สรุปข่าวเด่น ธรรมะ น่ารู้

พิธีสถาปนาอุโบสถพระไตรปิฎกประดิษฐานลูกนิมิตและผูกสีมา

พิธีสถาปนาอุโบสถพระไตรปิฎกประดิษฐานลูกนิมิตและผูกสีมา


       วัดพระธรรมกายจัดพิธีสถาปนาอุโบสถพระไตรปิฎกแรกของโลก ประดิษฐานลูกนิมิตและผูกสีมา เพื่อให้พระสงฆ์หลายพันรูปทำสังฆกรรมได้ตามพระธรรมวินัย ณ อุโบสถ วัดพระธรรมกาย


    เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พระเดชพระคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ เปรียญธรรม 9 ประโยค,ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นประธานสงฆ์ในพิธีสถาปนาอุโบสถพระไตรปิฎกแรกของโลก ประดิษฐานลูกนิมิตและผูกสีมาอุโบสถวัดพระธรรมกาย โดยมีพระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และ พระศรีพัชโรดม เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ เมตตาสวดถอนสีมา จากนั้นเจ้าภาพและสาธุชนได้อาราธนาศีลและเจริญสมาธิภาวนา ก่อนประกอบพิธีประดิษฐานลูกนิมิต, พิธีทักนิมิต และพิธีผูกสีมา โดยมีคณะพระสังฆาธิการ พระเถรานุเถระร่วมงาน 1,000 กว่ารูป พร้อมเหล่าพุทธบริษัท 20,000 กว่าคน ที่เดินทางมาจากทั่วโลกร่วมพิธีอย่างสงบ เป็นระเบียบ และเรียบง่าย ด้วยชุดขาวล้วน                               


     ทั้งนี้วัดพระธรรมกายได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช 2522 ทำพิธีผูกสีมาครั้งแรกปีพุทธศักราช 2523 มีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก อดีตแม่กองงานพระธรรมทูต และอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นประธานสงฆ์ ปัจจุบันวัดพระธรรมกายมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษามากขึ้นหลายพันรูป เป็นเหตุให้สีมาเดิมคับแคบลง ในเวลาทำสังฆกรรมพระภิกษุได้รับความลำบากจากแดด ลมและฝน ทางวัดจึงต้องขยายเขตสีมาและทำเป็นอุโบสถพระไตรปิฎก โดยคณะสงฆ์มีพระเดชพระคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ เป็นประธานทำพิธีสวดถอนสีมาเดิม ประดิษฐานลูกนิมิตและผูกสีมาใหม่ ซึ่งอยู่ในเขตวิสุงคามสีมา ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและเป็นการรักษาพุทธประเพณีของชาวไทยที่พุทธบริษัทได้ร่วมกันบำเพ็ญบุญกิริยาทั้งทาน ศีล ภาวนา โดยมีคุณบุญเลิศ เนตรขำ ปลัดอาวุโสอำเภอคลองหลวง ปฏิบัติหน้าที่แทนนายอำเภอคลองหลวง เป็นผู้อ่านประกาศวิสุงคามสีมาในบุญพิธีครั้งนี้


      สำหรับพื้นที่โดยรอบอุโบสถพระไตรปิฎกวัดพระธรรมกาย ถือเป็นอุโบสถแรกของโลกที่รวมพระไตรปิฎก 8 ฉบับ 5 ภาษา จาก 6 ชาติ ไว้ด้วยกัน ได้แก่ 1. ไทย –ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย  -ฉบับมหาจุฬาฯ -ฉบับบาลีสยาม 2.ศรีลังกา 3.พม่า  4.กัมพูชา 5.ลาว  6.โรมัน รวมทั้งสิ้น 707 เล่ม
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล