ฉบับที่ ๑๗๐ เดือนธันวาคม ๒๕๕๙

หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๙)

บทความพิเศษ
เรื่อง : พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม)
และคณะนักวิจัย DIRI

หลักฐานธรรมกาย
ในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๑๙)

วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๙) , พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม)

     ช่วงกาลทานมหากฐิน ๑ เดือนนับจากหลังวันออกพรรษาถึงวันลอยกระทง ซึ่งเป็นฤดูกาลที่สำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนก็เป็นอันเสร็จสิ้นเรียบร้อย เป็นที่ปลื้มปีติของชาวพุทธผู้รักการแสวงบุญสร้างบารมีทุกคน ในวาระอายุวัฒนมงคลได้ ๗๒ ปี ของพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) มีโครงการทอดกฐินทั่วไทย โดยคณะศิษยานุศิษย์เป็นผู้แทนไปทอดตามวัดต่าง ๆ ทำให้เห็นคุณค่าของคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่หล่อเลี้ยงจิตใจสาธุชน จนเนื่องไปถึงเศรษฐกิจของประเทศที่ทำให้เกิดภาวะฟื้นฟู ซึ่งเกิดจากความศรัทธาบริจาคสิ่งของอันควรแก่สมณบริโภค และถวายปัจจัยทำบุญให้แก่วัด พระสงฆ์ ซึ่งทางวัดก็จะได้มีกองทุนนำไปใช้ก่อสร้างหรือซ่อมแซมศาสนสมบัติที่ยังคงค้างอยู่ ในการนี้ ทีมงานนักวิจัยของสถาบันฯ DIRI นอกจากจะได้ไปทอดกฐินในวัดสำคัญ ๆ หลายแห่งและที่จังหวัดมหาสารคาม ก็มีโอกาสได้ไปเก็บข้อมูล และสานต่อการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานอักษรธรรมอีสานที่พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย (พระอารามหลวง)และวัดหนองหล่ม ทำให้ได้ทั้งงานบุญและงานวิชาการไปพร้อม ๆ กัน

     สำหรับในฉบับที่แล้วนั้น ผู้เขียนได้พาท่านผู้อ่านให้ย้อนกลับไปรู้จักกับประวัติศาสตร์ของ “พระธรรมจักรศิลา” และความเชื่อมโยงกันของการที่พระพุทธศาสนาได้เริ่มเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว ซึ่งควรกล่าวได้ว่า “พระธรรมจักรศิลา” นี้ มีความสำคัญมาก เพราะศิลาหลักนี้ได้จารึกหลักธรรมของพระพุทธศาสนาไว้ให้เราศึกษาอย่างครบถ้วน นับตั้งแต่อริยสัจ(ความจริง ๔ ประการ) กระบวนการดำเนินไปของอริยมรรค ซึ่งนับว่าเป็น “ศิลาจารึก” ที่มีความเก่าแก่กว่าหลักฐานชิ้นใดที่บรรจุข้อความในลักษณะเดียวกันนี้

    ในคืนวันอังคารที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราช ผ่านโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ซึ่งทั้งตัวผู้เขียนเองและคณะนักวิชาการของสถาบันฯ DIRI ต่างก็มีมติเห็นร่วมกันว่า ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราชที่ยังไม่ได้นำมาขยายความอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในจารึก ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนทำให้มีกำลังใจในการสร้างบารมีสั่งสมบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป และเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงเป็นตัวอย่างของพระธรรมราชาธิราช ที่จรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้พระองค์หนึ่ง

      ดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น หลังจากทรงทำสงครามเอาชนะแคว้นกลิงคะได้แล้ว พระองค์มิได้ทรงยินดีที่จะดำเนินนโยบายโดยใช้ความรุนแรงอีกต่อไป การณ์กลับเป็นว่า พระองค์ทรงหันมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ เนื่องด้วยมีพระราชศรัทธาในสามเณรนิโครธ และทรงตระหนักว่า การทำสงครามมิใช่หนทางที่นำไปสู่ชัยชนะที่แท้จริง เรียกว่าทรงเปลี่ยนจากพระราชาผู้กำชัยด้วยสงคราม (สายกวิชัย)มาสู่ความเป็น “ธรรมวิชัย” หรือ “ชนะโดยธรรม” ในที่สุด ซึ่งสิ่งที่จะเป็นเครื่องชี้ชัดถึงความจริงในข้อนี้ได้ดีที่สุดก็คือ การศึกษาพิจารณาจากหลักฐานที่มีอยู่ในสมัยนั้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ข้อถกเถียงในเรื่องเกี่ยวกับความแท้จริงของหลักฐานศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนั้น มีข้อยุติมาเนิ่นนานแล้วว่าทั้งหมดเป็นของจริง และข้อความในจารึกล้วนเชื่อมโยงกับพระพุทธ-ศาสนาจริง

   จากศิลาจารึกที่พระเจ้าอโศกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนั้น พบว่าโดยส่วนใหญ่เป็นพระบรมราชโองการที่เกี่ยวกับการสร้างความผาสุกแก่ราษฎร การปรับปรุงแก้ไขพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในราชอาณาจักรให้เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต และการประกอบสัมมาอาชีพของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการทรงพยายามโน้มนำให้ราษฎรของพระองค์ก้าวมาสู่หนทางของพระพุทธศาสนา ซึ่งการที่ทรงปฏิบัติเช่นนี้ค่อนข้างชี้ชัดว่าทรงมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม ที่ให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติธรรมและความมั่นคงของพระพุทธศาสนามากเพียงใด

     จากการศึกษาร่วมกับคณะนักวิจัยและนักศึกษาของสถาบันฯ DIRI ที่ส่งไปศึกษาเกี่ยวกับจารึกโบราณของพระเจ้าอโศกมหาราชพบว่า ทรงมีเป้าหมายในการเป็นกษัตริย์แห่งธรรมจริงดังที่นักวิชาการหลายแขนงได้วิเคราะห์ ซึ่งพุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าพระเจ้าอโศกมหาราช “พระปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ” นั้นทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในยุคของพระองค์ดังที่ไม่เคยมีราชาแคว้นใดทรงทำมาก่อน แต่ประเด็นที่เราเห็นนอกเหนือไปจากนั้นก็คือ พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น มิได้ทรงมีจุดมุ่งหมายเพียงแต่การเป็น “กษัตริย์ผู้เป็นที่รักของทวยเทพ” และของประชาชนเท่านั้น หากแต่ยังทรงมุ่งหวังที่จะเป็น “พุทธบริษัทที่ดี” ที่บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของการหลุดพ้นเช่นเดียวกับมหาราชาองค์อื่น ๆ ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอีกด้วยดังจะเห็นได้จากพระบรมราชโองการฉบับหนึ่งของพระองค์ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า...

ศิลาจารึกฉบับน้อย ตอนที่ ๑
จารึกฉบับเหนือ

พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

      “นับเป็นเวลาเกินกว่าสองปีครึ่งแล้ว ที่ข้าฯ ได้เป็นอุบาสก แต่ตลอดเวลา ๑ ปี ข้าฯมิได้ทำความพากเพียรใด ๆ อย่างจริงจังเลยและนับเป็นเวลา ๑ ปีเศษแล้วที่ข้าฯ ได้เข้าหาสงฆ์ ข้าฯ จึงได้ลงมือทำความพากเพียรอย่างจริงจัง...”

    จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นชัดว่าพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น อาจจะทรงเริ่มศึกษาหลักธรรมและการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาหรือทรงได้รับคำแนะนำให้ปฏิบัติธรรมมากขึ้นแล้ว แต่อาจยังไม่ก้าวหน้านัก จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะกลับมาทำให้สำเร็จอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้นแล้ว เราอาจจะอนุมานได้ว่า คำจารึกนี้น่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากการทำสงครามพิชิตแคว้นกลิงคะไม่นานนัก และเป็นช่วงที่กำลังทรงเริ่มศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนาในระยะแรก ๆ อย่างไรก็ตาม นอกจากข้อความในจารึกส่วนนี้แล้ว เมื่อได้พิจารณาข้อความใน “จารึกหลักศิลา” อื่น ๆ เพิ่มเติม ก็ทำ      ให้เราสามารถกล่าวได้ชัดเจนขึ้นว่า พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ทรงมีวิริยอุตสาหะ และทรงให้ความสำคัญกับธรรมปฏิบัติเพียงใด ดังข้อความตอนหนึ่งว่า ...

วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๙) , พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม)

จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๑
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้ตรัสไว้ดังนี้

      “ธรรมโองการนี้ ข้าฯ ได้ให้จารึกขึ้นไว้เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้าย่อมเป็นสิ่งที่จะพึงปฏิบัติให้สำเร็จโดยยาก หากปราศจากความเป็นผู้ใคร่ธรรมอย่างยิ่งยวด การใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างยิ่งยวด การตั้งใจฟังคำสั่งสอนอย่างยิ่งยวดความเกรงกลัวต่อบาปอย่างยิ่งยวด และความอุตสาหะอย่างยิ่งยวด ...

      “บัดนี้ ด้วยอาศัยคำสั่งสอนของข้าฯ ความมุ่งหวังในทางธรรม ความฝักใฝ่ใคร่ธรรมได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วทุก ๆ วัน และจักเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเรื่อยไปฯ...”

      จากข้อความที่ยกมานี้ แม้เป็นข้อความในช่วงต้นของจารึก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า มีพระราชหฤทัยมุ่งหวังในธรรมปฏิบัติเพียงใด(โดยเฉพาะเมื่อทรงก้าวเข้าสู่ปีที่ ๒๖ หลังจากราชาภิเษกแล้ว) ในด้านหนึ่ง ด้วยฐานะของความเป็นมหาราช สิ่งที่ทรงมุ่งหวังก็คือ การทำให้ประชาชนของพระองค์ แว่นแคว้นของพระองค์ผาสุก และในอีกด้านหนึ่ง เราย่อมจะเห็นได้ว่าทรงไตร่ตรอง (ธรรม) และทรงคำนึงถึงองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการประพฤติธรรมอยู่มากพอสมควร ทั้งนี้หากพิจารณาถึงข้อความบางตอนในศิลาจารึกหลักอื่น ๆ ก็จะยิ่งเห็นความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ในศิลาจารึกแห่งไพรัต (Minor Rock Edict III : Calcutta-Bairat) มีการกล่าวถึงความเชื่อในพระพุทธศาสนาและชีวิตสมณะ ซึ่งคาดว่าเป็นจารึกช่วงท้ายของรัชกาล มีเนื้อความที่แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นอุบาสกผู้นับถือและปกป้องพระพุทธศาสนา

วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๙) , พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม)
ภาพศิลาจารึกแห่งไพรัต


     เนื้อหาศิลาจารึกแห่งไพรัต

   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี ราชาแห่งมคธ ได้ทรงอภิวาทพระภิกษุสงฆ์แล้วตรัสปราศรัยกับพระภิกษุสงฆ์ด้วยความปรารถนาดีขอให้ท่านจงมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขท่านได้กล่าวว่า : ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลายท่านทั้งหลายย่อมทราบว่า ข้าพเจ้ามีความเคารพ เลื่อมใส และศรัทธา ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มากเพียงใด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สิ่งใดก็ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสุภาษิต ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ก็ข้อที่โยมพิจารณาด้วยดีนั้น คือข้อที่ว่า “ทำอย่างไรจึงจะดำรงรักษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ให้ได้ตลอดกาลนาน” ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้คือ :

๑. วินยสมุกฺกํส - หลักธรรมดีเด่นในพระวินัย
๒. อริยวาส - ความเป็นอยู่อย่างพระอริยะ
๓. อนาคตภย - ภัยอันจะมีในอนาคต
๔. มุนิคาถา - คาถาของพระจอมมุนี
๕. โมเนยฺยสุตฺต - พระสูตรว่าด้วยโมไนยปฏิปทา
๖. อุปติสฺสปญฺหา - ปัญหาของอุปติสสะ และ
๗. ข้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในราหุโลวาท อันว่าด้วยเรื่องมุสาวาท

     “ข้าแต่พระภิกษุผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีความปรารถนาในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมบรรยายเหล่านี้ว่า ขอพระภิกษุและพระภิกษุณีทุกท่านที่ได้รับฟังพึงพิจารณาใคร่ครวญโดยสม่ำเสมอและจดจำไว้ แม้แต่อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายก็ควรประพฤติเช่นเดียวกัน ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย จารึกนี้ได้ถูกเขียนขึ้นไว้ก็เพื่อให้ชนทั้งหลายได้เข้าใจความมุ่งหมายนี้”

      เมื่อพิจารณาโดยพื้นฐาน เราอาจแลเห็นว่า การที่ทรงจารึกหลักธรรมเหล่านี้ไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีพระราชประสงค์จะให้ความรู้แก่ประชาชนหรือสั่งสอนประชาชนให้อยู่ในธรรมเพื่อประโยชน์แห่งการปกครองรัฐให้สงบสุข แต่จากเนื้อความหลัก ๆ เราจะพบว่าในอีกด้านหนึ่งมีพระราชปรารภอย่างลึกซึ้งถึงการขัดเกลาจิตใจ (ทั้งของประชาชนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวพระองค์เองด้วย) ไปพร้อม ๆ กัน เสมือนหนึ่งจะทรงรำลึกถึงบุญและกุศลต่าง ๆ ที่ทรงปฏิบัติให้ชัดเจนขึ้น และเพื่อให้พระราชหฤทัยของพระองค์นั้นชุ่มชื่น เพื่อให้การปฏิบัติธรรมของพระองค์นั้นก้าวหน้าขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในโลกเบื้องหน้าที่ทรงคำนึงถึง

     และหากเราพิจารณากันโดยทิศทางดังกล่าวนี้ ก็ควรกล่าวได้ว่า แม้การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ บำเพ็ญสมณธรรมของพระภิกษุสามเณรอย่างกว้างขวาง การทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ การส่งสมณทูตตลอดจนพระเถรานุเถระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ (รวมตลอดถึงการปรับปรุงการปกครองให้มุ่งเน้นที่ประโยชน์สุขของประชาชนตลอดรัชสมัยเรื่อยมา) นั้น สาระสำคัญก็คือ “การปูพื้นฐานทางกุศลกรรม” ของพระองค์เองให้ถึงพร้อมตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวดด้วยนั่นเอง เพื่อให้พระราชหฤทัยของพระองค์ยิ่งสามารถโน้มเข้าไปสู่ “ธรรม” ได้ดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น

      อย่างไรก็ดี การศึกษาพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอโศกมหาราชโดยผ่านหลักฐาน คือ ศิลาจารึกในข้างต้นนี้ แม้เป็นเพียงตัวอย่างในส่วนเล็ก ๆ ก็ตาม แต่ในมติที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ไม่เคยละทิ้งก็คือ การเข้าไปสืบค้นประเด็นที่อาจตกหล่นหรือมีข้อแท้จริงบางประการที่ยังไม่ได้นำเสนอออกมาสู่โลกและสาธารณะให้มากที่สุด ซึ่งในกรณีของศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนี้ ควรถือว่ามีประเด็นและเรื่องราวที่น่าสนใจศึกษาอีกไม่น้อย โปรดติดตามเรื่องราวที่จะนำมาเสนอตามโอกาสอันควร


วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๙) , พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม)

วัดโพธิ์ศรี อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
 

วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๙) , พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม)


วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๙) , พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม)

พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล