ข่าวประชาสัมพันธ์ : กัลยาณมิตร ธรรมะออนไลน์

ร่วมต้อนรับพระธุดงค์1,127 รูป โครงการธุดงค์ธรรมชัย สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ วันที่ 2 - 25 มกราคม พ.ศ. 2555

วันที่ 27 ธค. พ.ศ.2554


 

ธุดงค์ธรรมชัย
สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
พระมงคลเทพมุนี (สดจนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
เพื่อฟื้นฟูจิตใจ สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน ระหว่างวันที่ ๒ - ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕
 
                    ธุดงค์ แปลว่า เครื่องกำจัดกิเลส การประพฤติธุดงค์เป็นวิธีที่สามารถกำจัดกิเลสได้แบบเฉียบพลันทันตาเห็น และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ รวมทั้งยังมีอานิสงส์ให้บารมี ๑๐ ทัศ เพิ่มพูนยิ่ง ๆ ขึ้น ธุดงค์เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล การประพฤติธุดงค์จึงเป็นการดำเนินตามรอยพระอรหันต์และพระอริยเจ้าในกาลก่อน

                    สำหรับธุดงค์ธรรมชัยสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์นี้ จัดขึ้นโดยดำริของพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและประธานมูลนิธิธรรมกาย ร่วมกับ ๒๕ องค์กรภาคี และ ๖ จังหวัด ที่ประสบอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ คือ
 
                    • เพื่อสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทโร)
                    • เพื่อฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม
                    • เพื่อสร้างบุญใหญ่และสิริมงคลให้แผ่นดินไทย
                    • เพื่อสืบสานธุดงควัตรของพระภิกษุ
                    • เพื่อให้พระภิกษุฝึกสติ สมาธิ และความอดทน
                    • เพื่อสร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งบ้าน วัด และโรงเรียน
                    • เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา
                    • เพื่อฟื้นฟูธรรมเนียมการเดินธุดงค์หลังรับกฐินของพระภิกษุให้กลับคืนมา

                    ธุดงค์ธรรมชัยสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ มีการบุกเบิกเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยมีคณะพระธุดงค์กว่า ๒๐๐ รูป เดินธุดงค์เป็นระยะทางกว่า ๑๖ กิโลเมตร เส้นทางธุดงค์เริ่มจากวัดพระธรรมกาย มีปลายทางอยู่ที่มหาวิทยาลัยปทุมธานี ตลอดระยะทางมีประชาชนและเด็กนักเรียนกว่า ๑๐,๐๐๐ คน เตรียมกลีบกุหลาบที่เด็ดจากดอกกุหลาบกว่า ๗๐๐,๐๐๐ ดอก โปรยต้อนรับตลอดเส้นทาง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย
 
 

 
 
 
                    คำว่า “มหาปูชนียาจารย์” ที่กล่าวถึงข้างต้น หมายถึง พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งเป็นพระภิกษุผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมและคุณวิเศษที่ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างการสร้างบารมีของพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า และหมั่นฝึกฝนตนเองจนกระทั่งสามารถพิสูจน์ให้ชาวโลกได้รู้เห็นว่าพระพุทธศาสนาคือที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดจริง ๆ

                   ส่วน “เส้นทางมหาปูชนียาจารย์” หมายถึง เส้นทางซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ ๖ แห่ง ในประวัติศาสตร์ชีวิตของหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อันได้แก่

                   ๑. สถานที่เกิด ตั้งอยู่บนแผ่นดินรูปดอกบัว ณ ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันคณะศิษยานุศิษย์ได้ทำการก่อสร้างอนุสรณ์สถานพระมงคลเทพมุนีไว้ ณ ที่แห่งนี้
                   ๒. สถานที่ออกบวช วัดสองพี่น้อง ตั้งอยู่ริมคลองสองพี่น้อง ตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี   
                  ๓. สถานที่บรรลุธรรม วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี                                                          
                   ๔. สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรก วัดบางปลา  อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
                   ๕. สถานที่ปักหลักเผยแผ่วิชชาธรรมกาย วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ธนบุรี
                   ๖. สถานที่สืบสานวิชชาธรรมกาย (เพื่อสานต่อมโนปณิธานของพระเดชพระคุณหลวงปูด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก) วัดพระธรรมกาย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี     
 
                    สถานที่สำคัญแต่ละแห่งบนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ จะเป็นที่รวบรวมบันทึกประวัติการสร้างบารมีของพระเดชพระคุณหลวงปู่ ตั้งแต่ปฐมวัย มัชฌิมวัย จนถึงปัจฉิมวัย และเป็นสถานที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำแท้ของท่าน ซึ่งบรรดาศิษยานุศิษย์พร้อมใจกันหล่อขึ้น เพื่อแสดงถึง
ความเคารพรักและความกตัญญูต่อพระคุณอันไม่มีประมาณของท่าน
     
                    การสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ จะทำให้อนุชนรุ่นหลังมีโอกาสศึกษาชีวประวัติอันงดงามและคำสอนอันล้ำค่าของพระเดชพระคุณหลวงปู่ได้โดยสะดวก เมื่อเห็นภาพการดำเนินชีวิตของท่านและได้เรียนรู้คำสอนของท่านแล้ว จะได้นำไปประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว สังคมประเทศชาติ และพระพุทธศาสนา สืบไป ดังนั้นการสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด      
      
                    ด้วยเหตุนี้ ในเดือนมกราคม ๒๕๕๕ ศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ นำโดยพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) จึงจัดให้มีการเดินธุดงค์ธรรมชัยของพระธุดงค์จำนวน ๑,๑๒๗ รูป อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๒๔ วัน การเดินธุดงค์ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการสถาปนาเส้นทาง
มหาปูชนียาจารย์แล้ว ยังจะช่วยขจัดปัดเป่าภัยพิบัติ สรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย จากมหาอุทกภัยปี ๒๕๕๔ ที่สร้างความสูญเสียและความพลัดพรากแก่พี่น้องชาวไทยให้หมดสิ้นไป และยังเป็นการสร้างสิริมงคลให้เกิดขึ้นแก่
ผืนแผ่นดินไทยอีกด้วย
      
                     การขจัดปัดเป่าภัยพิบัติทั้งหลายด้วยอำนาจของพระรัตนตรัยนั้น ในสมัยพุทธกาลก็เคยปรากฏขึ้นเช่นกัน ดังเช่น เมื่อครั้งที่กรุงไพศาลีประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและล้มตายเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับอาราธนาให้เสด็จไปโปรดชาวเมืองไพศาลี ขณะเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ พร้อมเหล่าภิกษุ ๕๐๐ รูป พระเจ้าพิมพิสารได้เตรียมหนทางเสด็จของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการประดับธงชัย โปรยด้วยดอกไม้ ๕ สี กั้นฉัตร ๒ ชั้น บูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็นระยะทางประมาณ ๕ โยชน์ แม้ชาวเมืองก็ยังร่วมมือกันทำความสะอาดถนนหนทาง พร้อมทั้งประดับประดาด้วย
พวงดอกไม้อันประณีตงดงามเพื่อส่งเสด็จ
      
                    เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงไพศาลี ด้วยอานุภาพของพระรัตนตรัย ภัยพิบัติทั้งมวลก็มลายหายสูญสิริมงคลทั้งหลายบังเกิดขึ้นกับชาวเมืองไพศาลีโดยทั่วหน้ากัน
                  
                    ในระหว่างวันที่ ๒ - ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมกันสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ ด้วยการจัดเตรียมกลีบกุหลาบหลากสีสัน นำไปโปรยปูลาดตลอดเส้นทาง ๓๖๕ กิโลเมตร ที่พระธุดงค์จำนวน ๑,๑๒๗ รูป จะเดินจาริกตามรอยพระเดชพระคุณหลวงปู่
     
                    การโปรยดอกไม้ปูลาดทางเดินของพระธุดงค์ จะทำให้ทุกท่านมีส่วนในบุญของพระธุดงค์ทุกรูป ซึ่งนอกจากจะเป็นการเติมบุญใหญ่ให้แก่ตนเองตั้งแต่เริ่มต้นศักราชใหม่แล้ว ยังเป็นการทำบุญให้กับประเทศของเราที่ผ่านความบอบช้ำอย่างหนักในช่วงปี ๒๕๕๔ ด้วย
 
 
เริ่มศักราชใหม่ด้วยการสร้างบุญใหญ่ตลอดทั้งเดือน

ให้เส้นทางชีวิตราบรื่นรุ่งเรืองรื่นรมย์

ราวกับโรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดไป 
  
 
 
เส้นทางมหาปูชนียาจารย์ จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ตลอดเส้นทาง ความยาว 356.5 กิโลเมตร
 
  วันที่ เส้นทางเดินธุดงค์ ระยะทาง
1            2 ม.ค. 55           วัดพระธรรมกาย - ม.ปทุมธานี อ.เมือง จ.ปทุมธานี 16 กม.         
2 3 ม.ค. 55 ม.ปทุมธานี - วัดคลองขวาง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี 26 กม.
3 4 ม.ค. 55

วัดคลองขวาง - วัดตรีพาราสีมาเขต อ.ลาดบัวหลวง จ.อยุธยา

17 กม.
4 5 ม.ค. 55 วัดตรีพาราสีมาเขต - วัดไผ่โรงวัว อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 18 กม.
5 6 ม.ค. 55 วัดไผ่โรงวัว - อนุสรณ์สถานมหาวิหาร พระมงคลเทพมุนี อ.สองพี่้นอง จ.สุพรรณบุรี 23 กม.
6 7 ม.ค. 55 ปฏิบัติธรรมที่โลตัสแลนด์ (แผ่นดินดอกบัว)  
7 8 ม.ค. 55 โลตัสแลนด์ - วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 1 กม.
8 9 ม.ค. 55 วัดสองพี่น้อง - วัดไผ่โรงวัว อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 16.5 กม.
9 10 ม.ค. 55 วัดไผ่โรงวัว - วัดตรีพาราสีมาเขต อ.ลาดบัวหลวง จ.อยุธยา 18 กม.
10 11 ม.ค. 55 วัดตรีพาราสีมาเขต - วัดคลองขวาง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี 17 กม.
11 12 ม.ค. 55 วัดคลองขวาง - วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 22 กม.
12 13 ม.ค. 55 วัดบางไผ่ - วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี 11 กม.
13 14 ม.ค. 55 ปฏิบัติธรรมที่วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี  
14 15 ม.ค. 55 วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง - วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 11 กม.
15 16 ม.ค. 55 วัดบางไผ่ - วัดคลองขวาง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี 25.5 กม.
16 17 ม.ค. 55 วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม 23 กม.
17 18 ม.ค. 55 ปฏิบัติธรรมที่วัดบางปลา  
18 19 ม.ค. 55 วัดบางปลา - วัดนราภิรมย์ อ.บางเลน จ.นครปฐม 15 กม.
19 20 ม.ค. 55 วัดนราภิรมย์ - ร.ร.กาญจนาภิเษก อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 14 กม.
20 21 ม.ค. 55 ร.ร.กาญจนาภิเษก - ที่ดินตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กทม. 18 กม.
21 22 ม.ค. 55 ที่ดินตลิ่งชัน - วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กทม. - ที่ดินตลิ่งชัน 19 กม.
22 23 ม.ค. 55 ที่ดินตลิ่งชัน - วัดบางรักใหญ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 15 กม.
23 24 ม.ค. 55 วัดบางรักใหญ่ - วัดเทียนถวาย อ.เมือง จ.ปทุมธานี 19 กม.
24 25 ม.ค. 55 วัดเทียนถวาย - วัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 20 กม.
 
 
 
ประวัติย่อ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
 
                    พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายเงินและนางสุดใจ มีแก้วน้อย ท่านเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙
ได้ฉายาว่า “จนฺทสโร”
     
                    นับแต่วันแรกที่บวช พระเดชพระคุณหลวงปู่ก็ฝึกธรรมปฏิบัติทุกวันตลอดมา ควบคู่ไปกับการเรียนคันถธุระ เมื่อย่างเข้าพรรษาที่ ๑๒ ท่านเดินทางไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดโบสถ์ (บน) ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 
     
                    ในวันเพ็ญเดือนสิบ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ กลางพรรษาที่ ๑๒ ท่านตั้งสัจจาธิษฐานว่า ถ้านั่งลงไปครั้งนี้แล้วไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ จะไม่ลุกจากที่ จากนั้น ก็นั่งเจริญสมาธิภาวนาจนกระเข้าถึงพระธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เลือนหายไปหลังพุทธปรินิพพานนาน ๕๐๐ ปี
      
                    การค้นพบวิชชาธรรมกายเป็นการค้นพบที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ เพราะก่อนที่ท่านจะค้นพบวิชชาธรรมกายกลับคืนมา ไม่มีใครรู้ว่ามนุษย์ทุกคนมีพระธรรมกายอยู่ในตัวและทุกคนสามารถเข้าถึงพระธรรมกายในตัวได้ เพราะความรู้นี้หายไปเป็นเวลาเกือบ ๒,๐๐๐ ปี หลังพุทธปรินิพพาน
      
                    ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ (กลางรัชกาลที่ ๖) พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านตั้งใจทำนุบำรุงวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนกระทั่งมีพระภิกษุสามเณรถึง ๕๐๐ กว่ารูป ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในประเทศไทยในยุคนั้น ส่งผลให้วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีชื่อเสียงไปทั่วทั้งสังฆมณฑล ทั้งในด้านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง


                   พระเดชพระคุณหลวงปู่ทุ่มเทเผยแผ่วิชชาธรรมกาย โดยเปิดสอนทำสมาธิภาวนาที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ นอกจากนี้ ยังส่งพระภิกษุและแม่ชีออกเผยแผ่วิชชาธรรมกาย แก่ประชาชนทั้งภายในและต่างประเทศ มีผู้ปฏิบัติธรรมเข้าถึงพระธรรมกายเป็นจำนวนมาก ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านโด่งดังระบือไกลมาจนกระทั่งปัจจุบัน
     
                    พระเดชพระคุณหลวงปู่มรณภาพเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ รวมอายุได้ ๗๕ ปี รวมพรรษาได้ ๕๓ พรรษา


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล