สรุปข่าวเด่น ธรรมะ น่ารู้

วัดพระธรรมกายจัดพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตสามเณรเปรียญธรรม

วัดพระธรรมกายจัดพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตสามเณรเปรียญธรรม


    วัดพระธรรมกายจัดพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตสามเณรเปรียญธรรม จำนวน 6 รูป ในวันอาสาฬหบูชา ณ อุโบสถวัดพระธรรมกาย


    เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ วัดพระธรรมกายได้จัดพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตสามเณรเปรียญธรรม จำนวน 6 รูป ในวันอาสาฬหบูชา ณ อุโบสถวัดพระธรรมกาย โดยกราบนิมนต์พระเดชพระคุณพระธรรมพุทธิมงคล เปรียญธรรม 9 ประโยค ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ ในส่วนของสามเณรทั้ง 6 รูป ที่เข้ารับการอุปสมบทมีรายนาม ดังต่อไปนี้ (1.)สามเณรเดชเมธี ลังกาพินธุ์ ได้รับฉายาในเพศสมณะว่า เมธินฺทชโย  แปลว่า ชัยชนะของจอมปราชญ์ (2.) สามเณรศุภลักษณ์ บุรีขันธ์  ได้รับฉายาในเพศสมณะว่า สทฺธินฺทชโย   แปลว่า ผู้มีชัยชนะของผู้มีศรัทธาอันยิ่งใหญ่ (3.)สามเณรธนกิจ แก้วเจริญวิริยะ ได้รับฉายาในเพศสมณะว่า กิตฺตินฺทชโย แปลว่า ชัยชนะของผู้มีเกียรติอันยิ่งใหญ่ (4.) สามเณรแทน พนักงาม ได้รับฉายาในเพศสมณะว่า อิทฺธินฺทชโย  แปลว่า ผู้มีชัยชนะของผู้มีความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ (5.) สามเณรหมี อายี ได้รับฉายาในเพศสมณะว่า ชุตินฺทชโย แปลว่า ผู้มีชัยชนะด้วยความรุ่งเรืองอย่างยิ่ง และ (6.) สามเณรอดิเทพ วิภาสพาณิชกุล ได้รับฉายาในเพศสมณะว่า เทวินฺทชโย  แปลว่า ผู้มีชัยชนะดุจจอมเทพ


     สามเณรผู้อุปสมบทยกตนขึ้นสู่ความเป็นพระภิกษุในครั้งนี้ ต่างฝึกฝนอบรมตนเองมาเป็นเวลายาวนาน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะอุทิศชีวิตไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด เพราะชีวิตสมณะนั้นเป็นชีวิตที่สูงส่ง เป็นเพศภาวะที่ประเสริฐ และมีโอกาสได้ครองกายด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นผ้าสีสุดท้ายของผู้มุ่งประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร 

   นอกจากนี้ชีวิตสมณะยังเป็นชีวิตที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเหมาะแก่การทำงานที่แท้จริงของมนุษย์ คือ ทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญ สร้างบารมีแล้ว ยังสามารถทำภารกิจนำพาเพื่อนมนุษย์ให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง นั่นคือ สุขอันเกิดจากการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวและได้รู้จักเป้าหมายชีวิตที่แท้จริง ดังโอวาทพระอุปัชฌาย์ที่ได้กล่าวไว้ ซึ่งเรียบเรียงได้ใจความว่า ความเป็นพระของเราได้เป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ของญาติโยมแล้ว เราจะเป็นอะไรต้องเป็นให้ถึงใจ เพราะเราเกิดมามีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ ร่างกาย กับ จิตใจ คือ เป็นมาจากใจ ให้ใจเป็นพระด้วย เราต้องรู้ว่าใจพระต้องประกอบด้วย คุณสมบัติ 3 อย่าง ใจสงบ ใจเย็น ใจปลอดโปร่ง ต้องฝึกไปเรื่อยๆ โดยวิธีสัมมาอะระหังภาวนาไปเรื่อยๆ เพราะบทนี้สำคัญในการเจียระไนใจของเราให้เป็นพระ ได้ภาวนาไปทุกวันๆ ให้ใจใส ให้ใจเป็นแก้วสารพัดนึกพยายามภาวนาให้สำเร็จ เช่นครูบาอาจารย์ เพราะชีวิตเราได้ถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องเอาพระพุทธเจ้ามาอยู่ในตัวของเราให้เรานึกเป็นคติสอนใจตนเอง ให้เราเพียรพยายามทำทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ หลังจากรับฟังโอวาทจากพระอุปัชฌาย์เสร็จแล้ว พระรุ่นอุทิศชีวิตได้น้อมถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระอุปัชฌาย์ด้วยความเคารพ
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล