วัดพระธรรมกาย จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์เนื่องในวันมหาปูชนียาจารย์
วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์เนื่องในวันมหาปูชนียาจารย์
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ หอฉันคุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง วัดพระธรรมกาย พระครูปลัดพิพัฒน์ ฐิตสุทฺโธ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้นำคณะสงฆ์ประกอบพิธีสวดพระพุทธมนต์ เนื่องในวันมหาปูชนียาจารย์ จากนั้นสาธุชนได้ร่วมกันประกอบพิธีทอดผ้าบังสุกุล พร้อมทั้งประกอบพิธีถวายภัตตาหาร และพิธีถวายผ้าไตรไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นการน้อมบูชาธรรมสร้างมหาทานบารมีเนื่องในวันมหาปูชนียาจารย์ ที่เกิดขึ้นพ้องกันโดยวาระแรกเป็นวันคล้ายวันมรภาพของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ซึ่งตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช2502 ในวาระที่ 2 ตรงกับวันคล้ายวันละสังขารของคุณยายมหารัตนอุบาสิกาทองสุข สำแดงปั้น ครูผู้สอนภาวนาให้กับคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2506 และวาระที่ 3 เป็นวันคล้ายวันสลายร่างของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ครูผู้สืบสายธรรม และผู้ให้กำเนิดวิชาธรรมกาย
และในโอกาสนี้พระครูวิบูลนิติธรรม ได้กล่าวสัมโมทนียกถา โดยมีใจความว่า “เรือเดินสมุทรมีเสบียงและมีพลังงานพร้อมออกจากฝั่งไปแล้ว ไม่รู้ว่าปลายทางจะไปที่ใด เหมือนกับคนที่เกิดมาในโลกนี้ เกิดมาไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน เป้าหมายชีวิตคืออะไร แต่พวกเราไม่ใช่คนเหล่านั้น เราได้รับการอบรมสั่งสอนจากหลวงพ่อทั้งสองที่นำหลักวิชาคำสอนจากคุณยายอาจารย์ฯ ให้เราพึงรู้ว่าเรานั้นมีบุญมาก ที่เกิดมาแล้ว เป้าหมายชีวิตสูงสุดอยู่ที่ใด ความรู้เหล่านี้เราได้มาจากคุณครูไม่ใหญ่ จากโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา คำสอนเหล่านี้จากการตั้งสัจจะอธิฐานของหลวงปู่และการบวชตลอดชีวิตของท่านได้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีวัดพระธรรมกายในวันนี้ เมื่อท่านเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในแล้วยังได้เผยแผ่ความรู้เหล่านี้มาสู่ศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย หนึ่งในนั้นก็คือคุณยายมหารัตนอุบาสิกาทองสุข สำแดงปั้น ซึ่งเป็นปฐมาจารย์แก่คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ความรู้อันประเสริฐเหล่านี้ได้ถ่ายทอดมาตามลำดับจนมาถึงคุณครูไม่ใหญ่ จนมาถึงพวกเราทั้งหลาย ทำให้รู้ว่ารู้ว่าเกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน จะทำให้ปลอดภัยจากโลกนี้และโลกหน้าอย่างไร มีเป้าหมายสูงสุดในชีวิตอย่างไร ด้วยการค้นพบของพระเดชพระคุณหลวงปู่เมื่อ 140 ปีที่แล้วและได้ถ่ายทอดมาตามลำดับ”