ฉบับที่ ๑๗๔ เดือนมิถุนายน ๒๕๖๐

ประวัติการอุปสมบทอุทิศชีวิตของสามเณรเปรียญธรรม วัดพระธรรมกาย

คุณค่าชีวิต
เรื่อง : พระมหาพรหมเทพ เมตฺติชโย ป.ธ.๕, นศ.บ.

 

ประวัติการอุปสมบทอุทิศชีวิตของสามเณรเปรียญธรรม วัดพระธรรมกาย

 

ประวัติการอุปสมบท อุทิศชีวิต,เนื้อนาใน,อยู่ในบุญ

       หมู่คณะรุ่นบุกเบิกของวัดพระธรรมกายอันประกอบด้วยหลวงพ่อธัมมชโย หลวงพ่อทัตตชีโว คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และคณะศิษยานุศิษย์ร่วมกันพลิกผืนนาฟ้าโล่งบนพื้นที่ ๑๙๖ ไร่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ ให้เป็นบุญสถานแห่งการสั่งสมบุญสร้างบารมี โดยมีความตั้งใจที่จะสร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ สร้างคนให้เป็นคนดีและเนื่องจากทุกท่านต่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันทุ่มเทแรงกาย แรงใจ อุทิศตนเพื่อพระศาสนาจึงทำให้สามารถเผยแผ่ธรรมะไปสู่มหาชนได้เป็นจำนวนมาก

    ในแต่ละปี แต่ละเดือน แต่ละวัน วัดพระธรรมกายมีแต่กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ การฝึกฝนอบรมตนเอง สั่งสมบุญบารมี และเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงทำให้วัดมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และความศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาหลายประเภท ทั้งพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา รวมทั้งญาติโยมสาธุชน ซึ่งพร้อมที่จะอุทิศกำลังกาย กำลังใจกำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา ช่วยงานพระพุทธศาสนาและเป็นกัลยาณมิตรแก่ผู้อื่น

 

   

    ต่อมา หลวงพ่อธัมมชโยปรารถนาที่จะสืบต่ออายุพระศาสนาให้ยืนนานยิ่ง ๆ ขึ้นไปท่านจึงดำริให้มีโครงการรับเยาวชนมาบรรพชาเป็นสามเณร เพราะว่าการบวชตั้งแต่เยาว์วัยจะทำให้สามเณรมีเวลาในการศึกษาเล่าเรียนธรรมะ ฝึกฝนอบรมตนเอง และสร้างบารมีอย่างเต็มที่ จะได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนาในอนาคต

   การรับสมัครสามเณรรุ่นแรกของวัดพระธรรมกายเริ่มขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ต่อมาช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๐ วัดพระธรรมกายได้ทำหนังสือไปยังเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ และวัดต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อแจ้งข่าวการเปิดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี และรับสมัครสามเณรอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่นั้นมาวัดพระธรรมกายจึงมีบุคลากรครบทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสกอุบาสิกา

    นับจากวันแรกที่ย่างเท้าเข้ามาสมัครเป็นสามเณรวัดพระธรรมกาย สามเณรต่างได้รับความรักและความเมตตาจากหลวงพ่อมาโดยตลอด ท่านดูแลให้ลูก ๆ สามเณรใส่ใจในการฝึกตัว และให้ศึกษาเล่าเรียนเฉพาะพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี ส่งผลให้การสอบพระบาลีมียอดสอบได้มากเป็นอันดับต้นๆของวงการการศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศไทย

    ทุกปีหลังจากสามเณรสอบบาลีเสร็จแล้วท่านก็เมตตาให้ไปปฏิบัติธรรมนอกสถานที่ณ ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เพื่อให้สามเณรทุกรูปถึงพร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธโครงการนี้ส่งผลให้สามเณรมีเป้าหมายชีวิตที่มั่นคง มีจิตใจที่เข้มแข็ง และบวชต่อจนกระทั่งถึงอายุครบบวชเป็นพระภิกษุ และได้อุปสมบทอุทิศชีวิตเพื่อเป็นกำลังอันเข้มแข็งของพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

 

 

    การบวชอุทิศชีวิตครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ในปีนั้นสามเณรชุดแรกมีอายุครบบวชเป็นพระภิกษุแล้ว หลังเสร็จจากการปฏิบัติธรรมที่ดอยสุเทพ หลวงพ่อจึงเมตตาให้ไปปฏิบัติธรรมต่อที่ธุดงคสถานล้านนา เชียงใหม่โดยหลวงพ่อสอนนั่งสมาธิอย่างใกล้ชิด ทำให้แต่ละรูปมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดี

    ในครั้งนั้น หลวงพ่อถามลูกสามเณรว่า “จะเข้าพิธีอุปสมบทเมื่อไรจ๊ะ” ลูกสามเณรตอบว่า “วันที่ ๒๖ เมษายน ที่จะถึงนี้ครับ”หลวงพ่อถามต่อว่า “มีทั้งหมดกี่รูปจ๊ะ” ลูกเณรตอบว่า “มีทั้งหมด ๒๒ รูปครับ” เมื่อหลวงพ่อได้ยินคำตอบจึงกล่าวว่า “๒๒ รูปหรือ งั้นบวช๒๒ เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดหลวงพ่อเลยจ้ะ ลูกเณร ๒๒ รูปต้องบวช ๒๒ เมษาฯจึงจะเหมาะสม” นี้คือจุดเริ่มต้นของการบวชอุทิศชีวิตในวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อ

 

    สำหรับการบวชอุทิศชีวิตนั้น หลวงพ่อธมัมชโยกล่าวไว้ “ว่าการตัดสินใจบวชอุทิศชีวิติเหมือนกับเป็นการประกาศศึกว่า เรานี้จะทุ่มทั้งชีวิตของเราไปข้างหน้าโดยไม่เหลียวหลังกลับมา เหมือนเราทุบหม้อข้าว เอาชีวิตทั้งชีวิตไว้ในพระศาสนา เมื่อบวชไปแล้วก็ต้องรักษาอุดมการณ์ปณิธานของตนเอง สิ่งใดที่ยังไม่สมบูรณ์ เช่น การศึกษาที่ยังไปไม่ถึงเปรียญธรรม๙ ประโยค ถ้าเรายังมีความตั้งใจอยู่ก็ให้ไปให้ถึง ถ้าใครมีความรู้ความสามารถสติปัญญาไปไม่ถึง ก็ต้องช่วยกันทำงานพระศาสนา”

   ตลอดระยะเวลา ๒๔ ปีที่มีการบวชอุทิศชีวิต ก่อนเข้าพิธีอุปสมบท หลวงพ่อจะถวายผ้าไตรและให้โอวาทสามเณรในการเตรียมตัวเตรียมใจเข้าพิธีบวช คือ ให้ปฏิบัติธรรมให้ใจใส ๆ จนเข้าถึงพระธรรมกาย จะได้บวช ๒ ชั้น เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของตนเองและจะได้พร้อมที่จะเป็นเนื้อนาบุญแก่โยมพ่อโยมแม่ และสาธุชนที่สนับสนุนให้สามเณรมีเวลาศึกษาเล่าเรียนและประพฤติปฏิบัติธรรมได้โดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องอื่นใด

    ต่อมา เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา มีการนิมนต์พระสังฆาธิการจากทั่วประเทศ จำนวน ๑๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ รูป มาเป็นเนื้อนาบุญในงานบุญวันที่ ๒๒ เมษายน(วันคุ้มครองโลก) จึงทำให้ไม่สะดวกต่อการจัดงานอุปสมบทอุทิศชีวิตในวันนี้ หลวงพ่อจึงให้เลื่อนการบวชไปในวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

    การบวชอุทิศชีวิตของสามเณรวัดพระธรรมกายทุกรูป จึงเป็นการบวชที่มีหลวงพ่อธัมมชโยเป็นต้นบุญต้นแบบมาตั้งแต่แรก ซึ่งสร้างความปลื้มปีติแก่สามเณรเป็นอย่างยิ่งนอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นต้นมา หลวงพ่อธัมมชโยยังเมตตามอบฉายาให้ทุกรูปโดยให้ใช้คำลงท้ายฉายาว่า “ชโย” ที่แปลว่า“ผู้มีชัยชนะ” ซึ่งเป็นคำลงท้ายที่เหมือนกับฉายาของหลวงพ่อ และหากปีใดมีสามเณรวัดพระธรรมกายสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งจะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุนาคหลวง หลวงพ่อก็เมตตามอบฉายาให้ โดยมีคำขึ้นต้นว่า “ธมฺม”อาทิ พระมหาสุวิทย์ ธมฺมิกมุนิ, พระมหาจันดีธมฺมสิทธิ, พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี เป็นต้น

    พิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตรุ่นแรกจัดขึ้นณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหารกรุงเทพมหานคร ส่วนรุ่นที่ ๒ จนกระทั่งถึงรุ่นปัจจุบันจัดขึ้น ณ อุโบสถวัดพระธรรมกายจ.ปทุมธานี

   หลังจากได้อุปสมบทอุทิศชีวิตแล้วพระภิกษุมหาเปรียญธรรมทุกรูปต่างอุทิศตนช่วยงานพระศาสนาอย่างสุดความสามารถ ทั้งในด้านการคณะสงฆ์ การศึกษาพระปริยัติธรรมการอบรม ฯลฯ หลายรูปทำหน้าที่ในฝ่ายการปกครองของคณะสงฆ์ อีกหลายรูปเป็นพระธรรมทูตทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นแสงสว่างให้แก่ชาวโลกสมกับเป็นวีรบุรุษแห่งกองทัพธรรม เป็นเพชรเม็ดงามแห่งวงการพระพุทธศาสนา

    ในวันวิสาขบูชาปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้ วาระแห่งการบวชอุทิศชีวิตเวียนมาถึงอีกครั้งแล้ว ในปีนี้มีสามเณร จำนวน ๑๘ รูปเข้าพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิต ณ อุโบสถวัดพระธรรมกาย ดังนี้

๑. สามเณรวิทยา เหลืองอร่าม ฉายา วิทูชโย ป.ธ.๕
๒. สามเณรญาณวรุตม์ กสิวงศ์ ฉายา ญาณชโย ป.ธ.๗
๓. สามเณรอำพล เนาว์ศรีสอน ฉายา พลชโย ป.ธ.๔
๔. สามเณรพุฒิพงศ์ รัศมีจันทร์ ฉายา วุทฺธิชโย ป.ธ.๔
 ๕. สามเณรจิรศักดิ์ แสงฐิตาพันธุ์ ฉายา สตฺติชโย ป.ธ.๔
 ๖. สามเณรอดินันท์ เสวนะบัณฑิตแพทย์ ฉายา วีรชโย ป.ธ.๔

๗. สามเณรพิพัฒน์ คงกระพันธ์ ฉายา วิชโย ป.ธ.๖
๘. สามเณรโกวิน สอนโยธา ฉายา โกวิทชโย ป.ธ.๔

๙. สามเณรลัทธ์ ยี่จา ฉายา ลทฺธชโย ป.ธ.๔
๑๐. สามเณรสุวินิจ เลาหวงศ์ ฉายา ปญฺญินฺทชโย ป.ธ.๖
๑๑. สามเณรกิตติศักดิ์ ยอดทองหลาง ฉายา กลฺยาณชโย ป.ธ.๔
๑๒. สามเณรสวัสดิ์ ดัชถุยาวัตร ฉายา สุรินฺทชโย ป.ธ.๔

๑๓. สามเณรเมฑัต ลาโส ฉายา ธีรชโย ป.ธ.๖
๑๔. สามเณรดูโน๊ะ ขั้ว ฉายา เมธีชโย ป.ธ.๔
๑๕. สามเณรธนกร แก้วเจริญวิริยะ ฉายา ปริญฺญาชโย ป.ธ.๗
๑๖. สามเณรภัคพล ศิลปศิลานนท์ ฉายา ภคชโย ป.ธ.๔
๑๗. สามเณรณัฐวุฒิ มะโนทัย ฉายา เตชินฺทชโย ป.ธ.๔
๑๘. สามเณรนำบุญ ตั้งตระกูล ฉายา นาคชโย ป.ธ.๗

 

 สถิติการบวชอุทิศชีวิตทั้ง ๒๔ ครั้ง   จำนวน ๓๑๓ รูป
•  อุปสมบทอุทิศชีวิตในวันที่ ๒๒ เมษายน
พ.ศ. ๒๕๓๖ จำนวน ๒๒ รูป / พ.ศ. ๒๕๓๗ จำนวน ๖ รูป / พ.ศ. ๒๕๓๘ จำนวน ๖ รูป /พ.ศ. ๒๕๓๙ จำนวน ๒๓ รูป / พ.ศ. ๒๕๔๐ จำนวน ๗ รูป + ๑ (นาคหลวง) = ๘ รูป / พ.ศ.๒๕๔๑ จำนวน ๒ รูป + ๑ (นาคหลวง) = ๓รูป

• อุปสมบทอุทิศชีวิตในวันวิสาขบูชา
พ.ศ. ๒๕๔๒ จำนวน ๗ รูป / พ.ศ. ๒๕๔๓ จำนวน ๗ รูป / พ.ศ. ๒๕๔๔ จำนวน ๑๐ รูป+ ๑ (นาคหลวง) = ๑๑ รูป / พ.ศ. ๒๕๔๕
  จำนวน ๑๑ รูป / พ.ศ. ๒๕๔๖ จำนวน ๖ รูป+ ๑ (นาคหลวง) = ๗ รูป / พ.ศ. ๒๕๔๗ จำนวน๒๗ รูป + ๑ (นาคหลวง) = ๒๘ รูป / พ.ศ.๒๕๔๘ จำนวน ๑๔ รูป + ๓ (นาคหลวง) = ๑๗รูป / พ.ศ. ๒๕๔๙ จำนวน ๑๕ รูป / พ.ศ.๒๕๕๐ จำนวน ๗ รูป / พ.ศ. ๒๕๕๑ จำนวน๑๐ รูป / พ.ศ. ๒๕๕๒ จำนวน ๑๔ รูป / พ.ศ.๒๕๕๓ จำนวน ๙ รูป / พ.ศ. ๒๕๕๔ จำนวน๑๒ รูป / พ.ศ. ๒๕๕๕ จำนวน ๑๒ รูป + ๑(นาคหลวง) = ๑๓ รูป / พ.ศ. ๒๕๕๖ จำนวน๑๘ รูป / พ.ศ. ๒๕๕๗ จำนวน ๑๒ รูป / พ.ศ.๒๕๕๘ จำนวน ๑๒ รูป / พ.ศ. ๒๕๕๙ จำนวน๑๗ รูป / พ.ศ. ๒๕๖๐ จำนวน ๑๘ รูป

 


   

   

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล