ฉบับที่ ๑๙๗ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๖)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๔๖)

ธรรมกายและการตามระลึกถึงพระในตัว : ความสอดคล้องกันอย่างอัศจรรย์กับคัมภีร์พุทธโบราณอายุกว่าพันปี

            เดือนเมษายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา นับว่าเป็นเดือนแห่งความปีติยินดียิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นเดือนแห่งการคุ้มครองโลกโดยธรรมแล้ว ยังเป็นเดือนที่คณะศิษยานุศิษย์ของคุณครูไม่ใหญ่ต่างได้โอกาสในการสั่งสมบุญใหญ่ด้วยการร่วมกันสนับสนุนการบรรพชาสามเณรจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างหนทางในการบรรลุธรรมก่อน ปฏิบัติสะดวก บรรลุเร็วเอาไว้ให้แก่ตนเองในภพชาติต่อ ๆ ไปนั่นเอง

          สมัยหนึ่ง เมื่อครั้งวัดพระธรรมกายเพิ่งสร้างได้ไม่นานนัก โดยยังเป็น “ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม” อยู่นั้น ผู้เขียนจำได้ว่าคุณครูไม่ใหญ่ท่านได้กล่าวถึงความใฝ่ฝันของท่านไว้อย่างหนึ่งคือ ท่านอยากให้พุทธบริษัทสี่รวมถึงทุก ๆ ภาคส่วน ได้แก่ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ได้เข้ามาร่วมกันฟื้นฟูความเจริญของพระพุทธศาสนาให้เข้มแข็ง ซึ่งเมื่อมาถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า ๔๙ ปีมาแล้ว ที่วัดพระธรรมกายก็ยังคงดำเนินตามความใฝ่ฝันและมโนปณิธานของคุณครูไม่ใหญ่มาโดยตลอด ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ดังที่เราได้เห็นและร่วมมีส่วนสนับสนุนตลอดมา เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของโครงการบรรพชาสามเณรเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทยนี้ ที่ได้ก่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจกันของพุทธบริษัทมากมาย ที่ยินดีนำเด็ก ๆ และเยาวชนชายจากพื้นที่ต่าง ๆ ในทุก ๆ จังหวัดทั่วไทย เข้ามารับการฝึกอบรมในโครงการฯกันอย่างล้นหลาม สมดั่งความมุ่งหวังของคุณครูไม่ใหญ่ซึ่งได้ฝากพวกเราไว้เมื่อนานมาแล้วนั้น

            อย่างไรก็ตาม การฝึกอบรมเด็ก ๆ และเยาวชนในโครงการนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการปลูกฝังศีลธรรม การสร้างความรู้ถูกเห็นถูกให้เกิดขึ้นแก่เด็ก ๆ ไว้สำหรับเป็นที่พึ่งแก่ตนในอนาคตเท่านั้น แต่ยังเน้นให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ในเรื่องของการฝึกสมาธิ โดยมีต้นแบบ (Idol) คือ บรรดาสามเณรอรหันต์ในสมัยพุทธกาลไว้ให้ศึกษาด้วย ทั้งนี้เพราะเมื่อเด็ก ๆ ได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของสามเณรผู้บรรลุธรรมแล้ว อาจทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมหรือเข้าใจถึงความจริงเกี่ยวกับ “ธรรมกายภายในตน” ดุจเดียวกับที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) กำลังพยายามปะติดปะต่อเรื่องราวและรวบรวมความจริงข้อนี้ให้ปรากฏโดยตลอดมา


การบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย ณ วัดพระธรรมกาย


       ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนและทีมงานได้นำเสนอเรื่องราวความคืบหน้าของการศึกษาสืบค้นหลักฐานธรรมกายในโซนคานธาระและเอเชียกลางใน ๓ ประเด็น คือ ๑) เรื่องของคัมภีร์สันสกฤตและคานธารีที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยได้รับมา ๒) เรื่องของคัมภีร์คานธารีที่ได้ค้นพบใหม่ (New Collection) และพระสูตรที่สอนการปฏิบัติธรรมแบบเห็นพระ และ ๓) เรื่องการทำงานร่วมกันกับโครงการอนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์คานธารี ซึ่งดังได้ทราบแล้วว่าการค้นพบทั้งหมดนั้นล้วนได้ผลเป็นที่น่าพอใจยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการเติมส่วนที่ขาดหายไปนานนั้นให้สมบูรณ์ และได้ก่อให้เกิดคุณค่าทางวิชาการอย่างมหาศาล ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดดังที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้อยู่เสมอนั่นก็คือ บรรดาองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าคัมภีร์โบราณแต่ละแห่งนั้นได้เป็นเครื่องช่วยยืนยันซ้ำ ๆ ถึงการมีอยู่จริง ปฏิบัติได้จริง ของวิชชาธรรมกายที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายท่านได้ถ่ายทอดไว้ให้เรา โดยเฉพาะการค้นพบล่าสุดจาก New Collection ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของธรรมกายโดยตรง เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมแบบเห็นพระโดยตรง1

              ดังได้ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า เรื่องของการปฏิบัติธรรมแบบเห็นพระนั้น เป็นวิธีปฏิบัติซึ่งพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านได้ประยุกต์ขึ้นจากการศึกษาค้นคว้ามาอย่างยาวนานทั้งชีวิตของท่าน คือ วิชชาธรรมกาย2 ซึ่งหากเราจะได้ลองย้อนไปพิจารณาจากคำสอนเมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น เราจะพบว่า จากพระธรรมเทศนาเป็นจำนวนมากของท่านนั้น ได้กล่าวถึง “วิธีปฏิบัติธรรมแบบเห็นพระ” หรือการน้อมนึกถึงพระพุทธเจ้าไว้ในใจอยู่เสมอ โดยในหลายครั้งการกล่าวของท่านเป็นการกล่าวถึงขั้นตอนการปฏิบัติ อีกหลายครั้งเป็นการกล่าวถึง “พุทธลักษณะของพระ” และบางครั้งเป็นการกล่าวถึงคุณค่าหรืออานิสงส์ของการเห็นพระ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรแก่การศึกษาอย่างยิ่งกล่าวกันว่าการดำเนินตามเส้นทางสายกลางในวิชชาธรรมกายนี้ เป็นทางดำเนินเดียวกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และเหล่าพระอรหันตสาวกดำเนินไปจึงเป็นเส้นทางที่เข้าถึงได้สำหรับมนุษย์ทุกคนในโลกที่หันหน้ามาปฏิบัติธรรม3

           การค้นพบหลักฐานที่สำคัญข้างต้นนั้น ต้องถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยืนยันความจริงหลายประการเกี่ยวกับ “วิชชาธรรมกาย” โดยแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อย้อนไปศึกษาผลงานการค้นคว้าของ ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล (บ.ศ.๙) นักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) จากรายงานการวิจัยเรื่อง “ร่องรอยวิชชาธรรมกายในคานธาระและเอเชียกลาง” (พุทธศักราช ๒๕๕๗) ก็จะยิ่งพบความสอดคล้องกันอย่างเห็นได้ชัด ในงานวิจัยชิ้นนี้ ดร.ชนิดาได้ตอกย้ำถึงประเด็นสำคัญ ๆ ไว้หลายจุด เช่น ความหมายของคำว่า “ธรรมกาย” ในคำสอนดั้งเดิมนั้น มีความเกี่ยวพันกับการตรัสรู้ธรรมและหมายถึงโลกุตตรธรรม รวมทั้งเป็นชีวิตใหม่ที่เข้าถึงได้ และนำความสุขมาให้แก่ผู้ที่เข้าถึงหรือเป็นเจ้าของ และที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือในงานวิจัยชิ้นนี้ หลังจากผู้วิจัยได้ทำการสำรวจเนื้อหาคัมภีร์ในคานธาระและเอเชียกลางแล้ว พบว่ามีคัมภีร์ที่มีคำว่า “ธรรมกาย” หรือมีเนื้อความที่สอดคล้องกับคำสอนของวิชชาธรรมกาย (ในบางแง่มุม) เป็นจำนวนถึง ๒๓ คัมภีร์ด้วยกัน เช่น ในโพธิสัตวปิฏกสูตร คัมภีร์วัชรัจเฉทิกาปรัชญาปารมิตา ในศตปัญจสัตก สโตตระ ในสมาธิราชสูตร ธรรมศรีรสูตร หรือในธรรมกายสูตร เป็นต้น ซึ่งบรรดาคัมภีร์เหล่านี้ หลายคัมภีร์เป็นการกล่าวโดยตรงว่า “ธรรมกาย” และการบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งในบางคัมภีร์ถึงกับระบุอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า “ธรรมกาย” นั้น คือกายแท้ของพระพุทธเจ้า (เช่น ในโพธิสัตวปิฏกสูตร) ซึ่งคัมภีร์เหล่านี้มีความเก่าแก่มาก โดยพบว่ามีการคัดลอกเพื่อบันทึกคัมภีร์เหล่านี้ตั้งแต่ประมาณพุทธศักราช ๕๔๔-๕๙๓ (สองพันกว่าปีล่วงมาแล้ว) ภาษาที่ใช้บันทึกก็เป็นภาษาคานธารีบ้าง โขตานบ้าง หรือสันสกฤตบ้าง ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในคัมภีร์พุทธโบราณอันนักวิชาการพระพุทธศาสนาทั่วโลกต่างก็ยอมรับกันแล้วอย่างเป็นสากล


ชิ้นส่วนหนึ่งของคัมภีร์สมาธิราชสูตร


การลงพื้นที่ติดตามร่องรอยหลักฐานธรรมกาย ณ ประเทศนอร์เวย์


           อย่างไรก็ตาม ข้อวิเคราะห์ที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งของงานวิจัยชิ้นนี้มิได้หมดลงเพียงเท่านี้แต่ผู้วิจัยยังชี้ลงไปอย่างชัดเจนอีกว่า บรรดาคัมภีร์พระสูตรต่าง ๆ ที่ค้นพบนั้น ล้วนอธิบายถึงเรื่อง “ความจริงแท้ของพุทธะภายใน” ที่จะต้องหลุดพ้นจากภาวะของกายต่าง ๆ เช่น กายมนุษย์กายทิพย์ หรือการหลุดพ้นจากกิเลสระดับต่าง ๆ ก่อน จึงจะสามารถเข้าถึงหรือพบกับพุทธะที่อยู่ภายในได้ เช่น ที่พบในโทณสูตร หรือกล่าวว่า พระนิพพานล้วนเกษมจากโยคะทั้งปวง ไม่มีความเกิด ความแก่ และความตาย เช่น ในคัมภีร์ประเภทนิทเทส (จารึกเป็นภาษาคานธารี : อายุราว ๑,๘๐๐-๒,๐๐๐ ปี) เป็นต้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อย่างน่าสนใจ4 ดังที่ท่านได้เคยแสดงพระธรรมเทศนาไว้เนือง ๆ ความว่า5
 

“กายมนุษย์นี่แหละเป็นตัวโดยสมมุติ กายมนุษย์ละเอียดก็เป็นตัวโดยสมมุติ
ไม่ใช่ตัวจริง ๆ ไม่ใช่ตัวโดยวิมุตติ ทั้ง ๘ กาย กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม
กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด เป็นตัวโดยสมมุติทั้งนั้น”
“ธรรมกายเท่านั้นเป็นพระพุทธเจ้าได้ พระองค์ทรงรับสั่งด้วยพระองค์เองว่า ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ
เราตถาคตคือธรรมกาย ธรรมกายนั้นเป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระตถาคตแท้ ๆ ไม่ใช่อื่น”

“เมื่อธรรมกายเพ่งเล็งถูกส่วน ตกศูนย์ มีอายตนะอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่าอายตนะนิพพาน
ดึงดูดธรรมกายที่ตกศูนย์นั้นเข้านิพพานอยู่เนืองนิตย์ แม้ในขณะมีพระชนม์อยู่ ชื่อว่า
ไปอยู่สู่แดนเกษมประการหนึ่ง เมื่อจะดับขันธ์ พระองค์เข้าสมาบัติ อายตนะนิพพาน
ดึงดูดเข้าสู่นิพพานไป นี่ก็เรียกว่าไปสู่แดนอันเกษม ซึ่งอยู่ในความหมายว่าสุคโต”


         และเมื่อกล่าวถึงเรื่องของ “การปฏิบัติธรรมแบบเห็นพระ” นั้น ก็พบว่าในเนื้อหาของงานวิจัยนี้ยังระบุถึงการพบชิ้นส่วนของคัมภีร์ที่พบในเอเชียกลาง อันเป็นชิ้นส่วนของพระสูตรสำคัญคือ “ปรตฺยุตฺปนฺน-พุทฺธ-สมฺมุขาวสฺถิต-สมาธิสูตฺร” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ปรตฺยุตฺปนฺนสมาธิสูตฺร” หรือ “ภทฺรปาลสูตฺร” ว่าด้วย “การทำ สมาธิแบบเห็นพระพุทธเจ้าในปัจจุบันมาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า” ซึ่งพระสูตรนี้ถูกแปลในหลายภาษา คือ ภาษาจีน ทิเบต มองโกเลียและญี่ปุ่น โดยเนื้อหาคำสอนในพระสูตร ซึ่งประมวลมาจากฉบับภาษาจีนและทิเบตนั้น สอนการทำสมาธิโดยให้อยู่บนพื้นฐานของศีลที่บริสุทธิ์ คุณธรรมที่บริบูรณ์ และความไม่ยึดติดในสิ่งใด ๆ เช่น มีการระบุว่า


“พระโพธิสัตว์จะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม (ชำ ระศีลให้บริสุทธิ์แล้วให้อยู่ในที่สงัด)
น้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เหมือนระลึกถึงสิ่งน่าปลื้มใจที่เห็นในฝัน ด้วย
ใจที่แน่วแน่ ไม่วอกแวก เขาไม่พึงทำ ความรู้สึกเหมือนกำ ลังรับรู้สิ่งที่มีตัวตน แต่ให้ทำ ความรู้สึก
เสมือนกำ ลังรับรู้อากาศที่ว่างเปล่า เมื่อใจตั้งมั่นในการรับรู้อากาศที่ว่างเปล่าแล้ว
มีใจจดจ่ออยู่กับพระพุทธองค์ ก็จะเห็นพระองค์เสมือนมาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า งดงาม
ดังพุทธปฏิมาที่เป็นรัตนะใสแจ่ม”


ส่วนหนึ่งของคัมภีร์ตุนหวงหมายเลข S.2585 จัดแสดง ณ British Library (2018).
แผ่นจารึกนี้มีความยาวราว ๑๑๕ ซม. โดยเป็นการจารึกทั้งสองข้าง


           ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า หลักฐานที่ค้นพบในงานวิจัยชิ้นนี้ (ซึ่งยังมีอีกมากไม่อาจนำมาแสดงได้หมด ณ ที่นี้) ยังเป็นไปในทางเดียวกันกับข้อวิเคราะห์จากงานวิจัยของพระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ ที่ทำการศึกษาเรื่อง “คัมภีร์ตุนหวง หมายเลข S.2585 : การศึกษาเนื้อหาและสหวิทยาการเกี่ยวกับเทคนิคการทำสมาธิและประสบการณ์การเห็นในสมาธิ ช่วงยุคกลางตอนต้นของจีน” โดยท่านได้ชี้ให้เห็นว่าแม้ในประเทศจีนเองในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๒๒๐-๕๘๙ (พ.ศ.๗๖๓-๑๑๓๒) ก็ยังปรากฏให้เห็นถึงวิธีการทำสมาธิทางพระพุทธศาสนาที่เป็น การรวมจิตให้ตั้งมั่นเป็นหนึ่งไว้ที่กลางสะดือ (yixin guanqi 一心觀齊) ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงภาพทัศน์ภายในสมาธิอันอัศจรรย์ ที่บ่งชี้แนวคิด “องค์พระภายใน” สะท้อนทัศนะ “ตถาคตครรภะ” (tathāgatagarbha) ที่เป็นประดุจประตูไปสู่ความก้าวหน้าของฌานและการตื่นรู้ เป็นทางสายกลางสำหรับการเดินทางภายในกายสู่การสิ้นสุดของสังสารวัฏ

          ซึ่งโดยภาพรวม คัมภีร์คู่มือสมาธินี้ได้ถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติสมาธิไว้ถึง ๙ วิธี หนึ่งในนั้นคือวิธีแบบ “รวมจิตให้เป็นเอกคตารมณ์แล้วนึกนิมิตพระพุทธเจ้า” (yixin guanfo 一心觀佛) โดยเริ่มจากการฝึกให้ผู้ปฏิบัตินึกนิมิตพุทธลักษณะของพระรูปกายของพระพุทธเจ้าเป็นขั้นตอนแรก ขณะที่ในส่วนของสมาธิแบบนึกนิมิตถึงพระพุทธเจ้า (guanfo sanmei 觀佛三昧) ได้สรรเสริญพระพุทธเจ้าว่าทรงเป็นราชาแห่งธรรมะทั้งปวง การกำหนดพุทธานุสติสามารถตัดรอนวิบากกรรมเก่าของผู้ปฏิบัติได้ ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดสติระลึกถึงพระพุทธเจ้าเสียก่อน มีประโยคหนึ่งกล่าวว่า “หากเรานึกถึงพระองค์ พระองค์จะนึกถึงเรา”6


งานวิจัยของพระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ
ที่ทำการศึกษาเรื่อง “คัมภีร์ตุนหวง หมายเลข S.2585

 

 

 


1 ดูรายละเอียดใน : หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๔ และ ๔๕) วารสารอยู่ในบุญประจำเดือนมีนาคม-เมษายน ๒๕๖๒

2 งานวิจัยเรื่อง “ร่องรอยวิชชาธรรมกายในคานธาระและเอเชียกลาง” ของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) โดย ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล (บ.ศ.๙) เป็นผู้วิจัยนั้น ได้กล่าวถึงคำว่า “วิชชาธรรมกาย” ไว้ว่า เป็นหลักปฏิบัติธรรมที่เริ่มต้นสอนในแวดวงของชาวพุทธเถรวาทในประเทศไทยในปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ โดยพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นผู้ค้นพบ วิธีปฏิบัติดังกล่าวอาศัยการบริกรรมนิมิตเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้รวมหยุดนิ่งเป็นหนึ่ง แต่เน้นหลักสำคัญคือการรวมใจหยุดนิ่งไว้ภายในตัว ณ จุดศูนย์กลางกาย ...และการเข้าถึงกายในกายไปตามลำดับนั้นจะทำให้เข้าถึง “ธรรมกาย” คือ ความเป็นพุทธะที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน มีความใสสว่าง สะอาดบริสุทธิ์ ที่ปรากฏขึ้นพร้อมด้วยญาณทัสนะ คือ ความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรม และงามพร้อมด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการที่มองเห็นได้ด้วยใจ

3 ดูใน : ชนิดา จันทราศรีไศล, ร่องรอยวิชชาธรรมกายในคานธาระและเอเชียกลาง, ๒๕๕๗.

4 ทั้งนี้ การที่บรรดาพระสูตรเก่าแก่เหล่านี้จะมีความสอดคล้องกับคำสอนของพระเถราจารย์สายปฏิบัติรุ่นหลังนั้นอาจมีโอกาสเป็นไปได้ก็จริง แต่ปรากฏการณ์ที่เนื้อหาหลักในพระสูตรโบราณจำนวนมากเหล่านี้จะ “บังเอิญ” สอดคล้องกับคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เช่นนี้ ควรถือว่าเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่นักวิชาการและผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งไม่ควรมองข้ามไป เพราะความสอดคล้องดังกล่าวมีให้เห็นชัดเจนตั้งแต่การให้ความหมายของคำ (ธรรมกาย) การอธิบายถึงคุณลักษณะของธรรมกาย วิธีการปฏิบัติ ตลอดจนเป้าหมายของการปฏิบัติอันเชื่อมโยงไปถึงเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาด้วย ซึ่งตรงกันทุกด้านจนไม่อาจกล่าวว่าเป็นความบังเอิญได้

5 พระมงคลเทพมุนีกล่าวถึงความหมายของนิพพานธาตุทั้งสองโดยนัยนี้ไว้ในพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๔๗ ว่าด้วยโอวาทปาฏิโมกข์ (รธ. ๕๙๒) ซึ่งเป็นนิยามที่ตรงกันกับที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎกบาลี (ขุ.อิติ. ๒๕/๒๒๒/๒๕๘)

6 ดูรายละเอียดใน : ชนิดา จันทราศรีไศล, ร่องรอยวิชชาธรรมกายในคานธาระและเอเชียกลาง,สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์, ๒๕๕๗.

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล