ข่าวประชาสัมพันธ์ : กัลยาณมิตร ธรรมะออนไลน์

4 บุญใหญ่วันธรรมชัย และประวัติวันธรรมชัย วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วันที่ 18 สค. พ.ศ.2554


4 บิ๊กบุญ วันธรรมชัย บูชาธรรมพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 
 

ขอเชิญสาธุชนผู้มีบุญทุกท่าน ร่วมสร้างบุญใหญ่ทั้ง 4 บุญ บูชาธรรมพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
เนื่องในวันธรรมชัย วันแห่งการประกาศชัยเพื่อสันติสุขแห่งมวลมนุษยชาติ ในวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กำหนดการงานบุญในวันธรรมชัย วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554
เวลา กิจกรรมบุญ สถานที่
06.00 น. ตักบาตรพระเข้าพรรษา 1,111 รูป ณ วัดกลางธนรินทร์ ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
09.30 น.

พิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างวัดพระธรรมกาย
กับ 3 มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลก
   - มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
   - คิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน
   - ยูนิเวอร์ซิตี้คอร์ก (ไอร์แลนด์)

ณ ห้องประชุม SPD 7 สภาธรรมกายสากล
10.30 น. พิธีถวายกองทุนยาพระภิกษุาสามเณรอาพาธ ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
13.30 น. สัมมนาเปิดตัวโครงการกฐินธรรมชัย เพื่อสร้างทุกสิ่ง ณ ห้องแก้วสารพัดนึก สภาธรรมกายสากล
 
 
 
ประวัติวันธรรมชัย
ย้อนไปเมื่อ ๔๒ ปี ที่แล้ว วันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒ ณ อุโบสถ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ปรากฏยอดกัลยาณมิตรท่านหนึ่งได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ บวชอุทิศชีวิตให้แก่พระพุทธศาสนา ด้วยมโนปณิธานอันสูงส่ง ท่านมุ่งมั่นสั่งสมบุญบารมีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อให้ได้มาซึ่งมหากุศลอันเนื่องด้วยกายมหาบุรุษ ซึ่งเป็นที่สุดแห่งคุณสมบัติ ที่สุดแห่งทรัพย์สมบัติ มุ่งสู่เป้าหมาย คือ ที่สุดแห่งธรรม
 
วันๆ นั้น คือ วันอุปสมบทของพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) พระผู้เป็นดั่งตะวันธรรมนำความสว่างไสวแก่หมู่ชน
 
วันๆ นั้น คือ วันแห่งการประกาศชัยชนะ ที่เหล่ามนุษย์และเทวดาแซ่ซ้องอนุโมทนา
 
จึงมีมงคลนามวันนี้ว่า "วันธรรมชัย" ทรงคุณค่าและความหมาย ถึงความเป็นผู้มีชัยของฝ่ายธรรมะ เหนือฝ่ายอธรรมทั้งปวง และถือเป็นสัญญาณสันติสุขแห่งมวลมนุษยชาติ
 
ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ของทุกปี วัดพระธรรมกาย จึงถือกำหนดให้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ที่เหล่ายอดนักสร้างบารมีจากทั่วสารทิศ ต่างพร้อมใจกันปรารภเหตุสำคัญในการสร้างบุญใหญ่ให้เป็นประวัติศาสตร์ชีวิตอันดีงาม เพื่อตอกย้ำผังแห่งชัยชนะ และผังแห่งความสำเร็จ ให้ติดตามตัวไปทุกภพทุกชาติ
 
 
 
มโนปณิธานสูงสุดของพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
ทวยเทพผู้สถิต ณ ผาดำเอย
ข้าฯ ผู้ครองผ้ากาสวพัสดุ์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์
ขอปักธงรบอหิงสา ปรโมธัมโม ขึ้น ณ ที่นี้
ด้วยดวงใจข้า เหนือขุนเขาอันเป็นสิริข้าฯ ขอประกาศว่า
ตราบใดที่ สรรพสัตว์ทั้งหลายยังอยู่ในความทุกข์
และยังเป็นบ่าวทาสของพญามาร
ข้าฯ จะขออยู่เยี่ยงนี้ ย่ำธรรมเภรี สืบต่อไป
และจะขอเข้าพระนิพพานเป็นคนสุดท้าย
ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีแต่ความสุขเทอญ
 
ธมมฺชโย ภิกขุ
 

พระราชภาวนาวิสุทธิ์ มีนามเดิมว่า ไชยบูลย์ สุทธิผล ถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๗ ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก เวลา ๑๘.๐๐ น. ณ บ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ท่านเป็นบุตรของนายช่างใหญ่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม นามว่าจรรยงค์ สุทธิผล กับคุณแม่จุรี สุทธิผล ในวันที่ท่านเกิด ญาติพี่น้องที่เคยโกรธเคืองกัน ไม่ไปมาหาสู่กันเป็นเวลานาน ได้หันหน้ามาคืนดีกัน ด้วยมีความชื่นชมยินดีในวันเกิดของหลานชายคนแรก
 
การเกิดของท่าน จึงเป็นดั่งศุภนิมิตแห่งความสมานสามัคคี ประดุจน้ำฝนตกลงบนพื้นดินเหนียวที่แตกระแหง แล้วประสานรอยร้าวของเนื้อดินนั้นให้เรียบสนิทเป็นผืนแผ่นดินเดียว
 
เนื่องจากคุณพ่อมีอาชีพรับราชการซึ่งต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการในต่างจังหวัดบ่อยครั้ง ชีวิตวัยเยาว์ของท่านจึงได้รับการดูแลทั้งจากมารดาและญาติพี่น้องรวมถึงต้องย้ายที่อยู่เสมอๆ ต่อมาคุณพ่อได้คำนึงถึงอนาคตด้านการศึกษาจึงได้ฝากบุตรชายไว้กับครูบาอาจารย์ในโรงเรียนประจำชื่อโรงเรียนตะละภัฎศึกษาแถวเสาชิงช้าในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
 
และนับเป็นความโชคดีของท่านเพราะเมื่อครั้งอยู่โรงเรียนประจำนั้น เจ้าของโรงเรียนซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์และไม่มีบุตร รู้สึกรักและเอ็นดูถึงกับจะเอ่ยปากขอเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อให้สืบทอดมรดก เนื่องจากขณะนั้นคุณพ่อมีบุตรชายเพียงคนเดียวซึ่งเป็นที่รักและหวงแหนจึงไม่ยอมยกให้ แต่ถึงกระนั้นท่านเจ้าของโรงเรียนก็ยังคงรักใคร่เอ็นดูและพาติดสอยห้อยตามเข้าออกวังสระปทุมอยู่เสมอๆ จนทำให้ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมของชาววังตั้งแต่นั้นมา และขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสติดตามไปร่วมทำบุญไหว้พระด้วยเสมอจึงมีความใกล้ชิดกับพระสงฆ์องคเจ้าทำให้จิตใจใฝ่ธรรมะมาตั้งแต่เยาว์วัย
 
ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ คุณพ่อได้รับคำสั่งให้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเพชรบุรี ท่านจึงจำเป็นต้องลาจากเจ้าของโรงเรียนผู้มีพระคุณ เพราะคุณพ่อได้มารับไปอยู่ด้วย และได้เข้าเรียนในโรงเรียนอรุณประดิษฐ์ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ อยู่กับคุณพ่อได้ปีเศษ ก็ย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนสารสิทธิพิทยาลัย ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โดยคุณพ่อพาไปฝากไว้กับคุณครูสมาน แสงอรุณ ซึ่งเป็นครูที่ใจดีและมีจิตใจโอบอ้อมอารี ท่านเรียนอยู่ ณ ที่แห่งนี้จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓
 
ขณะที่มีอายุได้ ๑๓ ปี ท่านสามารถสอบแข่งขันเข้าเรียนในชั้นมัธยมปีที่ ๔ ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ได้เป็นผลสำเร็จ โดยสอบติด ๑ ใน ๑๕๐ คน จากผู้สมัครกว่า ๕๐๐ คน วิถีชีวิตที่ต้องดูแลตัวเองตามลำพัง ต้องรู้จักประหยัด อดออม เช่นนี้ จึงหล่อหลอมให้ท่านมีความเข้มแข็งอดทน มีความเชื่อมั่นและรับผิดชอบตนเองสูง แตกต่างจากเด็กชายที่เติบโตจากครอบครัวที่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสบายทั่วไป
 
เนื่องจากฐานะทางครอบครัวไม่ค่อยจะดีมากนัก ท่านจึงต้องประหยัดและอดออมเพื่อใช้เงินเพื่อเป็นค่าอาหารเท่านั้น ท่านไม่สามารถใช้เงินเพื่อซื้อของเล่นได้เหมือนเด็กอื่นๆ บางวันท่านมีเพียงข้าวเปล่าเป็นอาหารกลางวันเท่านั้น ท่านจึงต้องอาศัยความสามารถในการเล่าเรื่องตลกของท่านเพื่อแลกกับกับข้าวเป็นอาหารกลางวัน ชีวิตในช่วงปฐมวัยจึงเปรียบประดุจการเตรียมความพร้อม และหล่อหลอมให้ท่านพร้อมที่จะเติบโตขึ้นมารับภารกิจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันที่มีมาตั้งแต่เยาว์วัย และได้กลายเป็นจริงในปัจจุบัน
 
เนื่องจากท่านเป็นคนรักการอ่าน แต่ไม่มีเงินที่จะซื้อหนังสือเก็บไว้เป็นของตนเอง ท่านจึงหาเวลาว่างไปร้านหนังสือ แล้วอ่านเล่มที่ชอบจนกระทั่งถูกเจ้าของร้านไล่ ท่านจึงต้องย้ายไปอ่านเล่มเดิมที่ร้านใหม่ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ จากร้านแรกจนกระทั่งร้านสุดท้าย ก็อ่านหนังสือจบพอดี และแล้ววันหนึ่งท่านได้พบหนังสือชื่อ “ธรรมกาย” ซึ่งเขียนตามแนวเทศนาของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีข้อความว่า “ถ้าจะเดินให้ถูกต้องร่องรอยของพระศาสนา ต้องปฏิบัติให้ได้ทั้งรู้ทั้งเห็น” ตอนท้ายเรื่องมีคำยืนยันว่า “วัดปากน้ำนี้เรียนได้ ทั้งรู้ทั้งเห็น” ข้อความดังกล่าว ยิ่งทำให้ท่านเกิดความปีติยินดี ราวกับว่า เดินมาถูกทางแล้ว จึงทำให้ท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะไปศึกษาธรรมปฏิบัติที่วัดปากน้ำ แล้วความคิดหนึ่งก็พลันบังเกิดขึ้นว่า “วัดปากน้ำอยู่ ณ แห่งหนใด”
 
ในปี ๒๕๐๖ เมื่อท่านมีอายุได้ ๑๙ ปี ท่านได้เตรียมตัวเพื่อที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนหน้านั้นท่านได้ไปวัดปากน้ำเพื่อเสาะหา “คุณแม่ลูกจันทร์” ซึ่งเป็นอาจารย์สอนสมาธิที่ได้กล่าวไว้ในนิตยสาร เมื่อได้ไปถึงวัดปากน้ำ แต่ท่านก็ไม่พบ มีแต่คนบอกว่ามีแต่ อาจารย์จันทร์ ซึ่งท่านคิดว่าคงเป็นคนละคน จึงทำให้ได้ไม่ได้พบกับอาจารย์ดังที่ตั้งใจไว้ แล้วท่านก็ได้กลับไปจนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สำเร็จ
 
ในปีการศึกษาแรก ท่านจึงได้เดินทางมาวัดปากน้ำอีกครั้ง ในครั้งนี้ท่านได้ไปศึกษาสมาธิกับพระอาจารย์องค์อื่นก่อน และได้มารู้ในภายหลังว่า คุณแม่จันทร์ กับ อาจารย์จันทร์นั้น เป็นบุคคลคนเดียวกัน และในที่สุดท่านจึงพบกับอาจารย์ที่ทำให้ความฝันของท่านเป็นจริง ท่านรักและเคารพอาจารย์ของท่านมาก และมักจะเรียกอาจารย์ว่าคุณยาย ซึ่งทำให้มีความสนิทสนมเหมือนญาติผู้ใหญ่มากกว่าอาจารย์กับศิษย์
 
หลายปีผ่านไป ท่านได้ฝึกสมาธิจนกระทั่งเชี่ยวชาญชำนาญ สมดังใจที่ตนเองปรารถนาไว้ ได้รู้และได้เห็นธรรมะตามพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า และได้รู้ว่า ด้วยสมาธิเท่านั้น จะทำให้มวลมนุษยชาติพ้นจากทุกข์และภัยจากสังสารวัฏ ในที่สุดก็จะพบกับความสุขที่ยิ่งใหญ่ คือ พระนิพพาน ท่านจึงได้ขออนุญาตจากยายว่าจะบวชเพื่อศึกษาธรรมะให้ยิ่งๆขึ้นไป ซึ่งยายก็อนุญาตหลังจากท่านเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ในวันคล้ายวันเกิดของคุณยายในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ท่านจึงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อคุณยาย ด้วยการตั้งสัจจะอธิษฐานขอประพฤติพรหมจรรย์ไปตลอดชีวิต เป็นของขวัญวันเกิดแด่คุณยายอาจารย์ซึ่งถือเป็นของขวัญอันล้ำค่ายิ่ง
 
หลังจากบวชแล้วท่านได้กล่าวถึงอุดมการณ์ในการออกบวช ไว้ตอนหนึ่งว่า:
 
“การบวชเป็นพระไม่ใช่ของง่าย หาใช่ครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้วจะเป็นพระได้ จะต้องปฏิบัติกิจวัตรของสงฆ์ซึ่งมีศีล ๒๒๗ ข้อ ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย… การบวชนั้นถ้าจะให้ได้บุญกุศล ควรจะเป็นที่พึ่งของพระศาสนาได้ด้วย ไม่ใช่บวชมาเพื่อพึ่งพระศาสนาอย่างเดียว"
 
ปีนี้เป็นปีที่ ๔๒ ในเพศสมณะของท่าน ท่านได้อุทิศแรงกายแรงใจ ในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาและสันติภาพโลก มาอย่างตลอดต่อเนื่อง เพราะท่านทราบดีว่า สันติสุขของมวลมนุษยชาติจะเกิดขึ้นได้ด้วยสันติสุขภายในเท่านั้น และด้วยสันติภาพภายใน มนุษย์จึงจะมีความสุขอย่างแท้จริง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล