ฉบับที่ ๑๖๑ เดือนมีนาคม ๒๕๕๙

ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์

บทความน่าอ่าน
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์

ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์ อยู่ในบุญ เดือนมีนาคม พ.ศ.2559

      ลวดลายอันอ่อนช้อยที่ปรากฏบนตู้พระไตรปิฎกเป็นงานศิลปะไทยของช่างศิลป์โบราณ อันเกิดจากขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อที่บ่มเพาะสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยที่ดินแดนแหลมทองแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณต่าง ๆ ผสานสอดแทรกกับวิถีชีวิตแห่งไทยที่ผูกพันใกล้ชิดกับธรรมชาติด้วยเป็นสังคมเกษตรกรรม และความเชื่อมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมาช้านานจนก่อเกิดเป็นงานศิลป์ที่มีรูปแบบเฉพาะ กลายเป็นความงามอย่างลงตัวทางสุนทรียภาพบนพื้นฐานวิถีแห่งไทย วิถีแห่งธรรม ที่ยังความภาคภูมิใจของคนในชาติมาจนถึงปัจจุบัน
 

ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์ อยู่ในบุญ เดือนมีนาคม พ.ศ.2559

ลายรดน้ำบนพื้นชาด รูปเทวดา ประกอบลายดอกพุดตานบนบานตู้พระธรรมศิลปะล้านนา
 

          อาจกล่าวได้ว่า ศาสนาเป็นบ่อเกิดของศิลปะอันวิจิตร ด้วยแรงรักแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนผู้ปรารถนาอุทิศตนสร้างผลงานอันวิจิตรงดงามสะท้อนผ่านพุทธศิลป์ชั้นเลิศด้วยฝีมือชั้นครูของช่างหลายแขนงสำหรับงานประณีตศิลป์บนตู้พระไตรปิฎกหรือตู้พระธรรมนั้น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของจิตรกรรมชั้นสูงที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนวัตถุ ที่ปราชญ์ผู้มีฝีมือช่างแต่โบราณบรรจงจำหลักเส้นสายที่งดงามและแช่มช้อย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวคำสอนในพระพุทธศาสนาผ่านลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายรดน้ำ ลายกำมะลอ ลวดลายเหล่านี้ประดับตกแต่งส่วนต่าง ๆ ของตู้ ตั้งแต่หัวเม็ดทรงมัณฑ์ คือ ส่วนยอดด้านบนทั้งสี่มุมจรดเสาขาตู้ด้านล่างโดยพื้นที่หลักของลวดลาย คือ ด้านหน้าช่วงบานประตูซ้ายขวา ส่วนด้านหลังตู้และภายในตู้ส่วนที่เป็นชั้นสำหรับวางคัมภีร์นั้นไม่นิยมตกแต่งลวดลาย แต่ทาด้วยรักทึบ
 

ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์ อยู่ในบุญ เดือนมีนาคม พ.ศ.2559

ลายกำมะลอตกแต่ง ส่วนขาตู้พระไตรปิฎก
 

         “ตู้ลายทอง” เป็นคำที่มักใช้เรียกตู้พระไตรปิฎกที่ตกแต่งด้วยลายรดน้ำ ลงรักปิดทองทั้งตู้ เป็นงานศิลปะไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น คือ เป็นภาพที่ใช้สีเพียง ๒ สี คือ สีทองของทองคำและสีดำของยางรัก หรือบางครั้งเป็นสีทองบนพื้นหลังสีแดง ไม่ปรากฏหลักฐานระบุแน่ชัดว่าสังคมไทยเริ่มเขียนลายรดน้ำนี้ ขึ้นเมื่อใด แต่ถ้าหากพิจารณาลวดลายจากตู้พระธรรมที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และหอสมุดแห่งชาติ จะเห็นความแตกต่างของรูปแบบในเชิงช่างที่โดดเด่นสามารถระบุยุคสมัยของงานศิลปะจากรูปแบบของลวดลายได้เป็น ๓ สมัย คือ สมัยอยุธยาสมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์
 

ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์ อยู่ในบุญ เดือนมีนาคม พ.ศ.2559

ตู้พระธรรมขาหมู ลายรดน้ำวาดลวดลายเรื่องรามเกียรติ์


           ลวดลายสมัยอยุธยามีความอ่อนช้อย ปลายพลิ้วแสดงถึงความมีอิสระของช่างไทยที่แสดงฝีมือได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกจำกัดด้วยรูปแบบต้นร่าง ลวดลายและองค์ประกอบบนตู้พระไตรปิฎกจึงมีทั้งที่เป็นรูปแบบเดียวกันและแตกต่างกัน แต่สอดคล้องลงตัวอย่างพอเหมาะงดงาม ถ้าเป็นสมัยอยุธยาตอนต้น ครูช่างจะมีช่องไฟเว้นไว้พองาม ส่วนสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น ศิลปินนิยมเขียนลายเต็มพื้นที่ ความงดงามดังกล่าวบอกเล่าสะท้อนถึงสังคมที่อยู่ดีมีสุข และจิตใจอันอ่อนโยนของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะศึกสงครามยืดเยื้อยาวนานช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ไฟสงครามและความพลัดพรากสูญเสียได้บั่นทอนความสุนทรีในจิตใจของผู้คน ลวดลายศิลปะในสมัยธนบุรีจึงขาดอิสระในปลายเส้น และความพิถีพิถันในการเขียนลายก็น้อยกว่าสมัยอยุธยา ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่างมักยึดติดกับต้นแบบที่ร่างไว้ ทำให้ลวดลายมักเป็นลายเดียวกันตลอดทั้งตู้ ปลายเส้นก็ดูแข็งกระด้าง ขาดอิสระไม่อ่อนช้อยพลิ้วไหวเหมือนยุคที่ผ่านมา ถึงกระนั้นก็ยังคงความงดงามวิจิตรบรรจงได้อย่างน่าชื่นชม
 

ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์ อยู่ในบุญ เดือนมีนาคม พ.ศ.2559

ภาพสัตว์หิมพานต์ ลายรดน้ำตู้ พระธรรมวัดเชิงหวายศิลปะอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๒๔)
 

      “ตู้ลายรดน้ำฝีมือครูวัดเชิงหวาย” ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะชั้นเอกที่เลิศล้ำวิจิตรด้วยฝีมือชั้นครูของสกุลช่างวัดเชิงหวายที่มีชื่อเสียงในสมัยอยุธยา นอกจากลายเส้นที่คมชัดและความพลิ้วไหวของปลายลวดลายกระหนกประดุจเปลวเพลิงแล้ว ช่างฝีมือยังได้สอดแทรกภาพสัตว์ เช่น นก กระรอก ผีเสื้อ ที่ดูมีชีวิตเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติไว้ในลวดลายที่สอดคล้องกลมกลืนไปกับความพลิ้วไหวของลายกระหนกได้อย่างลงตัว บ่งบอกถึงอัจฉริยภาพเชิงช่างของครูศิลป์แต่โบราณ อีกทั้งในด้านองค์ประกอบและช่องไฟยังถือเป็นต้นแบบให้แก่งานลายรดน้ำในยุคต่อ ๆ มาอีกด้วยปัจจุบันตู้ลายรดน้ำฝีมือครูวัดเชิงหวายจัดแสดง
อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน ๒ ตู้ โดยตู้แรกเป็นตู้ฐานสิงห์ตกแต่งด้วยลวดลายกระหนกเปลวเครือเถา ส่วนตู้ที่สองตกแต่งด้วยลายกระหนกรวง

 

ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์ อยู่ในบุญ เดือนมีนาคม พ.ศ.2559

ลายรดน้ำผูกลายกระหนกก้านขด เรื่องรามเกียรติ์ ศิลปะรัตนโกสินทร์

 

ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์ อยู่ในบุญ เดือนมีนาคม พ.ศ.2559

ตู้ลายรดน้ำฝีมือครูวัดเชิงหวาย สอดแทรกภาพสัตว์นานาชนิดที่เคลื่อนไหวไปตามความพลิ้วไหวของลวดลายอย่างลงตัว
 

ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์ อยู่ในบุญ เดือนมีนาคม พ.ศ.2559

ลายรดน้ำกำมะลอ เรื่องอิเหนาศิลปะรัตนโกสินทร์


      “กำมะลอ” เป็นลายประณีตศิลป์อีกแขนงหนึ่งที่ปรากฏบนตู้พระธรรม ซึ่ง น. ณ ปากน้ำ กล่าวไว้ในพจนานุกรมศิลปะว่า “ลายกำมะลอ คือ ลายทองรดน้ำ แล้วเอารักผสมสีฝุ่นและชาดระบายผสมลงไปกับลายทองบนผนังที่ลงพื้นรักไว้ ทำให้เกิดภาพสวยงามมากมักนิยมทำกับตู้พระไตรปิฎกและเครื่องใช้ไม้สอยเล็ก ๆ เช่น ตะลุ่มและพาน เป็นต้น” สันนิษฐานว่า ลายกำมะลอมีมาตั้งแต่ครั้งปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยรับอิทธิพลจากศิลปะจีน สาเหตุที่ทำให้ลายกำมะลอเป็นที่ยอมรับอาจเป็นเพราะแต่เดิมคนไทยรู้จักเพียงลายรดน้ำที่มีเพียงสีทองบนพื้นสีดำหรือแดงแต่เพียงอย่างเดียว จึงนำจิตรกรรมจีนที่สีสันหลากหลายแปลกตามาประยุกต์ตามอุดมคติไทย ลวดลายประดิษฐ์ตามอย่างแบบจีนแบบเดิม เช่น ภาพเซี่ยวกางยืนบนสิงโตจีน ลายดอกโบตั๋น ได้รับการพัฒนาผสมผสานตามอุดมคติแบบไทย อาทิ ภาพกินรา กินรี ตัวนรสิงห์ ลวดลายกระหนก เปลวหางกินรี ดังที่ปรากฏอยู่บนตู้พระธรรม เป็นต้น

         ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ศิลปะลายกำมะลอเริ่มมีความเด่นชัดในรูปแบบ มีความเป็นเอกลักษณ์อย่างไทยมากยิ่งขึ้น โดยการนำเอาเรื่องราวในวรรณคดีไทยมาเขียนเล่าเรื่อง เช่น เรื่องรามเกียรติ์บนตู้พระไตรปิฎกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนลวดลายบนตู้พระไตรปิฎกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาดกต่าง ๆ เป็นต้น

        งานประณีตศิลป์บนตู้พระไตรปิฎกนอกจากแสดงถึงเรื่องราวในพระพุทธศาสนาหรือวรรณคดีที่ช่างศิลป์ต้องการถ่ายทอดผ่านลวดลายต่าง ๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สื่อออกมาพร้อม ๆ กับความงดงามทางศิลปะก็คือ ความรักและความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาของช่างศิลป์และผู้มีส่วนในการสร้างตู้พระไตรปิฎก
 

ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์ อยู่ในบุญ เดือนมีนาคม พ.ศ.2559


        ลายเส้นสีทองที่พลิ้วไหวของปลายกระหนกที่ปรากฏบนตู้พระไตรปิฎก มิได้เพียงแสดงถึงความงดงามด้านประณีตศิลป์ที่จับต้องได้เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความประณีตของจิตใจช่างฝีมือชั้นครูผู้บรรจงสร้างผลงาน ตลอดจนจิตใจของพุทธบริษัท ๔ ในกาลก่อนที่เคารพบูชาพระพุทธศาสนาเหนือสิ่งอื่นใด ศิลปะวิจิตรบรรจงบนตู้พระไตรปิฎกคู่ควรรองรับคัมภีร์อันสูงค่าของพระบรมครูที่บรรพบุรุษไทยพยายามบอกกล่าวลูกหลานไทยให้ดูแลพระพุทธศาสนาอย่างดีที่สุด มรดกประณีตศิลป์คงไร้ค่าหากพระพุทธศาสนาหมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย เมื่อความงามและสุนทรียศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยผูกพันแน่นแฟ้นกับพระพุทธศาสนาเช่นนี้ เราผู้เป็นพุทธศาสนิกชนจึงควรหวงแหนรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่ผืนแผ่นดินของเราต่อไป เพราะถ้าพระพุทธศาสนาสูญหายไป ก็เท่ากับเอกลักษณ์ความเป็นชาติของเราถูกทำลายไปด้วย

 


บุญเตือน ศรีวรพจน์. รามเกียรติ์จากตู้ลายรดน้ำ. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
กรมศิลปากร, ๒๕๕๕.
ศิลป์ พีระศรี. เรื่องตู้ลายรดน้ำ. พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๓.
อภิวันทน์ อดุลยพิเชฏฐ์. ลายรดน้ำ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล