คำกล่าวสดุดี ผู้ได้รางวัล WORLD NO TOBACCO DAY AWARDS 2004
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ศูนยการค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ
ขอประทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท
เกล้ากระหม่อมฉันนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอประทานพระอนุญาตกราบทูลความเป็นมาของการมอบรางวัล และกล่าวสดุดีผู้รับรางวัล WORLD NO TOBACCO DAY AWARDS 2004 ขององค์การอนามัยโลกพอสังเขปดังนี้
|
|
รางวัล WORLD NO TOBACCO DAY AWARDS 2004 เป็นรางวัลที่มีเอกลักษณ์ ในตัวเอง เนื่องจากเป็นรางวัลเพียงชนิดเดียวที่รองรับความสำเร็จระดับนานาชาติ ในการต่อสู้กับอันตรายของการสูบบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพ และการให้มีสังคมที่ไม่ยอมรับว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติของสังคมอีกต่อไป รางวัลนี้ องค์การอนามัยโลกจะมอบให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่อุทิศตนดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการควบคุม การบริโภคยาสูบอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกจะมอบรางวัลนี้ให้แก่ประเทศสมาชิกในแต่ละภูมิภาคเป็นประจำทุกปี สำหรับปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ นี้ กระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณามอบรางวัลให้แก่
๑. พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
๒. นายแพทย์จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ในฐานะประธานมูลนิธิธรรมกายท่านได้สร้างผลงานรณรงค์ ส่งเสริมให้ประชาชน ลด ละ เลิกบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งภายในและต่างประเทศเป็นระยะเวลาประมาณ ๓๔ ปี โดยใช้ขั้นตอนการจัดกิจกรรม ๔ ขั้นตอน คือ การรับรู้ การหล่อหลอมทัศนคติ ปฏิบัติ และติดตามผล ชึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- ขั้นตอนการรับรู้นั้น พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้เริ่มจากตัวท่านเองที่เป็นต้นแบบไม่สูบบุหรี่ และวางข้อปฏิบัติให้พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และบุคลากรในวัดไม่สูบบุหรี่ และเทศน์สอนในเรื่องโทษของการสูบบุหรี่ ให้กับประชาชน
- การหล่อหลอมทัศนคติ ท่านได้จัดระเบียบวัดและส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่ให้ประชาชนเข้าวัด ในแต่ละครั้งประมาณ ๒๐,๐๐๐ - ๓๐,๐๐๐ คน ให้เข้าวัดโดยปราศจากบุหรี่ จัดอบรมปลูกฝังพระภิกษุ สามเณร ให้รู้จักการเลิกบุหรี่ การหักดิบเพื่อเป็นต้นแบบของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนให้วัดต่างๆ ที่ร่วมกิจกรรมจำนวน ๘๐๐ วัด เป็นวัดปลอดบุหรี่
- ขั้นตอนการปฏิบัติจริง นอกจากการส่งเสริมเลิกบุหรี่เป็นการส่วนบุคคลแล้ว ท่านยังได้สนับสนุนให้กลุ่มต่างๆ จัดกิจกรรมรณรงค์และประกาศสัตยาบันไม่สูบบุหรี่ตลอดชีวิต โดยมีเครือข่ายเกิดขึ้นในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น
- เครือข่ายพระภิกษุสงฆ์ในวัดทั่วประเทศ
- เครือข่ายสถาบันการศึกษา ซึ่งมีสถาบันการศึกษาร่วมกิจกรรม ๓๖ สถาบัน
มีผู้ร่วมโครงการ มากกว่า ๑๓,๐๐๐ คน
- นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายสตรีในหลายจังหวัด
รวมทั้งเกิดแผนปฏิบัติการทั่วประเทศใน ๑๒ เขต
- ขั้นตอนสุดท้ายคือการติดตามประเมินผล
จึงเห็นได้ว่ากิจกรรมรณรงค์ สร้างเสริมกิจกรรมให้เกิดอากาศสดใสปลอดภัยควันบุหรี่ที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้ดำเนินการนั้น เป็นกิจกรรมในชุมชนที่ต่อเนื่องและเชื่อมโยงเครือข่ายครบวงจร จึงนับได้ว่าเป็นตัวอย่างกิจกรรมที่ควรยกย่อง และหน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้เป็นอย่างดี...
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
|