ะ เก้าอี้ ถ้าทิ้งตากแดดตากฝน อีกไม่นานก็ชำรุด แม้กระทั่งเสื่อก็เช่นกัน ถูกฝนแล้วพองเปื่อยรุ่งริ่งนำมาใช้อีกไม่ได้ ใครเขามาเห็นเข้าก็หมดศรัทธา ขนาดสมบัติเท่านี้ เราชาวพุทธยังรักษาไว้ไม่ได้ นับประสาอะไรกับสมบัติอื่น ดังนั้นขอให้พวกเราช่วยกันดูแลสมบัติของศาสนาให้ใช้งานไปได้นาน ๆ

    ศาสนสถาน - เราไปวัดต้องช่วยกันดูแลความสะอาด เพื่อความเจริญตาเจริญใจ ทิ้งขยะในที่ที่จัดไว้ให้ ไม่ทำความสกปรกให้กับโบสถ์ วิหาร ศาลา จึงได้ชื่อว่ารักษาศาสนสถาน

    ศาสนพิธี - เมื่อมีพิธีในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ขอให้เข้าร่วมพิธีด้วยความเคารพ ไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อื่น แต่งกายให้สุภาพ รวมทั้งไม่ควรใช้เครื่องหอม เพราะกลิ่นอาจไปรบกวนบุคคล        ใกล้เคียงได้ เราว่าหอม แต่คนอื่นบางคนไม่ชอบกลิ่นนั้น ถึงขนาดวิงเวียนคลื่นไส้ไปก็มี

    ถ้าใครทำได้ดังนี้ นับว่าเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองไปอีกนานเท่านาน และจะเป็นนิสัยติดตัวไปทุกภพทุกชาติ ชื่อเสียง เกียรติยศ และทรัพย์สมบัติของเราก็จะมีคนคอยปกป้องรักษาไว้ให้ เพราะผลบุญที่เราได้ปกป้องรักษาทรัพย์สมบัติ และชื่อเสียงของพระพุทธศาสนาและของผู้อื่นมาก่อนนั่นเอง.. 

 


         (อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล