ฉบับที่ ๑๗๒ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

เมื่อเริ่มสร้างวัดพระธรรมกาย หลวงพ่อมีหลักการสร้างและดูแลวัดอย่างไร ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

เมื่อเริ่มสร้างวัดพระธรรมกาย
หลวงพ่อมีหลักการสร้างและดูแลวัดอย่างไร ?

วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย ,  หลวงพ่อตอบปัญหา , พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) , สังคมเปลี่ยนไป แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตามพระพุทธศาสนามีคำแนะนำอย่างไร

         หลวงพ่อขอถือโอกาสใช้การตอบคำถามนี้ เล่าเรื่องการสร้างวัดพระธรรมกาย เพื่อให้ได้ศึกษาวิธีการสร้างวัด แล้วจะได้เห็นแนวทางที่ตรงกัน เพื่อต่อไปภายหน้าจะได้ช่วยกันดูแลรักษาวัด ดูแลรักษาพระพุทธศาสนากันต่อไป เมื่อเริ่มสร้างวัดในพื้นที่ ๑๙๖ ไร่ คือพื้นที่ในกำแพงด้านใน ซึ่งมีลักษณะหน้าแคบแต่ว่ายาวเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยว ตรงนี้ทำให้ยากต่อการดูแลรักษา แต่ว่ามันก็เป็นหน้าที่ของเรา เมื่อจะสร้างวัดขึ้นมาก็ต้องดูแลให้ได้ แล้วการจะดูแลให้ได้ก็ต้องมีหลักการที่แน่นอนชัดเจน

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ชัดเจนว่า “บัณฑิตทั้งหลายพึงระแวงภัยที่น่าระแวงแล้วระวังป้องกันภัยนั้นก่อนที่มันจะมาถึง” ก็หมายความว่า วิสัยของบัณฑิตพึงมองเห็นการณ์ไกล ระแวงภัยที่น่าระแวง แล้วก็ระวังป้องกันภัยนั้น ก่อนที่จะมาถึงตัวเองและหมู่คณะสมัยนั้น หลวงพ่อติดตามหลวงพ่อธัมมชโยและคุณยายอาจารย์ฯ มาลงมือสร้างวัด ตอนนั้นในพื้นที่ ๑๙๖ ไร่ มีผู้เช่าที่ดินอยู่ประมาณสัก ๗-๘ รายด้วยกัน เขาสร้างบ้านอยู่ในบริเวณด้านหน้าของวัดเราขณะนี้ ๗-๘ หลังคาเรือน บางรายเขาก็มีที่นาของเขา แต่ว่าเขามาเช่าที่ใน ๑๙๖ ไร่ทำนาด้วย ก็เลยมาสร้างบ้านเรือนเอาไว้ในพื้นที่ที่ทำนานี้ ใจหลวงพ่อ ก็คิดว่า เขาเคยอยู่ก็อยู่ไปแล้วกัน เราก็จะกันที่เอาไว้ส่วนหนึ่ง แล้วเขาจะปลูกบ้านสร้างเรือนอะไรเราก็ไม่ว่า อยู่แล้วก็อยู่กันไป
 

 "บัณฑิตทั้งหลายพึงระแวงภัยที่น่าระแวง
แล้วระวังป้องกันภัยนั้นก่อนที่มันจะมาถึง"

     แต่คุณยายอาจารย์ฯ ท่านไม่เห็นด้วยท่านบอกว่าอย่าทิ้งปัญหาไว้ให้รุ่นหลัง เริ่มต้นต้องแก้ไขป้องกันไว้ให้เสร็จสรรพ คนรุ่นหลังจึงจะอยู่เป็นสุข เพราะว่าถ้าปล่อยให้คนเขาอาศัยอยู่ในวัด นานไปจะมีเรื่องยุ่งยาก ตามมาเพราะกฎเกณฑส์ สำหรับควบคุมฆราวาสทางโลก นั้นควบคุมกันด้วยกฎหมาย แต่กฎเกณฑ์ของศาสนาควบคุมกันโดยศีล แค่นี้ก็พอจะเห็นได้ว่ามันเริ่มไม่ไปด้วยกัน

        แล้วท่านก็ยกตัวอย่างขึ้นมาถามหลวงพ่อว่า “ถ้าคุณกั้นเขตให้เขาอยู่กัน แต่เขาก็ยังอยู่ในบริเวณวัด ถ้าเขากินเหล้ากัน คุณเข้าไปห้ามได้ไหม ?” หลวงพ่อก็ตอบคุณยายตรง ๆ ว่า“เขากินเหล้าในบ้านเขา เราคงเข้าไปห้ามไม่ได้”“แล้วถ้าชาวบ้านเปิดบ่อนเล่นการพนันในบ้านคุณจะเข้าไปห้ามได้ไหม ?” “ก็คงห้ามไม่ได้นะยาย”

       คุณยายท่านก็ถามต่อว่า “แล้วถ้าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ความเสียหายเกิดกับเขาหรือเกิดกับวัด หรือเกิดกับพระพุทธศาสนา ?” หลวงพ่อตอบว่า “เกิดหมดยาย เขาเองก็เสียหายด้วยแต่ว่า ถ้าใจดานเสีย แล้ว เขาก็ไม่รู้สึก แต่วัดและพระพุทธศาสนาเป็นอันตรายแน่”

 

         คุณยายเลยสรุปให้ว่า เริ่มต้นจะสร้างวัดก็ต้องกั้นพื้นที่ของวัด กันเขตให้ชัดเจน ตอนนั้นหลวงพ่อยังไม่ได้บวช ก็รับหน้าที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านให้รู้เรื่อง ให้เห็นแก่พระพุทธศาสนาชาวบ้านเขาก็เลยย้ายออก ไปปลูกบ้านในที่ทางของเขาเอง บางบ้านไม่มีที่จะไป หลวงพ่อก็รวบรวมปัจจัย แล้วให้เขาไปซื้อที่ซื้อทางของเขาเอง แล้วก็ยังช่วยปลูกบ้านให้ด้วย

   ที่คุณยายต้องป้องกันไว้ก่อน เพราะเรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อ ๒ ปีก่อนที่เราจะมาสร้างวัดมีวัดแห่งหนึ่ง มีคนเช่าพื้นที่ของวัดอยู่อาศัย ต่อมาเขาขยายพื้นที่ของเขาออกไป และเอาลูกหลานมาอยู่อีกเยอะ ขณะที่อีกคนหนึ่ง ก็จะเอาที่ของวัดที่เขาขอเช่าอยู่ไปทำตึกแถว เขาอยู่มานานจนนึกว่าเป็นสิทธิ์ของเขา เจ้าอาวาสไม่ยอม ท่านจะสร้างศาลา แล้วท่านก็ฟ้องขับไล่ เพราะว่าปล่อยให้สร้างตึกแถวในวัดไม่ได้

     ไม่กี่เดือนต่อมาท่านก็ถูกยิงตาย ที่ยกตัวอย่างนี้ให้ดูจะได้รู้ว่านี้ คืออันตรายที่จะรออยู่ข้างหน้าเพราะฉะนั้น หลวงพ่อก็รับหน้าที่ นี้ไปขอความร่วมมือจากชาวบ้าน ขอให้เห็นแก่พระพุทธศาสนา ช่วยกันเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับสร้างวัดก่อน

      ต่อมาหลวงพ่อบวชแล้ว คุณยายบอกว่า“ท่านเชื่อยายนะ ทำกำแพงรอบวัดเสีย แล้วต่อไปข้างหน้าจะอยู่เป็นสุข” หลวงพ่อก็มาคำนวณว่า ถ้าเราจะสร้างกำแพง เนื่องจากที่ของวัดพระธรรมกายยาวเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ หน้ากว้างแคบ ด้านข้างยาวเหยียดเลย คือยาวด้านละ ๑,๐๐๐ เมตร(ถ้าจำไม่ผิด ๑,๐๐๖ เมตร) เพราะฉะนั้นด้านข้าง ๒ ด้าน ก็เป็นระยะทางกว่า ๒ กิโลเมตรด้านหน้าหัวท้ายเข้าไปอีกรวมแล้วก็ประมาณ๒.๕ กิโลเมตร เกือบ ๓ กิโลเมตร คำนวณเสร็จก็บอกว่า “ถ้าสร้างกำแพงตอนนี้ กำแพงจะราคาแพงกว่าอาคารที่มีอยู่ภายใน มันไม่คุ้มนะยาย”

       คุณยายท่านก็ตอบดี “ไม่ใช่ความคุ้มหรือไม่คุ้ม มันอยู่ที่ความเป็นวัดหรือความไม่เป็นวัด มันอยู่ที่ความเป็นวัดกับความเป็นพระของท่าน ไม่ได้อยู่ที่ความคุ้มหรือไม่คุ้ม”

      การสร้างกำแพง ถ้าคิดเป็นเงินก็แพงกว่าตัวอาคารที่มีอยู่ เพราะมันยาวเกือบ ๓ กิโลเมตรแต่คุณยายก็ให้สร้าง ไม่ใช่คุ้มหรือไม่คุ้มทางเศรษฐกิจ แต่คุ้มในการที่จะเป็นวัด ในการที่จะอยู่เป็นพระ วัดต้องมีความสงบ ใครมาจาก๑๐ ทิศ จะเป็นหญิงเป็นชายเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ก้าวเข้ามาในวัดแล้วต้องสงบ นอกจากสงบแล้วต้องปลอดภัยอีกด้วย นี้คือความเป็นวัด

 " การสร้างกำแพง ถ้าคิดเป็นเงินก็แพงกว่า
      ตัวอาคารที่มีอยู่ เพราะมันยาวเกือบ ๓ กิโลเมตร
      แต่คุณยายก็ให้สร้าง ไม่ใช่คุ้มหรือไม่คุ้มทางเศรษฐกิจ
แต่คุ้มในการที่จะเป็นวัด"

      เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่า “วัดวาอาราม”อาราม แปลว่า ป่าอันน่ารื่นรมย์ ถ้ามีกำแพงแล้วก็สร้างป่าเต็มพื้นที่ ความเป็นวัดก็จะได้เกิดมีขอบเขตที่ชัดเจน ไม่อย่างนั้นใครอยากจะเข้าจะออกพลุกพล่านกันไปหมด ไม่มีความสงบแบบนี้ ความเป็นวัดจะเกิดได้อย่างไร

       แล้วคุณยายอาจารย์ก็บอกว่า “พวกท่านเป็นพระบวชใหม่ ยังเหาะไม่ได้ ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เราเป็นพระเพิ่งฝึกตัว ความสำรวมบางครั้งก็หย่อน บางครั้งก็ดี บางครั้งก็สมบูรณ์ด้วยเหตุนี้พระภิกษุจึงต้องมีความเป็นส่วนตัวอยู่บ้าง เมื่อสร้างกำแพงเสร็จเรียบร้อยแล้วจะได้แบ่งเขตได้ เขตนี้เป็นธรรมาวาส  

       ”พุทธาวาส คือ เขตที่ประกอบพิธีกรรมใหญ่ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานคือเขตโบสถ์ธรรมาวาส คือ เขตอบรมเทศน์สอนประชาชนมีศาลาสำหรับเทศน์สอน พ้นจากนั้นแล้วเป็นสังฆาวาส คือ เขตให้พระอยู่อาศัย ถ้าอย่างนี้ความเป็นพระก็จะเกิดขึ้นในเพศสมณะ

    “วัดมีกำแพงแล้วก็จะได้ป้องกันภัย เช่นพวกลักเล็กขโมยน้อยก็ตาม พวกที่เข้ามาแอบกินเหล้า แอบเล่นไพ่ แอบทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรควรก็จะได้ไม่มี ถ้าหากไม่มีกำแพงวัดจะดูแลทั่วถึงได้อย่างไร หัววัดท้ายวัดยาว๑ กิโลเมตรกว่า ๆ เชื่อยายนะ ทำกำแพงเสียเถิด”

     เพราะฉะนั้น ต่อมาเมื่อขยายพื้นที่อีก ๒,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมอยู่ทุกวันนี้ เป็นเจดีย์ อาคาร ๖๐ ปีฯ วิหารหลวงปู่ แล้วก็สภาธรรมกายสากล ทั้งหมดเป็นพื้นที่ ๒,๐๐๐ ไร่ เมื่อจะลงมือก่อสร้างก็เลยทำกำแพงควบคู่กันไป เพราะได้เห็นคุณค่าของกำแพงแล้ว

     เพราะฉะนั้น ถ้าจะดูแลรักษาวัด รักษาอายุพระพุทธศาสนาให้ดี เมื่อจะไปสร้างวัดที่ไหน ใครเห็นอะไรที่จะเป็นข้อบกพร่อง หรือว่าเป็นจุดเสี่ยงจุดอันตรายที่ผู้ไม่หวังดี อาจจะเข้ามาทำความวุ่นวายได้ ก็ให้ช่วยกันหาทางป้องกันแก้ไข ก่อนจะลงมือทำก็ประชุมกันให้ดีร่วมกันพินิจพิจารณา แล้วก็ทำไปตามความเหมาะสม ก็จะเป็นการทำตามหลักการ ทำตามคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้ว่า “บัณฑิตทั้งหลายพึงระแวงภัยที่น่าระแวงแล้วระวังป้องกันภัยนั้นก่อนที่มันจะมาถึง”นั่นเอง

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล