นิทานชาดก
โภชาชานียะ อาชาใจเพชร
โภชาชานียชาดก ว่าด้วยความเพียรอันยิ่งใหญ
ภาพ ป๋องแป๋ง
ลงสี ปูเป้
จบ
Copyright © Dhammakaya Foundation. All rights reserved.
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก โดย พระภาวนาวิริยคุณ
นิทานชาดก
โภชาชานียชาดก
ชาดกว่าด้วยความเพียรอันยิ่งใหญ่
สถานที่ตรัสชาดก
.....เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี
สาเหตุที่ตรัสชาดก
ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมีความตั้งใจปฏิบัติธรรมเป็นอย่างดี แต่ครั้นวันเวลาผ่านไปนานปีเข้าก็ยังไม่เห็นผลของการปฏิบัติธรรม จึงเกิดความเบื่อหน่ายคลายความเพียรลง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหวังจะอนุเคราะห์ภิกษุรูปนั้น จึงเรียกภิกษุรูปนั้นมา แล้วทรงตรัสเล่าชาดก ดังนี้
เนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี พระองค์มีม้าสินธพอาชาไนย ชื่อว่า โภชาชานียะ เป็นม้าที่ได้รับการฝึกมาแล้วอย่างดีเยี่ยม มีรูปร่างองอาจล่ำสัน มีพละกำลังเป็นเลิศกว่าม้าทั้งปวง มีฝีเท้าเร็วประหนึ่งสายฟ้า จนกล่าวได้ว่า แม้เมื่อพระราชาขี่ม้าโภชาชานียะเข้าสู่สนามรบแล้ว ต่อให้ข้าศึกมาพร้อมกันทั้งสิบทิศก็ยังเอาชนะได้ พระเจ้าพรหมทัตจึงทรงโปรดปรานยิ่งนัก ถือเป็นม้ามิ่งมงคลคู่พระบารมี สั่งให้ดูแลจัดที่อยู่อย่างดีและอาหารรสเลิศให้ เสมือนจัดให้สำหรับบุคคลผู้สูงศักดิ์
พระนครพาราณสีนั้นมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ กษัตริย์เมืองต่างๆล้วนอยากครอบครอง แต่ด้วยมีทหารกล้า มีพระราชาที่สามารถ ทั้งยังมีม้าอาชาไนยเช่นนี้ จึงเป็นที่ครั่นคร้ามยำเกรง
ต่อมาเมื่อพระเจ้าพรหมทัตชราลง มีพระราชาจากนครต่างๆ ถึงเจ็ดพระนครได้ร่วมมือกันบุกเข้าล้อมกรุงพาราณสีไว้ แล้วแต่งทูตมาเจรจาขอให้พระเจ้าพรหมทัตยอมศิโรราบ มิฉะนั้นจะยกทัพเข้าชิงเมือง พระเจ้าพรหมทัตจึงทรงเรียกประชุมอำมาตย์ราชมนตรี ที่ประชุมมีมติให้แม่ทัพม้าที่มีความสามารถเยี่ยมผู้หนึ่งเป็นผู้ออกไปรับศึกครั้งนี้ แม่ทัพทูลขอม้าโภชาชานียะเพื่อออกรบด้วย
ท่านแม่ทัพขี่ม้าโภชาชานียะ นำไพร่พลบุกเข้าทลายค่ายศัตรู แม้ว่ากองทัพของข้าศึกจะหนาแน่นเพียงไร ก็ไม่อาจต้านทานการบุกที่หนักหน่วงและรวดเร็วได้ ฝ่ายกองทหารที่ติดตามมา ก็ตีโอบไล่เข้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง กองทัพของฝ่ายข้าศึกถอยร่นไม่เป็นขบวน จนกระทั่งสามารถจับพระราชาได้ถึงหกพระนคร แต่ในการจับพระราชาองค์ที่หกนั้น โภชาชานียะถูกธนูยิงบาดเจ็บสาหัสจนไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ ยังเหลือกษัตริย์อีกหนึ่งพระองค์ ม้าโภชาชานียะคิดว่า
“ ศึกครั้งสุดท้ายนี้หนักที่สุด การที่ท่านแม่ทัพจะขี่ม้าตัวอื่นออกรบนั้น ไม่มีทางเอาชนะข้าศึกได้แน่ งานที่เราทำมากว่าค่อนแล้วก็จะต้องเสียไป ท่านแม่ทัพผู้มีฝีมือเป็นเลิศจักพินาศ แม้พระเจ้าพาราณสีก็จักไม่พ้นเงื้อมมือศัตรู เรามองไม่เห็นม้าตัวไหนจะสามารถพอที่จะบุกเข้าตีค่ายที่เจ็ดลงได้เลย” คิดดังนี้แล้ว ม้าโภชาชานียะจึงให้แม่ทัพพยุงตนให้ลุกขึ้น ข่มความเจ็บปวด พาแม่ทัพบุกตะลุยเข้าทำลายค่ายที่เจ็ด เมื่อจับพระราชาได้แล้วก็สิ้นแรงล้มลง
พระเจ้าพรหมทัตเสด็จมาดูอาการของโภชาชานียะด้วยความห่วงใยยิ่งนัก ยิ่งเห็นว่าได้รับทุกขเวทนาสาหัส ก็ยิ่งรู้สึกปวดร้าวพระทัย ม้าโภชาชานียะกราบทูลพระราชาขออภัยโทษแก่กษัตริย์ทั้งเจ็ด และอย่าให้เอาโทษกับแม่ทัพม้าเพราะเหตุที่ทำให้ตนบาดเจ็บ อิสสริยยศใดที่ตนจะได้ขอให้ยกให้แม่ทัพม้า นอกจากนี้ยังทูลขอให้พระราชาบำเพ็ญทาน รักษาศีล และครองราชสมบัติโดยธรรมตลอดไป กล่าวจบก็สิ้นใจ
พระเจ้าพรหมทัตโปรดให้ทำพิธีศพม้าโภชาชานียะอย่างสมเกียรติเช่นนักรบผู้กล้าหาญ และทรงปฏิบัติตามคำทูลขอของโภชาชานียะทุกประการ
ประชุมชาดก
พระพุทธองค์ทรงประชุมชาดกว่า
พระเจ้าพรหมทัต ได้มาเป็นพระอานนท์
แม่ทัพม้า ได้มาเป็นพระสารีบุตร
ม้าโภชาชานียะ ได้มาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
๑. ควรฝึกตนให้มีความเพียร เมื่อตั้งใจทำสิ่งใดในทางที่ดีงามแล้ว ต้องทำให้สำเร็จ ถ้ายังไม่สำเร็จจะไม่ล้มเลิกเป็นอันขาด แม้งานนั้นจะยากลำบากหรือมีอุปสรรคเพียงใดก็ตาม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างอันดีในการบำเพ็ญ วิริยบารมี มาตั้งแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ แม้ในพระชาติสุดท้าย พระองค์ยังปรารภความเพียรที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ก่อนตรัสรู้ว่า
แม้เลือดและเนื้อในร่างกายของเราจะเหือดแห้งหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที ถ้าหากยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ปราบกิเลสให้หมดไป เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เราจะไม่ยอกลุกจากที่เป็นอันขาด
๒. คุณธรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงเน้นตลอดภพชาติอันยาวนานก็คือ ไม่ผูกพยาบาทจองเวรผู้ใด แม้จะถูกทำร้าย จนถึงแก่ชีวิตก็ตาม