ฉบับที่ ๑๖ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

คุณยายอยู่ที่ไหนก็เป็นที่รักของทุกคน โดย : พระรังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก

              หลวงพี่ขอบรรยายธรรม ประวัติคุณธรรม และสิ่งที่คุณยายได้บอกได้สอนหลวงพี่ตามที่เคยได้ยินได้ฟังมาด้วยตัวเอง เพื่อจะได้เป็นกุศโลบายสำหรับท่านผู้ฟังทุกๆ ท่าน เอาไปใช้ในการสร้างบุญสร้างบารมี

              ในช่วงแรกที่คุณยายได้รับที่ดินมาผืนแรก ๑๙๖ ไร่ คุณยายเล่าให้ฟังว่า ในยุคแรกๆ การสร้างวัดของท่าน ท่านจะต้องเหนื่อยๆ มาก เพราะว่าหลวงพ่อ หรือพระที่วัดเราเพิ่งบวชใหม่ๆ อายุพรรษายังน้อย ยังไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของญาติโยมมากนัก คุณยายต้องรับภาระทุกอย่าง รับภาระหนักทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับแขก การหาทุน และเรื่องการสอนธรรมะ

              เรื่องการรับแขก หลวงพี่เคยถามท่านว่าคุณยายรับแขกอย่างไร เวลาเขาถามอะไรแต่ละเรื่อง คุณยายไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ตอบเขาได้ทุกเรื่องอย่างไม่ติดขัด และเป็น คำตอบที่ถูกอกถูกใจ และถูกต้องกับท่านผู้ฟังผู้ถามทุกๆ คน คุณยายบอกว่า "ยายฝึกตัวเอง มาตั้งแต่สมัยหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ยายเตรียมพร้อมสำหรับคำถามทุกๆ คำถามของหลวงพ่อ คือยายจะดิ่งธรรมะเข้าไป ดิ่งธรรมะเข้าไปลึกที่สุด ซ้อนพระธรรมกายเข้าไปเต็มที่เลย เพราะว่าในสมัยนั้นเมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำถามคำถามอะไร ต้องค้นคำตอบมาให้ท่านอย่างทันท่วงที แล้วก็ถูกต้องด้วย"

              เพราะฉะนั้น เวลาญาติโยมหรือแขกที่เขามาถามปัญหาธรรมะหรือมาถามปัญหาอะไรจิปาถะ คุณยายก็จะซ้อนธรรมะเข้าไป เหมือนประหนึ่งว่าเขาได้ถามกับพระธรรมกาย โดยตรง คำตอบนั้นก็ผ่านปากคุณยายออกมา คุณยายท่านบอกแบบนี้ เพราะฉะนั้นคำตอบแต่ละเรื่องผู้ถามก็เลยได้คำตอบที่รัดกุมและถูกต้อง แม้คุณยายเองไม่เคยเรียนหนังสือมาก่อน ท่านใช้คำว่า ก ข้อ ไม่กระดิกหู แต่คำถามนั้นไม่ว่าจะเป็นคำถามธรรมะในพระไตรปิฎก หรือคำถามเกี่ยวกับเรื่องทางโลกหรืออะไรก็แล้วแต่ คุณยายตอบได้หมด นี่เป็นสิ่งที่น่าทึ่งถึงปฏิปทาของคุณยาย

              พอคุณยายได้มีโอกาสย้ายมาอยู่ที่ วัดพระธรรมกาย ที่อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี คุณยายท่านเองก็รู้ว่า ช่วงนี้พระของท่านแต่ละรูปอายุพรรษาเพิ่มมากขึ้นแล้ว ท่านจึงได้ลดบทบาทของตัวเอง จากที่เคยเป็น ประธานในทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ประธานก่อสร้าง ประธานหาทุน คุณยายบอกว่าตอนนี้ท่านเป็นแค่เด็กวัด ท่านจะยกย่องให้หลวงพ่อ เป็นประธานแทนท่าน ท่านเคยปรารภกับหลวงพี่ว่า "ต่อไปคนจะมาเยอะ คนที่จะมาวัดพระ ธรรมกาย จะเป็นแต่ผู้ทรงการศึกษา มีการศึกษามาก คนเหล่านั้นเมื่อได้มา ได้พบพระของ ยาย ซึ่งแต่ละรูปจบการศึกษาสูงๆ เขาก็จะพูดจะคุยกันได้อย่างสนิทใจ เพราะฉะนั้นยายก็ต้องการจะยกพระของยายให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป"

               ในช่วงต้นๆ ของอุบาสกที่มาอยู่ที่วัด คุณยายถึงย้ำนักย้ำหนาว่าต้องให้จบปริญญาตรี เสียก่อน ถึงจะบวช เพราะว่าเมื่อจบการศึกษา มาแล้ว การเผยแพร่ธรรมะจะทำได้อย่างกว้างขวาง และเมื่อบวชเป็นพระ ใครๆ ทางโลก จะตำหนิไม่ได้ว่าเรามาอาศัยศาสนา ถ้าเราจบการศึกษาที่ดีแล้ว เราเองเสียอีกจะมาเป็นผู้ที่กอบกู้พระศาสนา นี่แหละคุณยาย ท่านวางแผน ไว้ถึงขนาดนี้

              คุณยายจะพยายามประคับประคองคอยให้กำลังใจลูกศิษย์ลูกหา ท่านเคยเปรียบไว้อย่างนี้ว่า "ยายเหมือนคนที่คอยคัด หางเสือเรือ ให้เรือนาวาลำนี้ไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้อง" และคอยให้กำลังใจ เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นเด็กวัด หรือพระก็ตาม บางทีท่านก็ให้ข้อคิด ให้คำสอน ให้กำลังใจว่าอย่างนี้ดี ทำเถอะ อย่างนี้ทำแล้วได้บุญมาก ได้บุญสะอาด อย่างนี้ไม่ดี อย่าทำเลย ทำแล้วได้บุญปนกิเลส คนนี้ควรคบ คนนี้ไม่ควรคบ ท่านจะพยายามมองสอดส่องให้อยู่ในสายตาท่านตลอด เรียกว่าท่านอยากจะให้พระหรืออุบาสกที่เป็นลูกศิษย์ได้ไปสู่หนทางที่ถูกต้อง

               คุณยายมักจะสอนหลวงพี่บ่อยๆ ว่า การเกิดเป็นมนุษย์นี่มันของยากนะ มันยากทีเดียวกว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์ เราเกิดมาแล้วสารพัด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย เทวดา ๖ ชั้นฟ้า พรหม อรูปพรหม เราเกิดมาหมดแล้วทั้งนั้นทุกๆ คน และเกิดกันมาคนละหลายๆ ชาติด้วย และเราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ มาร่วมกันสร้างความดีนี่ เป็นสิ่งที่ยากทีเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่าเราเกิดมาสร้างบุญสร้างบารมี มาให้เราเข้าถึงพระธรรมกาย มาแก้ไขตัวเองของเราให้พ้นจากบ่าวจากทาสของพญามาร การจะสร้างบารมีทั้งหลาย ท่านจะสอนว่า

              ต้องอดทน อดทนมากๆ เหมือนอย่างยาย ยายจะอดทนทุกสิ่งทุกอย่าง ทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเขาดุเขาว่า ทนเขาเสียดสีต่างๆ ยายทนหมด มุ่งหวังอย่างเดียว ยายจะเอาธรรมะ เอาวิชชา ยายจะเอาบุญ ยายคิดอย่างเดียว เพราะอย่างนั้นยายถึงอยู่ได้ถึงบัดนี้

               "วันนี้ มีคนมาถามยายว่า ทุกวันนี้ ยายมีทุกข์บ้างไหม?
ยายตอบว่า "ไม่มี" เพราะยายคิดแต่เรื่องดีๆ มาตลอด
เรื่องไม่ดี ยายไม่เคยคิดถึงเลย ตื่นขึ้นมา
ก็คิดแต่เรื่องดีๆ ก่อน เรื่องไม่ดีไม่ติดในใจยายเลย
ยายสั่งสมแต่ความดี คิดดี มาเรื่อยๆ
ถ้าเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น ก็รบไปเพื่อส่วนรวม
แต่ไม่ได้เก็บเอามาคิด ที่เห็นพูด บ่นคนอื่น
ก็เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม
เมื่อเรื่องผ่านไปแล้ว ก็ไม่ได้เก็บเอาเรื่องเหล่านี้มาคิดเลย
พอนั่งธรรมะ ก็ทิ้งทุกอย่าง ดิ่งธรรมะอย่างเดียว จึงมีแต่ความสุข"


คุณยายอาจารย์
มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย
 

 

              สมัยทำวิชชา อยู่กับหลวงพ่อวัดปากน้ำยายทนทุกอย่าง หลวงพ่อจะใช้อะไร ยายทำให้หมด จะถามอะไร ยายเตรียมพร้อม ยายตอบคำถามท่านหมด แล้วก็ถูกทุกเรื่อง หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลวงพ่อใช้คุณยายไปเผยแพร่ธรรมะที่โน่นที่นี่บ้าง ยายก็ไป ไม่เคย ปฏิเสธ ครูบาอาจารย์ใช้อะไร ทำหมด จนกระทั่งหลวงพ่อท่านชมว่า เป็นหนึ่งไม่มีสอง ยายบอกว่ายายไม่อยากให้หลวงพ่อด่าท่านว่าไอ้ขี้ไต้ เพราะอย่างนั้นยายจะฝึกฝนอบรม ตัวเอง เคี่ยวเข็ญตัวเองว่าต้องทำให้ได้

              ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ มีสิ่งที่ คุณยายภูมิใจมากคือ ยายได้สร้างโรงครัว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คุณยายปรารถนามานานแสนนาน ให้พระมีเวลาทำภาวนามากๆ ได้ศึกษาธรรมะ ธรรมวินัย ยายก็เลยทำโรงครัวเหมือนอย่างวัดปากน้ำ เพื่อว่าในอนาคต เมื่อโรงครัวยังอยู่ ยายจะได้บุญเรื่อยๆ แม้คุณยายจะละโลกไปแล้ว ยายบอกโรงครัวยังทำอาหารเลี้ยงพระอยู่เรื่อยๆ ยายก็ยังได้บุญเรื่อยๆ นี่แหละเป็น ความฉลาดในการหาบุญของท่าน

              คุณยายท่านเคยบอกว่า เมื่อยายตายไปแล้ว พระหมูช่วยดูโรงครัวของยายด้วยนะ ยายจะได้บุญเรื่อยๆ เวลาถามคุณยายว่า จะให้ครัวของยายเป็นอย่างไร นโยบายจะเอาอย่างไหน ท่านมักจะบอกว่าทำง่ายๆ เอา ง่ายๆ กินกันตาย ท่านมักจะพูดคำนี้ กินกันตาย ทำให้พอก็แล้วกัน ทำให้ทันก็แล้วกัน กับข้าวก็ไม่ต้องเลิศหรูมากเหมือนตามภัตตาคาร เอาแบบพื้นๆ เราเป็นวัด เป็นนักบวช เราไปทำแข่งกับข้างนอกเขา สู้เขาไม่ได้หรอก เอาแค่ง่ายๆ กินกันตาย ยายอยู่วัดปากน้ำนี่ ที่ครัววัดปากน้ำเขาทำอะไรมา ยายก็กินอย่างนั้นแหละ แล้วท่านก็สรุปว่าเรื่องกินเรื่องใหญ่ ถ้ามีกินแล้ว เดี๋ยวก็คุยกันรู้เรื่องแหละ จะทำงานอะไร คุยกันรู้เรื่อง ถ้าอิ่มท้องแล้วสบาย

              แล้วท่านก็บอกว่าเวลาทำเลี้ยง พระเณรมีเท่าไร เลี้ยงให้หมดนะ เลี้ยงให้หมดเลย อุบาสก อุบาสิกาที่เข้ามาถือศีล ๘ ที่วัดนี่ เลี้ยงให้หมด พวกเด็กนักเรียนที่มาช่วยงานก็เลี้ยงเขาด้วย พวกเด็กนักเรียนที่มาอบรมเลี้ยงเขาให้หมด พวกเด็กเหล่านี้ยังไม่ได้ทำมาหากินอะไร เพราะฉะนั้นมาถึงวัด มาช่วยงานวัด เลี้ยงให้หมด

              ญาติโยมที่มาใหม่ๆ หรือคนที่เขามาทำบุญ เลี้ยงให้หมด แต่คนที่เขามาเก่าๆ แล้ว ท่านบอกว่าท่านต้องพยายามปลูกฝังให้เขา เอามาทานเอง พยายามปลูกฝังว่าใครที่มา วัดเก่าๆ แล้ว เอาอาหารมาทานกันเองบ้าง หรือเอามาเลี้ยงพรรคพวกในกลุ่มบ้าง ท่านก็บอกนโยบายว่าอย่างนี้

              คุณยายท่านจะพยายามหาวิธีการให้ว่าทำอย่างไรถึงจะประหยัด ทำอย่างไรถึงจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายของวัดลงไปบ้าง การสร้างโรงครัวของวัด เท่ากับว่าเป็นการหาหนทางที่จะเติมบุญเติมบารมีของยายเรื่อยๆ ท่านฉลาด ที่จะหาบุญเรื่อยๆ ยายบอกว่า บุญเล็กบุญน้อย ยายจะเก็บให้หมด ท่านมักจะสอนบ่อยๆ ว่า บุญมีได้มันก็หมดได้นะ เพราะฉะนั้น ต้องทำบ่อยๆ กว่าเราจะละความชั่ว มาสร้าง ความดีได้ เราเผลอทำความไม่ดีมาไว้เท่าไรก็ไม่รู้ ซึ่งสิ่งไม่ดีเหล่านั้นมันไม่ได้หายไปไหนหรอก ความไม่ดีนี่ ท่านบอกว่า มันเหมือนตอที่อยู่ ใต้น้ำ ถ้าน้ำเหลือน้อย น้ำลด ตอมันก็โผล่ พอตอมันโผล่มากเข้าๆ ก็เป็นอุปสรรคกับเรือที่สัญจรไปมา

              ท่านบอกว่า ยายมีชีวิตอยู่ริมน้ำมาตลอดนะ ตั้งแต่เด็กๆ อยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี มาอยู่กับหลวงพ่อ ก็อยู่ริมคลองภาษีเจริญ แม้มาอยู่วัดพระธรรมกาย กุฏิยายก็อยู่ข้างน้ำ อยู่ริมน้ำมาตลอด พอน้ำลดนี่ตอมันโผล่นะ เพราะฉะนั้นต้องหมั่นทำบุญเยอะๆ เติมบุญของเราไปเรื่อย หนีตอใต้น้ำไปให้พ้น จนกระทั่ง แม้มี มันก็ไม่ทำอันตรายเราได้ ทำบุญหนีบาปทั้งหลายไปให้พ้น เพราะตอใต้น้ำนี่ มันโผล่ขึ้นมาแล้ว มันเป็นอุปสรรคในการสร้างบุญของพวกเรา
เพราะฉะนั้น ท่านจะใช้คำว่า อย่าประมาทเชียวนะ ทำบุญกันไว้เยอะๆ บุญมัน มีได้ มันก็หมดได้

              เรื่องการสั่งสมบุญ คุณยายถึงบอกว่าเป็นสิ่งที่ยายคิดอยู่ตลอดเวลา ยายจะเอาบุญติดตัวไปให้มากที่สุด เพื่อว่าในภพเบื้องหน้าจะได้สมบูรณ์บริบูรณ์ เรายังต้องเกิดกันอีกหลายภพหลายชาติ จะได้ไม่ขัดสน พอถึงเวลาช่วงนั้นแล้วการสร้างบารมีของเราก็จะง่ายขึ้น


บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล