อรรถกถาชาดก

หริตจชาดก ว่าด้วย กิเลสที่มีกำลังกล้า

harita%20chadok%207-7-63.jpg

หริตจชาดก ว่าด้วย กิเลสที่มีกำลังกล้า

                     พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้กระสัน จึงได้ตรัสเรื่องนี้

 

                    ความย่อมีว่า ภิกษุรูปนั้นเห็นมาตุคามคนหนึ่งแต่งตัวสวยงามเกิดความกระสัน ปล่อยผมเล็บและหนวดไว้จนยาวอยากจะสึก 
 

                    พระอุปัชฌาย์อาจารย์แนะนำก็ไม่พอใจ พระศาสดาตรัสถามว่า จริงหรือภิกษุ ได้ยินว่าเธอกระสัน?

 

                     เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า จึงตรัสถามว่า เหตุไรเธอจึงกระสัน
 

                     เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า กระสันด้วยอำนาจกิเลส และได้เห็นมาตุคามแต่งตัวสวยงามพระเจ้าข้า.

 

                    จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ธรรมดากิเลสย่อมไม่มีความชื่นบาน เพราะขจัดคุณความดี มีแต่จะให้ตกนรก และกิเลสนั้นทำไมจักไม่ทำให้เธอลำบากเล่า ลมแรงพัดเขาสิเนรุ ทำไมจักไม่พัดใบไม้เก่าๆ ให้กระจัดกระจายได้ แม้พระมหาบุรุษผู้วิสุทธิชาติได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ดำเนินตามรอยพระโพธิญาณ เพราะอาศัยกิเลสชนิดนี้ จึงไม่อาจจะดำรงสติอยู่ได้ ยังต้องเสื่อมไปจากฌาน.


                     ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้มีสมบัติ ๘๐ โกฏิในนิคมแห่งหนึ่ง มารดาบิดาได้ขนานนามให้พระองค์ว่า หาริตกุมาร เพราะพระองค์มีผิวเหลืองดังทอง.

 

                   กุมารนั้น ครั้นเจริญวัยแล้วสำเร็จการศึกษาที่เมืองตักกสิลา รวบรวมทรัพย์ไว้ ครั้นมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว ได้ตรวจตราดูทรัพย์สมบัติ ได้ความคิดขึ้นว่า ทรัพย์เท่านั้นที่ยังปรากฏอยู่ ส่วนผู้ทำให้ทรัพย์เกิดขึ้นหาปรากฏอยู่ไม่ แม้เราก็จะต้องแหลกละเอียดไปในปากแห่งความตาย ดังนี้ กลัวต่อมรณภัย ได้ให้ทานเป็นการใหญ่

 

                 แล้วเข้าไปยังหิมวันตประเทศ บวชเป็นฤๅษี ในวันที่ ๗ ได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ มีเผือกมันและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร ดำรงชีพอยู่ในที่นั้นเป็นเวลานาน ต้องการจะเสพอาหารที่มีรสเค็มรสเปรี้ยว จึงลงจากบรรพตไปโดยลำดับถึงพระนครพาราณสี เข้าไปอยู่ในสวนหลวง.

 

                 วันรุ่งขึ้น เที่ยวภิกขาจารในพระนครพาราณสี บรรลุถึงพระลานหลวง พระราชาทอดพระเนตรเห็นดาบสนั้นมีพระทัยเลื่อมใส รับสั่งให้นิมนต์นั่งบนราชบัลลังก์ภายใต้เศวตฉัตร ให้ฉันโภชนะที่มีรสอันเลิศต่างๆ เมื่อดาบสฉันแล้วอนุโมทนาจบลง พระองค์ยิ่งทรงเลื่อมใสมากขึ้น 

 

ตรัสถามว่า พระผู้เป็นเจ้าจะไป ณ ที่ไหน? 

 

เมื่อดาบสถวายพระพรว่า อาตมภาพเที่ยวหาที่จำพรรษามหาบพิตร. 

 

จึงตรัสว่า ดีแล้วพระผู้เป็นเจ้า.

 

                    ครั้นเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว ทรงพาดาบสไปพระราชอุทยาน รับสั่งให้สร้างที่เป็นที่พักกลางคืนและที่เป็นที่พักกลางวันเป็นต้นถวายพระดาบส ให้คนรักษาพระราชอุทยานเป็นผู้คอยปฏิบัติ ทรงอภิวาทแล้วเสด็จกลับ.

 

                   แต่นั้นมา พระมหาสัตว์ได้ฉันที่พระราชมณเฑียรเป็นนิตย์อยู่ตลอด ๑๒ ปี.

 

                    อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาจะเสด็จไปปราบประเทศชายแดนที่ก่อความไม่สงบขึ้น ทรงมอบหมายพระมหาสัตว์ไว้แก่พระราชเทวีว่า เธอจงอย่าลืมบุญเขตของเราเสีย แล้วเสด็จไป

 

                    ตั้งแต่นั้น พระราชเทวีได้ทรงอังคาสพระมหาสัตว์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์

 

                  ครั้นวันหนึ่ง พระนางทรงตกแต่งโภชนะไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อพระดาบสยังช้าอยู่ พระนางจึงสรงสนานด้วยน้ำหอม แล้วทรงนุ่งพระภูษาเลี่ยนเนื้อละเอียด รับสั่งให้เผยสีหบัญชร ประทับบนเตียงน้อยให้ลมพัดต้องพระวรกายอยู่

 

                  พระมหาสัตว์นุ่งห่มเรียบร้อยแล้ว ถือภาชนะสำหรับใส่ภิกษา เหาะมาถึงสีหบัญชร 

 

                  พระราชเทวีได้สดับเสียงผ้าคากรองของพระมหาสัตว์ ก็เสด็จลุกขึ้นโดยเร็ว พระภูษาเลื่อนหลุดหล่นลง วิสภาคารมณ์ได้กระทบจักษุพระมหาสัตว์ ทันใดนั้น กิเลสซึ่งหมักดองอยู่ภายในพระมหาสัตว์นั้นหลายแสนโกฏิปี มีอาการดังอสรพิษที่นอนขดอยู่ในข้อง ก็กำเริบขึ้นทำฌานให้อันตรธานไป.

 

                พระมหาสัตว์ไม่สามารถจะดำรงสติไว้ได้ จึงเข้าไปจับพระหัตถ์พระราชเทวี แล้วทั้งสองก็รูดม่านลงกั้นในทันใดนั้น แล้วเสพโลกธรรมด้วยกัน ครั้นแล้วพระมหาสัตว์ก็ฉันภัตตาหารแล้ว เดินไปพระราชอุทยาน.

ตั้งแต่นั้นมา ก็ได้ทำเช่นนั้นทุกๆ วัน.

 

                  ข่าวที่พระมหาสัตว์เสพโลกธรรมกับพระราชเทวีได้แพร่สะพัดไปทั่วพระนคร พวกอำมาตย์ได้ส่งหนังสือไปกราบทูลพระราชาว่า หาริตดาบสได้ทำอย่างนี้. 

 

                 พระราชามิได้ทรงเชื่อ โดยทรงพระดำริว่า พวกอำมาตย์ประสงค์จะทำลายเรา จึงได้กล่าวอย่างนี้.

 

                 ครั้นทรงปราบประเทศชายแดนให้สงบลงแล้ว ก็เสด็จกลับพระนครพาราณสี ทรงทำประทักษิณพระนครแล้ว เสด็จไปสำนักพระราชเทวี มีพระดำรัสถามว่า ได้ข่าวว่าหาริตดาบสพระผู้เป็นเจ้าของเรา เสพโลกธรรมกับเธอเป็นความจริงหรือ?

 

                 พระราชเทวีกราบทูลว่า จริงเพคะ.

 

                พระราชายังไม่ทรงเชื่อแม้พระราชเทวี ทรงดำริว่าจักถามพระดาบสนั้นเอง จึงเสด็จไปพระราชอุทยาน นมัสการแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. เเละกล่าวว่า 

 

               " ข้าแต่มหาพรหม โยมได้ยินเขาพูดกันว่า พระหาริตดาบสบริโภคกาม คำนี้ไม่เป็นจริงกระมัง ท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่แลหรือ? "


                พระดาบสคิดว่า เมื่อเราทูลว่า เราไม่ได้บริโภคกาม พระราชานี้ก็จักทรงเชื่อเราเท่านั้น แต่ว่าในโลกนี้ ขึ้นชื่อว่าที่พึ่งที่เช่นกับความสัตย์ไม่มี เพราะว่าผู้ที่ทิ้งความสัตย์เสียแล้ว ย่อมไม่สามารถจะนั่งที่โพธิบัลลังก์บรรลุพระโพธิญาณได้ เราควรกล่าวแต่ความสัตย์เท่านั้น.

 

               จริงอยู่ ปาณาติบาตก็ดี อทินนาทานก็ดี กาเมสุมิจฉาจารก็ดี สุราบานก็ดี ย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ได้บ้างในฐานะบางอย่าง แต่มุสาวาทที่มุ่งกล่าวให้คลาดเคลื่อนหักประโยชน์เสีย ย่อมไม่มีแก่พระโพธิสัตว์เลย

ฉะนั้น เมื่อพระดาบสจะกล่าว จึงว่า


               " ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์ได้ทรงสดับถ้อยคำมาแล้วอย่างใด ถ้อยคำนั้นก็เป็นจริงอย่างนั้น อาตมภาพเป็นผู้หมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง เดินทางผิดแล้ว."


               พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงว่า "ปัญญาที่ละเอียด คิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นเครื่องบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นแล้วของท่านมีไว้เพื่อประโยชน์อะไร ท่านไม่อาจบรรเทาความคิดที่แปลกได้."


               ลำดับนั้น หาริตดาบสเมื่อจะแสดงกำลังของกิเลสแก่พระราชา ได้กล่าวว่า 


                " ข้าแต่มหาบพิตร กิเลส ๔ อย่างเหล่านี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มทะ เป็นของมีกำลังกล้า หยาบคายในโลก เมื่อกิเลสเหล่าใดรึงรัดแล้ว ปัญญาก็หยั่งไม่ถึง เหมือนคนตกลงไปในห้วงน้ำใหญ่ ฉะนั้น."

 

                พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงว่า 


              " โยมได้ยกย่องท่านแล้วอย่างนี้ว่า หาริตดาบสเป็นพระอรหันต์ สมบูรณ์ด้วยศีล ประพฤติบริสุทธิ์ เป็นบัณฑิต มีปัญญาแท้."


                หาริตดาบสได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้กล่าวว่า 


                " ข้าแต่มหาบพิตร วิตกอันลามก เป็นไปด้วยการยึดถือนิมิตว่างาม ประกอบด้วยความกำหนัด ย่อมเบียดเบียนแม้ผู้มีปัญญา ผู้ยินดีแล้วในคุณธรรมของฤๅษี."


                ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะให้หาริตดาบสเกิดอุตสาหะในการละกิเลส จึงว่า 
" ความกำหนัดนี้เกิดในกาย เกิดขึ้นมาแล้วเป็นของทำลายวรรณะของท่าน ท่านจงละความกำหนัดนั้นเสีย ความเจริญย่อมมีแก่ท่าน ท่านเป็นผู้อันชนหมู่มากยกย่องแล้วว่าเป็นคนมีปัญญา."


                 คราวนี้ พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้วกลับได้สติ กำหนดโทษในกามทั้งหลายแล้ว จึงว่า 
" กามเหล่านั้นทำแต่ความมืดให้ มีทุกข์มาก มีพิษใหญ่หลวง อาตมภาพจักค้นหามูลรากแห่งกามเหล่านั้น จักตัดความกำหนัดพร้อมเครื่องผูกเสีย โดยประหารเสียด้วยดาบคือปัญญา."

 

                 ครั้นกล่าวดังนี้แล้วได้ขอพระราชทานโอกาสว่า ข้าแต่มหาบพิตร ขอพระองค์จงประทานโอกาสแก่อาตมภาพก่อน แล้วเข้าไปยังบรรณศาลา พิจารณาดวงกสิณ ยังฌานที่เสื่อมแล้วให้เกิดขึ้นอีก ออกจากบรรณศาลานั่งคู้บัลลังก์ในอากาศ ถวายธรรมเทศนาแด่พระราชา แล้วทูลว่า

 

                  " ข้าแต่มหาบพิตร อาตมภาพถูกติเตียนในท่ามกลางมหาชน เพราะเหตุที่มาอยู่ในที่ไม่สมควร ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาท บัดนี้ อาตมภาพจักกลับไปสู่ไพรสณฑ์ให้พ้นจากกลิ่นสตรี."

 

                   เมื่อพระราชาทรงกรรแสงปริเทวนาอยู่ 

 

                  ครั้นพระหาริตฤๅษีกล่าวคำนี้แล้ว มีความบากบั่นอย่างแท้จริง คลายกามราคะได้แล้ว ได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก.


พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เวลาจบสัจธรรม ภิกษุผู้กระสันได้ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล 

 

แล้วพระทศพลทรงประชุมชาดกว่า
พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์ ในบัดนี้
หาริตดาบสในครั้งนั้น ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * ชาดก 500 ชาติ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล